เมื่อปลาทำให้คุณป่วย
เมื่อปลาทำให้คุณป่วย
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในฟิจิ
จะกินหรือไม่กิน—อะเรบอนโตไม่รู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไรดี. เขารู้ว่าเป็นการเสี่ยงที่จะกิน แต่เขากำลังหิว. และปลาย่างตัวนี้ช่างหอมน่ากินเสียจริง. ในที่สุดความอยากกินของเขาก็ชนะ. แต่เมื่อเริ่มมีอาการคลื่นเหียนและปวดท้อง แล้วก็อาเจียนและท้องร่วง เขาคิดว่าถ้าไม่ได้กินปลานั้นเข้าไปก็คงจะดีกว่า.
ตอนที่เพื่อน ๆ รีบส่งตัวอะเรบอนโตไปถึงโรงพยาบาลในเกาะเล็ก ๆ แถบแปซิฟิกที่เขาอาศัยอยู่ เขาอยู่ในสภาพที่เกือบหมดสติ, ขาดน้ำ, เจ็บหน้าอก, ความดันโลหิตต่ำถึงขั้นอันตราย, และชีพจรเต้นช้า. ในช่วงสองสามวันหลังจากนั้น นอกจากจะปวดหัว, มึนงง, และหมดเรี่ยวแรงแล้ว เขาก็รู้สึกชาที่ขา, เจ็บเวลาปัสสาวะ, และมีความรู้สึกกลับกัน คือเย็นกลับรู้สึกร้อน และร้อนกลับรู้สึกเย็น. หลังจากแปดวันผ่านไป ชีพจรของเขาก็กลับสู่ภาวะปกติ แต่ยังมีอาการชาและอ่อนเพลียอยู่อีกหลายสัปดาห์.
อะเรบอนโตเป็นเหยื่อของสารพิษที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและเป็นอันตรายมากซึ่งปนเปื้อนอยู่ในปลาที่อาศัยตามพืดหินปะการังในแถบเขตร้อนซึ่งตามปกติเป็นปลาที่กินได้. ภาวะนี้ซึ่งเรียกว่าภาวะพิษซีกัวเตราที่อยู่ในปลา (ซีเอฟพี) เกิดขึ้นในเขตร้อนและเขตกึ่งเขตร้อนในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกและในทะเลแคริบเบียน. ในบริเวณที่กล่าวมานี้ ปลาที่จับได้ในท้องถิ่นเป็นแหล่งอาหารสำคัญ.
ซีเอฟพีไม่ใช่โรคใหม่. ที่จริงโรคนี้เป็นภัยร้ายแรงของนักสำรวจทางทะเลชาวยุโรป. นักท่องเที่ยวหลายคนในปัจจุบันก็ได้รับผลกระทบที่ร้ายกาจของมันเช่นกัน. เป็นที่เข้าใจได้ว่าโรคนี้ทำให้อุตสาหกรรมประมงและท่องเที่ยวของประเทศที่เป็นหมู่เกาะหลายประเทศไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร. ยิ่งกว่านั้น การค้าปลาที่อยู่ตามพืดปะการังระหว่างประเทศทั้งปลาที่ยังมีชีวิตอยู่หรือปลาแช่แข็งก็ทำให้ผลกระทบจากโรคซีเอฟพีมีแผ่ไปกว้างไกลกว่าประเทศเขตร้อน ออกไปยังภูมิภาคที่โรคนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย. *
อะไรทำให้ปลาที่อยู่ตามพืดปะการังกลายเป็นพิษ? จะรู้ได้ไหมว่าปลาตัวใดเป็นพิษ? ขอพิจารณาผลจากการค้นคว้าหลายทศวรรษที่ผ่านมา.
ระบุต้นเหตุ
โดยทั่วไปเชื่อกันว่าจุลชีพชนิดหนึ่งที่เรียกว่าไดโนแฟลเจลเลตเป็นที่มาของพิษที่ทำให้เกิดโรคซีเอฟพี. * จุลชีพ ชนิดนี้อาศัยอยู่บนปะการังที่ตายแล้วและเกาะติดอยู่กับสาหร่าย. ปลาตัวเล็ก ๆ ตอดกินสาหร่ายและกินพิษที่ไดโนแฟลเจลเลตผลิตขึ้น ซึ่งเรียกว่าพิษซีกัวทอกซิน. จากนั้นปลาตัวที่ใหญ่กว่าก็จะกินปลาเหล่านี้ ซึ่งก็จะถูกปลาตัวอื่นกินเป็นทอด ๆ ทำให้พิษสะสมไปถึงห่วงโซ่อาหารตอนบน ๆ. อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนพวกปลาจะไม่เป็นอะไร.
พิษซีกัวทอกซินเป็นสารพิษจากสิ่งมีชีวิตที่มีพิษร้ายแรงที่สุดชนิดหนึ่งเท่าที่รู้จักกัน. น่าดีใจ “มีปลาเพียงไม่กี่ชนิดที่ก่อให้เกิดโรคซีเอฟพี” เอกสารของรัฐบาลออสเตรเลียกล่าว. ซีกัวทอกซินไม่ได้ทำให้ปลานั้นมีรูปร่างหน้าตา, กลิ่น, หรือรสชาติเปลี่ยนไป และการทำให้สุก, การตากแห้ง, การทำปลาเค็ม, การรมควัน, หรือการหมักก็ไม่อาจทำให้พิษนี้สลายไปได้. ในกรณีของอะเรบอนโต ปลาตัวที่เขากินนั้นไม่มีอะไรเตือนเขาเลยว่ามีอันตรายซ่อนอยู่ จนกระทั่งเขามีอาการอย่างรุนแรงในระบบทางเดินอาหาร, ระบบหัวใจและหลอดเลือด, และระบบประสาท.
การวินิจฉัยและการรักษา
ในปัจจุบัน ยังไม่มีการทดสอบในห้องทดลองเพื่อหาโรคซีเอฟพีในมนุษย์. การวินิจฉัยอาศัยอาการหลายอย่างที่ปรากฏให้เห็น ซึ่งมักเกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากกินปลาเข้าไปและอาจยืนยันโดยการทดสอบหาพิษจากปลาที่เหลือ. (ดูกรอบหน้าตรงข้าม.) ถ้าคุณสงสัยว่าเป็นโรคซีเอฟพี ก็นับว่าสุขุมที่จะไปขอความช่วยเหลือจากแพทย์. แม้ว่ายังไม่ค้นพบยาแก้พิษ แต่การรักษาอาจบรรเทาอาการบางอย่าง ซึ่งตามปกติมักจะทุเลาลงเองภายในไม่กี่วัน. อย่างไรก็ดี โรคซีเอฟพีอาจทำให้อ่อนเพลีย และการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจป้องกันไม่ให้โรคนี้ส่งผลกระทบอย่างยืดเยื้อ.
ความรุนแรงของอาการมีหลายระดับซึ่งก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง. ปัจจัยเหล่านี้รวมไปถึงระดับของพิษที่อยู่ในตัวปลา, ปริมาณที่กินเข้าไปและกินส่วนไหนของปลา, ระดับของซีกัวทอกซินที่มีอยู่ในตัวคนไข้อยู่แล้ว, และปลานั้นมาจากแถบไหน เพราะดูเหมือนว่าพิษจากแต่ละภูมิภาคจะแตกต่างกันอยู่บ้าง. แทนที่จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านพิษนี้ มนุษย์กลับไวต่อพิษนี้มากขึ้น ทำให้การถูกพิษซ้ำมีอาการรุนแรงยิ่งขึ้น! การบริโภคแอลกอฮอล์ก็ยิ่งทำให้อาการทรุดหนักลงเช่นกัน. เพื่อจะเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการขึ้นอีก คนไข้ควรงดกินปลาเป็นเวลาสามถึงหกเดือนหลังจากเป็นโรคซีเอฟพี หนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับโรคที่แพร่หลายนี้อธิบาย.
ผู้ป่วยที่มีอาการหนักอาจป่วยอยู่นานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน และบางครั้งหลายปี ซึ่งทำให้มีอาการคล้ายกับโรคอ่อนเพลียเรื้อรัง. ในกรณีที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก จะเกิดการเสียชีวิตจากภาวะช็อก, หัวใจหรือระบบการหายใจล้มเหลว, หรือภาวะขาดน้ำ. แต่ในกรณีเหล่านี้ ตามปกติมักเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ป่วยกินเนื้อเยื่อที่มีพิษสะสมอยู่มาก เช่น ส่วนหัวหรืออวัยวะภายในของปลา.
เรื่องที่ยังเป็นปริศนาอยู่
ปลาเกือบทุกชนิดที่อยู่ตามแนวปะการังและสัตว์ที่กินปลาเหล่านั้นเป็นอาหารก็มีโอกาสได้รับพิษซีกัวทอกซินด้วย. แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าฉงน. ปลาจากพืดปะการังในบริเวณหนึ่งอาจมีพิษสูงมาก แต่ปลาชนิดเดียวกันที่จับได้ในบริเวณ
ใกล้เคียงกันนั้นอาจปลอดภัยดี. ปลาชนิดที่มักจะพบว่ามีพิษในส่วนหนึ่งของโลกอาจถือว่าปลอดพิษในอีกส่วนหนึ่งของโลก. เนื่องจากการปล่อยพิษของไดโนแฟลเจลเลตไม่แน่นอนการเกิดพิษในปลาจึงไม่อาจคาดเดาได้.ที่ทำให้ปัญหายุ่งยากขึ้นอีกก็คือ ยังไม่มีการทดสอบที่เสียค่าใช้จ่ายไม่แพงและเชื่อถือได้ที่ว่า ปลาตัวใดมีพิษ. เท่าที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะทำได้ในตอนนี้คือแจ้งให้ประชาชนทราบว่าปลาชนิดใดควรเลี่ยงและปลาชนิดนั้นอาจจับมาจากที่ใด ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากรายงานการเกิดโรคซีเอฟพี. ปลาชนิดที่น่าสงสัยที่สุดก็มีปลาน้ำดอกไม้, ปลาเก๋า, ปลาอินทรี, ปลากะพงแดง, ปลากะรัง, ปลากะพง, และปลาไหลมอเรย์. ปลาอายุมาก ๆ ตัวโต ๆ มักจะมีความเสี่ยงสูงกว่า. ในบางแห่ง เป็นการผิดกฎหมายที่จะขายปลาที่อาจไม่ปลอดภัย. อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้ว ปลาทะเลที่ไม่ได้กินปลาที่อาศัยตามพืดปะการังและปลาที่ไม่ได้มาจากเขตร้อนนั้นถือว่าปลอดภัย.
คาดกันว่าจะมีโรคซีเอฟพีเพิ่มมากขึ้น. ส่วนหนึ่งเนื่องจากปะการังที่ตายแล้วทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ไดโนแฟลเจลเลตที่มีพิษเพิ่มทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว และรายงานบ่งชี้ว่าแนวปะการังจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ กำลังป่วยหรือไม่ก็กำลังตาย.
แม้ว่าโรคซีเอฟพีจะคาดการณ์ได้ลำบาก แต่คุณก็ลดความเสี่ยงลงได้โดยทำตามหลักการพื้นฐานบางอย่าง (ดูกรอบข้างบน.) อะเรบอนโตเกือบเสียชีวิตเพราะไม่ได้ทำตามคำแนะนำเหล่านี้. เขากินหัวและเนื้อปลากะรังที่จับได้ในท้องถิ่นทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามีความเสี่ยงสูง. เขาเคยกินปลาชนิดนี้มาก่อนโดยไม่ป่วย และมั่นใจมากเกินไปเช่นเดียวกับชาวเกาะหลาย ๆ คน.
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้หมายความว่าคุณควรงดกินอาหารทะเลทุกชนิดไหม บางทีขณะที่ไปพักร้อนอยู่ในประเทศเขตร้อน? ไม่เลย. สิ่งที่สุขุมคือเอาใจใส่ฟังคำเตือนและเลือกปลาที่คุณกินอย่างฉลาด.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 6 เนื่องจากการวินิจฉัยโรคผิดและการไม่ได้รายงานทุกกรณี จึงไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้จำนวนเท่าไร. แหล่งอ้างอิงต่าง ๆ กะประมาณว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ประมาณ 50,000 รายต่อปี.
^ วรรค 9 ไดโนแฟลเจลเลตมีชื่อชนิดพันธุ์คือGambierdiscus toxicus.
[กรอบ/ภาพหน้า 21]
อาการที่เกิดขึ้นทั่วไป
▪ ท้องร่วง, คลื่นเหียน, อาเจียน, เป็นตะคริวที่ท้อง
▪ หนาวสั่น, เหงื่อออก, มึนงง, ปวดศีรษะ, คัน
▪ ชาหรือเป็นเหน็บบริเวณปาก, มือ, หรือเท้า
▪ มีความรู้สึกกลับกัน เย็นกลับรู้สึกร้อน และร้อนกลับรู้สึกเย็น
▪ ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ และปวดเมื่อปัสสาวะ
▪ ชีพจรเต้นช้า, ความดันโลหิตต่ำ, อ่อนเพลีย
[กรอบ/ภาพหน้า 21]
ลดความเสี่ยง
▪ สอบถามกรมประมงหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงว่าควรเลี่ยงปลาชนิดใดและบริเวณใดที่มีการจับปลาที่มีพิษได้.
▪ ไม่ควรกินปลาที่จับจากบริเวณที่เพิ่งมีรายงานเกี่ยวกับโรคซีกัวเตรา.
▪ ไม่ควรกินปลาที่อยู่ตามพืดปะการังที่อายุมาก ๆ ตัวโต ๆ.
▪ อย่ากินหัว, ตับ, หรืออวัยวะภายในอื่น ๆ ของปลา.
▪ ทันทีที่คุณจับปลาที่อยู่ตามพืดปะการังได้ ให้รีบผ่าท้องเอาไส้พุงออกให้หมดแล้วล้างให้สะอาด.
[ภาพหน้า 20, 21]
ปลาที่มักก่อให้เกิดโรคนี้
(ชื่อที่เรียกกันทั่วไปอาจต่างกัน)
ปลาน้ำดอกไม้
ปลาเก๋า
ปลากะรัง
ปลากะพง
ปลาอินทรี
ปลาไหลมอเรย์
[ภาพหน้า 20]
ไดโนแฟลเจลเลต แหล่งที่มาของพิษ
[ที่มาของภาพหน้า 20]
All fish except eel: Illustrated by Diane Rome Peebles - Provided by the Florida Fish and Wildlife Conservation Commission, Division of Marine Fisheries Management; eel: Photo by John E. Randall; dinoflagellate: Image by D. Patterson and R. Andersen, provided courtesy of micro*scope (http://microscope.mbl.edu)
[ที่มาของภาพหน้า 21]
Fish backgrounds: Illustrated by Diane Rome Peebles - Provided by the Florida Fish and Wildlife Conservation Commission, Division of Marine Fisheries Management