สู้กับอุปสรรคด้วยการตั้งเป้าหมาย
สู้กับอุปสรรคด้วยการตั้งเป้าหมาย
อพาร์ตเมนต์ห้องหนึ่งใกล้กับสนามบินลาการ์เดียแห่งนครนิวยอร์กเป็นบ้านของวิลเลียม (บิลล์) ไมเนอร์สกับโรส ภรรยาของเขา. ที่นั่นโรส ซึ่งเป็นเจ้าบ้านวัยเจ็ดสิบกว่าปีที่มีใจเอื้อเฟื้อ ต้อนรับแขกของเธอด้วยความยินดี. เมื่อเข้าไปข้างในอพาร์ตเมนต์ เราสังเกตเห็นว่าห้องรับแขกที่อุ่นสบายสะท้อนให้เห็นอารมณ์ที่ร่าเริงของเธออย่างเด่นชัด. ช่อดอกไม้ที่สวยงามใกล้ประตูทางเข้าและรูปภาพสีสวยสดบนผนังสะท้อนถึงความรู้สึกที่ชื่นชมยินดีและเพลิดเพลินกับชีวิต.
ถัดจากห้องรับแขกก็เป็นห้องที่ดูสว่างซึ่งบิลล์วัย 77 ปีกำลังนอนอยู่บนเตียงที่ปรับเอนขึ้น. เมื่อเห็นผู้มาเยี่ยม ดวงตาของเขาก็สดใสขึ้นและเขาก็ยิ้มอย่างร่าเริง. เขาอยากจะลุกขึ้น, จับมือ, และสวมกอดแขกของเขา แต่เขาทำไม่ได้. บิลล์เป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงมา เว้นแต่เพียงแขนข้างซ้ายเท่านั้น.
เนื่องจากบิลล์มีปัญหาสุขภาพตั้งแต่เขาอายุ 26 ปี เราจึงถามเขาว่าอะไรช่วยเขาให้รับมือกับความเจ็บป่วยเป็นเวลานานถึงห้าสิบกว่าปี. บิลล์กับโรสสบตากันด้วยความขบขัน. โรสพูดพร้อมกับหัวเราะเสียงดังว่า “เราไม่เห็นว่ามีใครป่วยนี่คะ!” สายตาของบิลล์ส่องประกายด้วยความสุข; เขาหัวเราะเบา ๆ และพยักหน้าเห็นด้วย. เขาพูดตะกุกตะกักด้วยเสียงจากลำคอว่า “ที่นี่ไม่มีใครป่วยครับ.” โรสกับบิลล์พูดหยอกล้อกันอีก และไม่นานห้องนั้นก็เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ. เห็นได้ชัดว่า ความรักที่บิลล์กับโรสมีให้กันนับตั้งแต่พวกเขาพบกันในเดือนกันยายน 1945 ยังคงสดใสอยู่มากทีเดียว. เราถามบิลล์อีกว่า “แต่ถามจริง ๆ นะครับ คุณประสบกับอุปสรรคอะไรบ้าง? และอะไรช่วยคุณให้รับมือและรักษาทัศนะที่ดีต่อชีวิตไว้ได้?” หลังจากเราขอร้อง บิลล์ก็ยอมเล่าเรื่องของเขา. ต่อไปนี้เป็นข้อความบางตอนจากการที่ตื่นเถิด! พูดคุยกับบิลล์และภรรยาของเขาหลายครั้ง.
อุปสรรคเริ่มต้น
ในเดือนตุลาคม 1949 สามปีหลังจากแต่งงานกับโรสและสามเดือนหลังจากวิกกี ลูกสาวของพวกเขาเกิดมา
บิลล์ได้รับแจ้งว่าเขามีเนื้อร้ายที่สายเสียงสายหนึ่งของเขา แล้วก็มีการตัดเนื้องอกนั้นออกไป. ไม่กี่เดือนถัดมา แพทย์ของบิลล์แจ้งให้เขาทราบถึงข่าวร้ายอีกอย่างหนึ่ง—มะเร็งได้ลามไปทั่วกล่องเสียงของเขา. “หมอบอกว่าถ้าผมไม่ผ่าตัดเอากล่องเสียงออกทั้งหมด ผมจะอยู่ได้อีกเพียงสองปี.”แพทย์บอกบิลล์กับโรสด้วยว่าการผ่าตัดครั้งนี้จะส่งผลเช่นไรบ้าง. กล่องเสียงคือบริเวณตั้งแต่โคนลิ้นไปจนถึงปากหลอดลม. ภายในกล่องเสียงมีสายเสียงอยู่สองสาย. เมื่อลมออกจากปอดผ่านสายเสียงทั้งสอง มันจะสั่นและทำให้เกิดเสียงพูด. เมื่อเอากล่องเสียงออก ปากหลอดลมจะถูกต่อกับช่องเปิดถาวรที่บริเวณด้านหน้าของลำคอ. หลังการผ่าตัด คนไข้จะหายใจผ่านทางช่องนี้ แต่จะไม่สามารถเปล่งเสียงได้.
บิลล์บอกว่า “เมื่อผมได้ยินคำชี้แจงนี้ ผมรู้สึกโกรธ. เรามีลูกสาวตัวน้อย ผมมีงานอาชีพที่ดี เราคาดหวังไว้สูงสำหรับชีวิตของเรา และตอนนี้ทุกสิ่งที่เราหวังไว้สูญสิ้นหมดแล้ว.” แต่เนื่องจากการผ่าตัดเอากล่องเสียงออกอาจช่วยชีวิตเขาได้ บิลล์จึงยอมรับการผ่าตัด. บิลล์เล่าว่า “หลังการผ่าตัด ผมกลืนไม่ได้. ผมพูดไม่ได้แม้แต่คำเดียว. ผมเป็นใบ้.” เมื่อโรสไปเยี่ยมบิลล์ เขาสื่อความได้เพียงแค่การเขียนบนกระดาษโน้ต. นั่นเป็นช่วงเวลาที่เจ็บปวด. เพื่อสู้กับอุปสรรคครั้งนี้ พวกเขาต้องตั้งเป้าหมายใหม่.
พูดไม่ได้และไม่มีงานทำ
การผ่าตัดเอากล่องเสียงออกไม่เพียงทำให้บิลล์เป็นใบ้ แต่ยังตกงานด้วย. เขาเคยทำงานในโรงงานเครื่องจักร แต่ตอนนี้เขาหายใจผ่านช่องที่คอของเขาเท่านั้น ฝุ่นและควันอาจเป็นอันตรายแก่ปอดของเขาได้. เขาต้องหางานใหม่. ทั้ง ๆ ที่ยังพูดไม่ได้ เขาเข้าเรียนหลักสูตรประกอบนาฬิกา. บิลล์บอกว่า “มันก็คล้าย ๆ งานเก่าของผม. ผมรู้วิธีประกอบเครื่องจักร และเมื่อประกอบนาฬิกา คุณก็ประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน. เพียงแต่ชิ้นส่วนต่าง ๆ ไม่ได้หนัก 50 ปอนด์เท่านั้น!” หลังจากจบจากโรงเรียนนั้น เขาก็ได้งานเป็นช่างประกอบนาฬิกา. เป้าหมายอย่างหนึ่งสำเร็จแล้ว.
ขณะเดียวกัน บิลล์ก็เริ่มเข้าเรียนหลักสูตรการพูดโดยใช้หลอดอาหาร. ในการพูดโดยใช้หลอดอาหารนั้น เสียงที่เปล่งออกมาไม่ได้เกิดจากสายเสียงแต่เกิดจากการสั่นสะเทือนของหลอดอาหาร. ขั้นแรก คนนั้นต้องเรียนวิธีกลืนอากาศเข้าไปทางหลอดอาหาร. แล้วเขาจะต้องเรอในแบบที่มีการควบคุม. ขณะที่ลมผ่านออกมา มันจะทำให้ผนังหลอดอาหารสั่น. นั่นจะทำให้เกิดเสียงจากลำคอ ซึ่งสามารถใช้ปากและริมฝีปากปรับให้เป็นคำพูดได้.
บิลล์เล่าด้วยรอยยิ้มว่า “เมื่อก่อน ผมเรอเฉพาะตอนที่ผมกินอาหารมากเกินไป แต่ตอนนี้ผมต้องเรียนรู้วิธีเรออย่างต่อเนื่อง. ตอนแรก ผมทำได้แค่เปล่งเสียงทีละคำ แบบนี้: ‘[หายใจเข้า, กลืนอากาศ, เรอ] สบาย [หายใจเข้า, กลืนอากาศ, เรอ] ดี [หายใจเข้า, กลืนอากาศ, เรอ] ไหม?’ นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย. จากนั้น ครูของผมบอกให้ผมดื่มน้ำขิงอัดลมมาก ๆ เพราะฟองจะช่วยให้ผมเรอ. ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่โรสออกไปเดินเล่นกับวิกกี ผมจะดื่มแล้วก็เรอ ดื่มแล้วก็เรอ. ผมพยายามอย่างหนักเลยทีเดียว!”
แม้ว่าคนไข้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ที่ผ่าตัดเอากล่องเสียงออกไม่สามารถพูดโดยใช้หลอดอาหารได้อย่างชำนาญ แต่บิลล์ก็ก้าวหน้า. วิกกีซึ่งตอนนั้นมีอายุเกือบสองขวบแล้ว กระตุ้นเขาอย่างไม่รู้ตัว. บิลล์กล่าวว่า “วิกกีจะคุยกับผมแล้วก็มองผม คอยให้ผมตอบ. แต่ผมไม่อาจเปล่งเสียงตอบได้แม้แต่คำเดียว. เธอก็จะพูดอีก แต่ก็ไม่
มีคำตอบอีก. ด้วยความข้องขัดใจวิกกีจะหันไปหาภรรยาของผมแล้วพูดว่า ‘ให้พ่อพูดกับหนูหน่อยสิคะ!’ คำพูดของเธอทิ่มแทงใจผมและทำให้ผมตั้งใจแน่วแน่จะพูดอีกครั้งให้ได้.” วิกกี, โรส, และคนอื่น ๆ ต่างยินดีเมื่อบิลล์ประสบความสำเร็จ. เป้าหมายอีกอย่างหนึ่งบรรลุแล้ว.เผชิญปัญหาร้ายแรงอีกอย่างหนึ่ง
พอถึงสิ้นปี 1951 บิลล์กับโรสเผชิญปัญหาใหม่. พวกแพทย์กลัวว่ามะเร็งจะกลับมาอีกจึงแนะให้บิลล์รับรังสีบำบัด. บิลล์ตกลง. เมื่อการรักษาเสร็จสิ้นแล้ว เขาก็กระตือรือร้นจะดำเนินชีวิตต่อไป. เขาไม่รู้เลยว่าปัญหาร้ายแรงด้านสุขภาพอีกอย่างหนึ่งกำลังจะเกิดขึ้นกับเขา!
ประมาณหนึ่งปีผ่านไป. แล้ววันหนึ่ง นิ้วของบิลล์ก็เกิดอาการชา. จากนั้น เขาก็เดินขึ้นบันไดไม่ได้. ไม่นานหลังจากนั้น เขาก็ล้มลงขณะเดินอยู่และลุกขึ้นเองไม่ได้. การวินิจฉัยเผยว่ารังสีบำบัดที่บิลล์ได้รับ (ซึ่งตอนนั้นยังไม่แม่นยำเหมือนในปัจจุบัน) ได้ทำความเสียหายกับไขสันหลังของเขา. เขาได้รับแจ้งว่าอาการของเขาจะยิ่งแย่ลง. แพทย์คนหนึ่งถึงกับบอกเขาว่าโอกาสที่เขาจะรอดชีวิตนั้น “ไม่มีแม้แต่น้อย.” บิลล์กับโรสรู้สึกเป็นทุกข์มาก.
ถึงกระนั้น ด้วยความพยายามจะต่อสู้กับอุปสรรคครั้งนี้ บิลล์เข้าโรงพยาบาลเป็นเวลาหกเดือนเพื่อทำกายภาพบำบัด. แม้ว่าการบำบัดไม่ได้ทำให้สภาพร่างกายของเขาดีขึ้น แต่การพักอยู่ในโรงพยาบาลได้เปลี่ยนแนวทางชีวิตของเขา—เป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งในที่สุดทำให้เขาได้มารู้จักพระยะโฮวา. เรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างไร?
ได้รับการเสริมกำลังโดยเข้าใจ สาเหตุของอุปสรรคต่าง ๆ
ในช่วงเวลาหกเดือนนั้น บิลล์อยู่ในโรงพยาบาลของชาวยิวห้องเดียวกับชายที่เป็นอัมพาต 19 คน—ทั้งหมดเป็นชาวยิวออร์โทด็อกซ์. ทุก ๆ บ่าย ชายเหล่านั้นคุยกันเรื่องคัมภีร์ไบเบิล. บิลล์ซึ่งปกติไปโบสถ์แบพติสต์ก็ได้แต่ฟัง. แต่พอถึงเวลาที่เขาออกจากโรงพยาบาล เขาก็ได้ฟังมากพอที่จะสรุปว่าพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการเป็นบุคคลเดียวและหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพขัดกับคัมภีร์ไบเบิล. ผลก็คือ บิลล์ไม่กลับไปโบสถ์ของเขาอีกเลย. อย่างไรก็ตาม เขารู้สึกว่าเขาจำต้องได้รับการชี้นำทางฝ่ายวิญญาณเพื่อจะรับมือกับอุปสรรคในชีวิต. บิลล์กล่าวว่า “ผมทูลขออยู่เสมอให้พระเจ้าทรงช่วย และคำอธิษฐานของผมได้รับคำตอบ.”
วันเสาร์วันหนึ่งในปี 1953 รอย ดักลาส ชายสูงอายุที่เคยเป็นเพื่อนบ้านและได้ข่าวเกี่ยวกับสภาพของบิลล์ ได้มาเยี่ยมเขา. รอยซึ่งเป็นพยานพระยะโฮวาคนหนึ่งได้ชวนบิลล์ให้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิล และบิลล์ตอบตกลง. สิ่งที่บิลล์ได้อ่านในคัมภีร์ไบเบิลและในหนังสือ “จงให้พระเจ้าเป็นองค์สัตย์จริง” * ทำให้เขาเข้าใจเรื่องต่าง ๆ อย่างกระจ่าง. เขาเล่าสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ให้โรสฟัง และเธอก็ร่วมศึกษากับเขา. โรสเล่าว่า “ในโบสถ์ เขาสอนเราว่าความเจ็บป่วยเป็นการลงโทษจากพระเจ้า แต่การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลชี้ว่าเรื่องนี้ไม่จริง. เรารู้สึกโล่งใจจริง ๆ.” บิลล์เสริมว่า “การเรียนรู้จากคัมภีร์ไบเบิลถึงสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ ทั้งหมด รวมทั้งความเจ็บป่วยของผมด้วย และพบว่าจะมีอนาคตที่ดีกว่าช่วยให้เรายอมรับสภาพการณ์ของผม.” ในปี 1954 บิลล์กับโรส บรรลุเป้าหมายอีกอย่างหนึ่ง. ทั้งสองได้รับบัพติสมาเป็นพยานพระยะโฮวา.
การปรับตัวมากขึ้น
ขณะเดียวกัน บิลล์เป็นอัมพาตถึงขั้นที่เขาไม่สามารถทำงานอาชีพได้อีก. เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว บิลล์กับโรสจึงสลับหน้าที่กัน: บิลล์อยู่บ้านกับวิกกี และโรสเริ่มทำงานที่บริษัทประกอบนาฬิกา—เธอทำงานนั้นถึง 35 ปี!
บิลล์เล่าว่า “การดูแลลูกสาวของเราทำให้ผมมีความยินดีมาก. หนูน้อยวิกกีก็ชอบมากด้วย. เธอเคยบอกทุกคนที่พบด้วยความภูมิใจว่า ‘หนูดูแลคุณพ่อค่ะ!’ ต่อมา เมื่อเธอไปโรงเรียน ผมก็ช่วยเธอทำการบ้าน และเราก็เล่นเกมกันบ่อย ๆ. ยิ่งกว่านั้น ผมมีโอกาสดีที่จะสอนเธอเรื่องคัมภีร์ไบเบิล.”
การเข้าร่วมประชุมคริสเตียนที่หอประชุมราชอาณาจักรเป็นแหล่งแห่งความยินดีอีกแหล่งหนึ่งสำหรับบิลล์กับครอบครัว. เขาต้องใช้เวลาถึงหนึ่งชั่วโมงที่จะเดินกะโผลกกะเผลกไปถึงหอประชุม แต่เขาไม่ขาดประชุม. ต่อมา หลังจากย้ายบ้านไปอยู่อีกแห่งหนึ่งในเมือง บิลล์กับโรสก็ซื้อรถเล็ก ๆ คันหนึ่ง และโรสก็ขับรถพาทั้งครอบครัวไปหอประชุม. ถึงบิลล์พูดได้เพียงชั่วเวลาสั้น ๆ เขาก็เข้าร่วมเป็นนักเรียนในโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า. บิลล์อธิบายว่า “ผมเขียนคำบรรยายของผม และพี่น้องอีกคนหนึ่งจะบรรยายแทนผม. หลังส่วนนั้น ผู้ดูแลโรงเรียนจะให้คำแนะนำผมเกี่ยวกับเนื้อหาในคำบรรยาย.”
หลายคนในประชาคมก็ช่วยบิลล์ให้เข้าส่วนร่วมในงานประกาศเป็นประจำด้วย. และต่อมาบิลล์ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยงานรับใช้ในประชาคม ซึ่งไม่น่าแปลกใจสำหรับคนที่สังเกตเห็นความทุ่มเทของเขา. จากนั้น เมื่อเขาเดินไม่ได้อีกต่อไปและเป็นอัมพาตหนักขึ้น เขาก็ต้องอยู่แต่ในอพาร์ตเมนต์และในที่สุดก็ต้องอยู่แต่บนเตียง. เขาสู้กับอุปสรรคครั้งนี้ได้ไหม?
งานอดิเรกที่น่าเพลิดเพลิน
บิลล์กล่าวว่า “เมื่อต้องอยู่กับบ้านทั้งวัน ผมจึงหาอะไรทำ. ก่อนที่ผมจะเป็นอัมพาตผมเคยชอบถ่ายรูป. ผมจึงคิดจะลองวาดรูป แม้ว่าผมไม่เคยวาดอะไรมาก่อนเลยในชีวิต. นอกจากนั้น ผมเป็นคนถนัดขวา แต่แขนขวาทั้งหมดและนิ้วมือซ้ายอีกสองนิ้วก็เป็นอัมพาต. ถึงอย่างไร โรสก็ซื้อหนังสือเทคนิคการเขียนภาพมาให้ผมตั้งหนึ่ง. ผมศึกษาหนังสือเหล่านั้นและเริ่มวาดภาพด้วยมือซ้าย. ภาพที่ผมวาดหลายภาพต้องลงไปอยู่ในเตาเผา แต่ในที่สุดผมก็เริ่มทำได้.”
บรรดาภาพสีน้ำที่สวยงามซึ่งตอนนี้ประดับอพาร์ตเมนต์ของบิลล์กับโรสแสดงว่าบิลล์ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายของเขา. บิลล์พูดต่อว่า “ประมาณห้าปีที่แล้ว แขนข้างซ้ายของผมก็เริ่มสั่นจนผมต้องเลิกวาดภาพอย่างถาวร แต่งานอดิเรกนี้ทำให้ผมเพลิดเพลินอย่างยิ่งเป็นเวลาหลายปี.”
เป้าหมายที่ยังเหลืออยู่
บิลล์เล่าว่า “ตอนนี้ห้าสิบกว่าปีผ่านไปแล้วตั้งแต่ผมเริ่มมีปัญหาสุขภาพ. การอ่านคัมภีร์ไบเบิลยังคงปลอบประโลมใจผม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผมอ่านบทเพลงสรรเสริญและพระธรรมโยบ. และผมชอบอ่านสรรพหนังสือของสมาคมว็อชเทาเวอร์. ผมยังได้รับการหนุนกำลังใจอย่างมากเมื่อสมาชิกในประชาคมของเราและผู้ดูแลเดินทางมาเยี่ยมและเล่าประสบการณ์ที่เสริมสร้างให้ฟัง. นอกจากนั้น การต่อโทรศัพท์กับหอประชุมทำให้ผมได้ฟังการประชุมต่าง ๆ และผมได้รับม้วนวีดิทัศน์ที่อัดระเบียบวาระการประชุมใหญ่ด้วยซ้ำ.
“ผมรู้สึกขอบคุณที่ผมได้รับพระพรด้วยการมีภรรยาที่เปี่ยมด้วยความรัก. ตลอดเวลาหลายปี เธอเป็นเพื่อนสนิทของผม. นอกจากนั้น ลูกสาวของเรา ซึ่งตอนนี้รับใช้พระยะโฮวาพร้อมกับครอบครัวของเธอเอง ก็ยังเป็นแหล่งแห่งความยินดีอย่างยิ่ง. ผมขอบพระคุณพระยะโฮวาเป็นพิเศษที่ทรงช่วยให้ผมใกล้ชิดกับพระองค์. ปัจจุบัน เมื่อร่างกายและเสียงของผมอ่อนแอลงยิ่งกว่าแต่ก่อน ผมก็มักจะคิดถึงถ้อยคำของอัครสาวกเปาโลที่ว่า ‘เราจึงไม่ย่อท้อ, ถึงแม้ว่ากายภายนอกของเรากำลังทรุดโทรมไป, ใจภายในนั้นก็ยังจำเริญขึ้นใหม่ทุกวัน ๆ.’ (2 โกรินโธ 4:16) ใช่แล้ว ที่จะตื่นตัวทางฝ่ายวิญญาณตราบเท่าที่ผมยังมีชีวิตอยู่—นี่ยังคงเป็นเป้าหมายของผม.”
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 20 จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก; ปัจจุบันไม่ได้พิมพ์อีกแล้ว.
[คำโปรยหน้า 12]
“หลังการผ่าตัดผมกลืนไม่ได้. ผมพูดไม่ได้แม้แต่คำเดียว. ผมเป็นใบ้”
[ภาพหน้า 13]
บิลล์กับโรสในทุกวันนี้