บทความศึกษา 10
คุณ “ทิ้งลักษณะนิสัยเก่า” ได้
“ให้ทิ้งลักษณะนิสัยเก่ากับสิ่งต่าง ๆ ที่เคยทำ”—คส. 3:9
เพลง 29 ใช้ชีวิตให้สมกับชื่อของเรา
ใจความสำคัญ *
1. ก่อนจะมาศึกษาคัมภีร์ไบเบิลชีวิตคุณเป็นยังไง?
ก่อนที่จะมาศึกษาคัมภีร์ไบเบิลชีวิตของคุณเป็นยังไง? พวกเราหลายคนคงไม่อยากคิดถึงชีวิตตอนนั้น เพราะก่อนที่เราจะมาศึกษาคัมภีร์ไบเบิล เรา “ไม่มีความหวังและไม่รู้จักพระเจ้า” นิสัยและความคิดของเราเลยเป็นเหมือนคนทั่วไปในโลกที่ไม่ได้ใช้ชีวิตตามมาตรฐานของพระองค์ (อฟ. 2:12) แต่พอเราได้มาศึกษาคัมภีร์ไบเบิลแล้ว ชีวิตเราก็เปลี่ยนไป
2. คุณได้รู้อะไรหลังจากศึกษาคัมภีร์ไบเบิล?
2 พอได้มาศึกษาคัมภีร์ไบเบิล คุณได้รู้ว่าพระยะโฮวาพ่อในสวรรค์ของคุณรักคุณมาก และคุณรู้ด้วยว่าถ้าคุณอยากทำให้พระองค์พอใจและเป็นครอบครัวของพระองค์ คุณต้องเปลี่ยนรูปแบบชีวิตและเปลี่ยนความคิด และต้องใช้ชีวิตตามมาตรฐานของพระองค์—อฟ. 5:3-5
3. อย่างที่บอกไว้ในโคโลสี 3:9, 10 พระยะโฮวาอยากให้เราทำอะไร? และเราจะคุยเรื่องอะไรบ้างในบทความนี้?
3 พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าผู้สร้างและเป็นพ่อในสวรรค์ของเรา พระองค์เลยมีสิทธิ์กำหนดว่าคนในครอบครัวของพระองค์ควรจะใช้ชีวิตยังไง พระองค์บอกว่าก่อนที่เราจะรับบัพติศมา พระองค์อยากให้เรา “ทิ้งลักษณะนิสัยเก่ากับสิ่งต่าง ๆ ที่เคยทำ” * (อ่านโคโลสี 3:9, 10) ดังนั้น บทความนี้จะช่วยคนที่ตั้งใจจะรับบัพติศมาให้ได้คำตอบของ 3 คำถามต่อไปนี้คือ (1) “ลักษณะนิสัยเก่า” คืออะไร? (2) ทำไมพระยะโฮวาอยากให้เรา “ทิ้งลักษณะนิสัยเก่า”? และ (3) เราจะทิ้งนิสัยเหล่านั้นได้ยังไง? และสำหรับคนที่รับบัพติศมาแล้ว บทความนี้จะช่วยให้เราไม่กลับไปมีนิสัยเก่าที่เราทิ้งไปแล้ว
“ลักษณะนิสัยเก่า” คืออะไร?
4. คนที่มี “ลักษณะนิสัยเก่า” จะเป็นแบบไหน?
4 คนที่ยังไม่ “ทิ้งลักษณะนิสัยเก่า” จะปล่อยให้ความคิดและนิสัยที่ไม่ดีควบคุมชีวิตเขา เช่น เขาอาจเป็นคนเห็นแก่ตัว ขี้โมโห ไม่รู้จักขอบคุณ หยิ่ง ชอบดูสื่อลามก ชอบดูหนังรุนแรงและผิดศีลธรรม เขาอาจมีนิสัยดี ๆ อยู่บ้างและอาจรู้สึกผิดเวลาทำอะไรที่ไม่ดี แต่เขาไม่มีแรงกระตุ้นพอที่จะเปลี่ยนความคิดและการกระทำแบบนั้น—กท. 5:19-21; 2 ทธ. 3:2-5
5. เราจะเลิกคิดและเลิกอยากทำสิ่งที่ไม่ดีอย่างเด็ดขาดได้ไหม? ขออธิบาย (กิจการ 3:19)
5 เราเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์แบบ เราเลยไม่สามารถเลิกคิดหรือเลิกอยากทำสิ่งที่ไม่ดีได้อย่างเด็ดขาด บางครั้งเราอาจพูดหรือทำอะไรที่ต้องมาเสียใจทีหลัง (ยรม. 17:9; ยก. 3:2) แต่ถ้าเรา “ทิ้งลักษณะนิสัยเก่า” ได้ ถึงเราจะมีนิสัยหรือความคิดที่ไม่ดีอยู่บ้าง แต่มันจะไม่ควบคุมชีวิตเราอีกต่อไป และคนอื่นจะเห็นว่าเราไม่ใช่คนเดิม—อสย. 55:7; อ่านกิจการ 3:19
6. ทำไมพระยะโฮวาอยากให้เรา “ทิ้งลักษณะนิสัยเก่า”?
6 พระยะโฮวาอยากให้เราเลิกคิดและเลิกทำสิ่งที่ไม่ดี เพราะพระองค์รักเรามากและอยากให้เรามีความสุข (อสย. 48:17, 18) พระองค์รู้ว่าคนที่ยอมทำตามใจตัวเองทั้งที่รู้ว่ามันผิดจะทำให้ตัวเองและคนรอบข้างเจ็บปวด และนี่ก็ทำให้พระยะโฮวาเจ็บปวดไปด้วย
7. อย่างที่บอกไว้ในโรม 12:1, 2 เราทุกคนต้องเลือกอะไร?
7 ถ้าเราพยายามจะเปลี่ยนตัวเอง ตอนแรกเพื่อนหรือคนในครอบครัวอาจเยาะเย้ยเรา (1 ปต. 4:3, 4) เขาอาจบอกเราว่าเรามีสิทธิ์ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ ไม่จำเป็นต้องไปฟังใคร แต่คนที่ไม่ทำตามมาตรฐานของพระยะโฮวาได้อิสระจริง ๆ ไหม? ไม่ใช่เลย พวกเขาอยู่ใต้อำนาจโลกของซาตาน (อ่านโรม 12:1, 2) เราทุกคนต้องเลือกว่าจะมีนิสัยเก่า ๆ แบบเดิมซึ่งได้ อิทธิพลจากบาปในตัวเราและโลกของซาตาน หรือจะยอมให้พระยะโฮวาเปลี่ยนเราเป็นคนใหม่ ซึ่งพระองค์จะทำให้เราเป็นคนที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะเป็นได้ในทุกวันนี้—อสย. 64:8
คุณจะ “ทิ้งลักษณะนิสัยเก่า” ได้ยังไง?
8. อะไรช่วยเราให้เลิกคิดและเลิกทำสิ่งที่ไม่ดี?
8 พระยะโฮวารู้ว่ากว่าเราจะเลิกคิดและเลิกทำสิ่งที่ไม่ดีได้ต้องใช้เวลาและต้องพยายามมาก (สด. 103:13, 14) แต่พระองค์ให้คัมภีร์ไบเบิล พลังบริสุทธิ์ และองค์การของพระองค์เพื่อช่วยเราให้มีสติปัญญาและกำลังเพื่อเราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ที่ผ่านมาพระยะโฮวาคงช่วยคุณให้เปลี่ยนแปลงตัวเองมาแล้ว แต่ตอนนี้ให้มาดูว่ามีอะไรอีกที่คุณจะทำได้เพื่อจะ “ทิ้งลักษณะนิสัยเก่า” มากขึ้นและก้าวหน้าจนรับบัพติศมาได้
9. คัมภีร์ไบเบิลช่วยคุณยังไง?
9 อ่านคัมภีร์ไบเบิลเพื่อจะดูว่าตัวคุณเป็นยังไง คัมภีร์ไบเบิลเป็นเหมือนกระจกที่ช่วยให้คุณรู้ว่าความคิด คำพูด และสิ่งที่คุณทำเป็นยังไง (ยก. 1:22-25) ผู้นำการศึกษาของคุณหรือพี่น้องที่มีประสบการณ์ก็ช่วยคุณให้ทำอย่างนั้นได้ อย่างเช่น เขาอาจจะให้คุณดูจากคัมภีร์ไบเบิลว่าตรงไหนที่คุณทำได้ดีแล้วและตรงไหนที่คุณอาจจะต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือเขาอาจจะช่วยบอกวิธีที่คุณจะหาคำแนะนำดี ๆ เพื่อจะเลิกนิสัยที่ไม่ดีได้ พระยะโฮวาก็พร้อมจะช่วยคุณด้วยเหมือนกัน พระองค์รู้ดีที่สุดว่าจะช่วยคุณยังไงเพราะพระองค์รู้ทุกสิ่งที่อยู่ในหัวใจ (สภษ. 14:10; 15:11) ดังนั้น ให้คุณอธิษฐานเป็นประจำ อ่านและคิดใคร่ครวญคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน
10. คุณได้เรียนอะไรจากประสบการณ์ของอีลี?
10 มั่นใจว่ามาตรฐานของพระยะโฮวาดีที่สุด ทุกสิ่งที่พระยะโฮวาบอกให้เราทำเป็นประโยชน์กับเรา คนที่ทำตามมาตรฐานของพระยะโฮวาจะนับถือตัวเอง จะมีชีวิตที่มีความหมาย และมีความสุขแท้ (สด. 19:7-11) แต่คนที่ไม่ทำตามมาตรฐานของพระองค์จะได้รับผลเสียจากสิ่งที่เขาทำ ให้เรามาดูสิ่งที่อีลีพูดถึงตอนที่เขาไม่ได้ทำตามมาตรฐานของพระยะโฮวา พ่อแม่ของเขาเป็นพยานฯ และสอนเขาให้รักพระยะโฮวาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ตอนเป็นวัยรุ่น อีลีคบเพื่อนไม่ดีจนทำให้เขาเสพยา ผิดศีลธรรม และเป็นขโมย แถมเขายังเป็นคนขี้โมโหแล้วชอบมีเรื่องชกต่อย เขาเล่าว่า “ผมทำทุกอย่างที่พ่อแม่เคยสอนว่าคริสเตียนไม่ควรทำ” แต่อีลีก็ไม่เคยลืมสิ่งที่ได้เรียนตอนเด็ก ๆ เขากลับมาศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอีกครั้ง และพยายามมากที่จะเลิกนิสัยที่ไม่ดี แล้วรับบัพติศมาในปี 2000 การทำตามมาตรฐานของพระยะโฮวาเป็นประโยชน์กับอีลียังไง? เขาบอกว่า “ตอนนี้ผมสบายใจและมีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาด” * จากประสบการณ์ของอีลีทำให้เห็นว่าคนที่ไม่ทำตามมาตรฐานของพระยะโฮวามีแต่ทำให้ตัวเองได้รับผลเสีย แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น พระยะโฮวาก็อยากช่วยพวกเขาให้เปลี่ยนแปลงตัวเองได้
11. พระยะโฮวาเกลียดอะไรบ้าง?
11 เรียนรู้ที่จะเกลียดสิ่งที่พระยะโฮวาเกลียด (สด. 97:10) คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระยะโฮวาเกลียด “ตาที่เย่อหยิ่ง ลิ้นที่โกหก มือที่ฆ่าคนไม่มีความผิด” (สภษ. 6:16, 17) และพระองค์ “เกลียดคนที่ชอบ ความรุนแรงและคนหลอกลวง” (สด. 5:6) พระยะโฮวาเกลียดสิ่งเหล่านี้มากจนถึงกับทำลายคนชั่วทุกคนในสมัยโนอาห์ เพราะพวกเขาทำให้โลกมีแต่ความรุนแรง (ปฐก. 6:13) นอกจากนั้น พระองค์ยังบอกผ่านผู้พยากรณ์มาลาคีว่าพระองค์เกลียดคนที่วางแผนหย่าภรรยาทั้ง ๆ ที่เธอไม่ได้มีความผิดอะไร พระยะโฮวาไม่ยอมรับการนมัสการของคนที่ทำแบบนั้นและจะลงโทษพวกเขา—มลค. 2:13-16; ฮบ. 13:4
12. การ “เกลียดสิ่งที่ชั่ว” หมายถึงอะไร?
12 พระยะโฮวาอยากให้เรา “เกลียดสิ่งที่ชั่ว” (รม. 12:9) คำว่า “เกลียด” ในข้อนี้สื่อถึงความรู้สึกที่รุนแรง หมายถึงการเกลียดอะไรบางอย่างมาก ๆ ถึงขั้นขยะแขยงและสะอิดสะเอียด คุณคงนึกออกว่าคุณจะรู้สึกยังไงถ้ามีคนเอาอะไรเน่า ๆ มาให้คุณกิน แค่คิดคุณก็อยากจะอ้วกแล้วใช่ไหม? คล้ายกัน แค่คิดว่าจะทำสิ่งที่พระยะโฮวาเกลียด มันก็น่าจะทำให้เรารู้สึกสะอิดสะเอียน
13. ทำไมเราต้องระวังความคิดของเรา?
13 ระวังความคิดของคุณ ความคิดของเรามีผลต่อสิ่งที่เราทำ นั่นเป็นเหตุผลที่พระเยซูสอนว่าถ้าเราเริ่มคิดถึงสิ่งที่จะทำให้เราทำบาปร้ายแรง เราต้องหยุดคิดทันที (มธ. 5:21, 22, 28, 29) เราอยากจะทำให้พระยะโฮวาพอใจใช่ไหม? ถ้าอย่างนั้น เมื่อไหร่ที่เราเริ่มคิดอะไรที่ไม่ดีก็เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะเลิกคิดเรื่องนั้นทันที
14. คำพูดของเราทำให้เห็นอะไร? และเราควรจะถามตัวเองว่ายังไงบ้าง?
14 ระวังคำพูดของคุณ พระเยซูบอกว่า “สิ่งที่ออกจากปาก ก็มาจากใจ” (มธ. 15:18) สิ่งที่เราพูดจะทำให้เห็นว่าตัวตนของเราเป็นยังไงจริง ๆ เราต้องถามตัวเองว่า ‘ฉันไม่พูดโกหกถึงแม้ว่าการพูดความจริงจะทำให้ฉันเดือดร้อนไหม? ถ้าฉันแต่งงานแล้ว ฉันระวังไม่ให้คนอื่นรู้สึกว่าฉันกำลังจีบเขาไหม? ฉันไม่พูดลามก สองแง่สองง่าม หรือหยาบคายแม้แต่นิดเดียวไหม? ถ้ามีใครทำให้ฉันอารมณ์เสีย ฉันใจเย็นและพูดดี ๆ กับเขาไหม?’ เราต้องคิดถึงคำถามเหล่านี้ดี ๆ ว่าเราเป็นยังไงจริง ๆ คำพูดก็เหมือนกับกระดุมเสื้อ ถ้าเราปลดกระดุม เราก็จะถอดเสื้อได้ง่าย เหมือนกันถ้าเราเลิก ใช้คำพูดที่ไม่ดี รวมทั้งการพูดโกหก พูดลามก และพูดหยาบคาย เราก็จะถอดและทิ้งลักษณะนิสัยเก่าได้ง่ายขึ้น
15. การ “ตรึง” ลักษณะนิสัยเก่าหมายถึงอะไร?
15 ตั้งใจทำให้ได้และลงมือทำทันที เปาโลใช้ภาพเปรียบเทียบที่ทำให้เราเข้าใจว่าสำคัญมากที่เราต้องเปลี่ยนตัวเอง เปาโลบอกว่าเราต้อง “ตรึง” ลักษณะนิสัยเก่าของเรา (รม. 6:6) นี่หมายความว่าเราต้องเลียนแบบตัวอย่างของพระเยซู ท่านเต็มใจถูกตรึงและตายเพื่อทำให้พระยะโฮวาพอใจ เหมือนกันถ้าเราอยากทำให้พระยะโฮวาพอใจ เราก็ต้องเปลี่ยนตัวเองและทำให้ความคิดที่ไม่ดีรวมทั้งนิสัยที่ไม่ดีของเราตายจากเราไป เราต้องทำแบบนี้ เราถึงจะมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่สะอาดและมีความหวังที่จะได้ชีวิตตลอดไป (ยน. 17:3; 1 ปต. 3:21) เราต้องจำไว้ว่ายังไงพระยะโฮวาก็จะไม่เปลี่ยนมาตรฐานของพระองค์เพื่อให้เข้ากับเรา เราเองต้องเปลี่ยนให้ชีวิตของเราเป็นไปตามมาตรฐานของพระองค์—อสย. 1:16-18; 55:9
16. ทำไมคุณต้องพยายามสู้กับจุดอ่อนของคุณต่อ ๆ ไป?
16 สู้กับจุดอ่อนของคุณต่อ ๆ ไป หลังจากที่คุณรับบัพติศมา คุณก็ยังต้องสู้กับจุดอ่อนของคุณต่อ ๆ ไป ให้เรามาดูตัวอย่างของมารีเซียว เขาเป็นเกย์และใช้ชีวิตแบบรักร่วมเพศตั้งแต่อายุยังน้อย ต่อมาเขาก็เจอกับพยานพระยะโฮวาและได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิล เขาพยายามเปลี่ยนตัวเอง ในที่สุดก็รับบัพติศมาในปี 2002 ถึงมารีเซียวจะรับใช้พระยะโฮวามาหลายปีแล้ว แต่เขาก็บอกว่า “ผมยอมรับว่าบางครั้งผมยังต้องต่อสู้กับความปรารถนาที่ไม่เหมาะสม” ถึงอย่างนั้นมารีเซียวก็ไม่ท้อ เขาบอกต่อว่า “ผมมีกำลังใจที่รู้ว่าถ้าผมไม่ทำตามความปรารถนาผิด ๆ เช่นนั้น ผมจะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย” *
17. ประสบการณ์ของนาบิฮาให้กำลังใจคุณยังไงบ้าง?
17 อธิษฐานขอให้พระยะโฮวาช่วยและพึ่งพลังของพระองค์ไม่ใช่ตัวเอง (กท. 5:22; ฟป. 4:6) การ “ทิ้งลักษณะนิสัยเก่า” และไม่กลับไปทำเหมือนเดิมต้องใช้ความพยายามมาก ให้เรามาดูตัวอย่างของนาบิฮา พ่อทิ้งเธอไปตั้งแต่อายุ 6 ขวบ เธอเล่าว่า “ฉันตกใจและเสียใจมาก” พอเธอโตขึ้นเป็นวัยรุ่น เธอก็ก้าวร้าวและโมโหร้าย ต่อมาเธอค้ายาเสพติดและถูกจับ เธอต้องอยู่ในคุกหลายปี หลังจากนั้นมีพยานพระยะโฮวามาเยี่ยมที่คุก เธอเลยเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิล นาบิฮาเปลี่ยนแปลงตัวเองเยอะมาก เธอบอกว่า “นิสัยไม่ดีบางอย่างของฉันสามารถเลิกได้ง่าย ๆ แต่การเลิกบุหรี่เป็นเรื่องยากจริง ๆ” นาบิฮาต้องพยายามมากกว่า 1 ปีถึงจะเลิกได้ อะไรช่วยให้เธอทำสำเร็จ? เธอบอกว่า “สิ่งสำคัญที่สุดที่ช่วยให้ฉันเลิกบุหรี่ได้คือการอธิษฐานถึงพระยะโฮวาเสมอ” ตอนนี้เธออยากบอกคนอื่นว่า “ฉันเชื่อว่าถ้าฉันสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยได้ ใคร ๆ ก็ทำได้เช่นกัน!” *
คุณก็มีคุณสมบัติจะรับบัพติศมาได้
18. อย่างที่บอกใน 1 โครินธ์ 6:9-11 ผู้รับใช้ของพระเจ้าหลายคนทำอะไรได้?
18 คริสเตียนรุ่นแรกบางคนที่พระยะโฮวาเลือกให้ไปปกครองกับพระเยซูก็เคยมีนิสัยไม่ดีหลายอย่างด้วยเหมือนกัน เช่น หลายคนเคยเล่นชู้ รักร่วมเพศ และขโมย แต่พอพวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากพลังบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา พวกเขาก็เปลี่ยนตัวเองได้ (อ่าน 1 โครินธ์ 6:9-11) ในทุกวันนี้ก็เหมือนกัน คัมภีร์ไบเบิลช่วยให้คนเป็นล้าน ๆ เปลี่ยนตัวเอง แม้แต่คนที่เคยทำสิ่งที่เลวร้ายมากด้วย ประสบการณ์ของพวกเขาจะช่วยให้คุณมั่นใจว่า คุณเองก็เปลี่ยนตัวเอง เอาชนะนิสัยที่ไม่ดี แล้วมีคุณสมบัติจะรับบัพติศมาได้เหมือนกัน *
19. เราจะคุยอะไรกันในบทความหน้า?
19 คนที่อยากจะรับบัพติศมาต้อง “ทิ้งลักษณะนิสัยเก่า” แต่แค่นั้นยังไม่พอ พวกเขาต้อง “ปลูกฝังลักษณะนิสัยใหม่” ด้วย ในบทความหน้า เราจะมาดูว่าเราจะทำแบบนั้นได้ยังไงและคนอื่นจะช่วยเราได้ยังไงบ้าง
เพลง 41 ขอโปรดฟังคำอธิษฐานของฉัน
^ วรรค 5 ถ้าเราอยากจะรับบัพติศมา เราต้องทิ้งนิสัยต่าง ๆ ที่ไม่ดี บทความนี้จะช่วยให้รู้ว่า “ลักษณะนิสัยเก่า” คืออะไร และทำไมต้อง “ทิ้งลักษณะนิสัยเก่า” เหล่านั้น แล้วเราจะทำแบบนั้นได้ยังไง บทความถัดไปจะมาดูกันว่าเราจะปลูกฝังลักษณะนิสัยใหม่ต่อไปได้ยังไงแม้จะรับบัพติศมาแล้ว
^ วรรค 3 อธิบายคำศัพท์ คำว่า “ทิ้งลักษณะนิสัยเก่า” แปลตรงตัวว่า “ถอดลักษณะนิสัยเก่า” เมื่อก่อนเราเคยคิดและชอบทำสิ่งที่พระยะโฮวาไม่ชอบ แต่เมื่อเราทิ้งลักษณะนิสัยเก่า เราจะไม่ทำสิ่งเหล่านั้นอีกต่อไป และเราต้องทำให้ได้ก่อนจะรับบัพติศมา—อฟ. 4:22
^ วรรค 10 ดูประสบการณ์ของอีลีในบทความ “คัมภีร์ไบเบิลเปลี่ยนชีวิตคน ‘ผมต้องกลับไปหาพระยะโฮวา’” ในหอสังเกตการณ์ 1 เมษายน 2012
^ วรรค 16 ดูประสบการณ์ของมารีเซียวในบทความ “คัมภีร์ไบเบิลเปลี่ยนชีวิตคน ‘พวกเขาดีกับผมมาก’” ในหอสังเกตการณ์ 1 พฤษภาคม 2012
^ วรรค 17 ดูประสบการณ์ของนาบิฮาในบทความ “คัมภีร์ไบเบิลเปลี่ยนชีวิตคน ‘ฉันเป็นเด็กวัยรุ่นที่ก้าวร้าวและโมโหร้าย’” ในหอสังเกตการณ์ 1 ตุลาคม 2012
^ วรรค 18 ดูกรอบ “ คัมภีร์ไบเบิลเปลี่ยนชีวิตคน”
^ วรรค 64 คำอธิบายภาพ การ “ทิ้งลักษณะนิสัยเก่า” เหมือนกับการถอดเสื้อเก่า