บทความศึกษา 48
“มองตรงไป” ที่อนาคต
“ให้ตาของลูกมองตรงไป และจ้องมองสิ่งที่อยู่ข้างหน้า”—สภษ. 4:25
เพลง 77 แสงสว่างในโลกมืด
ใจความสำคัญ *
1-2. เราจะทำตามคำแนะนำที่สุภาษิต 4:25 ได้อย่างไร? ขอยกตัวอย่าง
ลองคิดถึงสถานการณ์ต่อไปนี้ พี่น้องหญิงคนหนึ่งที่อายุมากแล้วคิดถึงช่วงเวลาดี ๆ ตอนที่เธอยังเป็นสาว ถึงตอนนี้อะไร ๆ จะลำบากขึ้นแต่เธอก็ยังทำสุดความสามารถเพื่อพระยะโฮวา ทุกวันเธอคิดภาพของตัวเองตอนที่ได้อยู่ในโลกใหม่กับครอบครัวและเพื่อน ๆ (1 คร. 15:58) พี่น้องหญิงอีกคนหนึ่งรู้สึกเจ็บที่เพื่อนในประชาคมทำไม่ดีกับเธอ แต่เธอเลือกที่จะไม่คิดถึงเรื่องนั้นอีก (คส. 3:13) ส่วนพี่น้องชายอีกคนรู้ดีว่าเขาเคยทำผิดอะไรมา แต่เขาเลือกที่จะไม่คิดถึงเรื่องนั้น และพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาในตอนนี้—สด. 51:10
2 ทั้ง 3 คนนี้มีอะไรที่เหมือนกัน? ทุกคนจำเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตได้ แต่พวกเขาเลือกที่จะไม่จมอยู่กับมัน พวกเขา “มองตรงไป” ที่อนาคต—อ่านสุภาษิต 4:25
3. ทำไมเราถึงต้อง “มองตรงไป” ที่อนาคต?
3 ทำไมถึงสำคัญที่เราต้อง “มองตรงไป” ที่อนาคต? เพราะว่าถ้าเรามัวแต่มองไปข้างหลัง เราก็คงเดินไม่ตรงทาง เหมือนกันถ้าเรามัวแต่คิดถึงอดีต เราก็จะรับใช้พระยะโฮวาเต็มที่ไม่ได้—ลก. 9:62
4. เราจะคุยอะไรกันในบทความนี้?
4 ในบทความนี้เราจะคุยกันเกี่ยวกับ 3 อย่างที่เราต้องระวังเพื่อจะไม่จมอยู่กับอดีตคือ (1) คิดถึงแต่วันเวลาเก่า ๆ (2) รู้สึกโกรธไม่หาย และ (3) รู้สึกผิดมากเกินไป เราจะดูว่าหลักการในคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยเราอย่างไรให้ไม่ยึดติดกับ “สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ข้างหลัง” แต่ “โน้มตัวไปหาสิ่งที่อยู่ข้างหน้า”—ฟป. 3:13
คิดถึงแต่วันเวลาเก่า ๆ
5. ปัญญาจารย์ 7:10 เตือนเราไม่ให้ทำอะไร?
5 อ่านปัญญาจารย์ 7:10 ขอสังเกตว่าข้อนี้ไม่ได้บอกว่าผิดที่เราจะคิดว่า “เมื่อก่อนดี” เพราะความทรงจำดี ๆ เป็นของขวัญที่มาจากพระยะโฮวา แต่ข้อนี้บอกว่า “อย่าถามว่า ‘ทำไมเมื่อก่อนดีกว่าเดี๋ยวนี้?’” ดังนั้นเราต้องระวังที่จะไม่เปรียบเทียบวันเวลาเก่า ๆ ของเรากับชีวิตในปัจจุบัน แล้วก็คิดว่าทำไมชีวิตเราถึงแย่ขนาดนี้ “เพราะถามอย่างนี้ไม่ฉลาดเลย”
6. ทำไมถึงไม่ฉลาดที่จะมัวแต่คิดว่าชีวิตเมื่อก่อนดีกว่าเดี๋ยวนี้?
6 ทำไมถึงไม่ฉลาดที่จะมัวแต่คิดว่าชีวิตเมื่อก่อนดีกว่าเดี๋ยวนี้? เพราะนั่นอาจทำให้เราคิดถึงแต่เรื่องดี ๆ ในชีวิต จนลืมไปว่าตอนนั้นก็มีเรื่องไม่ดีเหมือนกัน ให้เรามาดูตัวอย่างของชาวอิสราเอลด้วยกัน พวกเขาเพิ่งออกมาจากอียิปต์แค่แป๊บเดียวก็ลืมไปแล้วว่าชีวิตตอนนั้นลำบากแค่ไหน พวกเขานึกถึงแต่อาหารดี ๆ ที่พวกเขาชอบ พวกเขาบอกว่า “เราคิดถึงปลาในอียิปต์ที่มีให้กินเหลือเฟือไม่ต้องไปหาซื้อ คิดถึงแตงกวา แตงโม ต้นกระเทียม หัวหอม คิดถึงหัวกระเทียมจะตายอยู่แล้ว!” (กดว. 11:5) แต่จริงไหมที่พวกเขา “ไม่ต้องไปหาซื้อ” หรือได้อาหารพวกนั้นมาโดยไม่ต้องเสียอะไร? จริง ๆ แล้วพวกเขาต้องแลกมันมาด้วยความเจ็บปวด พวกเขาเป็นทาสที่ถูกใช้งานและถูกกดขี่อย่างหนัก (อพย. 1:13, 14; 3:6-9) พวกเขาลืมไปแล้วว่าต้องทนกับอะไรมาบ้าง พวกเขาเอาแต่คิดถึงวันเวลาเก่า ๆ แทนที่จะคิดถึงสิ่งดี ๆ ที่พระยะโฮวาเพิ่งทำให้พวกเขา พระยะโฮวาไม่พอใจมากที่พวกเขาคิดแบบนี้—กดว. 11:10
7. อะไรช่วยให้พี่น้องหญิงคนหนึ่งไม่เอาแต่คิดถึงวันเวลาเก่า ๆ?
7 อะไรจะช่วยให้เราไม่เอาแต่คิดถึงวันเวลาเก่า ๆ? ให้เรามาดูตัวอย่างของพี่น้องหญิงคนหนึ่ง เธอเริ่มรับใช้ที่เบเธลในบรุกลินปี 1945 หลังจากนั้นเธอก็แต่งงานกับพี่น้องที่ทำงานที่เบเธลเหมือนกัน และพวกเขาก็รับใช้ด้วยกันที่เบเธลหลายปี แต่พอมาถึง
ปี 1976 สามีของเธอก็ล้มป่วย เธอบอกว่าตอนที่สามีของเธอรู้ว่าเขาจะอยู่ได้อีกไม่นาน เขาก็ให้คำแนะนำที่ช่วยให้เธอใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่มีเขา เขาบอกเธอว่า “ในชีวิตสมรส เรามีความสุข หลายคนไม่เคยประสบแบบนี้” และเขาก็บอกอีกว่า “อย่าจมอยู่กับอดีตแม้ว่าความทรงจำของคุณจะยังคงมีอยู่ กาลเวลาจะช่วยเยียวยา อย่ารู้สึกขมขื่นและเวทนาตัวเอง จงชื่นใจยินดีที่คุณมีความสุขสนุกสนานและพระพรนานาประการ . . . ความทรงจำคือของประทานจากพระเจ้า” คำแนะนำนี้ดีมากจริง ๆ ใช่ไหม?8. การไม่เอาแต่คิดถึงวันเวลาเก่า ๆ ช่วยพี่น้องหญิงคนนั้นอย่างไร?
8 พี่น้องหญิงคนนี้ทำตามคำแนะนำที่สามีของเธอให้ เธอรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์จนเสียชีวิตตอนอายุ 92 ปี ไม่กี่ปีก่อนที่เธอจะตาย เธอบอกว่า “เมื่อมองย้อนหลังไปนานกว่า 63 ปีที่ได้รับใช้พระยะโฮวาเต็มเวลา ฉันสามารถกล่าวได้ว่าชีวิตของฉันเป็นชีวิตที่น่าพอใจอย่างแท้จริง” อะไรทำให้เธอพูดแบบนั้นได้? เธอบอกว่า “สิ่งที่ทำให้ชีวิตน่าพอใจจริง ๆ คือภราดรภาพอันแสนวิเศษและความหวังจะดำรงชีวิตร่วมกับพี่น้องชายหญิงของเราบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน รับใช้พระยะโฮวาพระผู้สร้างองค์ใหญ่ยิ่ง พระเจ้าเที่ยงแท้พระองค์เดียวตลอดชั่วกาลนาน” * เธอเป็นตัวอย่างที่ดีจริง ๆ ของคนที่ “มองตรงไป” ที่อนาคต
รู้สึกโกรธไม่หาย
9. จากเลวีนิติ 19:18 อะไรอาจทำให้เรารู้สึกยากเป็นพิเศษที่จะให้อภัย?
9 อ่านเลวีนิติ 19:18 ถ้าคนที่ทำให้เราเสียใจเป็นพี่น้องคริสเตียน เพื่อนสนิท หรือญาติของเรา เราก็อาจรู้สึกยากเป็นพิเศษที่จะให้อภัยเขา ตัวอย่างเช่น พี่น้องคนหนึ่งกล่าวหาพี่น้องอีกคนว่าขโมยเงินของเธอไป แต่เธอมารู้ทีหลังว่าเธอเข้าใจผิด เธอก็เลยไป ขอโทษ แต่พี่น้องคนนั้นก็ยังโกรธไม่หาย และยังเอาแต่คิดถึงเรื่องนั้นอยู่ คุณเคยรู้สึกแบบนั้นไหม? ถึงเราจะไม่เคยเจอเรื่องแบบพี่น้องหญิงคนนั้น แต่พวกเราหลายคนอาจเคยรู้สึกว่าคงไม่มีทางที่จะให้อภัยพี่น้องที่ทำให้เรารู้สึกเจ็บได้แน่ ๆ
10. อะไรจะช่วยเราถ้าเรายังไม่หายโกรธ?
10 อะไรจะช่วยเราถ้าเรายังไม่หายโกรธคนอื่น? อย่างหนึ่งที่จะช่วยเราก็คือ จำไว้ว่าพระยะโฮวาเห็นทุกอย่าง พระองค์รู้ว่าเราต้องเจอกับอะไรบ้าง รวมถึงสิ่งที่คนอื่นทำไม่ดีกับเราด้วย (ฮบ. 4:13) ตอนที่เรารู้สึกเจ็บ พระองค์ก็รู้สึกเจ็บเหมือนกัน (อสย. 63:9) และพระองค์สัญญาว่าจะลบล้างความเจ็บปวดทุกอย่างที่เกิดจากความไม่ยุติธรรมที่เราเจอ—วว. 21:3, 4
11. ถ้าเราให้อภัยและไม่จำเรื่องนั้นอีก เราจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง?
11 อีกอย่างหนึ่งก็คือ เราต้องจำไว้ว่าถ้าเราให้อภัยคนอื่นและไม่จำเรื่องนั้นอีก เราเองก็จะได้ประโยชน์ นั่นเป็นสิ่งที่พี่น้องหญิงคนนั้นได้มาเข้าใจ ในที่สุดเธอก็ให้อภัยพี่น้องที่มากล่าวหาเธอและไม่จำเรื่องนั้นอีก เธอเข้าใจแล้วว่า ถ้าเราให้อภัยคนอื่น พระยะโฮวาก็จะให้อภัยเรา (มธ. 6:14) เธอรู้ว่าสิ่งที่พี่น้องคนนั้นทำมันผิด แต่เธอก็ยังเลือกที่จะให้อภัยและไม่จำเรื่องนั้นอีก เธอมีความสุขมากขึ้นและสนใจที่การรับใช้พระยะโฮวาได้จริง ๆ
รู้สึกผิดมากเกินไป
12. เราเรียนอะไรได้จาก 1 ยอห์น 3:19, 20?
12 อ่าน 1 ยอห์น 3:19, 20 ไม่แปลกที่เราจะรู้สึกผิด ตัวอย่างเช่น บางคนรู้สึกผิดเพราะสิ่งที่เขาเคยทำก่อนที่จะมาเรียนความจริง ส่วนบางคนก็รู้สึกผิดเพราะเขาทำผิดพลาดหลังจากรับบัพติศมาแล้ว (รม. 3:23) เราคงอยากทำดีอยู่แล้ว แต่ “เราทุกคนผิดพลาดกันอยู่บ่อย ๆ” (ยก. 3:2; รม. 7:21-23) เราอาจจะไม่ชอบความรู้สึกแบบนี้ แต่จริง ๆ แล้วการรู้สึกผิดก็มีประโยชน์กับเราด้วย เพราะมันจะช่วยให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นและพยายามไม่ทำผิดซ้ำอีก—ฮบ. 12:12, 13
13. ทำไมเราไม่ควรรู้สึกผิดมากเกินไป?
13 แต่ก็เป็นไปได้ที่เราจะรู้สึกผิดมากเกินไป เราอาจจะยังรู้สึกผิดอยู่ทั้ง ๆ ที่เรากลับใจแล้วและพระยะโฮวาก็ทำให้เห็นแล้วว่าพระองค์ให้อภัยเราแล้ว (สด. 31:10; 38:3, 4) ความรู้สึกแบบนี้อันตรายมาก ทำไม? ให้เรามาดูตัวอย่างของพี่น้องหญิงคนหนึ่งที่รู้สึกผิดเพราะสิ่งที่เธอเคยทำมาก่อน เธอบอกว่า “ดิฉันคิดว่าคงไม่จำเป็นต้องทุ่มเทตัวเองให้กับงานรับใช้พระยะโฮวา เพราะถึงอย่างไรก็อาจจะสายไปเสียแล้วสำหรับดิฉัน” พวกเราหลายคนอาจจะเคยรู้สึกเหมือนกับพี่น้องหญิงคนนี้ แต่เราเห็นแล้วใช่ไหมว่าเราต้องระวังที่จะไม่รู้สึกผิดมากเกินไป ลองคิดดูสิว่าซาตานจะมีความสุขมากแค่ไหนถ้าเห็นเราหมดหวังในตัวเอง ทั้ง ๆ ที่พระยะโฮวายังไม่หมดหวังในตัวเรา—เทียบกับ 2 โครินธ์ 2:5-7, 11
14. เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าพระยะโฮวายังไม่หมดหวังในตัวเรา?
14 เราอาจจะยังสงสัยว่า ‘แต่ฉันจะมั่นใจได้ยังไงว่าพระยะโฮวายังไม่หมดหวังในตัวฉัน?’ จริง ๆ แล้วถ้าคุณถามแบบนี้ก็แสดงว่าพระยะโฮวายังไม่หมดหวังในตัวคุณ ทำไมถึงบอกอย่างนั้น? หลายสิบปีที่แล้วหอสังเกตการณ์ บอกว่า “เรา [อาจ] พบว่าตนเองล้มพลาดหลายครั้ง กลับไปสู่นิสัยไม่ดีบางอย่างซึ่งเคยฝัง *
รากลึกในแบบชีวิตเดิมยิ่งกว่าที่เราเคยคิด . . . อย่าหมดหวังเลย! อย่าลงความเห็นว่า คุณได้กระทำการผิดบาปชนิดที่จะอภัยโทษให้ไม่ได้ นั่นเป็นวิธีที่ซาตานอยากให้คุณคิด การที่คุณรู้สึกเศร้าใจและไม่พอใจกับตัวเองเช่นนั้นก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าคุณไม่ได้เตลิดไกลเกินไป อย่าเลิกราที่จะหันมาหาพระเจ้าด้วยใจถ่อมและด้วยใจเร่าร้อน กราบทูลขอการอภัยและการชำระให้สะอาดและความช่วยเหลือจากพระองค์ จงเข้าหาพระองค์เยี่ยงบุตรเข้าหาบิดาเพื่อขอความช่วยเหลือขณะเมื่อตกในความยากลำบาก ไม่ว่าจะขอกี่ครั้งกี่หนเพราะข้ออ่อนแออย่างเดียวกันนั้นก็ตาม แล้วพระยะโฮวาจะทรงช่วยคุณเพราะพระองค์ประกอบไปด้วยพระกรุณาคุณอันไม่พึงได้รับ”15-16. บางคนรู้สึกอย่างไรตอนที่ได้มาเข้าใจจริง ๆ ว่าพระยะโฮวาไม่หมดหวังในตัวเขา?
15 ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาหลายคนได้รับกำลังใจตอนที่ได้มาเข้าใจจริง ๆ ว่าพระยะโฮวาไม่หมดหวังในตัวพวกเขา ตัวอย่างเช่น เมื่อหลายปีก่อน มีพี่น้องชายคนหนึ่งประทับใจประสบการณ์ของพี่น้องหญิงที่อยู่ในบทความชุด “คัมภีร์ไบเบิลเปลี่ยนชีวิตคน” ตอนแรกสิ่งต่าง ๆ ที่พี่น้องหญิงคนนี้เจอมาในชีวิตทำให้เธอรู้สึกว่าพระยะโฮวาไม่มีทางที่จะรักเธอได้ หลังจากรับบัพติศมามาหลายปีแล้วเธอก็ยังต้องสู้ความรู้สึกนี้อยู่ แต่พอเธอได้คิดใคร่ครวญเกี่ยวกับค่าไถ่ นั่นก็ช่วยให้เธอเชื่อว่าพระยะโฮวารักเธอจริง ๆ *
16 ประสบการณ์นี้ช่วยพี่น้องชายคนนี้อย่างไร? เขาเขียนว่า “ตอนเป็นวัยรุ่น ผมเคยติดสื่อลามก ไม่นานมานี้ ผมกลับไปดูสื่อลามกอีก ผมไปพบคริสเตียนผู้ปกครองเพื่อขอความช่วยเหลือ และผมก็พยายามจนเลิกดูสื่อลามกได้ ผู้ปกครองช่วยให้ผมมั่นใจว่าพระเจ้าทรงรักและเมตตาผมเสมอ แต่บางครั้งผมก็ยังรู้สึกไร้ค่าเพราะคิดว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่พระยะโฮวาจะรักคนอย่างผม แต่ประสบการณ์ของ [พี่น้องหญิงคนนี้] ช่วยผมมาก ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่าเมื่อไรก็ตามที่ผมคิดว่าพระเจ้าไม่มีทาง
ให้อภัยผม ก็เหมือนกับผมกำลังพูดว่าค่าไถ่ของพระบุตรของพระองค์ยังไม่มีคุณค่าพอที่จะปิดคลุมบาปของผม ผมตัดประสบการณ์นี้เก็บไว้ใกล้ตัวเสมอเพื่อจะอ่านและใคร่ครวญในยามที่ผมรู้สึกไร้ค่า”17. อะไรทำให้อัครสาวกเปาโลไม่รู้สึกผิดมากเกินไป?
17 ประสบการณ์แบบนี้ทำให้เราคิดถึงอัครสาวกเปาโล ก่อนที่เขาจะมาเป็นคริสเตียน เขาเคยทำอะไรหลายอย่างที่เลวร้ายมาก เปาโลยังไม่ลืมว่าเขาทำอะไรมาบ้าง แต่เขาก็ไม่ได้จมอยู่กับเรื่องนั้น (1 ทธ. 1:12-15) เขามองว่าค่าไถ่เป็นของขวัญที่พระเจ้าให้กับเขา (กท. 2:20) เพราะอย่างนี้เปาโลก็เลยไม่รู้สึกผิดมากเกินไป แต่เขาสนใจที่การทุ่มเทตัวเพื่อรับใช้พระยะโฮวาให้มากที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้
ใช้ชีวิตวันนี้เพื่อชีวิตในวันข้างหน้า
18. เราได้เรียนอะไรจากบทความนี้?
18 ในบทความนี้เราได้เรียนว่า (1) ความทรงจำดี ๆ เป็นของขวัญจากพระยะโฮวา แต่ไม่ว่าเมื่อก่อนจะดีแค่ไหน ชีวิตของเราในโลกใหม่จะดีกว่าแน่นอน (2) คนอื่นอาจทำให้เราเจ็บ แต่ถ้าเราเลือกที่จะให้อภัย เราก็จะสนใจที่งานรับใช้พระยะโฮวาได้อย่างเต็มที่ (3) ความรู้สึกผิดมากเกินไปอาจทำให้เรารับใช้พระยะโฮวาอย่างไม่มีความสุข ฉะนั้นเหมือนกับเปาโล เราต้องเชื่อว่าพระยะโฮวาให้อภัยเราแล้วจริง ๆ
19. เรารู้ได้อย่างไรว่าในโลกใหม่เราจะไม่นึกถึงสิ่งที่เคยทำให้เราเสียใจ?
19 เรามีโอกาสที่จะได้อยู่ในโลกใหม่และมีชีวิตตลอดไป และตอนนั้นเราจะไม่นึกถึงสิ่งที่เคยทำให้เราเสียใจ คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงตอนนั้นว่า “จะไม่มีใครจดจำ. . . . สิ่งที่ผ่านมาอีกเลย” (อสย. 65:17) ลองคิดดูสิ ตอนนี้ที่เรากำลังรับใช้พระยะโฮวาอยู่ เราก็แก่ลงเรื่อย ๆ แต่ในโลกใหม่เราจะเป็นหนุ่มเป็นสาวอีกครั้ง (โยบ 33:25) ดังนั้นให้เราตั้งใจที่จะไม่จมอยู่กับอดีต แต่ให้เรามองไปที่อนาคต และทำทุกอย่างที่เราทำได้ในตอนนี้เพื่อชีวิตในวันข้างหน้า
เพลง 142 ยึดมั่นกับความหวัง
^ วรรค 5 เป็นเรื่องดีที่เราจะคิดถึงอดีต แต่ถ้าเราคิดถึงอดีตมากเกินไป มันก็อาจทำให้เราไม่พยายามทำสุดความสามารถเพื่อพระยะโฮวาในตอนนี้และไม่คิดถึงความหวังของเราในอนาคต บทความนี้จะพูดถึง 3 อย่างที่เราต้องระวังเพื่อที่เราจะไม่จมอยู่กับอดีต แล้วเราจะมาดูหลักการในคัมภีร์ไบเบิลกับประสบการณ์ของพี่น้องในปัจจุบันที่จะช่วยเราได้
^ วรรค 14 ดูหอสังเกตการณ์ 1 ธันวาคม 1995 หน้า 11
^ วรรค 58 คำอธิบายภาพ ถ้าเราจมอยู่กับอดีตโดยคิดถึงแต่วันเวลาเก่า ๆ รู้สึกโกรธไม่หาย หรือรู้สึกผิดมากเกินไป ก็เหมือนเรากำลังลากของหนักซึ่งทำให้ยากที่เราจะเดินไปข้างหน้าบนทางที่นำไปถึงชีวิต
^ วรรค 65 คำอธิบายภาพ พอเราทิ้งความรู้สึกเหล่านั้นไป เราก็จะสบายใจ มีความสุข และมีแรงขึ้นมาอีกครั้ง แล้วเราก็จะมองไปข้างหน้าได้