ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ลองใช้ “ไวไว” ดูสิ!

ลองใช้ “ไวไว” ดูสิ!

ลอง​ใช้ “ไวไว” ดู​สิ!

โดย​ผู้​สื่อ​ข่าว ตื่นเถิด! ใน​ไต้หวัน

ดู​จาก​ใบ​หน้า​ที่​บ่ง​บอก​ถึง​ความ​สุข​เต็ม​ที่ เห็น​ได้​ชัด​ว่า​หนู​น้อย​คน​นี้​กำลัง​เอร็ดอร่อย​กับ​อาหาร. มือ​ซ้าย​ของ​เธอ​ถือ​ชาม​ที่​พูน​ด้วย​ข้าว​และ​ผัก​รวม​ทั้ง​ปลา​ชิ้น​เล็ก ๆ มือ​ขวา​ถือ​ไม้​เล็ก​เรียว​คู่​หนึ่ง​ทำ​จาก​ไม้​ไผ่. ด้วย​มือ​น้อย ๆ ที่​จับ​ไม้​คู่​นั้น เธอ​คีบ​อาหาร​โอชะ​ใส่​ปาก​อย่าง​คล่องแคล่ว. บาง​ครั้ง เธอ​เอา​ชาม​ข้าว​แนบ​ปาก และ​ใช้​ไม้​คู่​นั้น​พุ้ย​อาหาร​เข้า​ปาก​อย่าง​รวด​เร็ว. ทุก​อย่าง​ดู​เป็น​ธรรมชาติ ง่าย และ​คล่องแคล่ว.

แน่​ละ สิ่ง​ที่​อยู่​ใน​มือ​ของ​เด็ก​หญิง​เล็ก ๆ คน​นี้​คือ ตะเกียบ​อัน​เป็น​ที่​รู้จัก​กัน​ดี. คน​จีน​เรียก​ว่า ไคว่ซู่ (ตาม​ระบบ​การ​ถอด​อักษร​จีน​เป็น​โรมัน​อ่าน​ว่า ไคว่ซี่) ซึ่ง​หมาย​ความ​ว่า​รวด​เร็ว หรือ “ไวไว.” กล่าว​กัน​ว่า​คำ​ภาษา​อังกฤษ “chopsticks” ที่​แปล​ว่า​ตะเกียบ มา​จาก​คำ​ภาษา​อังกฤษ chop ที่​ชาว​จีน​ใช้​พูด​กัน มี​ความหมาย​ว่า “ไว” หรือ “เร็ว.” ไม่​ว่า​จะ​อย่าง​ไร ตะเกียบ​มี​ให้​เห็น​อยู่​แทบ​ทุก​ครัว​เรือน​ใน​เอเชีย​อาคเนย์. บาง​ที​คุณ​อาจ​เคย​ลอง​ใช้​มัน​แล้ว​เมื่อ​ไป​รับประทาน​อาหาร​ที่​ภัตตาคาร​จีน. แต่​คุณ​ทราบ​ไหม​ว่า​ความ​คิด​เรื่อง​การ​ใช้​ตะเกียบ​มา​จาก​ไหน? หรือ​มี​การ​ใช้​ตะเกียบ​ครั้ง​แรก​อย่าง​ไร​และ​เมื่อ​ไร? และ​คุณ​อยาก​ทราบ​วิธี​ใช้​อย่าง​ถูก​ต้อง​ไหม?

“ไวไว”

ตะเกียบ​มี​ลักษณะ​เป็น​ไม้​เล็ก​เรียว ยาว​ประมาณ​แปด​ถึง​สิบ​นิ้ว. ครึ่ง​บน​ของ​ไม้​นี้​มัก​จะ​เป็น​เหลี่ยม​สี่​ด้าน. ทั้ง​นี้​เพื่อ​ให้​จับ​ง่าย​ขึ้น และ​ป้องกัน​ไม่​ให้​กลิ้ง​ไป​มา​บน​โต๊ะ. ส่วน​ครึ่ง​ล่าง​โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว​มี​ลักษณะ​กลม​มน. ตะเกียบ​ญี่ปุ่น​มัก​จะ​สั้น​กว่า​และ​ปลาย​จะ​แหลม​กว่า​ตะเกียบ​จีน.

ใน​ยุค​ที่​มี​การ​ผลิต​จำนวน​มาก​เช่น​ทุก​วัน​นี้ ภัตตาคาร​หลาย​แห่ง​เตรียม​ตะเกียบ​ที่​บรรจุ​ซอง​ไว้​แล้ว​ซึ่ง​ท่อน​บน​ยัง​ติด​กัน​อยู่. ผู้​รับประทาน​ต้อง​แกะ​ออก​จาก​กัน​ก่อน​จึง​จะ​ใช้​ได้. เนื่อง​จาก​ให้​ใช้​แค่​ครั้ง​เดียว ตะเกียบ​ดัง​กล่าว​จึง​ทำ​ด้วย​ไม้​ธรรมดา ๆ หรือ​ไม่​ก็​ไม้​ไผ่. ตะเกียบ​ที่​ใช้​ตาม​สถาน​ที่​หรูหรา​หรือ​ตาม​บ้าน​มัก​จะ​สวย​กว่า​มาก กล่าว​คือ ทำ​ด้วย​ไม้​ไผ่​ที่​เหลา​เนียน, ไม้​ที่​เคลือบ​แล็กเกอร์, พลาสติก, สเตนเลส, หรือ​อาจ​ทำ​ด้วย​เงิน​หรือ​งา​ช้าง​ด้วย​ซ้ำ. อาจ​มี​การ​จารึก​โคลง​กลอน​เอา​ไว้​หรือ​ตกแต่ง​ด้วย​การ​วาด​ลวด​ลาย​ต่าง ๆ.

วิธี​ใช้​ตะเกียบ

บรรดา​ผู้​มา​เยือน​ประเทศ​ทาง​ตะวัน​ออก อย่าง​เช่น จีน​และ​ญี่ปุ่น รู้สึก​ทึ่ง​เมื่อ​พวก​เขา​เห็น​เด็ก​เล็ก ๆ บาง​ที​อายุ​แค่​สอง​ขวบ กิน​ข้าว​ด้วย​ตะเกียบ​ที่​ดู​เหมือน​ใหญ่​เกิน​ตัว. เด็ก​คน​นั้น​คีบ​อาหาร​ใน​ชาม​ใส่​ปาก​อย่าง​รวด​เร็ว ที​ละ​ชิ้น ๆ. ดู​ง่าย​จริง ๆ.

คุณ​อยาก​จะ​ลอง​ใช้ “ไวไว” สัก​หน่อย​ไหม? ตอน​แรก​คุณ​อาจ​รู้สึก​งุ่มง่าม​ที่​จะ​บังคับ​ตะเกียบ​ไป​ใน​ทิศ​ทาง​ที่​คุณ​ต้องการ แต่​ถ้า​ฝึก​หัด​สัก​เล็ก​น้อย​ก็​จะ​กลาย​เป็น​เรื่อง​ง่าย และ​ตะเกียบ​ก็​จะ​เป็น​เหมือน​ส่วน​ที่​เสริม​มือ​ของ​คุณ​ให้​ยาว​ขึ้น.

ตะเกียบ​ถือ​ด้วย​มือ​ข้าง​เดียว โดย​ปกติ​แล้ว​จะ​เป็น​มือ​ขวา. (ดู​ภาพ​หน้า 15.) ก่อน​อื่น ทำ​มือ​ของ​คุณ​เป็น​กระพุ่ม​โดย​ให้​นิ้ว​โป้ง​แยก​ออก​มา. วาง​ตะเกียบ​ข้าง​หนึ่ง​ระหว่าง​นิ้ว​โป้ง​กับ​นิ้ว​ที่​เหลือ โดย​วาง​บน​โคน​นิ้ว​ชี้​และ​ปลาย​นิ้ว​นาง. แล้ว​เอา​ตะเกียบ​อีก​ข้าง​หนึ่ง​วาง​ขนาน​กัน และ​ใช้​นิ้ว​โป้ง​กับ​นิ้ว​ชี้​และ​นิ้ว​กลาง​จับ​ไว้​เหมือน​ที่​คุณ​จับ​ดินสอ. เอา​ปลาย​ตะเกียบ​เคาะ​กับ​โต๊ะ​ให้​เสมอ​กัน. จาก​นั้น พยายาม​ให้​ตะเกียบ​ตัว​ล่าง​อยู่​นิ่ง ๆ ขยับ​ตะเกียบ​ตัว​บน​โดย​งอ​นิ้ว​ชี้​และ​นิ้ว​กลาง​เข้า​ออก. ฝึก​จน​คุณ​สามารถ​ขยับ​ปลาย​ตะเกียบ​เข้า​หา​กัน​ได้​โดย​ง่าย. ตอน​นี้​คุณ​ก็​พร้อม​จะ​ใช้​เครื่อง​มือ​อเนก​ประสงค์​นี้​คีบ​อาหาร​จีน​อัน​โอชะ​ชิ้น​ใด​ก็​ได้—ตั้ง​แต่​ข้าว​เมล็ด​เดียว​จน​ถึง​ไข่​นก​กระทา! ตะเกียบ​กับ​อาหาร​จีน​ไป​ด้วย​กัน​ได้​ดี​เพราะ​อาหาร​ดัง​กล่าว​มัก​จะ​หั่น​เป็น​ชิ้น ๆ พอ​ดี​คำ.

จะ​ว่า​อย่าง​ไร​กับ​ไก่ เป็ด หรือ​หมู​ที่​เสิร์ฟ​โดย​ไม่​ได้​สับ​หรือ​หั่น​เป็น​ชิ้น​เล็ก ๆ? ตาม​ปกติ​แล้ว เนื้อ​เหล่า​นี้​จะ​ทำ​ให้​สุก​ถึง​ขั้น​ที่​ตะเกียบ​สามารถ​คีบ​ดึง​ออก​มา​เป็น​ชิ้น ๆ ขนาด​พอ​คำ​ได้​อย่าง​ง่าย​ดาย. ตะเกียบ​เหมาะ​กับ​ปลา​ที่​มัก​จะ​เสิร์ฟ​ทั้ง​ตัว​ด้วย คุณ​สามารถ​เลี่ยง​ก้าง​ปลา​ได้​สบาย​ซึ่ง​ไม่​ง่าย​นัก​หาก​ใช้​มีด​และ​ส้อม.

แล้ว​เรื่อง​การ​กิน​ข้าว​ล่ะ? หาก​เป็น​การ​กิน​แบบ​กัน​เอง คุณ​อาจ​ใช้​มือ​ซ้าย​ยก​ชาม​ข้าว​แนบ​ปาก และ​พุ้ย​ข้าว​เข้า​ปาก​ด้วย​ตะเกียบ. แต่​ถ้า​อยู่​ใน​โอกาส​ที่​ค่อนข้าง​จะ​เป็น​ทาง​การ คุณ​คง​ต้อง​ใช้​วิธี​คีบ​ข้าว​ด้วย​ตะเกียบ ซึ่ง​ได้​ปริมาณ​ไม่​มาก​นัก​ใน​แต่​ละ​ครั้ง.

จะ​ว่า​อย่าง​ไร​กับ​ซุป​ซึ่ง​มัก​จะ​เป็น​ส่วน​ประกอบ​ของ​อาหาร​จีน? ตาม​ปกติ​แล้ว​จะ​มี​การ​จัด​ช้อน​กระเบื้อง​ไว้​ให้. แต่​ถ้า​ซุป​นั้น​มี​บะหมี่​หรือ​เกี๊ยว​หรือ​ผัก, เนื้อ, หรือ​ปลา ก็​ลอง​ใช้​ตะเกียบ​ใน​มือ​ขวา​ของ​คุณ​คีบ​อาหาร​นั้น​ขึ้น​มา และ​ใช้​ช้อน​ใน​มือ​ซ้าย​รอง​อาหาร​นั้น​ขณะ​นำ​ใส่​ปาก.

มารยาท​และ​ตะเกียบ

เมื่อ​คุณ​ได้​รับ​เชิญ​ให้​มา​รับประทาน​อาหาร​ที่​บ้าน​คน​จีน นับ​ว่า​เป็น​ประโยชน์​ที่​จะ​ทราบ​กิริยา​มารยาท ณ โต๊ะ​อาหาร​จีน. ประการ​แรก อาหาร​ต่าง ๆ จะ​ถูก​วาง​ไว้​กลาง​โต๊ะ. ให้​คอย​จน​กว่า​เจ้าบ้าน​หรือ​ประมุข​ครอบครัว​หยิบ​ตะเกียบ​ของ​เขา​ขึ้น​มา​โบก​ให้​สัญญาณ​เริ่ม​รับประทาน​เสีย​ก่อน. นั่น​คือ​ช่วง​ที่​เหมาะ​สม​ที่​แขก​จะ​ตอบรับ​การ​เชิญ​ชวน โดย​หยิบ​ตะเกียบ​ของ​ตน​ขึ้น​มา และ​ลง​มือ​รับประทาน.

ไม่​เหมือน​การ​รับประทาน​แบบ​ตะวัน​ตก​บาง​อย่าง อาหาร​จะ​ไม่​ถูก​ส่ง​ผ่าน​รอบ​โต๊ะ. แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น ทุก​คน​ต้อง​ช่วย​ตัว​เอง. ใน​การ​รับประทาน​กับ​ครอบครัว เป็น​ธรรมเนียม​ที่​สมาชิก​แต่​ละ​คน​จะ​ใช้​ตะเกียบ​ของ​ตน​เอง​คีบ​อาหาร​จาก​จาน​รวม และ​ใส่​ปาก​ของ​ตน​ได้​ทันที. กระนั้น ถือ​เป็น​มารยาท​ที่​ไม่​ดี​หาก​จะ​รับประทาน​เสียง​ดัง, เลีย​ปลาย​ตะเกียบ, หรือ​คุ้ย​หา​ชิ้น​อาหาร​ที่​คุณ​ชอบ. มารดา​ใน​ประเทศ​ทาง​ตะวัน​ออก​จะ​สอน​ลูก​ของ​ตน​ไม่​ให้​กัด​ปลาย​ตะเกียบ​เล่น ไม่​ใช่​เพราะ​เป็น​ห่วง​เรื่อง​สุขอนามัย​เท่า​นั้น แต่​การ​กระทำ​ดัง​กล่าว​ยัง​ทำ​ให้​ตะเกียบ​เสีย​รูป​ด้วย.

เนื่อง​จาก​คำนึง​ถึง​แขก บาง​ครั้ง​จึง​มี​การ​จัด​ช้อน​กลาง​หรือ​ตะเกียบ​เสริม​ไว้. สิ่ง​เหล่า​นี้​จะ​ใช้​เพื่อ​ตัก​หรือ​คีบ​อาหาร​จาก​จาน​รวม​ไป​ยัง​อีก​จาน​หนึ่ง​หรือ​ไป​ยัง​ชาม​ข้าวของ​คุณ. กระนั้น อย่า​ขุ่นเคือง​หาก​เจ้าบ้าน​ใช้​ตะเกียบ​ของ​เขา​คีบ​อาหาร​ชิ้น​ดี ๆ มา​ใส่​ใน​ชาม​ของ​คุณ. จริง ๆ แล้ว เขา​ต้องการ​ทำ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​แขก​ผู้​มี​เกียรติ​ได้​รับ​อาหาร​ชิ้น​ที่​ดี​ที่​สุด!

การ​ใช้​ตะเกียบ​ชี้​ถือ​เป็น​มารยาท​ที่​ไม่​ดี​เช่น​เดียว​กับ​การ​ใช้​มีด​และ​ส้อม​ชี้. อีก​ทั้ง​การ​หยิบ​อะไร​ก็​ตาม​ขณะ​ที่​มือ​ยัง​ถือ​ตะเกียบ​อยู่​ก็​เป็น​มารยาท​ที่​ไม่​ดี​เช่น​กัน. ดัง​นั้น ถ้า​คุณ​จำเป็น​ต้อง​ใช้​ช้อน​กลาง​หรือ​เมื่อ​จะ​หยิบ​กระดาษ​เช็ด​ปาก​หรือ​ถ้วย​น้ำ​ชา ให้​วาง​ตะเกียบ​ของ​คุณ​ลง​ก่อน. มัก​มี​การ​จัด​ที่​วาง​ตะเกียบ​อัน​สวย​งาม​กะทัดรัด​ไว้​เพื่อ​จุด​ประสงค์​นี้.

เมื่อ​คุณ​รับประทาน​อาหาร​เสร็จ​แล้ว วาง​ตะเกียบ​ให้​เรียบร้อย พัก​คอย​สัก​ครู่. เป็น​มารยาท​ที่​ไม่​ดี​หาก​ลุก​จาก​โต๊ะ​ก่อน​ทุก​คน​จะ​รับประทาน​เสร็จ. อีก​ครั้ง​หนึ่ง เจ้าบ้าน​หรือ​ประมุข​ครอบครัว​จะ​เป็น​ผู้​ปิด​การ​รับประทาน​โดย​ลุก​ขึ้น​และ​เชิญ​ทุก​คน​ไป​จาก​โต๊ะ​ได้.

คราว​นี้​คุณ​ก็​รู้​วิธี​ใช้​ตะเกียบ​แล้ว สิ่ง​เดียว​ที่​คุณ​ต้อง​ทำ​ก็​คือ หา​ตะเกียบ​มา​และ​ฝึก​ใช้​มัน. คราว​หน้า หาก​มี​ใคร​เชิญ​คุณ​ไป​ภัตตาคาร​จีน​หรือ​ไป​บ้าน​ของ​เขา​เพื่อ​เลี้ยง​อาหาร​จีน ทำไม​ไม่​ลอง​ใช้ “ไวไว” ดู​ล่ะ? อาจ​ทำ​ให้​รสชาติ ของ​อาหาร​อร่อย​ขึ้น​เชียว​นะ!

[กรอบ/ภาพ​หน้า 14]

เกร็ด​ความ​เป็น​มา​ของ​ตะเกียบ

ผู้​คง​แก่​เรียน​ชาว​จีน​บาง​คน​เชื่อ​ว่า​ตะเกียบ​คู่​แรก​ที่​มี​การ​ใช้​กัน​นั้น ไม่​ได้​ใช้​เพื่อ​กิน​ข้าว แต่​ใช้​เพื่อ​ประกอบ​อาหาร. อาหาร​ดิบ​ชิ้น​เล็ก ๆ จะ​ถูก​ห่อ​ไว้​ใน​ใบ​ไม้ และ​จะ​ใช้​ตะเกียบ​คีบ​ก้อน​กรวด​ร้อน ๆ ใส่​เข้า​ไป​ใน​ห่อ​นั้น. โดย​วิธี​นี้ จะ​ทำ​ให้​อาหาร​สุก​ได้​โดย​ผู้​ทำ​ไม่​โดน​ไฟ​ลวก! ประวัติ​ต่อ​มา​บอก​ว่า​มี​การ​ใช้​ตะเกียบ​เพื่อ​คีบ​อาหาร​ออก​จาก​หม้อ​ต้ม.

ตะเกียบ​ยุค​แรก ๆ ดู​เหมือน​ทำ​จาก​ไม้​หรือ​ไม้​ไผ่​ที่​ไม่​คงทน. * นี่​เป็น​เหตุ​ผล​หนึ่ง​ที่​ว่า​ทำไม​จึง​แทบ​เป็น​ไป​ไม่​ได้​ที่​จะ​บอก​อย่าง​แน่ชัด​ว่า​เริ่ม​มี​การ​ใช้​ตะเกียบ​กัน​เมื่อ​ไร. บาง​คน​เชื่อ​ว่า เริ่ม​มี​การ​ใช้​ตะเกียบ​ใน​ประเทศ​จีน​ตั้ง​แต่​ราชวงศ์​ฉาง​เลย​ที​เดียว (ประมาณ​ศตวรรษ​ที่ 16 ถึง 11 ก.ส.ศ.) บันทึก​ทาง​ประวัติศาสตร์​ซึ่ง​มี​ไม่​นาน​หลัง​สมัย​ของ​ขงจื๊อ (ปี 551-479 ก.ส.ศ.) พูด​ถึง​การ ‘คีบ’ ชิ้น​อาหาร​ออก​จาก​ซุป ซึ่ง​บ่ง​ชี้​ว่า​มี​การ​ใช้​ตะเกียบ​บาง​ชนิด.

ดู​เหมือน​ว่า​เมื่อ​ถึง​ช่วง​ต้น ๆ ของ​ราชวงศ์​ฮั่น (ปี 206 ก.ส.ศ. ถึง 220 ส.ศ.) การ​กิน​ข้าว​ด้วย​ตะเกียบ​กลาย​เป็น​กิจ​ปฏิบัติ​ทั่ว​ไป. มี​การ​ขุด​หลุม​ฝัง​ศพ​ของ​ยุค​นั้น​ขึ้น​มา​ใน​เมือง​ฉาง​ชา มณฑล​หูหนาน และ​พบ​ภาชนะ​สำหรับ​กิน​ข้าว​เคลือบ​แล็คเกอร์​ชุด​หนึ่ง มี​ตะเกียบ​รวม​อยู่​ด้วย.

ชาว​ญี่ปุ่น, เกาหลี, เวียดนาม, ตลอด​จน​ชาว​ตะวัน​ออก​อื่น ๆ ก็​ใช้​ตะเกียบ​เช่น​กัน ที่​เป็น​อย่าง​นี้​ส่วน​ใหญ่​เนื่อง​มา​จาก​อิทธิพล​ของ​วัฒนธรรม​จีน.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 25 ใน​ภาษา​จีน​โบราณ​ตัว​อักษร​สำหรับ​คำ​ไคว่ กับ​ซู่ (ไวไว) ต่าง​ก็​มี​ส่วน​ของ​ตัว​อักษร​ที่​แปล​ว่า​ไม้​ไผ่​ประกอบ​อยู่​ด้วย ซึ่ง​บ่ง​นัย​ถึง​วัสดุ​ที่​ตะเกียบ​ถูก​ทำ​ขึ้น​ครั้ง​แรก.

[ภาพ​หน้า 15]

การ​ฝึก​ทำ​ให้​ชำนาญ