การทำสวนช่วยคุณได้
การทำสวนช่วยคุณได้
คุณชอบทำสวนไหม? การทำสวนไม่ใช่แค่งานอดิเรกที่ทำให้คุณรู้สึกเพลิดเพลินเท่านั้น. หนังสือพิมพ์อินดิเพนเดนต์ แห่งลอนดอนรายงานเกี่ยวกับนักวิจัยที่พบหลักฐานว่า “การทำสวนดีต่อสุขภาพ, ลดระดับความเครียด, ทำให้ความดันโลหิตลดลงและช่วยให้คุณอายุยืนขึ้นด้วยซ้ำ.”
กาย เซิช ซึ่งเป็นผู้เขียนกล่าวว่า “หลังจากที่ยุ่งและเครียดมาทั้งวัน คงจะดีมากทีเดียวถ้าได้กลับบ้านและใช้เวลาสบาย ๆ ในสวนของคุณ.” การทำสวนไม่เพียงแต่ทำให้คุณมีความสุขและเป็นเรื่องที่น่าสนใจเท่านั้น แต่ยังอาจเป็นการออกกำลังกายที่ดีกว่าการไปโรงยิมด้วยซ้ำ. เป็นไปได้อย่างไร? ตามที่เซิชกล่าวไว้ “การออกแรงทำสิ่งต่าง ๆ เช่น การขุดดินและคราดใบไม้เป็นการออกกำลังกายที่เป็นประโยชน์ ซึ่งช่วยเผาผลาญแคลอรีมากกว่าการปั่นจักรยานเสียอีก.”
การดูแลสวนมีประโยชน์ต่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ. การเฝ้ารอเพื่อจะเห็นต้นกล้าหรือต้นอ่อนงอกขึ้นมาช่วยให้พวกเขามองสิ่งต่าง ๆ ในแง่บวก. นอกจากนี้ ดร. บริจิด บอร์ดแมน แห่งสมาคมพฤกษศาสตร์หลวงกล่าวว่า “การทำสวนเป็นเหมือนยาบรรเทาความเจ็บปวดและความท้อแท้” ของผู้สูงอายุ. บ่อยครั้ง ผู้สูงอายุรู้สึกท้อใจเนื่องจากต้องพึ่งอาศัยคนอื่นมากขึ้น. อย่างไรก็ตาม ดังที่ ดร. บอร์ดแมนให้ข้อสังเกตไว้ “ผู้สูงอายุรู้สึกพอใจที่ได้เป็นผู้ควบคุมบ้าง โดยสามารถกำหนดได้เองว่าจะปลูกอะไร, จะออกแบบสวนอย่างไร, และจะปลูกโดยวิธีใด. และความต้องการที่จะให้การดูแลเอาใจใส่อะไรสักอย่างได้รับการตอบสนองอีกครั้ง.”
ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตมักจะรู้สึกผ่อนคลายเมื่อทำงานในสภาพแวดล้อมที่สวยงามและเงียบสงบ. นอกจากนี้ การปลูกดอกไม้หรือผักเพื่อนำไปให้คนอื่นอาจช่วยให้เขาได้ความมั่นใจและความนับถือตัวเองกลับคืนมา.
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่คนทำสวนเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากพืชพรรณที่เขียวชอุ่ม. ศาสตราจารย์โรเจอร์ อูลริก แห่งมหาวิทยาลัยเทกซัส ได้ทำการทดลองกับคนกลุ่มหนึ่งโดยกระตุ้นให้เกิดความเครียดก่อน. เขาพบว่า คนที่ถูกพาไปยังสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยต้นไม้เขียวขจีจะรู้สึกผ่อนคลายเร็วกว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในสถานที่เช่นนั้น โดยเทียบจากอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต. การทดลองคล้ายกันนี้พบว่า ผู้ป่วยที่กำลังพักฟื้นหลังผ่าตัดในโรงพยาบาลได้รับประโยชน์จากการพักอยู่ในห้องที่มองเห็นต้นไม้. พวกเขา “ฟื้นตัวเร็วกว่า, กลับบ้านได้เร็วกว่า, ต้องการยาบรรเทาปวดน้อยกว่าและบ่นเรื่องความเจ็บปวดน้อยกว่า” เมื่อเทียบกับผู้ป่วยคนอื่น ๆ.