มหาวิหาร—อนุสรณ์สถานแด่พระเจ้าหรือมนุษย์?
มหาวิหาร—อนุสรณ์สถานแด่พระเจ้าหรือมนุษย์?
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในฝรั่งเศส
ในกรุงมอสโก มีสิ่งที่คล้ายกับการกลับเป็นขึ้นจากตาย. มหาวิหารพระคริสต์พระผู้ช่วยให้รอด ซึ่งถูกสตาลินทำลายในปี 1931 ได้รับการสร้างขึ้นใหม่ โดยมีโดมทองคำส่องประกายและมีท้องฟ้าของรัสเซียเป็นฉากหลัง. ในเมืองเอฟวรี ใกล้กรุงปารีส คนงานได้ตกแต่งรายละเอียดขั้นสุดท้าย ณ มหาวิหารเพียงหลังเดียวซึ่งถูกสร้างขึ้นในฝรั่งเศสระหว่างศตวรรษที่ 20. เรื่องนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ปีเท่านั้นหลังจากการอุทิศมหาวิหารอัลมูเดนาในกรุงมาดริด. ในเหตุการณ์ที่คล้าย ๆ กัน นครนิวยอร์กมีมหาวิหารชื่อ เซนต์จอห์น เดอะ ดิไวน์. เนื่องจากใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 100 ปี มหาวิหารหลังนี้จึงมักถูกเรียกว่าเซนต์จอห์นที่สร้างไม่เสร็จ. ถึงกระนั้น มหาวิหารหลังนี้ก็เป็นหนึ่งในมหาวิหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยครอบคลุมพื้นที่กว่า 11,000 ตารางเมตร.
ตลอดทั่วคริสต์ศาสนจักร มหาวิหารอันใหญ่โตเป็นสถานที่ที่โดดเด่นสำหรับหลาย ๆ เมือง. สำหรับผู้มีความเชื่อแล้ว มหาวิหารเหล่านี้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งความศรัทธาในพระเจ้า. แม้แต่ผู้ไม่มีความเชื่อก็อาจชื่นชอบมหาวิหารเหล่านี้ฐานะเป็นผลงานทางศิลปะหรือเป็นตัวอย่างความยอดเยี่ยมทางสถาปัตยกรรม. อย่างไรก็ตาม การมีสถานนมัสการซึ่งงดงามประณีตและมักจะแพงจนเกินเหตุนั้นก่อให้เกิดคำถามสำคัญ: มหาวิหารเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่ออะไรและโดยวิธีใด? จุดประสงค์ของมหาวิหารเหล่านี้คืออะไร?
มหาวิหารคืออะไร?
หลังจากพระคริสต์สิ้นพระชนม์ เหล่าสาวกของพระองค์รวบรวมกันขึ้นเป็นประชาคม ซึ่งหลายประชาคมประชุมกันในบ้านส่วนตัว. (ฟิเลโมน 2) เป็นเวลาหลายสิบปีที่ประชาคมเหล่านี้ได้รับการดูแลจาก “ผู้ปกครอง” ฝ่ายวิญญาณ. (กิจการ 20:17, 28; เฮ็บราย 13:17) อย่างไรก็ตาม หลังจากเหล่าอัครสาวกสิ้นชีวิตแล้ว ก็มีการเขวออกไปจากแนวทางของศาสนาคริสเตียนแท้. (กิจการ 20:29, 30) ในเวลาต่อมา ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งยกตัวเองขึ้นเหนือคนอื่น ๆ และถือกันว่าเป็นบิชอปมีอำนาจเหนือประชาคมจำนวนหนึ่ง—ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเยซูทรงห้ามไว้. (มัดธาย 23:9-12) คำภาษากรีก เอคเคลเซีย ซึ่งแต่เดิมใช้กับคนที่เป็นคริสเตียนเอง ก็ถูกนำไปใช้กับสถานนมัสการของพวกเขา—ตัวอาคารเอง—หรือโบสถ์. ไม่นานนัก บิชอปบางคนก็เริ่มหาทางสร้างโบสถ์ที่เหมาะกับตำแหน่งของตน. มีการคิดคำใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้เรียกโบสถ์ของบิชอป—มหาวิหาร.
คำภาษากรีกสำหรับคำว่ามหาวิหารคือ คาเทดรา ซึ่งหมายถึง “ที่นั่ง.” มหาวิหารจึงเป็นบัลลังก์ของบิชอป สัญลักษณ์ของอำนาจทางโลกของเขา. จากมหาวิหารของตน บิชอปปกครองเหนือเขตปกครอง.
“ยุคแห่งมหาวิหาร”
ในปี ส.ศ. 325 สภานีเซียรับรองการตั้งบิชอปในเมืองต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ. ในตอนนี้เมื่อได้รับการหนุนหลังจากทางการโรมัน บิชอปจึงมักได้รับมอบที่ดินจำนวนมากจากพวกเจ้าหน้าที่. พวกเขายังได้ยึดสถานนมัสการพระนอกรีตหลายแห่งด้วย. เมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลาย โครงสร้างการปกครองโดยพวกนักบวชอยู่รอดมาได้และเติบโตจนมีอำนาจโดดเด่นในยุคกลาง. ไม่นาน ช่วงเวลา
นั้นจึงกลายเป็น “ยุคแห่งมหาวิหาร” ดังที่ชอร์ช ดูบี นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเรียก.ตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 จนถึงศตวรรษที่ 14 ประชากรของยุโรปเพิ่มขึ้นสามเท่า. การเพิ่มขึ้นขนานใหญ่ของประชากรนี้เป็นประโยชน์ต่อเมืองต่าง ๆ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น. ผลก็คือ เขตปกครองที่ร่ำรวยที่สุดของบิชอปจึงเป็นทำเลซึ่งเหมาะที่สุดที่จะเกิดมีมหาวิหารอันใหญ่โต. ทำไม? เพราะว่าโครงการขนาดใหญ่นี้จะดำเนินไปได้ดีก็ต่อเมื่อมีเงินหลั่งไหลเข้ามาอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น!
อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งกระตุ้นให้มีการสร้างมหาวิหารคือความนิยมในการบูชาพระแม่มาเรียและวัตถุทางศาสนา. การบูชานี้ได้รับความนิยมสูงสุดในศตวรรษที่ 11 และ 12. บิชอปส่งเสริมการนมัสการนี้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มหาวิหารของตนเป็นที่นิยมมากขึ้น. คำ นอเตรอดาม (สุภาพสตรีของเรา) เริ่มกลายมาเป็นชื่อมหาวิหารต่าง ๆ ในฝรั่งเศส ณ ช่วงเวลานี้. สารานุกรมของคาทอลิกชื่อเทโอ ถามว่า “เมืองไหนบ้างที่ไม่ได้อุทิศโบสถ์หรือบ่อยครั้งไม่ได้อุทิศมหาวิหารให้แก่นาง?” ด้วยเหตุนี้ จึงมีการอุทิศมหาวิหารแซงต์เอเตียนในกรุงปารีสให้แก่นอเตรอดาม. มหาวิหารนอเตรอดามในเมืองชาตร์ ประเทศฝรั่งเศส ได้กลายมาเป็นศาสนสถานที่มีชื่อเสียงที่สุดของยุโรปเหนือ. หนังสือแวดวงความรู้เกี่ยวกับมหาวิหาร (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ไม่มีใครคนใด—แม้กระทั่งพระคริสต์เอง—จะควบคุมชีวิตและความคิดของผู้สร้างมหาวิหารได้มากเท่ากับพระแม่มาเรีย.”
“เราจะสร้างมหาวิหารที่ใหญ่โตจนถึงกับ . . . ”
แล้วทำไมอาคารเหล่านี้หลายหลังจึงใหญ่โตนัก? แม้กระทั่งศตวรรษที่สี่ มหาวิหารแห่งเมืองเทรียร์ เยอรมนี และนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ ทั้ง ๆ ที่มีผู้นมัสการค่อนข้างน้อย. ในศตวรรษที่ 11 ที่เมืองชไปเออร์ เยอรมนี ประชากรที่นั่นยังไม่สามารถทำให้มหาวิหารอันใหญ่โตของเมืองนั้นเต็มได้เลย. หนังสือแวดวงความรู้เกี่ยวกับมหาวิหาร จึงลงความเห็นว่า “ขนาดและความโอ่อ่า [ของมหาวิหารต่าง ๆ] เผยถึงแรงกระตุ้นที่ค่อนข้างเป็นแบบโลก.” แรงกระตุ้นเหล่านั้นรวมไปถึง “ความรู้สึกหยิ่งและถือว่าตนสำคัญของบิชอปหรือพระราชาคณะซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์การสร้างอาคารที่ใหญ่โตนั้น.”
ระหว่างศตวรรษที่ 12 และ 13 มหาวิหารมีขนาดโดยเฉลี่ย 100 เมตร โดยพยายามจะทำให้ความสูงเท่ากับความยาว. มหาวิหารวินเชสเตอร์ในอังกฤษ ซึ่งมีความยาว 169 เมตร และมหาวิหารดูโอโมแห่งเมืองมิลาน อิตาลี มีความยาว 145 เมตร เป็นมหาวิหารที่โดดเด่นมาก. เจ้าหน้าที่โบสถ์ชาวสเปนในเมืองเซบียาประกาศในปี 1402 ว่า “เราจะสร้างมหาวิหารที่ใหญ่โตจนถึงกับทำให้คนที่เห็นมหาวิหารซึ่งสร้างเสร็จแล้วจะคิดว่าเราเสียสติ.” ที่จริง กล่าวกันว่ามหาวิหารแห่งเมืองเซบียามีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก มีหลังคาโค้งสูง 53 เมตร. หอของมหาวิหารสตราสบูร์กในฝรั่งเศสสูง 142 เมตร ซึ่งเท่ากับตึก 40 ชั้น. ในศตวรรษที่ 19 หอของมหาวิหารกอทิก มึนสเตอร์ ในเมืองอุล์ม เยอรมนี สูงถึง 161 เมตร ทำให้หอนี้เป็นหอศิลาซึ่งสูงที่สุดในโลก. นักประวัติศาสตร์ปีแอร์ ดู โกลองบีแอร์กล่าวว่า “ไม่มีข้อเรียกร้องในการนมัสการข้อใดที่ทำให้ขนาดอันใหญ่โตมโหฬารนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง.”
ระหว่างศตวรรษที่ 12 และ 13 ผู้ส่งเสริมมหาวิหารใช้ประโยชน์จาก “แรงกระตุ้นแบบโลก” อีกอย่างหนึ่ง—ความภูมิใจในเมืองของตนเอง. สารานุกรมบริแทนนิกา กล่าวว่า “เมืองต่าง ๆ แข่งขันกันสร้างมหาวิหารที่สูงที่สุด.” สมาชิกคณะเทศมนตรี, ชาวเมือง, และสมาคมพ่อค้าต่าง ๆ ใช้มหาวิหารเป็นสัญลักษณ์แห่งเมืองของตน.
แพงในอดีต แพงในปัจจุบัน
นักเขียนคนหนึ่งพรรณนาโครงการก่อสร้างมหาวิหารว่าเป็น “เหวทางการเงินที่ไม่มีก้น.” แล้วอาคารเหล่านี้ ซึ่งแม้แต่ในปัจจุบันก็ยังมีค่าซ่อมบำรุงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ได้เงินจากไหนในอดีต? ในบางกรณี บาทหลวงชั้นสูงเช่น มอรีส เดอ ซุลลี ในปารีส ออกค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง. บางครั้ง ผู้ปกครองทางการเมือง เช่น กษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่ง
อารากอน เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย. แต่โดยทั่วไปแล้วเงินทุนสำหรับการสร้างมหาวิหารเป็นรายได้ที่รวบรวมจากเขตปกครองของบิชอป. เงินนี้ประกอบด้วยภาษีจากระบบศักดินาและรายได้จากที่ดิน. อันที่จริง บิชอปแห่งโบโลนญาในอิตาลีเคยเป็นเจ้าของที่ดินถึง 2,000 แปลง! นอกจากนั้นยังมีรายได้ทางศาสนาจากการเรี่ยไร, การล้างบาป, และเบี้ยปรับสำหรับบาป. ในเมืองรูออง ประเทศฝรั่งเศส คนที่ซื้อสิทธิ์เพื่อจะรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมระหว่างช่วงถือศีลอดอาหารก่อนเทศกาลอีสเตอร์ต้องจ่ายค่าสร้างหอของมหาวิหารซึ่งเรียกกันว่า หอเนย.ผู้บริจาคบางคนใจกว้างเป็นพิเศษ และพวกเขาได้รับเกียรติโดยมีภาพของเขาในหน้าต่างกระจกสีและทำเป็นรูปปั้นในโบสถ์. หลักการของการให้แบบคริสเตียนโดยไม่ระบุนามจึงดูเหมือนถูกลืมไป. (มัดธาย 6:2) จำเป็นต้องมีเงินหลั่งไหลมาเรื่อย ๆ เนื่องจากค่าใช้จ่ายมักจะเกินงบประมาณบ่อย ๆ. ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจที่ความกระตือรือร้นในการหาเงินจึงมักนำไปสู่การบังคับให้บริจาค. ตัวอย่างเช่น การถูกกล่าวหาว่ามีความเชื่อแบบนอกรีตมักทำให้ถูกยึดทรัพย์สมบัติส่วนตัว. นี่ทำให้เป็นไปได้ที่จะปล้นคนซึ่งเรียกกันว่าคนนอกรีต เช่น พวกคาทาร์ และทำให้มีเงินสำหรับโครงการก่อสร้างโบสถ์หลายโครงการ. *
แน่นอน ต้องมีแรงกดดันจากคริสตจักรอยู่เสมอเพื่อทำให้เงินหลั่งไหลมาเรื่อย ๆ. เรื่องราวไม่ได้เป็นอย่างที่นักประวัติศาสตร์บางคนเคยอ้าง ที่ว่าฝูงชนได้สร้างอาคารเหล่านั้นด้วยแรงศรัทธาของตน. นักประวัติศาสตร์เฮนรี เคราส์กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าผู้คนในยุคกลางเคร่งศาสนามาก แต่การสร้างโบสถ์วิหารไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดสำหรับผู้คน.” นักประวัติศาสตร์หลายคนจึงวิจารณ์คริสตจักรเกี่ยวกับความหรูหราฟุ่มเฟือยนี้. หนังสือแวดวงความรู้เกี่ยวกับมหาวิหาร ยอมรับว่า “เงินที่คริสตจักรใช้เพื่อการก่อสร้างอาจถูกนำไปใช้เพื่อซื้ออาหารให้แก่ผู้คนที่หิวโหย . . . หรือดำเนินกิจการโรงพยาบาลและโรงเรียน. ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่ามหาวิหารทำให้ชีวิตมนุษย์หลายแสนคนต้องเสียไป.”
วิธีการสร้างมหาวิหาร
มหาวิหารเป็นสิ่งที่แสดงถึงความปราดเปรื่องของมนุษย์. เป็นเรื่องน่าทึ่งจริง ๆ ที่อาคารขนาดมหึมาเหล่านี้ถูกสร้างโดยใช้เทคโนโลยีแบบสมัยเก่า. ตอนแรก มีการเขียนแบบแปลนที่มีรายละเอียดของอาคาร. ที่เหมืองหิน มีการใช้แผ่นแบบเพื่อทำให้แน่ใจว่าจะได้ลวดลายประดับที่เหมือนกันและได้หินขนาดที่ถูกต้อง. มีการทำเครื่องหมายไว้ที่หินอย่างระมัดระวังเพื่อระบุตำแหน่งที่แน่นอนในอาคาร. การขนย้ายดำเนินไปอย่างเชื่องช้าและเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่แม้ว่าจะเป็นเช่นนี้ นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ ชอง แกงเปล กล่าวว่า ‘ระหว่างปี 1050 ถึงปี 1350 ฝรั่งเศสขุดหินขึ้นมาใช้มากกว่าอียิปต์โบราณ.’
ณ สถานที่ก่อสร้าง คนงานได้ทำสิ่งที่น่าทึ่งให้สำเร็จด้วย โดยใช้เครื่องยกของแบบง่าย ๆ ที่ใช้กันในยุคนั้น—ลูกรอกกับกว้าน ซึ่งมักได้พลังจากคนที่เหยียบบนแกนหมุน. สูตรคณิตศาสตร์ที่วิศวกรในปัจจุบันใช้กันยังไม่เป็นที่รู้จักในสมัยนั้น. ผู้สร้างต้องอาศัยสัญชาตญาณและประสบการณ์. ไม่น่าแปลกใจที่หลายครั้งมีความผิดพลาดร้ายแรงเกิดขึ้น. ตัวอย่างเช่น ในปี 1284 หลังคาโค้งของมหาวิหารโบเว ในฝรั่งเศส ปรากฏว่าใหญ่เกินไป และพังลงมา. อย่างไรก็ตาม ลักษณะใหม่ ๆ เช่น ผนังยัน, ครีบยันลอย, สันโครงสร้างโค้ง, และหอยอดแหลม ช่วยให้ผู้สร้างสามารถสร้างอาคารที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ.
การก่อสร้างกินเวลาตั้งแต่ 40 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เร็วที่สุด (ซาลิสบิวรี ในอังกฤษ) ไปจนถึงหลายศตวรรษ. มหาวิหารบางหลัง เช่น โบเวและสตราสบูร์กในฝรั่งเศส สร้างไม่เสร็จจนถึงปัจจุบัน.
“การจัดลำดับความสำคัญที่ผิดพลาด”
‘อาคารที่สวยงามและด้วยเหตุนั้นจึงมีค่าใช้จ่ายสูง’ ดังที่โปปออนเนอรีอุสที่ 3 เรียกไว้นั้น ก่อให้เกิดการโต้เถียงกันตั้งแต่เริ่มแรก. มีคนในคริสตจักรแสดงความคิดเห็นต่อต้านโครงการและเงินจำนวนมหาศาลซึ่งเกี่ยวข้องด้วย. ปีแอร์ เลอ ชานตร์ บาทหลวงชั้นสูงแห่งศตวรรษที่ 13 ของมหาวิหารนอเตรอดาม เดอ ปารีส ประกาศว่า
“เป็นเรื่องผิดบาปที่จะสร้างโบสถ์อย่างที่ทำกันในตอนนี้.”แม้แต่ในปัจจุบัน มหาวิหารเอฟวรี และอีกหลายแห่ง ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง. ดังที่หนังสือพิมพ์เลอ มงด์ ของฝรั่งเศสรายงาน หลายคนรู้สึกว่ามหาวิหารสะท้อนถึง “การจัดลำดับความสำคัญที่ผิดพลาด” และคริสตจักร “ควรใช้เงินเพื่อประโยชน์ของผู้คนและการเผยแพร่ศาสนามากกว่าไปลงทุนกับหินและสิ่งประดับ.”
ไม่มีข้อสงสัยว่าหลายคนซึ่งมีส่วนร่วมในการสร้างอาคารอันโอ่อ่าเหล่านี้มีความรักอย่างจริงใจต่อพระเจ้า. คนเหล่านั้น “มีใจร้อนรนในการปฏิบัติพระเจ้า, แต่หาได้เป็นตามปัญญาไม่.” (โรม 10:2) พระเยซูคริสต์ไม่เคยแนะนำให้ผู้ติดตามพระองค์สร้างสถานนมัสการอันหรูหรา. พระองค์กระตุ้นผู้นมัสการแท้ให้ “นมัสการด้วยวิญญาณและความจริง.” (โยฮัน 4:21-24, ล.ม.) แม้ว่าจะมีความงดงาม แต่มหาวิหารอันโอ่อ่าของคริสต์ศาสนจักรขัดกับหลักการนี้. มหาวิหารเหล่านั้นอาจเป็นอนุสรณ์สถานสำหรับมนุษย์ที่สร้าง แต่ไม่ได้ถวายเกียรติแด่พระเจ้า.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 18 ดูบทความ “พวกคาทาร์—เขาเป็นคริสเตียนผู้พลีชีพเพื่อความเชื่อไหม?” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 กันยายน 1995 หน้า 27-30 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[ภาพหน้า 13]
มหาวิหารซันเตียโก เด กอมโปสเตลา ประเทศสเปน
[ภาพหน้า 15]
บนสุด: หน้าต่างกระจกสี รูปดอกกุหลาบของนอเตรอดาม เมืองชาตร์ ประเทศฝรั่งเศส บน: รายละเอียดของช่างตัดหิน นอเตรอดาม กรุงปารีส
[ภาพหน้า 15]
มหาวิหารนอเตรอดาม กรุงปารีส แห่งศตวรรษที่ 12
[ภาพหน้า 15]
ภายในมหาวิหารนอเตรอดาม อาเมียง มหาวิหารหลังนี้เป็นอาคารทางศาสนาที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส มีหลังคาโค้งสูง 43 เมตร