การเพ่งดูโลก
การเพ่งดูโลก
ความเชื่อผิด ๆ เรื่องผมที่งอกใหม่
บทความด้านสุขภาพและความแข็งแรงในหนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ กล่าวว่า “การที่คุณตัดหรือโกนผมจะไม่มีผลต่ออัตราการงอก ลักษณะหรือความหนาบางของเส้นผม.” มีการเชื่อกันมานานว่า ผมจะงอกเร็วขึ้นและดกขึ้นหากมีการตัดหรือโกน. แต่บทความนี้กล่าวว่า การศึกษาที่ทำกันมาหลายครั้งตั้งแต่ทศวรรษ 1920 แสดงให้เห็นว่า “ความยาว ลักษณะและความหยาบของผมของคุณถูกกำหนดโดยพันธุกรรมและระดับฮอร์โมน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณโกนผมบ่อยแค่ไหน.” แล้วทำไมจึงยังมีความเชื่อเช่นนั้นอยู่? นี่อาจเป็นเพราะว่าคนจำนวนมากโกนผมกันตั้งแต่เล็ก ตอนที่เส้นผมยังไม่ยาวเต็มที่และสียังอ่อนอยู่. เดอะ ไทมส์ ยังกล่าวด้วยว่า “เส้นผมบริเวณรากมักจะมีสีเข้มกว่าและหยาบกว่า ดังนั้น เมื่อตัดปลายผมออกไปจึงทำให้ดูเหมือนว่าผมหยาบกว่าเดิม และเส้นผมสั้น ๆ ที่งอกใหม่หลังจากโกนแล้วยังมองเห็นได้ชัดกว่าเส้นผมที่ยาวแล้วซึ่งมีอัตราการงอกเท่ากันด้วย.”
ระวังของเล่นที่เสียงดัง
หนังสือพิมพ์เดอะ โทรอนโต สตาร์ กล่าวว่า “ของเล่นที่มีเสียงดังเป็นอันตรายต่อการได้ยินของเด็ก.” หนังสือพิมพ์บอกว่า คณะผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยินกลุ่มหนึ่งพบว่า หลังจากการประเมิน “ของเล่น 40 ชิ้นที่ผลิตสำหรับเด็กอายุต่ำกว่าสามขวบ มีของเล่นอย่างน้อย 25 ชิ้นที่มีเสียงดังพอที่จะทำให้หูของเด็กได้รับความเสียหาย.” โทรศัพท์มือถือของเล่นได้รับการบันทึกว่าเป็นของเล่นที่มีความดังสูงสุด คือ 115 เดซิเบล. ตามคำกล่าวของนักโสตประสาทวิทยา ริชาร์ด ลาร็อก เสียงระดับดังกล่าว “ค่อยกว่าเสียงเครื่องบินไอพ่น แต่ดังกว่าดิสโกเทกส่วนใหญ่.” ความดังมาตรฐานที่สาธารณสุขแคนาดาอนุญาตในปัจจุบันคือ 100 เดซิเบล. บทความนี้กล่าวว่า การศึกษาวิจัยดังกล่าวแนะว่า “ความดังมาตรฐานที่ 87 เดซิเบลในระยะเวลา 30 นาทีจะรักษาการได้ยินไว้ได้ดีกว่า.”
แก้ปัญหาเรื่องการประชุม
หนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานว่า หลายบริษัทกำลังเห็นความจำเป็นที่จะจัดการประชุมที่สั้นและตรงประเด็น และถึงกับงดการประชุมที่ไม่จำเป็นด้วยซ้ำ. ดังนั้น เพื่อไม่ให้มีการเสียเวลาระหว่างการประชุม ผู้บริหารหลายคนจึงหันไปใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด เช่น นาฬิกาจับเวลา, นกหวีด, และเก้าอี้ที่นั่งไม่สบาย รวมไปถึงการให้ผู้ร่วมประชุมยืนแทนที่จะนั่ง. ดูเหมือนว่า ไม่ใช่แต่ผู้บริหารเท่านั้นที่คิดเช่นนี้. การสำรวจความคิดเห็นของพนักงานกว่า 600 คนแสดงว่า สิ่งที่ทำให้เสียเวลาอันดับหนึ่งคือ “การประชุมที่นานเกินไป.” แพตตี แฮทอะเวย์ ผู้แต่งหนังสือเล่มหนึ่งที่ให้คำแนะนำเรื่องวิธีจัดการกับสภาพการณ์ในที่ทำงาน แนะว่าผู้บริหารควรตรวจดูระเบียบวาระการประชุมก่อน เพื่อดูว่าจำเป็นต้องเรียกประชุมจริง ๆ หรือไม่. หากจะเรียกประชุมเพียงเพื่อแจกข้อมูล ก็อาจดูว่าจะส่งข้อมูลนั้นทางอีเมลได้หรือไม่.
เรือนเพาะชำใต้ดิน
หนังสือพิมพ์เดอะ โทรอนโต สตาร์ กล่าวว่า “เหมืองที่ร้อนและชื้นเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของต้นไม้. ประการแรก ที่นี่มีความชื้นและความร้อนใต้พิภพคงที่ 25 องศาเซลเซียสตลอดทั้งปี.” ตั้งแต่ปี 1986 บริษัทอินโค จำกัด ซึ่งทำเหมืองแร่และผลิตโลหะได้ทำเรือนเพาะชำใต้ดินขึ้นโดยไม่มีใครรู้. ที่ระดับความลึก 4,600 ฟุตของเหมืองไครตัน ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองซัดบูรี ประเทศแคนาดา มีการเพาะต้นกล้าที่เรือนเพาะชำแห่งนี้ 50,000 ต้นทุกฤดู. แทงก์น้ำซึ่งมีเครื่องตั้งเวลาจะจ่ายน้ำและปุ๋ยรดต้นกล้าเหล่านี้วันละ 2,000 ลิตร. มีการทดแทนแสงอาทิตย์ด้วยหลอดไฟขนาด 1,000 วัตต์จำนวนสามสิบหลอด “ซึ่งจะเปิดตลอด 24 ชั่วโมงในสัปดาห์แรก และสามสัปดาห์หลังจากนั้นจะเปิด 18 ชั่วโมง ปิด 6 ชั่วโมง และช่วงเวลาที่เหลือจะเปิด 12 ชั่วโมง ปิด 12 ชั่วโมงเหมือนกับอยู่กลางแจ้ง.” ช่วงที่เพาะต้นกล้าเริ่มในปลายเดือนมกราคม และเมื่อถึงปลายเดือนพฤษภาคม กล้าของต้นสนแดงและต้นสนแจ็กไพน์ก็โตพอที่จะนำไปปลูกในที่ดินของบริษัทและบริเวณรอบ ๆ เหมือง. นอกจากนี้ยังมีการนำต้นกล้าเหล่านี้ไปบริจาคให้กับชุมชนต่าง ๆ ด้วย.
การทำสวนช่วยบำบัดโรคหลอดเลือดสมอง
หนังสือพิมพ์กีสเซเนอร์ อัลล์เกไมเนของเยอรมนีรายงานว่า “การทำสวนทำให้คนที่เคยหลอดเลือดแตกในสมองรู้สึกมีความสุขกับชีวิตมากที่สุด.” หกเดือนหลังออกจากศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ มีการสอบถามผู้ป่วย 70 คนที่เคยหลอดเลือดแตกในสมองว่ากิจกรรมใดที่ทำให้พวกเขามีความสุขใจพอใจ. มีการเสนอแนะกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การทำงานบ้าน, การไปซื้อของ, การทำอาหาร, การอ่านหนังสือ, การเดิน, การขับรถ, การไปทำงาน, และการร่วมงานพบปะสังสรรค์ต่าง ๆ. แต่การทำสวนเป็นกิจกรรมเดียวที่มีการระบุว่าได้ช่วยเพิ่มความสุขใจพอใจให้กับชีวิต. บริกิทเท โอเบอร์เอาเวอร์ นักบำบัดโรคโดยให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมเบา ๆ กล่าวว่า การทำสวน “ช่วยผู้ป่วยที่เคยหลอดเลือดแตกในสมองให้จดจ่ออยู่กับบางสิ่งและมีสมาธิมากขึ้น. การทำสวนทำให้ประสาทรับรู้ได้ทำงานตลอดเวลาและส่งข้อมูลให้รู้ว่ามีสิ่งใหม่ ๆ กำลังเติบโตขึ้นและชีวิตดำเนินต่อไป. นี่เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยต้องรับรู้หลังจากป่วยหนัก.” การทำงานกลางแจ้งยังช่วยให้ไม่ต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านตลอดเวลา, ได้เคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น, และช่วยฝึกการทรงตัว.
การดูแลผู้สูงอายุส่อเค้าว่าจะมีปัญหา
ริชาร์ด แจ็กสัน ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือเพื่อผู้สูงอายุโลก ในวอชิงตัน ดี.ซี. เตือนว่า “ถ้าคุณไม่ปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพให้สูงขึ้นและใช้มาตรการป้องกันภัยบางอย่างกับผู้สูงอายุเสียแต่เดี๋ยวนี้ คุณจะเห็นวิกฤติกาลด้านมนุษยธรรมเกิดขึ้นภายในปี 2030 หรือ 2040.” ตามที่กล่าวในหนังสือพิมพ์ไมอามี เฮรัลด์ ฉบับต่างประเทศ การมีอายุยืนขึ้นและอัตราการตายที่ลดลง ทำให้ทั่วโลกมี “ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาก.” ตัวอย่างเช่น จำนวนผู้สูงอายุในเม็กซิโกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 5 เปอร์เซ็นต์เป็น 20 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2050. ในประเทศที่กำลังพัฒนาก็มีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย เช่น ประเทศจีน ซึ่งคาดว่าจะมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 332 ล้านคนเมื่อถึงกลางศตวรรษ. บทความนี้กล่าวว่า ขณะนี้ “ต้องแข่งกับเวลา” เพื่อจะจัดให้มี “เครือข่ายบริการสังคมขนาดใหญ่” ซึ่งจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ.
ให้ยารักษาลูกที่บ้านหรือ?
ฟอลยา ออนไลน์ รายงานว่า มีการให้ยารักษาโรคแก่เด็กแบบสุ่มสี่สุ่มห้ากันจนเป็นนิสัยในบราซิลและประเทศอื่น ๆ. หลายครอบครัวซื้อยามาเก็บไว้ที่บ้าน. แต่ “ตรงกันข้ามกับสิ่งที่หลายคนคิด แม้แต่ยาที่หาซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งก็สามารถก่อผลเสียหายถาวรต่อสุขภาพของเด็ก หากใช้อย่างไม่ถูกต้องหรือใช้พร่ำเพรื่อ.” และโรคหลายอย่างที่เด็กเป็น เช่น อาการไอธรรมดา จะหายได้เองโดยไม่ต้องรับประทานยา. ลูเซีย แฟโร บริกส์ กุมารแพทย์ประจำสถาบันกุมารเวชของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเซาเปาลู กล่าวว่า “เราเคยชินกับการแก้ปัญหาด้วยยา.” นอกจากนี้ยังมีการใช้อาหารเสริมกันอย่างผิด ๆ ด้วย ทั้งที่ในกรณีส่วนใหญ่เพียงให้เด็กรับประทานอาหารที่เหมาะสมก็เพียงพอต่อความต้องการของพวกเขาแล้ว. แพทย์หญิงบริกส์บอกว่า “เมื่อพวกพ่อแม่ขอให้ดิฉันสั่งวิตามิน ดิฉันจะบอกให้พวกเขานำผลไม้หลาย ๆ ชนิดมาทำน้ำผลไม้ที่มีประโยชน์ให้เด็ก ๆ ดื่มแทน.”