“คุณคงจะเป็น ดร. ลิฟวิงสโตนใช่ไหม?”
“คุณคงจะเป็น ดร. ลิฟวิงสโตนใช่ไหม?”
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในแทนซาเนีย
“ใต้ต้นมะม่วงที่เคยอยู่ตรงนี้ เฮนรี เอ็ม. สแตนลีย์ได้พบกับเดวิด ลิฟวิงสโตนในวันที่ 10 พฤศจิกายน 1871.”—แผ่นจารึกที่อยู่ตรงรูปปั้นซึ่งเป็นอนุสรณ์แก่ลิฟวิงสโตนในอูจิจิ ณ ทะเลสาบแทนกันยีกา แทนซาเนีย.
เป็นเวลามากกว่าหนึ่งศตวรรษมาแล้วที่สแตนลีย์กล่าวคำทักทายอันโด่งดังที่ว่า “คุณคงจะเป็นดร. ลิฟวิงสโตนใช่ไหม?” สำหรับผู้คนที่ไม่ได้อยู่ในแทนซาเนีย คงมีเพียงไม่กี่คนที่เข้าใจความหมายของการทักทายกันครั้งนั้น.
ด้วยเหตุนี้ การไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานลิฟวิงสโตนในแทนซาเนียจะช่วยให้ได้รู้เรื่องราวดีขึ้น. เอมบิงโกซึ่งเป็นมัคคุเทศก์ของเราได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น. เขาอธิบายว่า “ตรงจุดที่มีการสร้างรูปปั้นนี้ เมื่อก่อนเคยมีต้นมะม่วงต้นใหญ่อยู่ต้นหนึ่งซึ่งเป็นที่ที่สแตนลีย์และลิฟวิงสโตนพบกัน.” ตอนนี้มีต้นมะม่วงต้นใหญ่สองต้นอยู่ตรงนั้น. เขากล่าวต่อไปว่า “คืออย่างนี้นะครับ ระหว่างทศวรรษ 1920 เห็นได้ชัดว่ามะม่วงต้นเดิมกำลังจะตาย. เรารักษามันไว้ไม่ได้. ดังนั้น จึงมีการนำต้นมะม่วงสองต้นที่ได้จากการทาบกิ่งมาปลูกไว้ใกล้กับรูปปั้นนี้.”
ลิฟวิงสโตนเป็นใคร?
ขณะที่เรานั่งอยู่ใต้ร่มเงาของต้นมะม่วงต้นหนึ่ง เอมบิงโกอธิบายว่าเดวิด ลิฟวิงสโตนเกิดในปี 1813 ในเมืองเล็ก ๆ ของสกอตแลนด์ที่มีชื่อว่าแบลนไทร์. “แม้เขาเติบโตขึ้นในครอบครัวที่ยากจน แต่เขาก็ทำงานเลี้ยงตัวเองขณะที่ยังเรียนอยู่ และได้รับการฝึกอบรมให้เป็นทั้งหมอและมิชชันนารี.” เรารู้ว่าสมาคมมิชชันนารีแห่งลอนดอนส่งลิฟวิงสโตนไปยังแอฟริกา เขาใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นถึง 30 ปีจนเป็นที่รู้จักในฐานะนักสำรวจและมิชชันนารี.
มัคคุเทศก์ของเรากล่าวว่า “ดร. ลิฟวิงสโตนมาที่แอฟริกาสามรอบ. รอบแรก เขามาแอฟริกาใต้ในปี 1841. ปี 1845 ลิฟวิงสโตนแต่งงานกับแมรี มอฟฟัตซึ่งเป็นลูกสาวของเพื่อนมิชชันนารีที่ชื่อโรเบิร์ต มอฟฟัต.” ลิฟวิงสโตนมีบุตรกับแมรีสี่คน. และแม้เธอจะติดตามเขาไปหลายแห่ง แต่เนื่องจากลิฟวิงสโตนชอบงานสำรวจมาก ทำให้เขาไม่ค่อยมีเวลาให้กับครอบครัว. แมรี ลิฟวิงสโตนเสียชีวิตด้วยโรคมาลาเรียในปี 1862 ขณะติดตามสามีในการเดินทางคราวหนึ่ง.
สารานุกรมบริแทนนิกาฉบับใหม่ กล่าวว่า “ลิฟวิงสโตนพร้อมที่จะส่งเสริมศาสนาคริสเตียน, การค้า, และอารยธรรม—สามสิ่งซึ่งเขาเชื่อว่าจะทำให้แอฟริกาเปิดสู่โลกภายนอกได้—ให้ขึ้นไปไกลกว่าพรมแดนแอฟริกาใต้และเข้าสู่ใจกลางทวีป. ในปี 1853 เมื่อเขาให้แถลงการณ์ที่มีชื่อเสียงเขากล่าวถึงจุดประสงค์ของเขาอย่างชัดแจ้งว่า ‘ข้าพเจ้าจะเปิดเส้นทางเข้าสู่ใจกลางทวีปให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะขอยอมตาย.’” ด้วยเหตุนี้ การเดินทางของลิฟวิงสโตนจึงไม่ใช่การเดินทางเพื่อเผยแพร่เสียทีเดียว. เขาผลักดันอย่างเอาจริงเอาจังให้เลิกการค้าทาส. นอกจากนี้ เขาเกิดความหลงใหลในงานสำรวจและตั้งเป้าหมายที่จะค้นหาต้นแม่น้ำไนล์.
อย่างไรก็ตาม ลิฟวิงสโตนตระหนักว่างานนี้ใหญ่โตเกินกว่าที่เขาจะทำให้สำเร็จเพียงลำพัง. ในปี 1857 เขากล่าวกับเด็กหนุ่มกลุ่มหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ว่า “ข้าพเจ้ารู้ว่าอีกไม่กี่ปีข้าพเจ้าก็จะสิ้นชีวิตอยู่ในดินแดนนั้น ซึ่งตอนนี้ได้เปิดออกสู่โลกภายนอกแล้ว อย่ายอมให้ดินแดนนี้ปิดตัวเองอีก! ข้าพเจ้ากลับไปยังแอฟริกาเพื่อพยายามเปิดเส้นทางให้กับการค้าและศาสนาคริสเตียน พวกท่านจะสานต่องานที่ข้าพเจ้าได้เริ่มไว้แล้วไหม? ข้าพเจ้าขอฝากงานนี้ไว้กับพวกท่านด้วย.”
ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ลิฟวิงสโตนเดินทางไปทั่วแอฟริกากลาง. หนึ่งในสิ่งที่เขาค้นพบคือ น้ำตกขนาดใหญ่ที่อยู่ในเส้นทางของแม่น้ำแซมเบซี ซึ่งเขาตั้งชื่อว่า น้ำตกวิกตอเรีย ตามพระนามของพระราชินีวิกตอเรีย. ต่อมา เขาพรรณนาน้ำตกนี้ว่าเป็น ‘ภาพอันมหัศจรรย์ที่สุดที่เขาเคยเห็นในแอฟริกา.’
การค้นหา
มัคคุเทศก์ของเราอธิบายว่า “การเดินทางรอบสุดท้ายของลิฟวิงสโตนเริ่มต้นในปี 1866. อย่างไรก็ตาม มีปัญหายุ่งยากเกิดขึ้นในคณะของเขา. ผู้ติดตามบางคนทิ้งเขาและกลับไปยังแซนซิบาร์ ซึ่งเป็นที่ที่มีการแพร่ข่าวลือว่าลิฟวิงสโตนเสียชีวิตแล้ว. แต่ลิฟวิงสโตนก็ทำงานสำรวจต่อไป. เขาได้ตั้งฐานที่มั่นสำหรับคณะเดินทางของเขาบริเวณชายฝั่งตะวันออกของทะเลสาบแทนกันยีกาที่อูจิจิ.
“อย่างไรก็ตาม ยุโรปไม่ได้ยินข่าวจากลิฟวิงสโตนเป็นเวลาประมาณสามปี. พวกเขาคิดว่าลิฟวิงสโตนเสียชีวิตแล้ว. ด้วยเหตุนั้น ผู้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์นิวยอร์กเฮรัลด์ จึงส่งนักข่าวที่ชื่อ เฮนรี มอร์ตัน สแตนลีย์ ไปสืบหาว่าลิฟวิงสโตนเสียชีวิตแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่. แน่นอน ลิฟวิงสโตนไม่ได้หายสาบสูญไปไหน. แต่เขากำลังขาดแคลนเสบียง ซ้ำยังป่วยหนัก. ในเดือนพฤศจิกายน 1871 คนรับใช้คนหนึ่งของลิฟวิงสโตนมาที่บ้านและตะโกนว่า ‘มาซังกู อะนาคูยา! มาซังกู อะนาคูยา!’” นั่นเป็นภาษาสวาฮิลีที่หมายถึง “คนขาวกำลังมา!”
ตามจริงแล้ว สแตนลีย์ใช้เวลาเกือบแปดเดือนเพื่อค้นหาลิฟวิงสโตน. ตอนแรก เขาเดินทางไปแอฟริกาโดยผ่านทางอินเดีย แล้วมาถึงเกาะแซนซิบาร์ในวันที่ 6 มกราคม 1871. วันที่ 21 มีนาคม 1871 เขาเริ่มออกเดินทางจากเมืองบากาโมโยที่อยู่ทางชายฝั่งตะวันออกพร้อมกับสัมภาระหกตันและลูกหาบ 200 คน. การเดินทางโดยไม่มีแผนที่เป็นระยะทาง 1,500 กิโลเมตรเต็มไปด้วยอันตราย! ฝนที่ตกอย่างหนักทำให้แม่น้ำเอ่อล้นตลิ่ง. สแตนลีย์กับคณะของเขาเป็นโรคมาลาเรีย, โรคอื่น ๆ, และรู้สึกเหนื่อยล้า. ในแม่น้ำทุกสายก็มีจระเข้ว่ายอยู่เต็มไปหมด สแตนลีย์มองดูด้วยความสยดสยองเมื่อจระเข้ตัวหนึ่งลากลาตัวสุดท้ายของเขาไปกิน. อีกคราวหนึ่ง สแตนลีย์เองก็หนีจากคมเขี้ยวของจระเข้ตัวหนึ่งไปได้อย่างหวุดหวิด! กระนั้น สแตนลีย์ก็
ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะต้องทำให้สำเร็จ. เขาได้กำลังใจจากรายงานที่ว่ามีชายชราผิวขาวคนหนึ่งอาศัยอยู่ในเขตอูจิจิ.เมื่อสแตนลีย์เกือบถึงเมืองอูจิจิ เขาก็เตรียมตัวจะพบกับลิฟวิงสโตน. หนังสือสแตนลีย์ โดยริชาร์ด ฮอลล์ กล่าวว่า “ทั้ง ๆ ที่สแตนลีย์ซูบผอมและเหน็ดเหนื่อย แต่เขารู้สึกว่าต้องทำตัวให้ดูเหมือนองอาจกล้าหาญกว่า [นักสำรวจคนก่อน ๆ] เมื่อเดินเข้าไปในเมือง. ที่จริง นี่กำลังจะกลายเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งประวัติศาสตร์ และเขาไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดเหตุการณ์นี้เท่านั้น แต่จะทำให้มีการบันทึกไว้ด้วย. ทุกคนในคณะแต่งกายด้วยชุดที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่. สแตนลีย์ใส่สายคาดอันใหม่รอบหมวกของเขา, สวมเสื้อสักหลาดสีขาวสะอาด, และใส่รองเท้าบูตที่ขัดเงาอย่างดี.”
สแตนลีย์เป็นผู้กล่าวว่าเกิดอะไรขึ้นต่อไป: “ในที่สุดการเดินทางมาถึงจุดสิ้นสุด . . . มีชาวอาหรับกลุ่มหนึ่งซึ่งดูเหมือนเป็นบุคคลที่สำคัญมากอยู่ที่นั่น และเมื่อเข้าไปใกล้ ข้าพเจ้าเห็นชายแก่คนหนึ่งที่มีใบหน้าขาวอยู่ท่ามกลางคนกลุ่มนี้ . . . เราเปิดหมวกทักทายกัน และข้าพเจ้าก็กล่าวว่า ‘คุณคงจะเป็น ดร. ลิฟวิงสโตนใช่ไหม?’ และเขาตอบว่า ‘ใช่.’”
เหตุการณ์หลังจากนั้น
ทีแรก สแตนลีย์วางแผนจะอยู่แค่พอที่จะสัมภาษณ์และเขียนเรื่องราวของเขาเอง. อย่างไรก็ตาม ลิฟวิงสโตนและสแตนลีย์กลายเป็นเพื่อนกันอย่างรวดเร็ว. มัคคุเทศก์ของเรากล่าวว่า “สแตนลีย์อยู่กับลิฟวิงสโตนนานหลายสัปดาห์ และพวกเขาสำรวจทะเลสาบแทนกันยีกาด้วยกัน. สแตนลีย์พยายามโน้มน้าวให้ลิฟวิงสโตนเดินทางกลับยุโรป แต่ลิฟวิงสโตนตั้งใจแน่วแน่ที่จะอยู่ต่อและค้นหาต้นแม่น้ำไนล์ให้พบ. ดังนั้น วันที่ 14 มีนาคม 1872 สแตนลีย์และลิฟวิงสโตนก็จากกันด้วยความเศร้า. สแตนลีย์เดินทางกลับไปที่ชายฝั่ง เขาซื้อเสบียงและส่งไปให้ลิฟวิงสโตน. หลังจากนั้น สแตนลีย์ก็มุ่งหน้ากลับยุโรป.”
เกิดอะไรขึ้นกับลิฟวิงสโตน? มัคคุเทศก์ของเราอธิบายว่า “ในเดือนสิงหาคม 1872 ลิฟวิงสโตนกลับไปเริ่มค้นหาต้นแม่น้ำไนล์อีกครั้ง. เขามุ่งลงใต้ไปยังแซมเบีย. แต่ด้วยความเหนื่อยล้าและความเจ็บป่วยทำให้สุขภาพของเขาทรุดโทรมลง. วันที่ 1 พฤษภาคม 1873 มีคนพบว่าเขาเสียชีวิตแล้ว. คนใช้ของเขาบางคน . . . ได้อาบยารักษาศพเขาไว้ และฝังหัวใจกับลำไส้ของเขาไว้ใต้ผืนดินแอฟริกา. มีการขนย้ายศพของลิฟวิงสโตนเป็นระยะทางประมาณ 2,000 กิโลเมตรไปที่บากาโมโยเพื่อมิชชันนารีจะรับศพที่นั่น. มีการจัดส่งศพของเขาผ่านทางเรือไปยังแซนซิบาร์และจากนั้นก็ส่งต่อไปยังบริเตน. ศพของเขามาถึงลอนดอนในวันที่ 15 เมษายน 1874 และถูกฝังในวิหารเวสต์มินสเตอร์ในอีกสามวันต่อมา. ต้องใช้เวลาเกือบหนึ่งปี กว่าที่ร่างของลิฟวิงสโตนจะมาถึงสถานที่ฝังสุดท้าย.”
สแตนลีย์เดินทางกลับไปยังแอฟริกาเพื่อสานต่องานที่ลิฟวิงสโตนทำค้างไว้. การเดินทางของสแตนลีย์ทำให้มีการสำรวจพื้นที่รอบ ๆ ทะเลสาบวิกตอเรียและทะเลสาบแทนกันยีกา รวมทั้งแม่น้ำคองโกที่ยิ่งใหญ่.
คงอดไม่ได้ที่จะชื่นชมความกล้าหาญและความตั้งใจแน่วแน่ของบุรุษเช่นลิฟวิงสโตนและสแตนลีย์. สารานุกรมบริแทนนิกา กล่าวเกี่ยวกับลิฟวิงสโตนว่า “การค้นพบของเขา—ทั้งทางด้านภูมิศาสตร์, วิชาการ, การแพทย์, และสังคม—ทำให้เกิดขุมทรัพย์แห่งความรู้ซึ่งยังคงต้องทำการสำรวจกันต่อไป.” และขณะที่ปัจจุบันลิฟวิงสโตนและสแตนลีย์ได้รับการระลึกถึงในฐานะนักสำรวจ ไม่ใช่ผู้เผยแพร่และนักข่าว แต่งานของพวกเขาก็ช่วยเปิดทางให้ความรู้ในคัมภีร์ไบเบิลแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวางในอีกหลายสิบปีต่อมา.
ด้วยเหตุนั้น มิชชันนารีของพยานพระยะโฮวาจึงสามารถช่วยชาวแอฟริกาหลายแสนคนให้รับเอาความจริงในคัมภีร์ไบเบิล. ที่จริง ในอูจิจิซึ่งเป็นที่ที่สแตนลีย์พบกับลิฟวิงสโตนเป็นครั้งแรก งานสอนความจริงในคัมภีร์ไบเบิลของพยานฯ เป็นงานที่รู้จักกันดี จึงไม่แปลกที่คนในท้องถิ่นจะถามพยานฯ ที่ยืนอยู่หน้าประตูบ้านว่า “คุณคงจะเป็นพยานพระยะโฮวาใช่ไหม?”
[แผนที่หน้า 23]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
ทะเลสาบวิกตอเรีย
การเดินทางสำรวจของลิฟวิงสโตน
เคปทาวน์
พอร์ต เอลิซาเบท
คูรูมาน
ทะเลสาบเองกามี
ลินยันตี
ลูอันดา
น้ำตกวิกตอเรีย
ควีลิมาเน
โมซัมบิก
มิกินดานี
แซนซิบาร์
ชิตัมโบ
ทะเลสาบแทนกันยีกา
นียังเว
อูจิจิที่ที่ชายสองคนพบกัน
สแตนลีย์ค้นหาลิฟวิงสโตนในปี 1871
แซนซิบาร์
บากาโมโย
อูจิจิที่ที่ชายสองคนพบกัน
[ที่มาของภาพ]
Map: Mountain High Maps® Copyright © 1997 Digital Wisdom, Inc.
[ภาพหน้า 22, 23]
เดวิด ลิฟวิงสโตน
[ที่มาของภาพ]
Livingstone: From the book Missionary Travels and Researches in South Africa, 1858
[ภาพหน้า 22, 23]
เฮนรี เอ็ม. สแตนลีย์
[ภาพหน้า 23]
น้ำตกวิกตอเรีย
[ภาพหน้า 24]
พยานพระยะโฮวาคนหนึ่งแบ่งปันความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลในอูจิจิ