เลฟ เอริกส์สัน—ผู้ค้นพบอเมริกาหรือ?
เลฟ เอริกส์สัน—ผู้ค้นพบอเมริกาหรือ?
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในเดนมาร์ก
ใครเป็นผู้ค้นพบอเมริกา? ไม่มีใครรู้แน่. ส่วนใหญ่แล้ว คำตอบขึ้นอยู่กับว่าคุณจะนิยามคำ “ค้นพบ” และ “อเมริกา” อย่างไร. ที่จริง ดินแดนอันกว้างใหญ่นี้มีผู้อาศัยอยู่แล้วหลายศตวรรษก่อนที่ชาวยุโรปจะรู้ว่ามีดินแดนแห่งนี้ด้วยซ้ำ. ต้นปี 1493 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสเดินทางกลับถึงยุโรปพร้อมด้วยบันทึกเรื่องราวของประจักษ์พยานเกี่ยวกับการเดินทางครั้งแรกของเขาสู่อเมริกา. จริง ๆ แล้วเขาได้ขึ้นฝั่งที่บริเวณหมู่เกาะอินดิสตะวันตก. แต่เขาไม่ใช่ชาวยุโรปคนแรกที่มาถึงโลกใหม่อันน่าทึ่งนี้. ดูเหมือนว่าชาวสแกนดิเนเวียผมสีบลอนด์กลุ่มหนึ่งเคยเดินทางมาถึงแผ่นดินใหญ่แห่งทวีปอเมริกาเหนือก่อนหน้านั้น 500 ปี.
เมื่อหนึ่งพันปีที่แล้ว มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือคงหนาวเย็นและไม่แน่นอนเหมือนกับในปัจจุบัน. นักเดินเรืออาจคิดว่าเขารู้จักคลื่นลมที่แปรปรวนของมหาสมุทรอย่างดีแล้ว แต่หมอกและพายุอาจทำให้เขาหลงทิศทางเป็นเวลาหลายสัปดาห์. ตามตำนานโบราณเรื่องหนึ่งของชาวนอร์ส นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในฤดูร้อนคราวหนึ่งกับชายหนุ่มที่ชื่อ เบียดนี เฮอร์ยอล์ฟสัน นักผจญภัยและนักเดินเรือที่ช่ำชอง. เขาหลงทิศทาง แต่เขาอาจได้ค้นพบทวีปใหม่!
นั่นเป็นสมัยของชาวไวกิง เมื่อชาวนอร์สขยายอำนาจไปตลอดน่านน้ำทั้งหลายและไปทั่วยุโรป. เรือของพวกเขาซึ่งมีรูปร่างเพรียวและเหมาะกับการออกทะเลจะพบเห็นได้ทุกแห่งตั้งแต่ชายฝั่งของนอร์เวย์ถึงชายฝั่งของแอฟริกาเหนือไปจนถึงแม่น้ำสายต่าง ๆ ในยุโรป.
ตามที่กล่าวในตำนานของชาวกรีนแลนด์ เบียดนีออกเดินทางไกลไปยังนอร์เวย์. ขณะที่ใกล้จะถึงฤดูหนาวปี ส.ศ. 986 เขากลับไปยังไอซ์แลนด์พร้อมสินค้าเต็มลำเรือ. แต่เขาต้องประหลาดใจ เมื่อพบว่าบิดาของเขาได้ออกจากไอซ์แลนด์ไปพร้อมกับกองเรือภายใต้การนำของเอริก เดอะ เรด. พวกเขาไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งเอริกเป็นผู้ค้นพบทางตะวันตกของไอซ์แลนด์. เพื่อจะทำให้ดินแดนแห่งนี้น่าดึงดูดใจมากขึ้น เอริกจึงตั้งชื่อเกาะนั้นว่ากรีนแลนด์. เบียดนีซึ่งกำลังหนุ่มแน่นจึงแล่นเรือไปยังกรีนแลนด์ด้วยความตั้งใจแน่วแน่. แต่แล้วกระแสลมก็เปลี่ยนทิศ. หมอกลงจัดจนมองไม่เห็นอะไร. ตำนานที่อ้างถึงข้างต้นกล่าวว่า “เป็นเวลาหลายวัน พวกเขาไม่รู้ว่ากำลังแล่นเรือไปทางใด.”
ในที่สุดเมื่อนักเดินเรือมองเห็นแผ่นดิน ลักษณะของมันไม่ตรงกับคำพรรณนาของกรีนแลนด์. ชายฝั่งดูเขียวชอุ่ม, มีภูเขา, และมีป่าไม้. พวกเขาแล่นเรือขึ้นไปทางเหนือโดยที่ชายฝั่งอยู่ทางซ้ายมือ. เมื่อพวกเขาพบแผ่นดินแห่งที่สอง แผ่นดินนั้นก็ดูไม่เหมือนกรีนแลนด์เช่นเดียวกับแห่งแรก. แต่หลายวันต่อมาภูมิประเทศก็เปลี่ยนไป มีภูเขามากขึ้นและปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง. จากนั้นเบียดนีกับลูกเรือของเขาก็หันหัวเรือไปทางตะวันออกมุ่งสู่ทะเลใหญ่ และในที่สุดก็พบกรีนแลนด์ และอาณานิคมชาวนอร์สของเอริก เดอะ เรด.
เลฟ เอริกส์สันออกเดินทาง
นี่อาจเป็นตอนที่ชาวยุโรปเห็นแผ่นดินใหญ่ของทวีปเป็นครั้งแรก แม้ว่าจะไม่ได้ย่างเท้าลงบนแผ่นดินซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันว่าอเมริกาเหนือ. ข่าวเกี่ยวกับสิ่งที่เบียดนีเห็นได้กระตุ้นความสนใจของชาวนอร์สคนอื่น ๆ ในกรีนแลนด์. ดินแดนที่หนาวจัดของพวกเขามีต้นไม้ไม่มาก; เพื่อจะสร้างและซ่อมแซมเรือกับบ้านของตน พวกเขาต้องอาศัยไม้ที่ลอยมาตามน้ำหรือไม้ที่ส่งมาจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง. แต่ดูเหมือนแค่ข้ามทะเลไปทางตะวันตก ก็เป็นดินแดนซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้จำนวนนับไม่ถ้วน!
ผู้ที่สนใจในดินแดนใหม่แห่งนี้เป็นพิเศษคือชายหนุ่มที่ชื่อ เลฟ เอริกส์สัน บุตรชายคนหนึ่งของเอริก เดอะ เรด. เลฟได้รับการพรรณนาว่าเป็น “บุรุษรูปร่างล่ำสัน, แข็งแรง, หน้าตาหล่อเหลาและสุขุม.” ประมาณปี 1000 เลฟ เอริกส์สันซื้อเรือของเบียดนี และพร้อมด้วยลูกเรือ 35 คน เขาออกเดินทางไปค้นหาชายฝั่งที่เบียดนีเคยเห็น.
ดินแดนใหม่สามแห่ง
ถ้าตำนานนั้นถูกต้อง ตอนแรกเลฟพบดินแดนที่ไม่มีต้นหญ้า มีธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ปกคลุมบนที่สูง. เนื่องจากดินแดนนั้นดูเหมือนแผ่นหินแบน ๆ แผ่นหนึ่ง เลฟจึงตั้งชื่อมันว่าเฮลลูแลนด์ ซึ่งหมายความว่า “ดินแดนแผ่นหิน.” นี่อาจเป็นชั่วขณะที่ชาวยุโรปย่างเท้าลงบนอเมริกาเหนือเป็นครั้งแรก. นักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันเชื่อว่าเฮลลูแลนด์คือเกาะแบฟฟิน ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแคนาดา.
นักสำรวจชาวนอร์สเดินทางต่อไปทางใต้. พวกเขาพบกับดินแดนแห่งที่สอง ซึ่งราบเรียบและมีป่าไม้ พร้อมด้วยหาดทรายสีขาว. เลฟตั้งชื่อดินแดนแห่งนี้ว่ามาร์กแลนด์ ซึ่งหมายความว่า “ดินแดนแห่งป่าไม้” ในปัจจุบันนี้มักถือกันว่าคือคาบสมุทรแลบราดอร์. ไม่นานนักพวกเขาก็พบดินแดนแห่งที่สามซึ่งดีกว่าดินแดนแห่งนี้เสียด้วยซ้ำ.
ตำนานกล่าวต่อไปว่า “พวกเขาแล่นเรือไปในทะเลเป็นเวลาสองวันด้วยลมตะวันออกเฉียงเหนือแล้วพวกเขาก็เห็นแผ่นดิน.” พวกเขาพบว่าดินแดนแห่งนี้น่าอยู่มากจนตัดสินใจสร้างบ้านและอยู่ที่นั่นในช่วงฤดูหนาว. ระหว่างฤดูหนาว “อุณหภูมิไม่เคยลดลงต่ำกว่าจุดเยือกแข็งและต้นหญ้าก็เหี่ยวแห้งไปเพียงเล็กน้อย.” ต่อมา คนหนึ่งใน
พวกเขาถึงกับพบผลองุ่นและเถาองุ่น; ดังนั้น เลฟ เอริกส์สันจึงตั้งชื่อดินแดนนี้ว่าวินแลนด์ ซึ่งอาจหมายถึง “ดินแดนเหล้าองุ่น.” เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ พวกเขาก็แล่นเรือกลับไปยังกรีนแลนด์ โดยที่เรือของพวกเขาเพียบแปล้ด้วยผลิตผลจากวินแลนด์.ผู้คงแก่เรียนในปัจจุบันอยากทราบว่าวินแลนด์ซึ่งมีทุ่งหญ้าเขียวขจีและมีองุ่นนั้นอยู่ที่ไหนกันแน่ แต่ตำแหน่งของมันยังไม่เป็นที่ทราบกัน. นักค้นคว้าบางคนพบว่า ลักษณะภูมิประเทศของเกาะนิวฟันด์แลนด์ตรงกับคำพรรณนาในตำนานโบราณ. สถานที่แห่งหนึ่งซึ่งมีการขุดค้นในเกาะนิวฟันด์แลนด์แสดงว่าชาวนอร์สเคยมาที่เกาะนี้จริง ๆ. กระนั้น นักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ เชื่อว่าวินแลนด์ต้องอยู่ทางใต้ลงมาอีกและกล่าวว่าสถานที่ในนิวฟันด์แลนด์เป็นฐานหรือทางผ่านของชาวนอร์สไปสู่วินแลนด์. *
มีหลักฐานอะไร?
ไม่มีใครรู้จริง ๆ ว่าจะประสานรายละเอียดของตำนานชาวนอร์สเข้ากับภูมิศาสตร์ในปัจจุบันได้อย่างไร. รายละเอียดในตำนานซึ่งเป็นแบบคร่าว ๆ และไม่ชัดเจนทำให้นักประวัติศาสตร์รู้สึกพิศวงมานานแล้ว. อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดที่แสดงว่ามีชาวนอร์สมาอยู่ในอเมริกาก่อนโคลัมบัสก็คือสถานที่ซึ่งมีการขุดค้นระหว่างทศวรรษ
1960 และ 1970 ที่เกาะนิวฟันด์แลนด์ ใกล้กับหมู่บ้านลองส์ โอ เมโดวส์. สถานที่แห่งนั้นมีซากบ้านหลายหลังซึ่งเป็นของชาวนอร์สอย่างไม่มีข้อสงสัย รวมทั้งเตาหลอมเหล็กและวัตถุอื่น ๆ ซึ่งมีอายุย้อนไปถึงสมัยของเลฟ เอริกส์สัน. นอกจากนั้น เมื่อไม่นานมานี้นักสำรวจชาวเดนมาร์กซึ่งทำงานอยู่ทางภาคใต้ของเกาะนิวฟันด์แลนด์ได้พบหินอับเฉาก้อนหนึ่งที่มีการสลักอย่างประณีตซึ่งอาจเคยใช้ในเรือไวกิง.การเดินทางของชาวนอร์สไปยังดินแดนใหม่ซึ่งอยู่ไกลออกไปทางตะวันตกนั้นไม่ได้ถูกเก็บเป็นความลับ. เลฟ เอริกส์สันเดินทางไปนอร์เวย์เพื่อรายงานสิ่งที่เขาได้เห็นให้แก่กษัตริย์นอร์เวย์. เมื่ออาดัมแห่งเบรเมน นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันและอธิการบดีโรงเรียนนักธรรม ได้เดินทางไปเดนมาร์กประมาณปี 1070 เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับดินแดนทางเหนือ กษัตริย์สเวนแห่งเดนมาร์กบอกเขาเกี่ยวกับวินแลนด์ พร้อมด้วยเหล้าองุ่นชั้นดี. เรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมานี้กลายเป็นส่วนหนึ่งในบันทึกเหตุการณ์ของอาดัมแห่งเบรเมน. ดังนั้น ผู้มีการศึกษาหลายคนในยุโรปจึงได้มารู้จักดินแดนทางตะวันตกแห่งนี้ซึ่งชาวนอร์สได้ไปเยือน. นอกจากนั้น บันทึกทางประวัติศาสตร์ของไอซ์แลนด์แห่งศตวรรษที่ 12 และ 14 ยังกล่าวถึงการเดินทางของชาวนอร์สครั้งต่อ ๆ มาอีกหลายครั้งสู่มาร์กแลนด์และวินแลนด์ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของกรีนแลนด์.
คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสก็เช่นกันอาจรู้เรื่องการเดินทางไปยังวินแลนด์ซึ่งเกิดขึ้นประมาณ 500 ปีก่อนสมัยของเขา. หนังสือเกี่ยวกับวินแลนด์เล่มหนึ่งกล่าวว่า มีหลักฐานบ่งชี้ว่าก่อนการเดินทางที่เลื่องลือของเขาในปี 1492/1493 โคลัมบัสถึงกับเดินทางไปยังไอซ์แลนด์เพื่อศึกษาบันทึกที่นั่น.
เกิดอะไรขึ้นกับชาวนอร์ส?
ไม่มีบันทึกใด ๆ เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานถาวรของชาวนอร์สในอเมริกา. อาจเคยมีการพยายามตั้งถิ่นฐานที่นั่น แต่ไม่ประสบความสำเร็จและตั้งอยู่ได้ไม่นาน เพราะที่นั่นมีสภาพการณ์ที่เลวร้าย และชาวอเมริกันพื้นเมืองซึ่งพวกไวกิงเรียกว่าพวกสแกรลิงมีอาวุธที่ดีกว่าพวกผู้บุกรุก. ในกรีนแลนด์ ลูกหลานของเอริก เดอะ เรดและของบุตรของเขา คือเลฟ เอริกส์สัน ก็กำลังอยู่ในช่วงที่ยากลำบาก. ภูมิอากาศเลวร้ายลง และเสบียงอาหารก็หาได้ยากขึ้น. เมื่อเวลาผ่านไปสี่หรือห้าศตวรรษ ดูเหมือนชาวนอร์สสูญหายไปจากกรีนแลนด์โดยสิ้นเชิง. บันทึกชิ้นสุดท้ายของชาวนอร์สในกรีนแลนด์คือบันทึกเกี่ยวกับงานแต่งงานซึ่งจัดขึ้นที่โบสถ์แห่งหนึ่งที่กรีนแลนด์ในปี 1408. กว่าหนึ่งศตวรรษต่อมา เรือสินค้าเยอรมันลำหนึ่งพบว่าอาณานิคมบนกรีนแลนด์ร้างผู้คนโดยสิ้นเชิง มีก็แต่เพียงศพที่ไม่ได้ฝังของชายผู้หนึ่งซึ่งยังพกมีดอยู่ข้างกาย. หลังจากนั้นก็ไม่มีการกล่าวถึงชาวนอร์สในกรีนแลนด์อีกเลย. จนกระทั่งศตวรรษที่ 18 ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวนอร์เวย์และชาวเดนมาร์กจึงได้ตั้งอาณานิคมถาวรขึ้น.
อย่างไรก็ตาม จากกรีนแลนด์นี้เองที่นักเดินเรือชาวนอร์สผู้กล้าหาญได้ออกเดินทางสู่โลกใหม่. เรายังสามารถนึกภาพนักเดินเรือที่กล้าหาญเหล่านั้นได้ซึ่งแล่นเรือใบที่มีใบรูปสี่เหลี่ยมข้ามน่านน้ำที่ไม่รู้จักจนกระทั่งพวกเขาเห็นชายฝั่งแห่งใหม่ และนึกไม่ถึงว่าอีกห้าศตวรรษต่อมา คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสจะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ค้นพบโลกใหม่แห่งนี้.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 15 ดูบทความ “วินแลนด์ในตำนานอยู่ที่ใด?” ในตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 8 กรกฎาคม 1999.
[กรอบ/รูปภาพหน้า 20]
ชาวไวกิงเดินเรือกันอย่างไร?
ชาวไวกิงไม่มีเข็มทิศ. แล้วพวกเขากลายเป็นนักเดินเรือที่ยอดเยี่ยมเช่นนี้ได้โดยวิธีใด? ตอนที่ไม่ได้แล่นเรือในทะเลใหญ่ พวกเขาจะรักษาระยะให้พอมองเห็นชายฝั่ง. เมื่อเป็นไปได้ พวกเขาข้ามช่องแคบ ณ จุดที่สามารถมองเห็นแผ่นดินได้ทั้งสองฝั่ง. นอกจากนั้น พวกเขารู้จักวิธีติดตามดวงอาทิตย์และดวงดาว. ตัวอย่างเช่น พวกเขาใช้ระบบง่าย ๆ เพื่อทราบละติจูด โดยใช้ตารางตัวเลขสำหรับแต่ละสัปดาห์ในหนึ่งปีและไม้วัดเพื่อวัดความสูงของดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวันจากขอบฟ้า. เนื่องจากพวกเขาไม่มีระบบที่จะวัดลองจิจูด เมื่ออยู่ในทะเลใหญ่ พวกเขาจึงชอบแล่นเรือมุ่งไปทางตะวันออกหรือทางตะวันตก ตามละติจูดที่เลือกไว้.
ยกตัวอย่าง ถ้าสมมุติว่าพวกเขาต้องการเดินทางจากกรีนแลนด์กลับไปยังจุดที่ต้องการบนชายฝั่งวินแลนด์ พวกเขาจะแล่นเรือจากกรีนแลนด์ลงไปทางใต้จนกระทั่งถึงละติจูดที่ถูกต้อง; จากนั้น พวกเขาก็จะหันหัวเรือไปทางตะวันตกและมองหาอ่าวที่ต้องการ. นอกจากนั้น การดูนกก็เป็นประโยชน์กับลูกเรือไวกิงด้วยเมื่ออยู่ในทะเลใหญ่. พวกเขาเชี่ยวชาญในการคำนวณว่าแผ่นดินอยู่ทางไหน และเป็นแผ่นดินอะไร โดยสังเกตการบินของนก. บางครั้งพวกเขานำนกกาไปด้วย; เมื่อปล่อยแล้ว กาจะเหินขึ้นไปบนฟ้าและบินไปทางชายฝั่งที่ใกล้ที่สุด. ตอนนั้นลูกเรือไวกิงก็รู้ว่าจะพบแผ่นดินที่ใกล้ที่สุดได้ทางไหน.
สิ่งที่ช่วยอีกอย่างหนึ่งในการเดินเรือคือการวัดระดับความลึก. นักเดินเรือชาวไวกิงจะหย่อนสายซึ่งมีลูกดิ่งตะกั่วติดอยู่. การทำเช่นนี้มีจุดมุ่งหมายสองประการ. ประการแรก มันช่วยพวกเขาให้รู้ระดับความลึกของน้ำ. หลังจากลูกดิ่งถึงพื้นทะเล นักเดินเรือก็จะสาวลูกดิ่งขึ้นมาโดยใช้ช่วงแขนของเขาวัดความยาวของสายลูกดิ่งนั้น. จนถึงทุกวันนี้ ชาวเรือก็วัดความลึกโดยใช้หน่วยวัด “ฟาทอม” ซึ่งเท่ากับ 1.8 เมตร คำนี้เป็นคำที่ได้มาจากคำภาษานอร์สโบราณหมายความว่า “แขนที่ยืดออก.” แต่ลูกดิ่งตะกั่วมีหน้าที่ประการที่สองด้วย. บ่อยครั้งลูกดิ่งจะมีโพรงทางด้านล่างซึ่งจะมีการใส่ไขสัตว์เข้าไป. โดยวิธีนี้ ลูกดิ่งจะนำตัวอย่างดินจากก้นทะเลขึ้นมาด้วย. นักเดินเรือจะตรวจดูส่วนประกอบของตัวอย่างดินนั้นและดูแผนภูมิเดินเรือของเขา ซึ่งมีคำพรรณนาลักษณะของพื้นทะเลในที่ต่าง ๆ. แม้ว่าเครื่องมือของเขาจะเป็นแบบง่าย ๆ แต่ชาวไวกิงก็เป็นนักเดินเรือที่มีความสามารถสูง.
[ที่มาของภาพหน้า 21]
Photo: Stofnun Arna Magnússonar, Iceland
[แผนที่หน้า 18]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
โนวาสโกเชีย
เบียดนี เฮอร์ยอล์ฟสัน เดินทางจากไอซ์แลนด์ประมาณปี ส.ศ. 986
นิวฟันด์แลนด์
แลบราดอร์
เกาะแบฟฟิน
กรีนแลนด์
เลฟ เอริกส์สันเดินทางจากกรีนแลนด์ประมาณปี ส.ศ. 1000
กรีนแลนด์
เกาะแบฟฟิน
แลบราดอร์
นิวฟันด์แลนด์
[ที่มาของภาพหน้า 18]
Mountain High Maps® Copyright © 1997 Digital Wisdom, Inc.
[ภาพหน้า 18]
ซ้าย บ้านในกรีนแลนด์ของเอริก เดอะ เรดที่สร้างขึ้นใหม่
[ภาพหน้า 18]
แบบจำลองเรือไวกิงขนาดเท่าของจริงซึ่งเดินทางตามเส้นทางของเลฟ เอริกส์สัน
[ที่มาของภาพหน้า 18]
Viking ships on pages 2 and 18: Photos: Narsaq Foto, Greenland
[ภาพหน้า 21]
อนุสาวรีย์ของเลฟ เอริกส์สัน ในไอซ์แลนด์
[ภาพหน้า 21]
ลองส์ โอ เมโดวส์ เกาะนิวฟันด์แลนด์
[ที่มาของภาพหน้า 21]
Parks Canada
[ที่มาของภาพหน้า 20]
Artifacts on display at the Museum of National Antiquities, Stockholm, Sweden