ติดอยู่ในชีวิตสมรสที่หมดสิ้นความรัก
ติดอยู่ในชีวิตสมรสที่หมดสิ้นความรัก
“ในสังคมที่มีการหย่าร้างกันมาก ไม่เพียงแต่ชีวิตสมรสที่ไม่มีความสุขจำนวนมากขึ้นมีทีท่าว่าจะจบลงด้วยการหย่าร้างเท่านั้น แต่ชีวิตสมรสรายอื่น ๆ จำนวนมากขึ้นก็มีทีท่าว่าจะกลายเป็นการสมรสที่ไม่มีความสุขด้วย.”—สภาที่ปรึกษาด้านครอบครัวในอเมริกา.
กล่าวกันว่าความสุขและความทุกข์ในชีวิตนั้นโดยมากมาจากแหล่งเดียวกัน คือชีวิตสมรสของคนเรา. จริงทีเดียว มีไม่กี่สิ่งในชีวิตที่สามารถก่อให้เกิดความปีติยินดี—หรือความเจ็บปวดรวดร้าว—มากขนาดนั้นได้. ดังที่กรอบในบทความนี้แสดงให้เห็น คู่สมรสหลายรายประสบกับอย่างหลังมากกว่า.
แต่สถิติของการหย่าร้างเผยให้เห็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหา. ทุก ๆ การสมรสที่อับปางลงหนึ่งราย จะมีการสมรสอีกนับไม่ถ้วนที่ยังคงลอยลำอยู่ได้แต่ติดอยู่ในวังวนของปัญหา. หญิงคนหนึ่งซึ่งสมรสมากว่า 30 ปีแล้วเผยว่า “พวกเราเคยเป็นครอบครัวที่มีความสุข แต่ช่วง 12 ปีหลังนี้เลวร้ายมาก. สามีของดิฉันไม่สนใจความรู้สึกของดิฉัน. ที่จริง เขาเป็นศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดต่ออารมณ์ความรู้สึกของดิฉัน.” สามีคนหนึ่งซึ่งสมรสมาเป็นเวลาเกือบ 25 ปีโอดครวญในทำนองเดียวกันว่า “ภรรยาของผมบอกผมว่าเธอไม่รักผมแล้ว. เธอบอกว่า ถ้าเราเพียงแต่อยู่กันเหมือนเป็นเพื่อนร่วมห้อง และต่างคนต่างใช้เวลาว่างตามทางของตน เราก็คงจะทนอยู่กันต่อไปได้.”
แน่นอน บางคนซึ่งตกอยู่ในสภาพทุกข์ทรมานเช่นนี้จะยุติชีวิตสมรสของตน. แต่สำหรับหลายคนแล้ว พวกเขาไม่อาจหย่าได้. ทำไม? ดร. คาเรน ไคเซอร์อธิบายว่า ปัจจัยต่าง ๆ เช่น บุตร, รอยมลทินในชีวิตสังคม, การเงิน, เพื่อน, ญาติ, และความเชื่อทางศาสนาอาจทำให้คู่สมรสอยู่ด้วยกันต่อไป แม้จะไม่ได้รักกันแล้ว. เธอกล่าวว่า “เนื่องจากไม่อาจหย่ากันทางกฎหมาย คู่สมรสเหล่านี้จึงตัดสินใจจะอยู่ด้วยกันต่อไปทั้ง ๆ ที่พวกเขาหย่ากันทางอารมณ์ แล้ว.”
คู่สมรสที่มีความสัมพันธ์เย็นชาลงจำต้องปล่อยให้ตัวเองตกเข้าสู่ชีวิตที่ไร้ความสุขด้วยหรือ? ชีวิตสมรสที่หมดสิ้นความรักเป็นทางเลือกเพียงอย่างเดียวนอกจากการหย่าร้างหรือ? ประสบการณ์พิสูจน์ว่าชีวิตสมรสที่มีปัญหาหลายรายสามารถ กู้ได้—ไม่เพียงจากความปวดร้าวของการแตกหักแต่จากความทุกข์ระทมของการขาดซึ่งความรักด้วย.
[กรอบหน้า 3]
การหย่าร้างทั่วโลก
• ออสเตรเลีย: อัตราการหย่าเพิ่มขึ้นเกือบสี่เท่าตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960.
• บริเตน: คาดกันว่าการสมรส 4 ใน 10 รายจะจบลงด้วยการหย่า.
• แคนาดาและญี่ปุ่น: มีการหย่าประมาณหนึ่งในสามของการสมรส.
• สหรัฐ: นับตั้งแต่ปี 1970 คู่ที่แต่งงานกันมีโอกาสจะอยู่ด้วยกันเพียงครึ่งต่อครึ่ง.
• ซิมบับเว: การสมรสประมาณ 2 ใน 5 รายลงเอยด้วยการหย่า.