เมื่อกลางวันกลายเป็นกลางคืน
เมื่อกลางวันกลายเป็นกลางคืน
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในแองโกลาและแซมเบีย
บางคนอาจพูดว่า ‘กลางวันกลายเป็นกลางคืนหรือ? เป็นไปไม่ได้!’ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เป็นไปได้ แต่ยังเกิดขึ้นหลายครั้งในรอบสิบปีอีกด้วย นั่นคือเมื่อใดก็ตามที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง. สุริยุปราคาเกิดจากอะไร และทำไมจึงน่าตื่นตาตื่นใจเช่นนี้? คำตอบเริ่มต้นที่ดวงจันทร์.
คุณคุ้นเคยดีกับรูปทรงของดวงจันทร์ที่เปลี่ยนแปลงไปขณะที่มันโคจรรอบโลกไหม? เมื่อดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อยู่ตรงข้ามกันบนท้องฟ้า เราจะเห็นดวงจันทร์ในช่วงซึ่งเราเรียกว่าจันทร์เต็มดวงขึ้นทางตะวันออกขณะที่ดวงอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้าไปทางตะวันตก. ขณะที่แต่ละวันผ่านไป ดวงจันทร์ก็ขึ้นช้าลงทุกคืน และค่อย ๆ เคลื่อนข้ามท้องฟ้าไปทางที่ดวงอาทิตย์กำลังขึ้น. ด้านที่สว่างของดวงจันทร์ก็ค่อย ๆ เล็กลง จนในที่สุดเหลือเป็นเสี้ยว. เมื่อดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งใกล้กับดวงอาทิตย์ตลอดวัน แม้แต่เสี้ยวนั้นก็หายไป และเราจะมองไม่เห็นดวงจันทร์เลยเมื่อด้านมืดของดวงจันทร์หันเข้าหาโลก. ช่วงนี้เราเรียกว่าจันทร์ดับ. จากนั้นกระบวนการก็วนกลับ โดยที่ดวงจันทร์เคลื่อนห่างออกจากดวงอาทิตย์มากขึ้นและในที่สุดก็กลับเป็นดวงจันทร์เต็มดวงอีกครั้ง. วัฏจักรนี้เกิดขึ้นซ้ำทุก ๆ 28 วันโดยประมาณ.
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสุริยุปราคาคือช่วงจันทร์ดับ. ตามปกติดวงจันทร์เพียงแค่เคลื่อนผ่านดวงอาทิตย์ในท้องฟ้าเวลากลางวันโดยที่เราไม่รู้ เพราะวงโคจรของมันไม่ได้อยู่ในระนาบเดียวกัน. แต่มีบางครั้งที่ดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, และโลกเรียงตัวในแนวตรงกันพอดี. ตอนนี้เงาของดวงจันทร์จะตกลงบนพื้นผิวโลก และทำให้เกิดสุริยุปราคา.
สุริยุปราคาเกิดจากความสัมพันธ์อันน่าทึ่งระหว่างดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, กับโลก. ดวงอาทิตย์มีขนาดมโหฬาร คือมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวกว่าดวงจันทร์ประมาณ 400 เท่า. แต่น่าทึ่งที่ดวงอาทิตย์ก็อยู่ห่างจากเรามากกว่าดวงจันทร์ประมาณ 400 เท่า. ผลคือ จากสายตาของเรา ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์มีขนาดปรากฏเกือบเท่ากัน. ด้วยเหตุนี้ บางครั้งดวงจันทร์จึงดูเหมือนจะบังดวงอาทิตย์ได้มิดพอดี.
เพื่อจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, และโลกต้องไม่เพียงแต่เรียงตัวในแนวตรงกันพอดี แต่ในขณะนั้น ดวงจันทร์ต้องอยู่ในวงโคจรช่วงที่เข้ามาใกล้โลกด้วย. * เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ บริเวณปลายแหลมของเงารูปกรวยของดวงจันทร์จะทำให้เกิดความมืดเป็นแถบแคบ ๆ บนพื้นผิวโลก.
ในกรณีสุริยุปราคาเต็มดวงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2001 เงามืดนั้นมีความกว้างถึง 200 กิโลเมตร. ทางเดินของเงามืดเริ่มต้นเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ณ บริเวณนอกชายฝั่งตะวันออกของอเมริกาใต้แล้วเคลื่อนผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ ที่ซึ่งจะเห็นสุริยุปราคาได้นานที่สุดคือเกือบห้านาที. หลังจากเคลื่อนผ่านแองโกลา, แซมเบีย, ซิมบับเว, และโมซัมบิก มันก็สิ้นสุดลงเมื่อดวงอาทิตย์ตกนอกชายฝั่งตะวันออกของมาดากัสการ์. ขอให้เราดูว่าปรากฏการณ์
บนท้องฟ้าครั้งนี้เป็นเช่นไรในสายตาของผู้สังเกตการณ์ในแองโกลาและแซมเบีย.การเตรียมการสำหรับปรากฏการณ์นี้
ด้วยความคาดหวังอย่างสูง นักวิจัยมืออาชีพ, นักดาราศาสตร์สมัครเล่น, และคนอื่นอีกมากพากันหลั่งไหลเข้ามาในแอฟริกาเพื่อดูสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งแรกของสหัสวรรษใหม่. เนื่องจากกรุงลูซากา ประเทศแซมเบีย เป็นเมืองหลวงเพียงแห่งเดียวในเส้นทางของอุปราคา ผู้มาเยือนหลายคนจึงมุ่งหน้าไปที่นั่นเพื่อดูปรากฏการณ์ครั้งนี้.
นี่อาจเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในแซมเบียมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา. เพียงไม่กี่วันก่อนเกิดสุริยุปราคา กรุงลูซากาก็เต็มไปด้วยผู้มาเยือนหลายพันคน. มีการตระเตรียมเพื่อวันนั้นหลายเดือนล่วงหน้า. โรงแรม, ห้องพัก, ค่ายพักแรม, และบ้านส่วนตัวถูกจองล่วงหน้าจนเต็มเพื่อเป็นที่พักสำหรับผู้มาเยือนกลุ่มใหญ่.
สถานที่ที่เปิดให้สาธารณชนเข้าชมสุริยุปราคารวมไปถึงสนามบินลูซากา ที่ซึ่งผู้มาเยือนสามารถลงเครื่องบินได้ในตอนเช้า, ดูสุริยุปราคา, แล้วก็ขึ้นเครื่องบินกลับในตอนเย็น. เป็นเวลาหลายสัปดาห์ สถานีโทรทัศน์และวิทยุประกาศเรื่องปรากฏการณ์ที่กำลังมาถึง และย้ำเตือนถึงอันตรายของการมองดูดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า. แว่นตาชนิดพิเศษสำหรับดูดวงอาทิตย์ขายดีเกินคาด และร้านค้าหลายร้านก็ขายจนหมดสต๊อก.
อย่างไรก็ตาม สุริยุปราคาครั้งนี้จะเห็นได้ในทวีปแอฟริกาเป็นแห่งแรกที่ซุมเบ เมืองชายทะเลในแองโกลา. ที่นี่เป็นที่ซึ่งผู้สังเกตการณ์จะได้เห็นสุริยุปราคานานสี่นาทีครึ่ง นานที่สุดเท่าที่เกิดบนผืนแผ่นดิน.
หลายเดือนก่อนเกิดสุริยุปราคา ป้ายประกาศเรื่องสุริยุปราคาและคำเตือนเกี่ยวกับอันตรายของการชมสุริยุปราคาก็ถูกติดตั้งทั่วกรุงลูอันดา เมืองหลวงของแองโกลา และในเมืองใหญ่เมืองอื่น ๆ. เงาของดวงจันทร์พาดผ่านใจกลางประเทศ ดังนั้น ทั่วทั้งแองโกลาจึงเห็นอย่างน้อยก็สุริยุปราคาที่เกือบเต็มดวง. กรุงลูอันดาจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกบังถึง 96 เปอร์เซ็นต์. รัฐบาลพร้อมกับความร่วมมือจากบริษัทเอกชน ได้จัดให้มีการนำเข้าแว่นตาชนิดพิเศษสำหรับดูดวงอาทิตย์เพื่อการจำหน่าย. มีการแจกแว่นตาหลายอันให้แก่ผู้ด้อยโอกาสฟรี ๆ.
ศูนย์กลางสำหรับการดูสุริยุปราคาของแองโกลาอยู่ที่ซุมเบ เมืองซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบแคบ ๆ บริเวณชายฝั่งอันสวยงามระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกใต้และที่ราบสูงตอนกลางของแองโกลา. พื้นที่แถบเมืองซุมเบรอดพ้นจากการสู้รบอันเลวร้ายซึ่งได้ทำความเสียหายแก่ประเทศแองโกลา ดังนั้น ผู้มาเยือนจึงได้เห็นเมืองที่ยังอยู่ในสภาพเดิมซึ่งมีชาวเมืองที่อบอุ่นเป็นมิตรและชอบคบหาสมาคมอยู่ราว ๆ 25,000 คน. เพื่อจะเอาใจใส่ผู้มาเยือนทั้งหมด ยังมีการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และมีการปรับปรุงระบบไฟฟ้าในท้องถิ่นอีกด้วย. มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการกับนักวิทยาศาสตร์, คณะรัฐมนตรี, และผู้ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์จากแองโกลาและประเทศอื่น ๆ. มีการสร้างเวทีขนาดใหญ่บนชายหาดสำหรับรายการบันเทิงที่ยิ่งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในเมืองซุมเบ.
วันอันน่าตื่นเต้นมาถึง
ข้อดีอย่างหนึ่งของการดูสุริยุปราคาในแองโกลาคือในเดือนมิถุนายนไม่ค่อยมีฝน. แต่ลองนึกถึงความตื่นตระหนกเมื่อเมฆลอยมาปกคลุมบริเวณเมืองซุมเบหนึ่งวันก่อนเกิดสุริยุปราคา! ตลอดเย็นวันนั้นและเช้าวันรุ่งขึ้น เมืองนั้นถูกบดบังด้วยเมฆหนาทึบ. ความหวังทั้งสิ้นที่จะได้เห็นสุริยุปราคาจะต้องพังทลายลงไหม? พอถึงช่วงสาย เมฆก็เริ่มสลายตัว และพอใกล้เที่ยงท้องฟ้าก็กลายเป็นสีฟ้าไร้เมฆหมอก. โล่งอกไปที! คล้ายกัน มีความกังวลในแซมเบีย เนื่องจากยามเช้าท้องฟ้าไม่สดใสและมีเมฆบัง. กระนั้น ที่แซมเบียก็เช่นกัน ทัศนียภาพกลับมาสดใสทันเวลา. ขอฟังประจักษ์พยานพรรณนาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น.
แองโกลา: “เราเลือกที่จะดูสุริยุปราคาบนจุดที่สูงซึ่งมองลงมาเห็นทะเล. เมื่อเวลาใกล้เข้ามา ฝูงชนเริ่มมารวมตัวกันที่ชายหาดในเมืองและในสถานที่ซึ่งจัดไว้สำหรับชมปรากฏการณ์นี้. เที่ยงตรง ตอนที่สุริยุปราคากำลังจะเริ่ม หลายคนใส่แว่นตาป้องกัน และเฝ้าดู ‘สัมผัส’ แรกที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์. ไม่นานเท่าไรหลังเที่ยงวัน สุริยุปราคาก็เริ่มขึ้น. โดยใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ ผู้คนสามารถเห็นจุดบนดวงอาทิตย์หลายจุด ซึ่งเป็นจุดดำบนพื้นผิวของดวงอาทิตย์. ผู้เฝ้าดูเห็นจุดเหล่านี้ค่อย ๆ หายไปในเงามืดทีละจุด. ในช่วงที่เกิดสุริยุปราคาอยู่นั้น อุณหภูมิก็ลดลงอย่างน่าสังเกตและแสงก็เริ่มมีสีแปลก ๆ. ในที่สุด ขณะที่เสี้ยวสุดท้ายของดวงอาทิตย์หายลับไปในเงาที่คืบคลานเข้ามา ความมืดก็เกิดขึ้น.”
* จากนั้นก็ตามด้วยภาพชั้นบรรยากาศโครโมสเฟียร์ของดวงอาทิตย์ เป็นแสงวาบสีแดงอมชมพู ซึ่งนำไปสู่ความมืดมิด!”
แซมเบีย: “เนื่องจากสำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาในแซมเบียตั้งอยู่ที่มาเคนี ในกรุงลูซากา ที่นี่จึงเป็นที่ซึ่งเหมาะมากสำหรับการดูสุริยุปราคาเต็มดวง. เวลา 15:07 น. ดวงจันทร์เริ่มบังดวงอาทิตย์. เงาเป็นแถบ ๆ พาดผ่านผนังตึก ทำให้เกิดแสงเป็นลำ. ลมสงบลง และนกก็เงียบเสียงไป. สัตว์ป่าเริ่มเตรียมจะเข้านอนยามค่ำคืน. เวลา 15:09 น. ไม่กี่วินาทีก่อนจะถูกบังมิด ดวงอาทิตย์ที่กำลังอันตรธานไปก็เหลือแค่จุดของแสงที่แวววาวไม่กี่จุด จากนั้นก็เหลือเพียงจุดเดียว. ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นที่รู้จักกันว่า ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีและปรากฏการณ์แหวนเพชรตามลำดับ.แองโกลา: “ปรากฏการณ์แหวนเพชรที่น่าตื่นตาตื่นใจทำให้เกิดการตะลึงงันและการร้องตะโกน. จากนั้นเวลา 13:48 น. ตามเวลาในท้องถิ่น การบังเต็มดวงก็เริ่มขึ้น. ปฏิกิริยามีหลากหลาย. บางคนวุ่นอยู่กับการถ่ายภาพ. คนอื่น ๆ เริ่มตะโกนขึ้นพร้อม ๆ กันว่า ‘เต็มดวงแล้ว! เต็มดวงแล้ว! เต็มดวงแล้ว!’ และยังมีบางคนที่เริ่มเป่าปากและร้องตะโกนด้วยความทึ่งเมื่อกลางวันกลายเป็นกลางคืน. พวยก๊าซของดวงอาทิตย์ในชั้นบรรยากาศซึ่งมีอุณหภูมินับล้านองศาดูเหมือนพุ่งออกมาทุกทิศทางเป็นโคโรนา. เราสามารถเห็นเปลวก๊าซที่เป็นเส้นโค้งแผ่รอบ ๆ เส้นรอบวงอันดำมืดของดวงจันทร์. ทันใดนั้น เหมือนกับว่าเวลาเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว ช่วงสุริยุปราคาเต็มดวงก็หมดไปและลำแสงจากดวงอาทิตย์ก็ส่องออกมาจากอีกด้านหนึ่งของเงามืด.
“ขณะที่ดวงอาทิตย์เริ่มปรากฏออกมา เราเห็นจุดบนดวงอาทิตย์ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกกลืนหายไปค่อย ๆ ปรากฏออกมาทีละจุด ขณะที่รูปทรงกลม ๆ ของดวงอาทิตย์ที่คุ้นเคยกันค่อย ๆ กลับคืนสู่สภาพเดิม.”
แซมเบีย: “ที่นี่มีช่วงที่ดวงอาทิตย์ถูกบังมิดนาน 3 นาที 14 วินาที ดังนั้น จึงมีเวลาที่จะตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของเหตุการณ์นี้. ตอนนั้นฟ้ามืด แต่ก็ยังมีแสงสลัวอยู่ที่ขอบฟ้า. แม้ว่าท้องฟ้ายังเป็นสีคราม แต่เราก็มองเห็นดาวเคราะห์
ต่าง ๆ ได้ ซึ่งตามปกติจะถูกแสงดวงอาทิตย์บดบังไว้ ตัวอย่างเช่น ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ปรากฏเป็นจุดสว่างซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจน. บางทีลักษณะที่น่าทึ่งที่สุดของสุริยุปราคาคือแสงโคโรนาของดวงอาทิตย์. แสงนี้เป็นแสงสีขาวอมชมพูกระจายอยู่รอบดวงกลมสีดำ. ด้วยความอัศจรรย์ใจ ผู้ชมบางคนพรรณนาว่า ‘น่าทึ่งจริง ๆ งดงามเหลือเกิน.’ ดวงจันทร์ค่อย ๆ เคลื่อนออกไป ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์มากขึ้น จนกระทั่งเวลา 16:28 น. แสงอาทิตย์ก็ไม่ถูกบดบังอีกต่อไป. สุริยุปราคาสิ้นสุดลงแล้ว!”บทเรียนจากสุริยุปราคา
หลังจากนั้น หลายคนได้พูดถึงความรู้สึกที่ได้จากประสบการณ์ที่กระตุ้นใจนี้. ในแองโกลา ผู้หญิงคนหนึ่งกล่าวว่าเธอซึ้งใจจนเกือบร้องไห้ออกมา. อีกคนหนึ่งใคร่ครวญถึงของประทานอันงดงามจากพระเจ้า. ส่วนอีกคนหนึ่งกล่าวว่ามีเพียงพระผู้สร้างที่เปี่ยมด้วยความรักเท่านั้นที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าพิศวงเช่นนี้เพื่อผู้คนจะหยั่งรู้ค่าความงามอันน่าทึ่งของแหล่งพลังงานของโลก.
เห็นได้ชัดว่าผู้คนมากมายในแอฟริกามีความนับถือพระผู้สร้างและคัมภีร์ไบเบิลเป็นอย่างยิ่ง. เมื่อพยานพระยะโฮวาในเมืองซุมเบพูดกับคนอื่น ๆ เกี่ยวกับสุริยุปราคาและกล่าวว่านี่เป็นเพียงหนึ่งในราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระยะโฮวา พระผู้สร้างของเรา ชาวเมืองก็แสดงความสนใจจริง ๆ ที่จะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้. หลายคนรับวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับที่พูดถึงราชกิจอันมหัศจรรย์นี้ด้วยความกระตือรือร้น.
ปรากฏการณ์บนฟากฟ้านี้ช่วยให้หลายล้านคนลืมปัญหาของตนไปสองสามนาทีและสนใจสิ่งที่เสริมสร้างและน่าทึ่งอย่างแท้จริง. เมื่อได้เห็นลักษณะอันน่าทึ่งของดวงอาทิตย์ซึ่งตามปกติไม่อาจมองเห็นได้ บางคนจึงคิดถึงสง่าราศีซึ่งไม่อาจเห็นได้แต่มหัศจรรย์ยิ่งกว่าสง่าราศีของดวงอาทิตย์ นั่นคือพระผู้สร้างดวงอาทิตย์ ซึ่งมีพระนามว่าพระยะโฮวาพระเจ้า.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 7 เนื่องจากวงโคจรของดวงจันทร์และโลกเป็นวงรี ขนาดปรากฏของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์จึงเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยขึ้นอยู่กับว่าโลกและดวงจันทร์อยู่ ณ ตำแหน่งใดในวงโคจร. เมื่อดวงจันทร์โคจรอยู่ ณ จุดที่ไกลจากโลกมากที่สุด เงามืดของดวงจันทร์อาจตกไม่ถึงพื้นผิวโลก. เมื่อเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ ผู้สังเกตการณ์บนโลกซึ่งอยู่ในแนวเดียวกับเงาจะเห็นสุริยุปราคาวงแหวน คือจะเห็นดวงอาทิตย์เป็นวงสว่างโดยมีดวงสีดำอยู่ตรงกลาง.
^ วรรค 19 ปรากฏการณ์ซึ่งรู้จักกันว่าลูกปัดเบลีเกิดจากแสงอาทิตย์ส่องผ่านหุบเขาบนดวงจันทร์ก่อนจะถูกบังมิดดวง. คำว่า “แหวนเพชร” พรรณนาถึงรูปลักษณ์ของดวงอาทิตย์ก่อนจะถูกบังจนมิด เมื่อเหลือเพียงแค่ส่วนเล็ก ๆ ทำให้ดูเหมือนวงแหวนสีขาวพร้อมกับแสงที่เป็นประกายคล้ายกับแหวนเพชร.
[แผนภูมิหน้า 21]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
→ →
ดวงอาทิตย์ → ดวงจันทร์ ⇨ เงามืด ⇨ โลก
→ →
[ที่มาของภาพ]
© 1998 Visual Language
[ภาพหน้า 23]
ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลี
สุริยุปราคาเต็มดวง
ปรากฏการณ์แหวนเพชร
[ที่มาของภาพ]
Courtesy Juan Carlos Casado, www.skylook.net
[ภาพหน้า 23]
ผู้ชมสุริยุปราคาในเมืองลูซากา ประเทศแซมเบีย