ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเพ่งดูโลก

การเพ่งดูโลก

การ​เพ่ง​ดู​โลก

“ทาส” สมัย​ใหม่​ใน​เรือ

หนังสือ​พิมพ์​อินเตอร์​แนชันแนล เฮรัลด์ ทริบูน รายงาน​ว่า “กะลาสี​นับ​หมื่น​คน​ใน​เรือ​พาณิชย์​ได้​รับ​การ​ปฏิบัติ​เยี่ยง​ทาส.” รายงาน​จาก​คณะ​กรรมการ​ขน​ส่ง​ทาง​เรือ​นานา​ชาติ​เผย​ว่า กะลาสี​เหล่า​นี้ “อยู่​ใน​สภาพ​ที่​ไม่​ปลอด​ภัย, ทำ​งาน​หลาย​ชั่วโมง​เกิน​ไป, ไม่​ได้​รับ​ค่า​จ้าง, ได้​รับ​อาหาร​ไม่​เพียง​พอ, ถูก​ข่มขืน​และ​ถูก​ทุบ​ตี.” ใน​บาง​ที่ กะลาสี​ที่​ฟ้องร้อง​หรือ​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​สหภาพ​แรงงาน​ก็​เสี่ยง​ต่อ​การ​ถูก​ขึ้น​บัญชี​ดำ​หรือ​ถึง​กับ​ถูก​จับ​โยน​ลง​ทะเล. เหยื่อ​ของ “การ​เป็น​ทาส​สมัย​ใหม่” นี้​ส่วน​ใหญ่​มา​จาก​ประเทศ​กำลัง​พัฒนา. เนื่อง​จาก​ปัญหา​เศรษฐกิจ​ใน​ประเทศ​บ้าน​เกิด​ของ​ตน หลาย​คน​จึง​ไม่​มี​วิธี​อื่น​ที่​จะ​หา​เลี้ยง​ชีพ. ผู้​เขียน​รายงาน​ฉบับ​นั้น​กล่าว​ว่า ด้วย​เหตุ​นี้ พวก​เขา​จึง​ลงเอย​ด้วย​การ “ถูก​เอา​เปรียบ, . . . ถูก​โกง, และ​ถูก​ปล้น.”

การ​สูญ​เสีย “ความ​ลับ​ของ​ธรรมชาติ”

รายงาน​ข่าว​จาก​สำนัก​ข่าว​บี​บี​ซี​กล่าว​ว่า “สหประชาชาติ​ประมาณ​ว่า ภาษา​ของ​โลก​ถึง 90% อาจ​สูญ​หาย​ไป​ใน​ศตวรรษ​หน้า​นี้ และ​ความ​รู้​ที่​มี​ค่า​มาก​เกี่ยว​กับ​ธรรมชาติ​หลาย​เรื่อง​ก็​จะ​สูญ​หาย​ไป​พร้อม ๆ กัน​ด้วย.” ภาษา​ถิ่น​มัก​จะ​มี​ประเพณี, เพลง, และ​นิทาน​ซึ่ง​สืบ​ทอด​จาก​คน​รุ่น​หนึ่ง​สู่​อีก​รุ่น​หนึ่ง ซึ่ง​เป็น​การ​ถ่ายทอด​บทเรียน​อัน​มี​ค่า​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​แวด​ล้อม​ใน​ท้องถิ่น​และ​ชีวิต​สัตว์. ตัว​อย่าง​เช่น ชาว​เทอร์คานา​ซึ่ง​อยู่​ทาง​ตะวัน​ตก​เฉียง​เหนือ​ของ​ประเทศ​เคนยา​ได้​สังเกต​ดู​พฤติกรรม​ของ​นก​บาง​ชนิด​มา​นาน​แล้ว​เพื่อ​จะ​ใช้​บอก​ได้​ว่า​ฝน​จะ​ตก​เมื่อ​ไร. นี่​ช่วย​ให้​พวก​เขา​ตัดสิน​ใจ​ว่า​เมื่อ​ไร​ควร​จะ​ปลูก​พืช. ถ้า​ภาษา​ของ​พวก​เขา​สูญ​ไป ความ​รู้​อัน​มี​ค่า​ของ​คน​หลาย​รุ่น​ก็​จะ​สูญ​ไป​ด้วย. เป็น​ที่​ทราบ​กัน​ว่า ภาษา​ถิ่น​มาก​กว่า 234 ภาษา​ได้​สูญ​ไป​แล้ว และ​อีก 2,500 ภาษา​กำลัง​เสี่ยง​ต่อ​การ​สาบสูญ​อย่าง​มาก. รายงาน​ของ​สหประชาชาติ​กล่าว​ว่า “ความ​ลับ​ของ​ธรรมชาติ ซึ่ง​มี​อยู่​ใน​เพลง, นิทาน, ศิลปะ​และ​หัตถกรรม​ของ​ชาว​พื้นเมือง อาจ​สาบสูญ​ไป​ตลอด​กาล” ซึ่ง​เป็น​การ​เตือน​ว่า​โอกาส​ที่​การ​เพาะ​ปลูก​จะ​ล้มเหลว​นั้น​มี​เพิ่ม​ขึ้น​ตาม​ไป​ด้วย.

กระดาษ​ยัง​คง​เป็น​ที่​นิยม

กว่า 25 ปี​มา​แล้ว มี​การ​คาด​กัน​ว่า การ​ใช้​กระดาษ​จะ​ลด​น้อย​ลง​เมื่อ​คอมพิวเตอร์​กลาย​เป็น​เครื่อง​ใช้​ประจำ​สำนักงาน​และ​สามารถ​เก็บ​ข้อมูล​แบบ​อิเล็กทรอนิกส์​ได้. กระนั้น กระดาษ​ก็​ยัง​เป็น​ที่​ต้องการ​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ. ตาม​รายงาน​ใน​หนังสือ​พิมพ์​เดอะ แวนคูเวอร์ ซัน ใน​ปี 1999 ชาว​แคนาดา​ใช้​กระดาษ​สำหรับ​เครื่อง​ถ่าย​เอกสาร​และ​เครื่อง​โทรสาร​เพิ่ม​ขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์​เมื่อ​เทียบ​กับ​ปี 1992. นั่น​เท่า​กับ “กระดาษ 66 ปอนด์ (30 กิโลกรัม) ต่อ​ชาว​แคนาดา​หนึ่ง​คน รวม​ทั้ง​เด็ก ๆ ด้วย.” การ​สำรวจ​พนักงาน​ใน​สำนักงาน​แสดง​ให้​เห็น​ว่า แม้​มี​การ​ใช้​คอมพิวเตอร์​ใน​การ​ดู​ข้อมูล​ขั้น​แรก แต่​ผู้​คน​ก็​ยัง​ต้องการ​ดู​ข้อมูล​ใน​กระดาษ. หนังสือ​พิมพ์​ซัน กล่าว​ว่า เป็น​เช่น​นั้น​ด้วย​กับ​ผู้​ที่​ใช้​คอมพิวเตอร์​ที่​บ้าน. เด็ก ๆ กลาย​เป็น “ผู้​บริโภค​กระดาษ​ราย​ใหญ่” โดย​ต้องการ​พิมพ์​ทุก​สิ่ง​ทุก​อย่าง​ที่​พวก​เขา​สร้าง​ขึ้น​หรือ​เห็น​บน​จอ​คอมพิวเตอร์.

อันตราย​ของ​อาชญากรรม​แบบ​องค์การ

“ใน​ปัจจุบัน อาชญากรรม​แบบ​องค์การ​ระหว่าง​ประเทศ​เป็น​ภัย​คุกคาม​ความ​ปลอด​ภัย​ของ​คน​ธรรมดา​ยิ่ง​กว่า​สงคราม​เสีย​อีก.” นั่น​เป็น​จุด​หนึ่ง​ที่​มี​การ​พูด​ถึง​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​ใน​การ​ประชุม​ว่า​ด้วย​อาชญากรรม​ข้าม​ชาติ ตาม​รายงาน​ของ​สำนัก​ข่าว​อาชองซ์ ฟรองซ์-เปรส. ใน​การ​บรรยาย​ที่​การ​ประชุม​ใน​กรุง​โตเกียว ปีโน อาร์ลากกี รอง​เลขาธิการ​ใหญ่​สำนักงาน​เพื่อ​การ​ควบคุม​ยา​เสพย์ติด​และ​การ​ป้องกัน​อาชญากรรม​แห่ง​สหประชาชาติ กล่าว​ว่า “ระดับ​และ​ความ​รุนแรง​ของ​อาชญากรรม​ข้าม​ชาติ​ได้​เพิ่ม​ทวี​ขึ้น​จน​เกิน​กว่า​ที่​รัฐบาล​ต่าง ๆ และ​ประชาชน​ทั่ว​ไป​จะ​เตรียม​ตัว​รับมือ​ได้.” เขา​อ้าง​ถึง​การ​ลักลอบ​ค้า​มนุษย์​ว่า​เป็น​อาชญากรรม​ที่​เติบโต​เร็ว​ที่​สุด​ใน​บรรดา​อาชญากรรม​ข้าม​ชาติ​ทุก​ประเภท โดย​มี​ผู้​หญิง​และ​เด็ก​มาก​ถึง​หนึ่ง​ล้าน​คน​ถูก​ลักลอบ​นำ​ข้าม​พรม​แดน​โดย​กลุ่ม​อาชญากร และ​ทำ​กำไร​ได้​มหาศาล. บุมเม อิบุกิ อดีต​ผู้​บัญชา​การ​สำนักงาน​ตำรวจ​ของ​ญี่ปุ่น​กล่าว​ว่า “ไม่​มี​ประเทศ​ใด​จะ​สามารถ​รับมือ​กับ​อาชญากรรม​แบบ​องค์การ​ข้าม​ชาติ​ได้​โดย​ลำพัง. นั่น​คือ​เหตุ​ผล​ที่​กฎหมาย​ซึ่ง​มี​ผล​ควบคุม​ระดับ​ภูมิภาค​หรือ​ระดับ​โลก​กลาย​เป็น​สิ่ง​จำเป็น​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ.”

ที่​ทิ้ง​ขยะ​ของ​เรา​ใน​อวกาศ

นับ​ตั้ง​แต่​ที่​มนุษย์​เริ่ม​ออก​ผจญ​ภัย​ไป​ใน​อวกาศ​เมื่อ​ประมาณ 40 ปี​ที่​แล้ว เขา​ได้​ทำ​ให้​พื้น​ที่​รอบ ๆ โลก​กลาย​เป็น​ที่​ทิ้ง​ขยะ. ตาม​รายงาน​ของ​หนังสือ​พิมพ์​เดอะ นิวส์ แห่ง​กรุง​เม็กซิโก​ซิตี มี​การ​ปล่อย​จรวด​มาก​กว่า 4,000 ลำ ซึ่ง​ทำ​ให้​มี “วัตถุ​ใน​อวกาศ​ที่ ‘มอง​เห็น​ได้’ มาก​กว่า 23,000 ชิ้น แต่​ละ​ชิ้น​ใหญ่​กว่า​ลูก​คริกเก็ต.” ใน​บรรดา​วัตถุ​เหล่า​นี้ ประมาณ 6,000 ชิ้น​เป็น “ขยะ” และ​มี​น้ำหนัก​รวม​กัน​ประมาณ 1,800 ตัน. การ​ชน​กัน​ของ​วัตถุ​ใน​อวกาศ​ทำ​ให้​เกิด​ชิ้น​ส่วน​เล็ก ๆ ประมาณ 100,000 ชิ้น. แม้​ว่า​ชิ้น​ส่วน​เหล่า​นี้​ไม่​เป็น​อันตราย​ต่อ​โลก แต่​มัน​เป็น​อันตราย​อย่าง​มาก​ต่อ​การ​เดิน​ทาง​ใน​อวกาศ​เพราะ​ความ​เร็ว​ของ​มัน. โลหะ​ชิ้น​เล็ก ๆ ซึ่ง​เดิน​ทาง​ด้วย​ความ​เร็ว​ถึง 50,000 กิโลเมตร​ต่อ​ชั่วโมง​อาจ​ทำ​ให้​หน้าต่าง​สถานี​อวกาศ​แตก, เจาะ​ทะลุ​แผง​เซลล์​สุริยะ, หรือ​เจาะ​ทะลุ​ชุด​ของ​นัก​ท่อง​อวกาศ​ได้. เดอะ นิวส์ กล่าว​ว่า “นาซา​กำลัง​พัฒนา​โครงการ​โอไรออน ซึ่ง​เป็น ‘ไม้​กวาด​อวกาศ’ ที่​จะ​กวาด​ขยะ​ให้​หมด​ไป​จาก​ฟาก​ฟ้า. แนว​คิด​คือ​การ​ยิง​ชิ้น​ส่วน​นั้น​ด้วย​เลเซอร์ . . . ทำ​ให้​มัน​ตก​ลง​สู่​บรรยากาศ​ชั้น​นอก​ของ​โลก​ซึ่ง​จะ​ทำ​ให้​ชิ้น​ส่วน​นั้น​เผา​ไหม้​ไป​โดย​ไม่​มี​อันตราย​ใด ๆ.”

การ​ไร้​ที่​อยู่​อาศัย​เพิ่ม​ขึ้น

ข่าว​จาก​บี​บี​ซี​กล่าว​ว่า “ใน​ปฏิญญา​สากล​ว่า​ด้วย​สิทธิ​มนุษยชน​ปี 1948 สหประชาชาติ​พรรณนา​ว่า การ​มี​ที่​อยู่​อาศัย​อย่าง​เพียง​พอ​เป็น​สิ่ง​สำคัญ แต่​กว่า​ครึ่ง​ศตวรรษ​ต่อ​มา สิทธิ​ที่​จะ​มี​บ้าน​ที่​ปลอด​ภัย​ยัง​ไม่​มี​การ​รับรอง​เลย.” รายงาน​จาก​สหประชาชาติ​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​กะ​ประมาณ​ว่า มี​ประชาชน​ถึง 100 ล้าน​คน​ทั่ว​โลก​ไม่​มี​บ้าน​อยู่—ใน​จำนวน​นี้​มี​เด็ก​กว่า 30 ล้าน​คน—และ​เตือน​ว่า​สถานการณ์​กำลัง​เลว​ร้าย​ลง. ใน​ประเทศ​กำลัง​พัฒนา สหประชาชาติ​โทษ​ว่า​ปัญหา​ส่วน​ใหญ่​อยู่​ที่​การ​เข้า​เมือง​ใหญ่​อย่าง​รวด​เร็ว. นอก​จาก​นั้น ใน​เอเชีย​ตะวัน​ออก​เฉียง​ใต้​และ​แอฟริกา มี​ประมาณ 600 ล้าน​คน​อยู่​ใน​บ้าน​ที่​แออัด​เกิน​ไป​และ​มี​คุณภาพ​ต่ำ ระบบ​สุขาภิบาล​ไม่​ดี​และ​มี​น้ำ​ไม่​เพียง​พอ. ประเทศ​ที่​ร่ำรวย​กว่า​ก็​ยัง​มี​ปัญหา​นี้​อยู่. ใน​สหรัฐ ผู้​คน​มาก​ถึง 700,000 คน​อาศัย​อยู่​ตาม​ถนน. ใน​บาง​ส่วน​ของ​ยุโรป​ตะวัน​ตก 12 คน​จาก​ทุก ๆ 1,000 คน​เป็น​ผู้​ไร้​ที่​อยู่​อาศัย.

“ศิลปะ​ที่​กำลัง​สูญ​สิ้น​ไป” หรือ?

หนังสือ​พิมพ์​อาซาฮิ อีฟนิ่ง นิวส์ แห่ง​ประเทศ​ญี่ปุ่น​รายงาน​ว่า “ใน​นคร​โอซากา การ​ล้วง​กระเป๋า​เป็น​ศิลปะ​ที่​กำลัง​จะ​สูญ​สิ้น​ไป” เพราะ “คน​หนุ่ม​สาว​ไม่​สนใจ​จะ​เรียน​รู้​ทักษะ​นี้​อีก​ต่อ​ไป.” เจ้าหน้าที่​ตำรวจ​ใน​ท้องถิ่น​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า​ต้อง​ใช้​เวลา​ฝึกฝน​หลาย​ปี​กว่า​จะ​ชำนาญ​ใน​การ​โจรกรรม​แบบ​นี้. ดู​เหมือน​ว่า หนุ่ม​สาว​ที่​เป็น​อาชญากร​ชอบ​วิธี​ขโมย​แบบ​ง่าย ๆ มาก​กว่า. คดี​อย่าง​เช่น​การ​ฉก​ชิง​วิ่ง​ราว​กำลัง​เพิ่ม​ขึ้น. ผู้​ต้อง​หา​ที่​ถูก​จับ​ข้อ​หา​ล้วง​กระเป๋า​ใน​จังหวัด​โอซากา​เมื่อ​ปี​ที่​แล้ว​หนึ่ง​ใน​สาม​มี​อายุ 60 ปี​หรือ​มาก​กว่า. คน​ที่​มี​อายุ​มาก​ที่​สุด​เป็น​ชาย​อายุ 78 ปี ซึ่ง​ถูก​จับ​เป็น​ครั้ง​ที่ 12 ขณะ​กำลัง​หยิบ​ซอง​ใส่​แว่นตา​จาก​กระเป๋า​ถือ​ของ​ผู้​หญิง​สูง​อายุ​คน​หนึ่ง. ผู้​สอบสวน​กล่าว​ว่า “สายตา​ของ​เขา​แย่​มาก​จน​เขา​คิด​ว่า​ซอง​แว่นตา​ที่​เขา​หยิบ​นั้น​เป็น​กระเป๋า​สตางค์.”

แบบ​อย่าง​ใน​การ​ขับ​รถ

ซูซาน เฟอร์กูสัน แห่ง​สถาบัน​ประกันภัย​เพื่อ​ความ​ปลอด​ภัย​บน​ทาง​หลวง กล่าว​ว่า “บิดา​มารดา​ต้อง​ตระหนัก​ว่า​พวก​เขา​กำลัง​เป็น​แบบ​อย่าง​แก่​บุตร​ของ​ตน​ทั้ง​ก่อน​ที่​พวก​เขา​จะ​มี​ใบ​ขับ​ขี่​และ​เมื่อ​เรียน​ขับ​รถ.” ดัง​ที่​รายงาน​ใน​วารสาร​นิว ไซเยนติสต์ เธอ​กับ​เพื่อน​ร่วม​งาน​ตรวจ​ดู​บันทึก​เกี่ยว​กับ​อุบัติเหตุ​ที่​เกิด​กับ​ครอบครัว​ชาว​อเมริกัน 140,000 ครอบครัว โดย​เทียบ​บิดา​มารดา​กับ​บุตร​ของ​พวก​เขา​ซึ่ง​มี​อายุ​ระหว่าง 18 ถึง 21 ปี. เด็ก​ที่​มี​บิดา​มารดา​ซึ่ง​ประสบ​อุบัติเหตุ​ทาง​รถยนต์​สาม​ครั้ง​ขึ้น​ไป​ใน​รอบ​ห้า​ปี​มี​โอกาส​ที่​จะ​ประสบ​อุบัติเหตุ​ทาง​รถยนต์​ด้วย​ตน​เอง​มาก​กว่า​เด็ก​ที่​มี​บิดา​มารดา​ซึ่ง​ไม่​เคย​มี​อุบัติเหตุ​ถึง 22 เปอร์เซ็นต์. เป็น​จริง​เช่น​เดียว​กัน​ใน​เรื่อง​การ​ฝ่าฝืน​กฎ​จราจร เช่น การ​ขับ​รถ​เร็ว​เกิน​กำหนด​หรือ​การ​ฝ่า​ไฟ​แดง. ใน​กรณี​เหล่า​นี้ บุตร​มี​โอกาส​มาก​ขึ้น​ถึง 38 เปอร์เซ็นต์​ที่​จะ​ทำ​ตาม​บิดา​มารดา. เจน อีสัน แห่ง​ราช​สมาคม​เพื่อ​การ​ป้องกัน​อุบัติ​ภัย​ของ​บริเตน​กล่าว​ว่า “บิดา​มารดา​ควร​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี. ผู้​คน​ควร​ได้​รับ​การ​สอน​เรื่อง​ความ​ปลอด​ภัย​บน​ท้องถนน​ตั้ง​แต่​อายุ​น้อย ๆ.”

“สิ่ง​มี​ชีวิต​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​โลก”

วารสาร​แนชันแนล ไวลด์ไลฟ์ กล่าว​ว่า “สิ่ง​ที่​แผ่​ขยาย​ไป​อย่าง​ช้า ๆ ทั่ว​ป่า​ที่​เขียว​ตลอด​ปี​ทาง​ตะวัน​ออก​ของ​รัฐ​ออริกอน​ซึ่ง​โดย​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​จะ​มอง​ไม่​เห็น คือ​สิ่ง​มี​ชีวิต​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​โลก รา​ชื่อ​อาร์มิลลาเรีย ออสโตแย. ตาม​คำ​กล่าว​ของ​นัก​วิทยาศาสตร์​ประจำ​กรม​ป่า​ไม้​สหรัฐ​ซึ่ง​เป็น​ผู้​ค้น​พบ รา​ชนิด​นี้​มี​อายุ​อย่าง​น้อย 2,400 ปี​และ​ครอบ​คลุม​พื้น​ที่​มาก​กว่า 2,200 เอเคอร์ (5,500 ไร่) หรือ​เท่า​กับ​สนาม​ฟุตบอล​เกือบ 1,700 สนาม.” รา​นี้​อาศัย​อยู่​ใต้​พื้น​ดิน แผ่​ไป​อย่าง​ช้า ๆ และ​มัก​ใช้​ราก​ของ​ต้น​ไม้​เพื่อ​แผ่​ขยาย​จาก​ต้น​หนึ่ง​ไป​ยัง​อีก​ต้น​หนึ่ง. แต่​เจ้าหน้าที่​ประจำ​กรม​ป่า​ไม้​กล่าว​ว่า​รา​นี้​มี “โทษ.” วารสาร​นั้น​รายงาน​ว่า “อาร์มิลลาเรีย ก่อ​ให้​เกิด​โรค​ใน​ราก​ซึ่ง​ใน​ที่​สุด​อาจ​จะ​ทำ​ให้​ต้น​ไม้​ตาย.”