ยอห์นผู้ให้บัพติศมา ตัวอย่างที่ช่วยเราให้มีความสุขเสมอ
คุณอยากทำงานบางอย่างในประชาคมแต่ก็ไม่ได้ทำไหม? อาจเป็นเพราะมีคนอื่นทำงานนั้นไปแล้ว หรือคุณอาจเคยมีสิทธิพิเศษบางอย่างแต่ตอนนี้คุณไม่สามารถทำได้เพราะอายุมากขึ้น มีปัญหาสุขภาพ มีปัญหาด้านการเงิน หรือต้องดูแลคนในครอบครัว นอกจากนั้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงในองค์การจนทำให้คุณไม่ได้ทำงานมอบหมายที่เคยทำมานาน ไม่ว่าจะสถานการณ์ไหน คุณอาจรู้สึกว่าไม่ได้ทำทุกอย่างที่อยากทำในงานรับใช้พระเจ้า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เข้าใจได้ว่าคุณคงรู้สึกผิดหวัง แต่อะไรจะช่วยคุณไม่ให้จมอยู่กับความท้อใจ ผิดหวัง โกรธ หรือเสียใจ? และคุณจะมีความสุขอยู่เสมอได้อย่างไร?
เราจะเรียนสิ่งที่ช่วยให้เรามีความสุขเสมอจากตัวอย่างของยอห์นผู้ให้บัพติศมา ยอห์นได้รับสิทธิพิเศษที่ยอดเยี่ยม แต่เขาคงไม่คิดว่าจะมีบางอย่างเกิดขึ้นในชีวิต เขาอาจนึกไม่ถึงว่าจะต้องใช้เวลาอยู่ในคุกมากกว่าใช้เวลาประกาศกับผู้คนเรื่องพระเยซู ถึงจะเป็นอย่างนั้น ยอห์นก็ยังคงมีความสุขเสมอในช่วงชีวิตที่เหลือ อะไรช่วยเขา? และเราจะมีความสุขอยู่เสมอได้อย่างไรแม้เจอกับความผิดหวัง?
งานรับใช้ที่ทำให้มีความสุข
ประมาณเดือนเมษายนของปีคริสต์ศักราช 29 ยอห์นเริ่มทำงานรับใช้ที่พระยะโฮวามอบหมาย นั่นคือการเตรียมผู้คนให้พร้อมสำหรับการมาของเมสสิยาห์ ยอห์นประกาศว่า “กลับใจเถอะ เพราะรัฐบาลสวรรค์มาใกล้แล้ว” (มธ. 3:2; ลก. 1:12-17) ผู้คนมากมายฟังและทำตามที่ยอห์นบอก ที่จริง ผู้คนเดินทางไกลเพื่อมาฟังเรื่องที่เขาประกาศ หลายคนถึงกับได้รับการกระตุ้นให้กลับใจและรับบัพติศมา นอกจากนั้น ยอห์นยังกล้าเตือนพวกผู้นำศาสนาที่ถือว่าตัวเองเป็นคนดี เขาบอกว่าถ้าพวกเขาไม่กลับใจจะถูกพระเจ้าลงโทษ (มธ. 3:5-12) ประมาณเดือนตุลาคมของปี ค.ศ. 29 ยอห์นได้ทำสิ่งที่สำคัญที่สุดในงานรับใช้ของเขา เขาได้ให้บัพติศมาพระเยซู ตั้งแต่นั้นยอห์นบอกให้คนอื่นติดตามพระคริสต์ซึ่งเป็นเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้—ยน. 1:32-37
เมื่อคิดถึงหน้าที่พิเศษของยอห์น พระเยซูบอกว่า “ยอห์นผู้ให้บัพติศมาคนนี้ยิ่งใหญ่กว่าทุกคนที่เคยเกิดมาในโลกนี้” (มธ. 11:11) ยอห์นดีใจแน่ ๆ ที่ได้รับพรมากมาย ขนาดนั้น หลายคนในทุกวันนี้ก็ได้รับพรมากมายเหมือนยอห์น ลองดูตัวอย่างของพี่น้องชายคนหนึ่งที่ชื่อเทอร์รี่กับภรรยาที่ชื่อซานดร้า ทั้งสองคนทำงานรับใช้เต็มเวลามากกว่า 50 ปี เทอร์รี่บอกว่า “ผมมีสิทธิพิเศษที่ดีเยี่ยมหลายอย่าง ได้เป็นไพโอเนียร์ สมาชิกเบเธล ไพโอเนียร์พิเศษ ผู้ดูแลหมวด ผู้ดูแลภาค แล้วตอนนี้ก็กลับมาเป็นไพโอเนียร์พิเศษอีก” พวกเรามีความสุขที่ได้รับงานมอบหมายจากพระยะโฮวา แต่เราจะเรียนจากตัวอย่างของยอห์นว่า ความสุขในงานรับใช้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับงานมอบหมายที่เราได้รับ และเราต้องใช้ความพยายามเพื่อจะมีความสุขเสมอถึงแม้สถานการณ์ของเราจะเปลี่ยนไป
เห็นค่าเสมอ
เคล็ดลับที่ทำให้ยอห์นมีความสุขเสมอ คือการที่เขาเห็นค่าสิทธิพิเศษที่เขามีอยู่ ตัวอย่างเช่น หลังจากที่พระเยซูรับบัพติศมา สาวกของยอห์นก็น้อยลงเรื่อย ๆ แต่สาวกของพระคริสต์เพิ่มจำนวนขึ้น สาวกของยอห์นเป็นห่วงเรื่องนี้เลยคุยกับยอห์นว่า “คนที่ท่านเคยพูดถึงและเคยอยู่กับท่านที่แม่น้ำจอร์แดนฝั่งโน้น เขากำลังให้บัพติศมาและทุกคนก็ไปหาเขา” (ยน. 3:26) แต่ยอห์นตอบว่า “เจ้าสาวเป็นของเจ้าบ่าว แต่เพื่อนเจ้าบ่าวที่ยืนรออยู่ก็ดีใจมากที่ได้ยินเสียงเจ้าบ่าว นี่แหละเป็นเหตุผลที่ผมดีใจจริง ๆ” (ยน. 3:29) ยอห์นไม่ต้องการแข่งกับพระเยซูและไม่คิดว่างานที่เขาทำไม่มีค่าเพราะงานของพระเยซูสำคัญกว่า แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ยอห์นยังคงมีความสุขเพราะเขาเห็นค่าหน้าที่ของเขาในฐานะ “เพื่อนเจ้าบ่าว”
การที่ยอห์นคิดแบบนี้ช่วยเขาให้มีความสุขเสมอแม้งานของเขาจะไม่ง่าย ตัวอย่างเช่น ยอห์นเป็นนาศีร์ตั้งแต่เกิด เขาเลยดื่มเหล้าองุ่นไม่ได้ (ลก. 1:15) ตอนที่พระเยซูพูดถึงยอห์นว่าใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ท่านบอกว่า “ตอนที่ยอห์นมา เขาไม่กินไม่ดื่ม” ตรงกันข้าม พระเยซูกับสาวกของท่านไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของการเป็นนาศีร์ตามคำสาบานก็เลยใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ (มธ. 11:18, 19) นอกจากนั้น ยอห์นทำการอัศจรรย์ไม่ได้ แต่เขารู้ว่าสาวกของพระเยซูทำการอัศจรรย์ได้ ซึ่งบางคนในนั้นเคยเป็นสาวกของยอห์นมาก่อน (มธ. 10:1; ยน. 10:41) ถึงอย่างนั้น ยอห์นไม่ได้ยอมให้ความแตกต่างนี้มารบกวนใจเขา เขาสนใจแต่งานมอบหมายที่ได้รับจากพระยะโฮวา
เหมือนกัน ถ้าเรารักและเห็นค่างานมอบหมายที่ทำอยู่ตอนนี้ มันจะช่วยให้เรามีความสุขเสมอ เทอร์รี่ซึ่งพูดถึงตอนต้นบอกว่า “เมื่อผมได้รับหน้าที่มอบหมายอะไร ผมก็สนใจแต่ตรงนั้นครับ” เมื่อเขาย้อนคิดถึงการทำงานรับใช้เต็มเวลาที่ผ่านมา เขาบอกว่า “ผมมีแต่ความทรงจำดี ๆ ไม่เคยนึกเสียใจเลย”
เราจะมีความสุขมากขึ้นในงานรับใช้ถ้าเราคิดว่า ไม่ว่าเราจะได้รับงานมอบหมายอะไร ทุกงานก็เป็นสิทธิพิเศษเหมือนกันนั่นคือการได้เป็น “เพื่อนร่วมงานของพระเจ้า” (1 คร. 3:9) ขอให้นึกถึงตัวอย่างนี้ ถ้าเราได้รับเครื่องเงินเป็นมรดกตกทอดมา และเราเห็นค่ามัน เราก็จะคอยหมั่นเช็ดถู แล้วมันก็จะเงางามตลอด เหมือนกัน ถ้าเราคิดใคร่ครวญเป็นประจำว่าเป็นเกียรติขนาดไหนที่ได้รับใช้พระเจ้า เราก็จะมีความสุขเสมอ เราจะไม่เปรียบเทียบว่าเราเสียสละมากกว่าคนอื่น และจะไม่คิดว่างานมอบหมายของเราสำคัญน้อยกว่าของคนอื่น—กท. 6:4
สนใจสิ่งที่สำคัญสำหรับพระยะโฮวา
ยอห์นอาจรู้ว่างานมอบหมายของเขามีเวลาจำกัด แต่เขาอาจไม่รู้ว่ามันจะจบลงเร็วขนาดนี้ (ยน. 3:30) ในปี ค.ศ. 30 ประมาณ 6 เดือนหลังจากที่พระเยซูรับบัพติศมา ยอห์นก็ถูกกษัตริย์เฮโรดจับขังคุก ถึงอย่างนั้น ยอห์นยังคงสอนสิ่งที่ถูกต้องต่อไป (มก. 6:17-20) อะไรช่วยให้เขายังคงมีความสุขแม้สิ่งต่าง ๆ จะเปลี่ยนไปแบบนั้น? สิ่งที่ช่วยเขาก็คือการสนใจแต่สิ่งที่สำคัญสำหรับพระยะโฮวา
ตอนที่ยอห์นติดคุก เขาได้ยินข่าวว่างานรับใช้ของพระเยซูกำลังก้าวหน้า (มธ. 11:2; ลก. 7:18) ยอห์นมั่นใจว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์ แต่เขาอาจสงสัยว่า พระเยซูจะทำให้ข้อคัมภีร์ทุกข้อเกี่ยวกับเมสสิยาห์เป็นจริงได้อย่างไร? เขารู้ว่าเมสสิยาห์จะต้องเป็นกษัตริย์ เขาเลยอาจสงสัยว่าพระเยซูจะปกครองเร็ว ๆ นี้ไหม? ถ้าเป็นอย่างนั้น เขาจะถูกปล่อยตัวออกจากคุกไหม? เพราะยอห์นอยากเข้าใจบทบาทของพระเยซูมากขึ้น เขาเลยส่งสาวก 2 คนไปถามพระเยซูว่า “ท่านคือคนที่เรารอคอยอยู่ใช่ไหมครับ หรือเรายังต้องรอคนอื่น?” (ลก. 7:19) พระเยซูจึงสั่งให้พวกเขาไปบอกยอห์นว่า “คนตาบอดกลับมองเห็นได้ คนง่อยเดินได้ คนโรคเรื้อนหายเป็นปกติ คนหูหนวกได้ยิน คนตายฟื้นขึ้นมา และคนยากจนได้ยินข่าวดี” (ลก. 7:20-22) พอสาวกทั้งสองคนกลับมาบอกยอห์น ยอห์นคงตั้งใจฟังพวกเขาเล่าว่าพระเยซูรักษาคนให้หายโรคด้วยการอัศจรรย์อย่างไรบ้าง
เรื่องที่พวกสาวกเล่าต้องทำให้ยอห์นได้กำลังใจแน่ ๆ มันช่วยยืนยันว่าพระเยซูกำลังทำให้คำพยากรณ์เกี่ยวกับเมสสิยาห์เป็นจริง แม้พระเยซูไม่ได้ช่วยยอห์นออกจากคุก แต่เขาก็รู้ว่างานที่เขาทำไม่เสียเปล่า ถึงเขาจะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากแต่เขาก็มีเหตุผลที่จะมีความสุข
เหมือนกับยอห์น ถ้าเราสนใจสิ่งที่สำคัญสำหรับพระยะโฮวา เราก็จะอดทนจนถึงที่สุดและอดกลั้นด้วยความยินดีได้ (คส. 1:9-11) เราจะเป็นแบบนั้นได้ถ้าอ่านคัมภีร์ไบเบิลและคิดใคร่ครวญ สิ่งนี้จะช่วยเตือนใจเราว่า ไม่ว่างานมอบหมายของเราจะเป็นอะไร ถ้าเราทำงานรับใช้เพื่อพระเจ้า สิ่งที่ทำจะไม่เสียเปล่า (1 คร. 15:58) ซานดร้าบอกว่า “การอ่านคัมภีร์ไบเบิลวันละบททุกวันช่วยให้ฉันสนิทกับพระยะโฮวามากขึ้น มันช่วยให้ฉันคิดถึงแต่พระองค์และไม่ได้คิดถึงแต่ตัวเอง” นอกจากนั้น อีกอย่างหนึ่งที่ช่วยเราได้คือ การสนใจรายงานข่าวเกี่ยวกับสิ่งที่พี่น้องของเราทำเพื่อพระยะโฮวา นี่จะช่วยให้เราไม่คิดถึงแต่ตัวเอง แต่สนใจว่าพระยะโฮวาทำอะไรสำเร็จไปแล้วบ้าง ซานดร้าบอกว่า “รายการทีวี JW ประจำเดือนช่วยเราให้รู้สึกใกล้ชิดกับองค์การมากขึ้น และมีความสุขกับงานมอบหมายของเราเสมอ”
ถึงยอห์นจะทำงานประกาศแค่ช่วงสั้น ๆ แต่เขา “มีน้ำใจและมีกำลังเหมือนเอลียาห์” และ “เป็นคนที่มีความรู้สึกเหมือนเรา” (ลก. 1:17; ยก. 5:17, เชิงอรรถ) ดังนั้น ถ้าเราเลียนแบบยอห์นโดยเห็นค่าและสนใจสิ่งที่สำคัญสำหรับพระยะโฮวา เราก็จะทำงานมอบหมายของเราอย่างมีความสุขเสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิต