บทความศึกษา 35
เพลง 123 ทำตามระเบียบขององค์การพระเจ้าด้วยความภักดี
ผู้ดูแลจะช่วยคนที่ถูกตัดออกจากประชาคมได้ยังไง
“เมื่อมีคนบาปคนหนึ่งกลับใจ จะทำให้มีความสุขในสวรรค์มากกว่าการมีคนดี 99 คนที่ไม่ต้องกลับใจ”—ลก. 15:7
จุดสำคัญ
ทำไมบางคนต้องถูกตัดออกจากประชาคม และผู้ดูแลจะช่วยคนเหล่านั้นยังไงให้กลับใจและกลับมาสนิทกับพระยะโฮวาอีกครั้ง
1-2. (ก) พระยะโฮวารู้สึกยังไงกับคนที่ทำบาปร้ายแรงและไม่กลับใจ? (ข) พระยะโฮวาอยากให้คนที่ทำผิดทำอะไร?
พระยะโฮวาไม่ได้ยอมรับการกระทำทุกอย่าง พระองค์เกลียดการทำชั่ว (สด. 5:4-6) ถึงแม้พระองค์ไม่ได้คาดหมายความสมบูรณ์แบบจากมนุษย์ แต่พระองค์ก็ต้องการให้เราเชื่อฟังมาตรฐานที่ถูกต้องชอบธรรมของพระองค์ซึ่งอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล (สด. 130:3, 4) ดังนั้น พระยะโฮวาจะไม่ยอมทนกับ ‘คนดูหมิ่นพระเจ้าซึ่งพลิกแพลงความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์เพื่อใช้เป็นข้อแก้ตัวสำหรับการประพฤติไร้ยางอาย’ (ยด. 4) ที่จริงคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “คนที่ดูหมิ่นพระเจ้าจะต้องพินาศ” ในวันอาร์มาเกดโดน—2 ปต. 3:7; วว. 16:16
2 แต่พระยะโฮวาไม่อยากให้ใครถูกทำลาย เหมือนกับที่เราได้คุยกันไปแล้วในบทความชุดนี้ คัมภีร์ไบเบิลบอกชัดเจนเลยว่าพระยะโฮวา “อยากให้ทุกคนกลับตัวกลับใจ” (2 ปต. 3:9) ผู้ดูแลเลียนแบบพระยะโฮวาโดยพยายามช่วยคนที่ทำผิดให้เปลี่ยนแปลงตัวเองและกลับมาสนิทกับพระองค์เหมือนเดิม ถึงอย่างนั้นบางครั้งคนที่ทำผิดก็ไม่ได้กลับใจ (อสย. 6:9) บางคนยังทำผิดต่อไปแม้ผู้ดูแลจะพยายามช่วยเขาหลายครั้งแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ผู้ดูแลจะทำยังไง?
“พวกคุณต้องกำจัดคนชั่วออกไป”
3. (ก) คัมภีร์ไบเบิลบอกให้ทำยังไงกับคนที่ไม่กลับใจ? (ข) ทำไมเราถึงบอกได้ว่าคนที่ไม่กลับใจเลือกที่จะทำให้ตัวเองถูกตัดออกจากประชาคม?
3 เมื่อคนที่ทำผิดไม่กลับใจ ผู้ดูแลก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องทำตามที่ 1 โครินธ์ 5:13 บอกไว้ นั่นก็คือ “พวกคุณต้องกำจัดคนชั่วออกไปจากพวกคุณ” คนที่ทำผิดรู้ว่าถ้าเขาไม่กลับใจเขาจะถูกตัดออกจากประชาคม หากเขายังเลือกที่จะทำผิดต่อไป มันก็เหมือนกับว่าเขาเลือกที่จะทำให้ตัวเองถูกตัดออกจากประชาคม ดังนั้น เขาหว่านอะไรก็ต้องเก็บเกี่ยวผลจากสิ่งนั้น (กท. 6:7) ทำไมเราถึงบอกแบบนั้น? เพราะเขาไม่ยอมปรับเปลี่ยนตัวเองถึงแม้ผู้ดูแลพยายามช่วยเขาหลายครั้งแล้ว (2 พก. 17:12-15) การกระทำของเขาแสดงให้เห็นว่าเขาเลือกที่จะไม่เชื่อฟังมาตรฐานของพระยะโฮวา—ฉธบ. 30:19, 20
4. ทำไมต้องมีคำประกาศเมื่อคนทำผิดที่ไม่กลับใจถูกตัดออกจากประชาคม?
4 เมื่อคนทำผิดที่ไม่กลับใจถูกตัดออกจากประชาคม จะมีคำประกาศที่ประชาคมว่า เขาไม่ได้เป็นพยานพระยะโฮวาอีกต่อไป a จุดประสงค์ที่มีคำประกาศนี้ไม่ใช่เพื่อทำให้คนที่ทำผิดรู้สึกอาย แต่เพื่อพี่น้องในประชาคมจะสามารถทำตามคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลที่บอกให้ “เลิกคบ” กับคนนั้น “แม้แต่จะกินอะไรกับคนแบบนั้นก็อย่าเลย” (1 คร. 5:9-11) นี่เป็นคำแนะนำที่ดีมาก เพราะเปาโลบอกว่า “เชื้อขนมปังแค่นิดเดียวก็ทำให้แป้งทั้งก้อนขึ้นฟูได้” (1 คร. 5:6) คนทำผิดที่ไม่กลับใจอาจทำให้พี่น้องคนอื่น ๆ คิดว่าไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังคำสั่งของพระยะโฮวาก็ได้—สภษ. 13:20; 1 คร. 15:33
5. เราควรมองคนที่ถูกตัดออกจากประชาคมยังไง? และทำไม?
5 เราควรมองคนที่ถูกตัดออกจากประชาคมยังไง? ถึงแม้เราจะไม่คบหากับเขา แต่เราควรมองว่าเขาเป็นเหมือนแกะที่หลงหายซึ่งมีโอกาสจะกลับมาได้ จำไว้ว่าเขาเป็นคนที่เคยอุทิศตัวให้กับพระยะโฮวา เพียงแค่ตอนนี้เขาไม่ได้ใช้ชีวิตให้สมกับที่ได้อุทิศตัวไว้ นี่เลยทำให้เขาตกอยู่ในอันตราย (อสค. 18:31) ถึงอย่างนั้น ตราบใดที่พระยะโฮวายังแสดงความเมตตา ก็ยังมีหวังที่เขาจะกลับมาในประชาคม แล้วผู้ดูแลจะแสดงให้เห็นยังไงว่าพวกเขาไม่หมดหวังแม้คนที่ทำผิดถูกตัดออกจากประชาคมแล้ว?
ผู้ดูแลจะช่วยคนที่ถูกตัดออกจากประชาคมได้ยังไง?
6. ผู้ดูแลจะทำอะไรเพื่อช่วยคนที่ถูกตัดออกจากประชาคม?
6 คนที่ถูกตัดออกจากประชาคมจะถูกทิ้งให้สิ้นหวังและต้องหาทางกลับมาหาพระยะโฮวาเองไหม? ไม่ เมื่อคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้ดูแลแจ้งกับคนที่ไม่กลับใจว่าเขาจะถูกตัดออกจากประชาคม พวกเขาก็จะอธิบายด้วยว่ามีขั้นตอนอะไรบ้างที่เขาจะทำได้เพื่อจะถูกรับกลับเข้ามาในประชาคม ไม่เพียงเท่านั้นผู้ดูแลจะบอกด้วยว่าอยากจะพบกับเขาอีกครั้งหลังจากผ่านไปไม่กี่เดือนเพื่อดูว่าสภาพหัวใจของเขาเปลี่ยนไปไหม ถ้าคนนั้นเต็มใจที่จะพบกัน ผู้ดู แลก็จะชวนเขาอย่างอบอุ่นให้กลับใจและกลับเข้ามาในประชาคม และถึงแม้เขายังไม่เปลี่ยนใจ แต่ผู้ดูแลก็จะคอยติดต่อเป็นระยะ ๆ เพื่อดูว่าจะไปเยี่ยมและช่วยเขาให้กลับมาได้ไหม
7. ผู้ดูแลจะแสดงความเมตตาเหมือนพระยะโฮวาได้ยังไงตอนที่ปฏิบัติกับคนที่ถูกตัดออกจากประชาคม? (เยเรมีย์ 3:12)
7 ผู้ดูแลจะแสดงความเมตตาเหมือนพระยะโฮวาตอนที่ปฏิบัติกับคนที่ถูกตัดออกจากประชาคม พระยะโฮวาไม่ได้รอให้ชาวอิสราเอลกลับใจก่อนแล้วค่อยช่วยพวกเขา แต่พระองค์เป็นฝ่ายริเริ่มช่วยชาวอิสราเอลตั้งแต่ก่อนที่พวกเขาจะแสดงให้เห็นว่ากลับใจด้วยซ้ำ และอย่างที่เราได้เห็นในบทความที่ 2 ของบทความชุดนี้ พระยะโฮวาใช้ตัวอย่างของผู้พยากรณ์โฮเชยาเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเมตตาของพระองค์ ถึงแม้ภรรยาของโฮเชยายังทำผิดร้ายแรงอยู่ แต่พระยะโฮวาก็บอกเขาให้ไปหาเธอเพื่อชวนเธอกลับมาอยู่กับเขาอีกครั้ง (ฮชย. 3:1; มลค. 3:7) ผู้ดูแลจะเลียนแบบพระยะโฮวาโดยแสดงออกจากใจจริงว่าอยากให้คนทำผิดกลับใจและกลับเข้ามาในประชาคม พวกเขาจะไม่ทำให้คนนั้นรู้สึกว่ายากเกินไปที่จะกลับมา—อ่านเยเรมีย์ 3:12
8. ตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูเรื่องลูกที่หลงหายทำให้เราเห็นยังไงว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่เห็นอกเห็นใจและเมตตา? (ลูกา 15:7)
8 ขอให้นึกถึงตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูเรื่องลูกที่หลงหายซึ่งพูดถึงในบทความที่ 2 ตอนที่ลูกชายกลับมาบ้านและพ่อมองเห็นแต่ไกล พ่อก็รีบ “วิ่งเข้าไปหา ทั้งกอดและจูบเขา” (ลก. 15:20) ขอสังเกตว่าพ่อไม่ได้รอให้ลูกชายกลับมาขอโทษก่อน แต่พ่อเป็นฝ่ายริเริ่มไปหาลูก ผู้ดูแลจะพยายามเลียนแบบความเมตตาอย่างเดียวกันนี้กับคนที่ออกไปจากประชาคม ผู้ดูแลอยากให้เขา “กลับมาบ้าน” (ลก. 15:22-24, 32) และเมื่อมีคนบาปสักคนหนึ่งกลับใจ ทุกคนทั้งในสวรรค์และบนโลกต่างก็มีความสุข—อ่านลูกา 15:7
9. พระยะโฮวาอยากให้คนที่ทำผิดทำอะไร?
9 จนถึงตอนนี้เราได้เรียนว่าพระยะโฮวาไม่ยอมให้คนทำผิดที่ไม่กลับใจอยู่ในประชาคม แต่พระองค์ก็ไม่ได้ทิ้งเขาไปเลย พระองค์อยากให้เขากลับมาหาพระองค์ โฮเชยา 14:4 ช่วยให้เราเห็นถึงความรู้สึกของพระยะโฮวาที่มีต่อคนทำผิดที่กลับใจ ที่นั่นบอกว่า “เราจะเยียวยารักษาเขาไม่ให้กลับไปเป็นคนไม่ซื่อสัตย์อีก เราจะรักเขาจากใจ เพราะเราหายโกรธแล้ว” ข้อคัมภีร์นี้กระตุ้นให้ผู้ดูแลพยายามมองหาสัญญาณแม้จะแค่เล็กน้อยที่แสดงให้เห็นว่าคนที่ทำผิดเริ่มกลับใจแล้ว และคำพูดนี้ของพระยะโฮวาก็น่าจะทำให้คนที่ออกไปจากประชาคมรีบกลับมาหาพระองค์
10-11. ผู้ดูแลจะช่วยคนที่ถูกตัดออกจากประชาคมไปนานแล้วได้ยังไง?
10 แล้วคนที่ถูกตัดออกจากประชาคมในอดีตล่ะ ซึ่งอาจจะถูกตัดมาหลายปีแล้ว ผู้ดูแลจะช่วยเขายังไง? เขาอาจเลิกทำสิ่งที่ทำให้เขาถูกตัดออกจากประชาคมแล้ว และอาจจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าถูกตัดเพราะอะไร ไม่ว่าเขาจะออกไปจากประชาคมนานแค่ไหน ผู้ดูแลจะพยายามตามหาและไปเยี่ยมเขา ผู้ดูแลจะอธิษฐานกับเขาและชวนเขาอย่างอบอุ่นให้กลับเข้ามาในประชาคม ถ้าคนหนึ่งออกจากประชาคมไปนานแล้ว ความเชื่อของเขาคงต้องอ่อนแอมาก ๆ ดังนั้น ถ้าเขาแสดงให้เห็นว่าอยากกลับมา ผู้ดูแลก็จะจัดเตรียมให้มีการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลแม้เขาจะยังไม่ถูก รับกลับเข้ามาด้วยซ้ำ เฉพาะผู้ดูแลเท่านั้นที่จะจัดให้มีการศึกษาแบบนี้
11 ผู้ดูแลจะเลียนแบบความเมตตาของพระยะโฮวา พวกเขาจะตามหาคนที่ออกไปจากประชาคมให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้และสนับสนุนพวกเขาให้กลับมาหาพระยะโฮวา เมื่อคนที่ทำผิดแสดงให้เห็นว่ากลับใจและเลิกทำผิด เขาจะสามารถถูกรับกลับเข้ามาในประชาคมได้ทันที—2 คร. 2:6-8
12. (ก) มีกรณีไหนที่ผู้ดูแลต้องระวังเป็นพิเศษ? (ข) ทำไมเราไม่ควรคิดว่าคนที่ทำบาปบางอย่างไม่มีทางได้รับความเมตตาจากพระยะโฮวา? (ดูเชิงอรรถด้วย)
12 มีบางกรณีที่ผู้ดูแลต้องระวังเป็นพิเศษก่อนจะรับใครสักคนกลับเข้ามาในประชาคม เช่น ถ้าเขาเป็นคนที่ทำร้ายเด็ก ทรยศพระเจ้า หรือวางแผนเลิกกับคู่ของตัวเอง ผู้ดูแลต้องทำให้แน่ใจว่าเขากลับใจแล้วจริง ๆ (มลค. 2:14; 2 ทธ. 3:6) ผู้ดูแลต้องปกป้องฝูง แกะของพระเจ้า แต่ก็ต้องจำไว้ว่าพระยะโฮวาพร้อมจะให้อภัยคนที่กลับใจจริง ๆ และเลิกทำชั่วไม่ว่าบาปนั้นจะร้ายแรงขนาดไหน ดังนั้น ถึงแม้ผู้ดูแลต้องระวังเป็นพิเศษในบางกรณีที่มีการทรยศหรือทำร้ายคนอื่นอย่างรุนแรง แต่ก็ไม่ควรไปตัดสินว่าคนที่ทำผิดแบบนั้นแบบนี้ไม่มีทางได้รับความเมตตาจากพระยะโฮวา b—1 ปต. 2:10
พี่น้องในประชาคมควรทำอะไร?
13. อะไรคือความแตกต่างระหว่างวิธีที่เราปฏิบัติกับคนที่ถูกว่ากล่าวตักเตือนและคนที่ถูกตัดออกจากประชาคม?
13 อย่างที่บอกไปในบทความที่แล้ว บางครั้งอาจมีคำประกาศว่าพี่น้องคนหนึ่งถูกว่ากล่าวตักเตือน ในกรณีแบบนั้น เรายังสามารถคบหากับเขาต่อไปได้เพราะรู้ว่าเขากลับใจและเลิกทำชั่วแล้ว (1 ทธ. 5:20) เขายังเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมและต้องการกำลังใจจากการคบหากับพี่น้อง (ฮบ. 10:24, 25) แต่ในกรณีของคนที่ถูกตัดออกจากประชาคม เราจะ “เลิกคบ” กับเขา และไม่ “แม้แต่จะกินอะไรกับคนแบบนั้น”—1 คร. 5:11
14. คริสเตียนจะใช้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดียังไงในการปฏิบัติกับคนที่ถูกตัดออกจากประชาคม? (ดูภาพด้วย)
14 จากที่เราคุยกันมา นี่หมายความว่าเราจะทำเหมือนกับว่าคนที่ถูกตัดออกจากประชาคมไม่มีตัวตนอย่างนั้นไหม? ไม่ใช่ ก็จริงที่เราจะไม่คบหากับคนเหล่านั้น แต่เราจะใช้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ได้รับการฝึกจากคัมภีร์ไบเบิลเพื่อตัดสินใจว่าจะเชิญคนที่ถูกตัดออกจากประชาคมให้มาประชุมหรือไม่ ซึ่งคนนั้นอาจเป็นญาติหรือเป็นคนที่เราเคยสนิทด้วย และถ้าเขามาประชุมจริง ๆ ล่ะ? เมื่อก่อนเราจะไม่ทักทายคนเหล่านี้ แต่ตอนนี้คริสเตียนทุกคนจะต้องใช้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ได้รับการฝึกจากคัมภีร์ไบเบิลเพื่อตัดสินใจในเรื่องนี้ บางคนอาจรู้สึกว่าสามารถทักทายสั้น ๆ และต้อนรับคนนั้นที่มาเข้าร่วมการประชุมได้ อย่างไรก็ตาม เราจะไม่คุยกับเขาต่อหรือคบหากับเขา
15. ที่ 2 ยอห์น 9-11 กำลังพูดถึงคนที่ทำบาปแบบไหน? (ดูกรอบ “ ยอห์นกับเปาโลพูดถึงบาปอย่างเดียวกันไหม?” ด้วย)
15 บางคนอาจสงสัยว่า ‘คัมภีร์ไบเบิลบอกไม่ใช่เหรอว่าคนที่ทักทายคนที่ทำผิดร้ายแรงก็ถือว่ามีส่วนร่วมในการทำชั่วของเขา?’ (อ่าน 2 ยอห์น 9-11) ท้องเรื่องของข้อคัมภีร์นี้แสดงให้เห็นว่าคำแนะนำนี้ใช้กับคนที่ทรยศพระเจ้าและคนที่พยายามชักชวนคนอื่นให้ทำชั่ว (วว. 2:20) ดังนั้น ถ้ามีคนที่สนับสนุนคำสอนของคนทรยศพระเจ้าหรือสนับสนุนการทำชั่วอื่น ๆ ผู้ดูแลก็จะไม่จัดให้มีการพบกับคนแบบนั้น อย่างไรก็ตาม อาจเป็นไปได้ที่คนนั้นจะกลับใจ แต่จนกว่าจะถึงตอนนั้น เราก็จะไม่ทักทายหรือเชิญเขามาร่วมการประชุม
เลียนแบบพระยะโฮวาที่เห็นอกเห็นใจและเมตตา
16-17. (ก) พระยะโฮวาอยากให้คนบาปทำอะไร? (เอเสเคียล 18:32) (ข) ผู้ดูแลจะทำงานร่วมกับพระยะโฮวาได้ยังไง?
16 เราได้เรียนอะไรบ้างจากบทความชุดทั้ง 5 บทความนี้? เราได้เรียนว่าพระยะโฮวาไม่อยากให้ใครต้องถูกทำลาย (อ่านเอเสเคียล 18:32) พระองค์อยากให้คนที่ทำบาปกลับมาคืนดีกับพระองค์ (2 คร. 5:20) นี่เลยเป็นเหตุผลที่ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพระยะโฮวากระตุ้นคนของพระองค์ที่ดื้อรั้นหลายครั้งหลายหนให้กลับใจและกลับมาหาพระองค์ ผู้ดูแลในปัจจุบันมีสิทธิพิเศษที่ได้ทำงานร่วมกับพระยะโฮวาในการช่วยคนที่ทำบาปให้กลับใจ—รม. 2:4; 1 คร. 3:9
17 ลองนึกภาพว่าในสวรรค์จะมีความสุขมากแค่ไหนเมื่อคนบาปกลับใจ พระยะโฮวาพ่อในสวรรค์ของเรามีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นแกะที่หลงหายของพระองค์กลับเข้ามาในประชาคม เมื่อเราคิดใคร่ครวญถึงความเห็นอกเห็นใจ ความเมตตา และความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา เราก็ยิ่งรู้สึกรักพระองค์มากขึ้นจริง ๆ—ลก. 1:78
เพลง 111 เหตุผลที่เรายินดี
a โดยอาศัยคำแนะนำของเปาโลที่ 1 โครินธ์ 5:13 เราจะไม่ใช้คำว่าตัดสัมพันธ์อีกต่อไป แต่จะใช้คำว่าตัดออกจากประชาคมแทน
b คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงบาปที่ให้อภัยไม่ได้ คนที่ทำบาปแบบนี้ตั้งใจต่อต้านพระยะโฮวาอย่างไม่ยอมเปลี่ยนแปลง มีแต่พระยะโฮวาและพระเยซูเท่านั้นที่จะตัดสินว่าใครทำบาปที่ให้อภัยไม่ได้—มก. 3:29; ฮบ. 10:26, 27