เรากำลังทำอะไรกับอาหารของเรา?
เรากำลังทำอะไรกับอาหารของเรา?
การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอาหารของเราไม่ใช่แนวคิดใหม่. ที่จริง เป็นเวลาหลายชั่วอายุคนแล้วที่มนุษย์เชี่ยวชาญเรื่องนี้. เทคนิคการผสมพันธุ์อย่างรอบคอบทำให้เกิดพืชผลและปศุสัตว์พันธุ์ใหม่หลายพันธุ์. จริง ๆ แล้ว ตัวแทนองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐกล่าวว่า “อาหารแทบทุกประเภทที่คุณซื้อมานั้นเคยถูกดัดแปลงมาแล้วด้วยวิธีผสมพันธุ์แบบดั้งเดิม.”
การผสมพันธุ์ไม่ได้เป็นวิธีเดียวที่จะดัดแปลงอาหาร. อุตสาหกรรมอาหารได้พัฒนากระบวนการหลายอย่างในการปรุงแต่งและการแปรรูปอาหาร ไม่ว่าจะเพื่อเพิ่มรสชาติ, สี, หรือทำให้ได้มาตรฐานและป้องกันไม่ให้อาหารเสีย. ผู้คนคุ้นเคยกับการกินอาหารที่ผ่านการดัดแปลงไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่ง.
แต่ผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตื่นตระหนกกับสิ่งที่มีการทำกับอาหารของเราในปัจจุบัน. เพราะเหตุใด? บางคนเกรงว่าเทคนิคสมัยใหม่ซึ่งใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะทำให้อาหารเป็นอันตราย. ความวิตกกังวลเช่นนั้นมีเหตุผลไหม? ให้เราพิจารณาแง่มุมที่น่าเป็นห่วงสามประการ. *
ฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะ
ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 ในบางแห่งมีการใส่ยาปฏิชีวนะ
ปริมาณเล็กน้อยลงไปในอาหารเป็ด, ไก่, สุกร, และวัวควาย. จุดประสงค์คือ เพื่อลดความเสี่ยงที่สัตว์จะติดโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ที่มีการขังสัตว์ให้อยู่ด้วยกันอย่างแออัด. ในบางประเทศยังมีการใส่ฮอร์โมนในอาหารสัตว์ด้วยเพื่อเร่งการเจริญเติบโต. กล่าวกันว่า ฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะป้องกันไม่ให้สัตว์ติดเชื้อและทำให้การเกษตรแบบเร่งรัดมีกำไรมากขึ้น และยังเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยทำให้ผลผลิตมีราคาถูกลง.นั่นดูเหมือนมีเหตุผลดี. แต่เนื้อของสัตว์ที่กินสารเหล่านี้เข้าไปเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคไหม? รายงานจากคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งประชาคมยุโรปลงความเห็นว่า แบคทีเรียมีโอกาสรอดจากยาปฏิชีวนะและถ่ายทอดไปยังผู้บริโภคได้. รายงานนี้บอกว่า “แบคทีเรียเหล่านี้บางชนิด เช่น แซลโมเนลลาและแคมพีโลแบคเทอร์ อาจเป็นสาเหตุโดยตรงของโรคร้ายแรงที่เกิดกับมนุษย์ซึ่งผ่านมาทางห่วงโซ่อาหาร.” ยิ่งกว่านั้น จะเกิดอะไรขึ้นถ้าในห่วงโซ่อาหารไม่เพียงแค่มีแบคทีเรียแต่มียาปฏิชีวนะตกค้างอยู่? บางคนเกรงว่า ผลที่ตามมาคือเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยในมนุษย์อาจจะดื้อยามากขึ้นเรื่อย ๆ.
แล้วเนื้อสัตว์ที่ได้รับฮอร์โมนล่ะ? นายสัตวแพทย์ไฮน์ริค คาร์ก ศาสตราจารย์ในเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ให้ความเห็นว่า “ผู้เชี่ยวชาญทุกคนเห็นพ้องกันว่า เนื้อสัตว์ที่ได้รับฮอร์โมนไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหากมีการใช้ตามคำแนะนำ.” อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ดี โวเคอ รายงานว่า ในเรื่องความปลอดภัยของเนื้อสัตว์ที่ได้รับฮอร์โมนแล้ว “ตลอด 15 ปีมานี้ พวกนักวิจัยไม่สามารถเห็นพ้องกับข้อสรุปเดียวกันได้.” และในฝรั่งเศส ประเด็นเรื่องฮอร์โมนในเนื้อสัตว์ได้รับคำตอบอย่างหนักแน่นว่า ‘ไม่! ไม่ควรใช้ฮอร์โมน!’ เห็นได้ชัดว่าความขัดแย้งนี้ไม่มีวันยุติง่าย ๆ.
อาหารอาบรังสี
นับตั้งแต่เริ่มมีการทดลองในสวีเดนเมื่อปี 1916 อย่างน้อย 39 ประเทศได้อนุญาตให้มีการอาบรังสีในปริมาณต่ำกับอาหารต่าง ๆ เช่น มันฝรั่ง, ข้าวโพด, ผลไม้, และเนื้อสัตว์. เพราะเหตุใด? กล่าวกันว่า การอาบรังสีจะฆ่าแบคทีเรีย, แมลง, และปรสิตเกือบทั้งหมด ด้วยเหตุนั้นจึงลดความเสี่ยงของผู้บริโภคต่อการติดโรคที่เกิดจากอาหาร. วิธีการนี้ยังยืดอายุผลิตผลให้เก็บไว้ได้นานขึ้นด้วย.
แน่นอน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ถ้าจะให้ดี อาหารที่เรากินควรสดและสะอาด. แต่น้อยคนในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีเวลาทำอาหารด้วยของสดเป็นประจำ. วารสารเทสท์ กล่าวว่า คนทั่วไปในประเทศเหล่านั้นใช้เวลา “สิบนาทีสำหรับมื้อเช้าและสิบห้านาทีสำหรับมื้อกลางวันและมื้อเย็น.” ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจที่ผู้บริโภคหลายคนชอบอาหารสำเร็จรูปและอาหารที่เก็บไว้ได้นาน. แต่อาหารอาบรังสีปลอดภัยไหม?
ในปี 1999 องค์การอนามัยโลกตีพิมพ์การศึกษาวิจัยของคณะผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศ. พวกเขาลงความเห็นว่า อาหารอาบรังสี “ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอสำหรับผู้บริโภค.” พวกผู้สนับสนุนอาหารประเภทนี้บอกว่าการอาบรังสีอาหารเปรียบได้กับการฆ่าเชื้อผ้าพันแผลซึ่งก็ทำด้วยวิธีการอาบรังสีเช่นกัน หรือเปรียบได้กับกระเป๋าเดินทางที่ผ่านเครื่องสแกนอิเล็กทรอนิกส์ที่สนามบิน. อย่างไรก็ตาม ผู้คัดค้านยืนยันว่า การอาบรังสีทำให้คุณค่าทางโภชนาการที่มีอยู่ตามธรรมชาติลดลงและอาจมีความเสี่ยงซึ่งยังไม่เป็นที่ทราบกัน.
อาหารที่ผ่านกรรมวิธีตัดแต่งพันธุกรรม
นักพันธุศาสตร์สามารถถ่ายโอนยีนมาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยโยกย้ายยีนจากดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตตัวหนึ่งไปไว้ในดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตอีกตัวหนึ่งในชนิดเดียวกัน. อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนักพันธุศาสตร์ไปไกลกว่านั้นมาก. ตัวอย่างเช่น มีสตรอเบอร์รีและมะเขือเทศซึ่งถูกตัดแต่งพันธุกรรมโดยอาศัยยีนของปลา ทำให้พืชเหล่านั้นทนต่ออุณหภูมิต่ำได้ดียิ่งขึ้น.
มีการพูดกันมากเกี่ยวกับอาหารที่ผ่านกรรมวิธีตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็ม) * ทั้งในทางสนับสนุนและคัดค้าน. ผู้สนับสนุนกล่าวว่าเทคโนโลยีชีวภาพชนิดนี้สามารถคาดการณ์และควบคุมได้ง่ายกว่าวิธีผสมพันธุ์พืชแบบดั้งเดิม ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและลดความอดอยากของมนุษย์. แต่อาหารที่ผ่านกรรมวิธีตัดแต่งพันธุกรรมปลอดภัยไหม?
รายงานฉบับหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ทำขึ้นโดยคณะนักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นตัวแทนจากสถาบันการศึกษาหลายแห่งในอังกฤษและในสหรัฐ รวมทั้งในบราซิล, จีน, อินเดีย, เม็กซิโก, และประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ. รายงานฉบับนี้ ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม 2000 กล่าวว่า “จนถึงปัจจุบัน มีการปลูกพืชซึ่งได้รับการปลูกถ่ายพันธุกรรม [จีเอ็ม] มากกว่า 30 ล้านเฮกตาร์ [180 ล้านไร่] และยังไม่เคยพบปัญหาสุขภาพที่เกิดกับมนุษย์ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการกินพืชที่ได้รับการปลูกถ่ายพันธุกรรมหรือผลผลิตของพืชนั้น.” ในบางแห่ง ถือกันว่าผลิตผลจากพืชที่ผ่านกรรมวิธีตัดแต่งพันธุกรรมปลอดภัยพอ ๆ กับอาหารทั่วไป.
กระนั้น ในที่อื่น ๆ มีความไม่แน่ใจอยู่มาก. ในบริเตน, ฝรั่งเศส, และออสเตรีย บางคนไม่ไว้ใจว่าอาหารที่ผ่านกรรมวิธีตัดแต่งพันธุกรรมนั้นจะปลอดภัย. นักการเมืองชาวดัตช์คนหนึ่งพูดถึงอาหารชนิดนี้ว่า “มีอาหารบางประเภทที่เราไม่ชอบเลย.” ผู้วิจารณ์อาหารเช่นว่านั้นชี้ถึงประเด็นเรื่องศีลธรรมและอันตรายที่อาจเกิดกับสภาพแวดล้อมด้วย.
นักวิทยาศาสตร์บางคนรู้สึกว่าอาหารที่ผ่านกรรมวิธีตัดแต่งพันธุกรรมยังอยู่ในขั้นแรก ๆ ของการพัฒนาและควรมีการทดสอบมากขึ้นเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดกับผู้บริโภค. ตัวอย่างเช่น สมาคมการแพทย์อังกฤษรู้สึกว่าพันธุวิศวกรรมมีทีท่าว่าจะเป็นประโยชน์ใหญ่หลวงต่อประชาชน. กระนั้น สมาคมนี้กล่าวถึงบางแง่ที่น่าเป็นห่วง อย่างเช่น ประเด็นเรื่องการแพ้อาหารที่ผ่านกรรมวิธีตัดแต่งพันธุกรรม ซึ่งหมายความว่า “จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มขึ้นอีก.”
เลือกด้วยตัวเองอย่างสมดุล
ในบางประเทศ อาหารที่บริโภคกันมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์เป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป. บ่อยครั้งมีการใช้สารปรุงแต่งเพื่อเพิ่มหรือทำให้รสชาติและสีได้มาตรฐาน รวมทั้งยังทำให้เก็บไว้ได้นานขึ้น. ที่จริง หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวว่า “ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หลายชนิด เช่น อาหารแคลอรีต่ำ, ขนมขบเคี้ยว, และอาหารสำเร็จรูปคงไม่สามารถผลิตออกมาได้ถ้าไม่มีสารปรุงแต่งอาหาร.” นอกจากนั้น เป็นไปได้มากทีเดียวว่าอาหารเหล่านั้นจะประกอบด้วยส่วนผสมซึ่งผ่านกรรมวิธีตัดแต่งพันธุกรรม.
เป็นเวลาหลายปีที่การเกษตรทั่วโลกได้อาศัยวิธีการต่าง ๆ ที่หลายคนถือว่าเป็นอันตราย. การใช้ยาปราบศัตรูพืชเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง. ยิ่งกว่านั้น เป็นเวลานานมาแล้วที่อุตสาหกรรมอาหารได้ใช้สารปรุงแต่งซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคบางคนเกิดอาการแพ้. เทคโนโลยีด้านอาหารแบบใหม่ ๆ เป็นอันตรายกว่าวิธีการเหล่านี้มากไหม? แม้แต่พวกผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่เห็นพ้องกันในเรื่องนี้. ที่จริง รายงานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือหลายฉบับต่างก็สนับสนุนทั้งสองฝ่ายและดูเหมือนยิ่งทำให้ความเห็นแตกแยกกัน.
เนื่องจากพวกเขามองว่าเป็นไปได้ยากที่จะเลี่ยงอาหารที่ผ่านกรรมวิธีทางเทคโนโลยีขั้นสูงหรือเนื่องจากคิดว่ามีปัญหาอื่นที่เร่งด่วนกว่า หลายคนในเวลานี้จึงตัดสินใจว่าจะไม่กังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้. แต่บางคนก็เป็นห่วงค่อนข้างมากทีเดียว. คุณจะทำอะไรได้บ้างถ้าคุณกับครอบครัวรู้สึกไม่แน่ใจเกี่ยวกับการกินอาหารที่ผ่านการแปรรูป ซึ่งดูเหมือนเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้ซับซ้อนเกินไป? มีขั้นตอนต่าง ๆ ที่ทำได้จริงซึ่งคุณอาจเลือกใช้ ดังจะมีการพิจารณาในบทความถัดไป. แต่ก่อนอื่น คงดีที่เราจะแน่ใจว่าเรามีทัศนะที่สมดุลในประเด็นนี้.
ความปลอดภัยของอาหารก็เหมือนกับสุขภาพ. ไม่มีวิธีใดในปัจจุบันที่จะทำให้สมบูรณ์ได้. ตามรายงานในวารสารนาทูร์ อุนท์ คอสมอส ภาษาเยอรมัน แม้แต่คนที่ทราบกันว่าพิถีพิถันมากในการเลือกและประกอบอาหาร ก็ไม่อาจเข้มงวดได้อย่างเต็มที่ในเรื่องโภชนาการ. สิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนหนึ่งอาจเป็นโทษกับอีกคนหนึ่ง. ดังนั้น นับว่าสุขุมมิใช่หรือที่จะสร้างเจตคติที่สมดุลและหลีกเลี่ยงความสุดโต่ง?
แน่นอน คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกเราว่าควรตัดสินใจอย่างไรในเรื่องอาหารที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในปัจจุบัน. แต่คัมภีร์ไบเบิลสอนเราเกี่ยวกับคุณลักษณะที่ควรปลูกฝังซึ่งจะช่วยเราในเรื่องนี้. ฟิลิปปอย 4:5 (ล.ม.) กล่าวว่า “ให้ความมีเหตุผลของท่านทั้งหลายปรากฏแก่คนทั้งปวง.” ความมีเหตุผลช่วยให้เราตัดสินใจได้อย่างสมดุลและหลีกเลี่ยงความสุดโต่ง. คุณลักษณะนี้ช่วยให้เราไม่เข้าไปบงการคนอื่นว่าควรหรือไม่ควรทำอะไร. และนั่นจะช่วยไม่ให้เราเข้าไปโต้เถียงในเรื่องที่ไร้แก่นสารซึ่งก่อความแตกแยกกับคนที่มีความเห็นต่างกันกับเรา.
กระนั้น ต้องยอมรับว่าอันตรายหลายอย่างที่เกิดจากอาหารไม่ใช่เรื่องที่ต้องโต้เถียงไปเสียทุกเรื่อง. อันตรายเหล่านี้มีอะไรบ้าง และคุณจะใช้มาตรการความปลอดภัยใดได้บ้าง?
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 ส่วนใหญ่แล้วเรากินอาหารที่เราชอบ. ตื่นเถิด! ไม่ได้เสนอแนะว่าควรกินหรือไม่ควรกินอาหารชนิดต่าง ๆ ที่มีการพิจารณาที่นี่ ไม่ว่าอาหารนั้นจะได้รับการผลิตขึ้นด้วยเทคโนโลยีชนิดใด. บทความชุดนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบข้อเท็จจริงตามที่ทราบกันในปัจจุบัน.
^ วรรค 15 โปรดดูตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 22 เมษายน 2000.
[ภาพหน้า 4]
ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะที่ให้กับปศุสัตว์หรือไม่?
[ภาพหน้า 6]
นับว่าสุขุมที่จะอ่านฉลากกำกับอาหารอย่างละเอียด
[ภาพหน้า 7]
นับว่าดีที่จะซื้ออาหารสดเป็นประจำ