จากปก | ทำไมต้องซื่อสัตย์?
หมดสมัยแล้วไหมที่จะเป็นคนซื่อสัตย์?
ฮิโตชิทำงานในแผนกบัญชีของบริษัทจัดหางานแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ตอนที่ฮิโตชิตรวจบัญชีการเงินกับหัวหน้างานของเขา หัวหน้าบอกว่าอยากให้ฮิโตชิทำรายงานปลอม แต่ฮิโตชิก็อธิบายว่าเขาไม่อาจทำอย่างนั้นได้ เพราะเรื่องนี้ขัดต่อความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเขา แล้วหัวหน้าก็ขู่ว่าจะไล่เขาออก ในที่สุดเขาก็ตกงานจริง ๆ
หลายเดือนผ่านไป ฮิโตชิรู้สึกท้อใจที่ยังหางานไม่ได้ อย่างเช่น ตอนไปสัมภาษณ์งาน ฮิโตชิพูดว่าเขาไม่อาจมีส่วนร่วมกับการทุจริตได้ ผู้สัมภาษณ์พูดว่า “ความคิดคุณนี่แปลกนะ!” ครอบครัวของฮิโตชิกับเพื่อน ๆ ของเขาสนับสนุนเขาให้ยึดมั่นกับความตั้งใจที่จะเป็นคนซื่อสัตย์ต่อไป แต่ตัวเขาเองก็ชักไม่แน่ใจแล้ว เช่น ครั้งหนึ่งเขาพูดว่า “ผมนึกสงสัยว่าความเชื่อของผมในเรื่องการยึดมั่นกับสิ่งที่ถูกต้องเป็นความคิดที่ฉลาดหรือเปล่า”
เรื่องที่ฮิโตชิเจอกับตัวเองทำให้รู้ว่า ไม่ใช่ทุกคนเห็นว่าความซื่อสัตย์มีค่า ที่จริง บางคนถึงกับมองว่าความซื่อสัตย์ทำให้เสียเปรียบโดยเฉพาะในการทำธุรกิจ ผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำงานในแอฟริกาใต้บอกว่า “รอบตัวฉันมีแต่คนไม่ซื่อสัตย์ และบางครั้งฉันก็รู้สึกถูกกดดันมาก”
ความไม่ซื่อสัตย์แบบหนึ่งที่มีอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้ก็คือการโกหก เมื่อหลายปีก่อน โรเบิร์ต เอส. เฟลด์แมน นักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ เมืองแอมเฮอร์ส ได้ทำงานวิจัยเรื่องหนึ่งและเขาก็ได้ข้อสรุปว่า ผู้ใหญ่ 60 เปอร์เซ็นต์พูดโกหกอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วง 10 นาทีที่คุยกัน เฟลด์แมนบอกว่า “ผลวิจัยนี้ทำให้เราแปลกใจมาก เพราะเรานึกไม่ถึงเลยว่าการโกหกจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วในชีวิตประจำวัน” น่าแปลกไหมล่ะที่คนส่วนใหญ่ไม่ชอบให้ใครมาโกหกเขา แต่พวกเขากลับโกหกเสียเอง
ทำไมการโกหก การขโมย และการไม่ซื่อสัตย์แบบอื่น ๆ จึงกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วในทุกวันนี้? ความไม่ซื่อสัตย์ลุกลามไปทั่วทุกสังคมได้อย่างไร? และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ เราจะหลีกเลี่ยงและต้านทานกระแสสังคมแบบนี้ได้อย่างไร?