ฝากความกังวลทั้งหมดของคุณไว้กับพระยะโฮวา
“ฝากความกังวลทั้งหมดไว้กับ [พระยะโฮวา] เพราะพระองค์ห่วงใยคุณ”—1 ปต. 5:7
1, 2. (ก) ทำไมเราต้องเจอกับความกังวล? (ดูภาพแรก) (ข) เราจะเรียนอะไรในบทความนี้?
ในทุกวันนี้ ซาตานเป็น “เหมือนสิงโตคำรามที่กำลังเดินไปเดินมาเสาะหาคนที่มันจะขย้ำกิน” (1 ปต. 5:8; วว. 12:17) ชีวิตเราเลยมีแต่เรื่องเครียด ๆ และแม้แต่ผู้รับใช้พระเจ้าก็รู้สึกกังวลด้วย ที่จริง มีบางเวลาที่ผู้รับใช้พระเจ้าในอดีตต้องเจอกับเรื่องที่ทำให้พวกเขากังวล ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าบางครั้งกษัตริย์ดาวิดรู้สึกกังวล (สด. 13:2) และอัครสาวกเปาโลก็มี “ความกังวลเกี่ยวกับทุก ๆ ประชาคม” (2 คร. 11:28) เราน่าจะทำอะไรถ้าเรารู้สึกกังวลและเครียดมาก?
2 พระเจ้าผู้เป็นพ่อในสวรรค์ที่รักเราได้ช่วยผู้รับใช้ของพระองค์ในอดีตให้คลายความกังวล และพระองค์ก็อยากช่วยเราในทุกวันนี้ด้วย คัมภีร์ไบเบิล กระตุ้นเราว่า “ฝากความกังวลทั้งหมดไว้กับพระองค์ เพราะพระองค์ห่วงใยคุณ” (1 ปต. 5:7) เราจะฝากความกังวลไว้กับพระเจ้าได้อย่างไร? ขอเราดู 4 วิธีที่เราทำได้ คือ (1) อธิษฐาน (2) อ่านคัมภีร์ไบเบิลและคิดใคร่ครวญ (3) ให้พลังบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาช่วยคุณ และ (4) ระบายความรู้สึกกับคนที่คุณไว้ใจ ตอนที่เราเรียน 4 วิธีนี้ลองพยายามคิดดูว่าเราสามารถทำอะไรได้มากขึ้นไหมเพื่อลดความกังวล
“มอบภาระของคุณไว้กับพระยะโฮวาเถอะ”
3. คุณจะ “มอบภาระของคุณไว้กับพระยะโฮวา” ได้อย่างไร?
3 วิธีแรกที่เราสามารถฝากความกังวลของเราไว้กับพระยะโฮวาก็คือการอธิษฐานจากใจ ตอนที่คุณกังวล พ่อในสวรรค์ที่รักคุณอยากให้คุณระบายความรู้สึกลึก ๆ กับพระองค์ ดาวิดผู้เขียนหนังสือสดุดีขอพระยะโฮวาว่า “ได้โปรดเถอะพระเจ้า โปรดฟังคำอธิษฐานของผม” ดาวิดยังบอกในสดุดีบทเดียวกันว่า “มอบภาระของคุณไว้กับพระยะโฮวาเถอะ แล้วพระองค์จะช่วยคุณ” (สด. 55:1, 22) หลังจากที่คุณทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อแก้ปัญหาแล้ว สิ่งที่ช่วยเราได้มากกว่าก็คือการอธิษฐานจากใจถึงพระยะโฮวาไม่ใช่การเอาแต่คิดกังวล แต่การอธิษฐานช่วยเราได้อย่างไรถ้าเรารู้สึกกังวลมาก?—สด. 94:18, 19
4. ถ้าเรารู้สึกกังวล ทำไมสำคัญที่เราจะอธิษฐาน?
4 อ่านฟีลิปปี 4:6, 7 เราควรอธิษฐานจากใจถึงพระยะโฮวาบ่อย ๆ แต่พระองค์จะตอบคำอธิษฐานของเราอย่างไร? พระเจ้าสามารถช่วยเราให้สงบใจ ไม่คิดและรู้สึกในแง่ลบ พระองค์จะช่วยให้เราไม่รู้สึกกังวลหรือกลัว ในใจลึก ๆ ของเราจะสงบอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน พี่น้องของเราหลายคนเคยได้รับความช่วยเหลือแบบนี้ และเราก็สามารถได้รับความช่วยเหลือด้วยเหมือนกัน “สันติสุขของพระเจ้า” สามารถช่วยคุณเอาชนะปัญหาทุกอย่างได้! พระยะโฮวาสัญญาว่า “ไม่ต้องกังวล เพราะเราเป็นพระเจ้าของเจ้า เราจะทำให้พวกเจ้าเข้มแข็ง และเราจะช่วยพวกเจ้า” คุณสามารถวางใจในคำสัญญาของพระองค์ได้อย่างเต็มที่—อสย. 41:10
ความสงบใจที่ได้รับจากคัมภีร์ไบเบิล
5. คัมภีร์ไบเบิลช่วยคุณอย่างไรให้มีความสงบใจ?
5 วิธีที่สองที่เราจะมีความสงบใจก็คือ การอ่านคัมภีร์ไบเบิลและคิดใคร่ครวญ ทำไมการทำอย่างนี้ถึงสำคัญ? ก็เพราะคัมภีร์ไบเบิลมาจากพระเจ้า ในคัมภีร์ไบเบิลมีคำแนะนำที่ฉลาดและใช้ได้จริงจากผู้ที่สร้างตัวเรา เมื่อไรก็ตามที่คุณรู้สึกกังวลขึ้นมา ให้คุณคิดถึงสิ่งที่อยู่ในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเป็นสติปัญญาของพระเจ้า และคิดว่าคุณจะเอาคำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิลไปใช้ให้ดีที่สุดได้อย่างไร การทำอย่างนี้จะช่วยให้คุณเข้มแข็ง คุณสามารถเอาชนะความกังวล ช่วยคุณให้คลายกังวล หรือถึงกับไม่ต้องกังวลเลย พระยะโฮวาบอกว่าการอ่านคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยเราให้ “กล้าหาญและเข้มแข็ง” และ ‘ไม่กลัว’—ยชว. 1:7-9
6. คำพูดของพระเยซูช่วยเราอย่างไร?
6 ในคัมภีร์ไบเบิลเราได้อ่านเกี่ยวกับวิธีที่พระเยซูพูดกับผู้คน พวกเขาชอบฟังที่พระเยซูสอนเพราะคำพูดของท่านให้กำลังใจและช่วยให้รู้สึกสดชื่นหายเหนื่อย โดยเฉพาะคนที่รู้สึกอ่อนแอและซึมเศร้า (อ่านมัทธิว 11:28-30) พระเยซูเป็นห่วงว่าคนอื่นรู้สึกอย่างไร (มก. 6:30-32) พระเยซูจะช่วยเราในทุกวันนี้เหมือนกับที่ท่าน เคยสัญญาว่าจะช่วยอัครสาวกที่เดินทางกับท่าน ถึงเราไม่ได้อยู่กับพระเยซูแต่เราก็มั่นใจได้ว่าท่านจะช่วยเรา ท่านจะรักและดูแลเราต่อ ๆ ไปในฐานะที่ท่านเป็นกษัตริย์ในสวรรค์ ดังนั้น ถ้าคุณรู้สึกกังวล คุณมั่นใจได้ว่าพระเยซูจะอยู่กับคุณและช่วยคุณในเวลาที่ ‘คุณต้องการความช่วยเหลือ’ คำพูดของพระเยซูให้ความหวังและกำลังใจกับเราซึ่งสามารถช่วยเราให้เอาชนะความกังวลได้—ฮบ. 2:17, 18; 4:16
คุณลักษณะที่เกิดจากพลังของพระเจ้า
7. พลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าช่วยเราอย่างไร?
7 วิธีที่สามที่จะช่วยให้เราคลายความกังวลก็คือ การขอพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า พระเยซูสัญญาว่าพระเจ้าผู้เป็นพ่อจะให้พลังบริสุทธิ์เมื่อเราขอ (ลก. 11:10-13) วิธีนี้จะช่วยเราได้อย่างไร? พลังบริสุทธิ์เป็นพลังของพระเจ้าผู้มีอำนาจสูงสุด พลังนี้ช่วยเราให้พัฒนาคุณลักษณะที่ดีแบบพระเจ้า (คส. 3:10) คัมภีร์ไบเบิลเรียกคุณลักษณะเหล่านี้ว่า “ผลที่เกิดจากพลังของพระเจ้า” (อ่านกาลาเทีย 5:22, 23) เมื่อเราพัฒนาคุณลักษณะที่ดีเหล่านี้ เราก็จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นมากขึ้น และนี่ช่วยเราหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่อาจทำให้เรารู้สึกกังวล ขอเรามาดูวิธีที่ผลจากพลังของพระเจ้าช่วยเรา
8-12. ผลที่เกิดจากพลังของพระเจ้าช่วยเราอย่างไร?
8 “ความรัก ความยินดี สันติสุข” ถ้าคุณปฏิบัติกับคนอื่นด้วยความนับถือ คุณก็จะมีเรื่องให้กังวลน้อยลง ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? ถ้าคุณรักคนอื่น รักเขาแบบพี่น้อง และให้เกียรติเขา คุณก็จะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่อาจทำให้คุณรู้สึกไม่ดีได้ เช่น รู้สึกโกรธ วุ่นวายใจ หรือเครียด และทำให้ง่ายขึ้นที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างสงบสุข—รม. 12:10
9 “ความอดทนอดกลั้น ความกรุณา ความดี” คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ให้กรุณาต่อกัน เห็นอกเห็นใจกัน ให้อภัยกันอย่างใจกว้าง” (อฟ. 4:32) ถ้าเราทำตามคำแนะนำนี้ เราก็จะอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างสงบสุข และเราจะไม่ต้องเจอกับเรื่องที่ทำให้เราต้องกังวล แถมยังช่วยเรารับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นเพราะความไม่สมบูรณ์ได้ง่ายขึ้น
10 “ความเชื่อ” ในทุกวันนี้ เรามักกังวลเกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทอง (สภษ. 18:11) เราจะไม่กังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างไร? เราต้องทำตามคำแนะนำของเปาโลที่บอกว่า “ให้พอใจในสิ่งที่มีอยู่” การมีความเชื่อที่เข้มแข็งในพระยะโฮวาจะช่วยเราวางใจว่าพระองค์รักเราและจะจัดเตรียมทุกสิ่งที่เราจำเป็นต้องมี พระองค์ได้สัญญาว่า “เราจะไม่มีวันทิ้งเจ้า เราจะไม่ทอดทิ้งเจ้าเลย” นี่เป็นเหตุผลที่เราพูดได้เหมือนเปาโลที่บอกว่า “พระยะโฮวาเป็นผู้ช่วยเหลือผม ผมจะไม่กลัวอะไร มนุษย์จะทำอะไรผมได้?”—ฮบ. 13:5, 6
11 “ความอ่อนโยน และการควบคุมตัวเอง” ลองคิดดูว่าคุณจะได้ประโยชน์อย่างไรถ้าคุณแสดงความอ่อนโยนและการควบคุมตัวเอง คุณลักษณะเหล่านี้จะช่วยคุณไม่ให้พูดหรือทำสิ่งที่อาจทำให้คุณรู้สึกกังวลในภายหลัง และยังช่วยคุณไม่ให้ ‘อาฆาตแค้น โกรธ โมโห ตวาด และพูดดูถูกเหยียดหยาม’ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับตัวคุณ—อฟ. 4:31
12 คุณต้องมีความถ่อมตัวเพื่อจะวางใจใน “พระเจ้าที่มีฤทธิ์อำนาจยิ่งใหญ่” และ “ฝากความกังวลทั้งหมดไว้กับ พระองค์” (1 ปต. 5:6, 7) ถ้าคุณถ่อมตัว พระยะโฮวาจะช่วยและดูแลคุณ เมื่อคุณยอมรับขีดจำกัดของตัวเองว่าอะไรที่คุณทำได้และอะไรที่คุณทำไม่ได้ คุณก็จะพึ่งพระยะโฮวาแทนที่จะพึ่งตัวเอง ซึ่งนี่แหละจะช่วยลดความกังวลลงได้—มคา. 6:8
“ไม่ต้องกังวล”
13. พระเยซูหมายความว่าอะไรตอนที่ท่านบอกว่า “ไม่ต้องกังวล”?
13 ที่มัทธิว 6:34 (อ่าน) มีคำแนะนำที่ฉลาดของพระเยซู ท่านบอกว่า “ไม่ต้องกังวล” คำแนะนำนี้อาจดูยากเกินกว่าที่เราจะทำได้ แต่พระเยซูกำลังหมายถึงอะไรตอนที่ท่านแนะนำแบบนี้? เรารู้แล้วว่าดาวิดกับเปาโลก็รู้สึกกังวลในบางครั้ง ดังนั้น พระเยซูไม่ได้หมายความว่าคนที่รับใช้พระเจ้าจะต้องไม่กังวลอะไรเลย แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระเยซูกำลังช่วยสาวกให้เข้าใจว่า การกังวลในเรื่องที่ไม่จำเป็นและการกังวลมากเกินไปไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร แต่ละวันมีปัญหาที่เราต้องรับมืออยู่แล้ว ดังนั้น คริสเตียนไม่ควรเพิ่มความกังวลโดยคิดเกี่ยวกับปัญหาในอดีตหรือปัญหาที่คิดว่าจะเกิดในอนาคต คำแนะนำของพระเยซูช่วยคุณอย่างไรให้ลดความกังวลหรือเครียดมากเกินไป?
14. คุณจะลดความกังวลโดยเลียนแบบดาวิดได้อย่างไร?
14 บางครั้งคนเราอาจกังวลเกี่ยวกับความผิดพลาดที่เคยทำในอดีต พวกเขาอาจรู้สึกผิดมากทั้ง ๆ ที่เรื่องนั้นผ่านมานานหลายปีแล้ว ครั้งหนึ่งกษัตริย์ดาวิดก็เคยรู้สึกเครียดมากเพราะความผิดที่เขาทำ เขายอมรับว่า “ผมทุกข์ใจจนต้องร้องครวญครางออกมา” (สด. 38:3, 4, 8, 18) แต่ดาวิดก็ทำสิ่งที่ฉลาด เขาวางใจว่าพระยะโฮวาจะเมตตาและให้อภัยเขา แล้วดาวิดก็มีความสุขที่ได้รู้ว่าพระเจ้ายกโทษให้เขา—อ่านสดุดี 32:1-3, 5
15. (ก) เราได้เรียนอะไรอีกจากตัวอย่างของดาวิด? (ข) เราทำอะไรได้เพื่อลดความกังวล? (ดูกรอบ “ วิธีลดความกังวลที่ได้ผล”)
15 ในบางครั้ง คุณอาจรู้สึกกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ ตัวอย่างเช่น ตอนที่ดาวิดเขียนสดุดีบท 55 เขากลัวจะถูกฆ่า (สด. 55:2-5) แต่ดาวิดก็ไม่ยอมให้ความกังวลมาทำลายความมั่นใจที่มีในพระยะโฮวา เขาขอให้พระยะโฮวาช่วยแก้ปัญหา แต่เขาก็รู้ว่าตัวเองต้องทำอะไรบางอย่างด้วยเหมือนกัน (2 ซม. 15:30-34) บทเรียนที่ได้จากดาวิดก็คือ แทนที่จะยอมให้ความกังวลมาทำให้คุณเครียด คุณน่าจะทำสิ่งที่คุณทำได้เพื่อแก้ปัญหาและวางใจว่าพระยะโฮวาจะดูแลคุณ
16. ความหมายของชื่อพระเจ้าช่วยคุณอย่างไรให้มีความเชื่อที่เข้มแข็ง?
16 บางครั้ง คริสเตียนก็อาจกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่คุณไม่ต้องไปเครียดเกี่ยวกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะอะไร? เพราะหลายครั้งสิ่งต่าง ๆ ก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เราคิด และเราต้องจำไว้ว่าไม่มีสถานการณ์ ไหนที่พระเจ้าควบคุมไม่ได้ ชื่อของพระองค์หมายความว่า “พระองค์ทำให้เป็น” (อพย. 3:14) ดังนั้น เราไม่ต้องกังวลเรื่องอนาคต เพราะชื่อของพระเจ้าแสดงให้เห็นว่าความประสงค์ทุกอย่างที่พระองค์อยากให้เกิดขึ้นกับมนุษย์จะเป็นจริงแน่นอน คุณมั่นใจได้ว่าพระเจ้าจะอวยพรผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ภักดีและช่วยทุกคนให้ไม่กังวลเกินไปเกี่ยวกับสิ่งที่ผ่านมาแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ และสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
คุยกับคนที่คุณไว้ใจ
17, 18. การพูดกับคนที่คุณไว้ใจช่วยคุณอย่างไรเมื่อรู้สึกกังวล?
17 วิธีที่สี่ที่ช่วยได้ถ้าคุณรู้สึกกังวลก็คือ ระบายความรู้สึกให้คนที่คุณไว้ใจฟัง บอกเขาว่าคุณรู้สึกอย่างไรจริง ๆ คนที่คุณไว้ใจอาจจะเป็นคู่สมรส เพื่อนสนิท หรือผู้ดูแลในประชาคม พวกเขาอาจช่วยคุณให้เข้าใจอะไร ๆ ดีขึ้น คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ความวิตกกังวลทำให้หนักใจ แต่คำพูดดี ๆ ทำให้มีกำลังใจ” (สภษ. 12:25) คัมภีร์ไบเบิลยังบอกอีกว่า “ถ้าไม่มีการปรึกษาหารือแผนการก็ล้มเหลว แต่ถ้ามีที่ปรึกษาหลายคนแผนการจะสำเร็จ”—สภษ. 15:22
18 การประชุมประชาคมก็ช่วยลดความกังวลได้ ที่หอประชุมแต่ละอาทิตย์คุณได้ใช้เวลาอยู่กับพี่น้อง พวกเขาเป็นห่วงเป็นใยคุณและอยากจะให้กำลังใจคุณ (ฮบ. 10:24, 25) การ “ให้กำลังใจกันและกัน” จะช่วยคุณให้เข้มแข็งและเอาชนะความกังวลได้ง่ายขึ้น—รม. 1:12
ถ้าคุณใกล้ชิดกับพระเจ้า คุณจะได้กำลังที่เข้มแข็งที่สุด
19. ทำไมคุณถึงมั่นใจว่าถ้าคุณใกล้ชิดกับพระเจ้าคุณจะเข้มแข็งขึ้น?
19 ผู้ดูแลคนหนึ่งในประเทศแคนาดาได้เรียนรู้ว่าเป็นเรื่องสำคัญขนาดไหนที่จะฝากความกังวลไว้กับพระยะโฮวา เขาสอนหนังสือและเป็นครูแนะแนวซึ่งเป็นงานที่เครียดมาก และเขายังเป็นโรควิตกกังวล อะไรช่วยเขาให้เข้มแข็ง? เขาพยายามทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อจะใกล้ชิดพระยะโฮวามากขึ้น การมีเพื่อนแท้ช่วยเขาในช่วงที่มีปัญหานี้ เขาพูดความรู้สึกจริง ๆ ของเขาให้ภรรยาฟัง และเพื่อนผู้ดูแลกับผู้ดูแลหมวดได้ช่วยเขาให้คิดว่าพระยะโฮวาคิดอย่างไรเกี่ยวกับปัญหาที่เขากำลังเจอ นอกจากนั้น เขายังไปหาหมอและเปลี่ยนแปลงตารางเวลาเพื่อจะมีเวลาพักผ่อนและออกกำลังกาย เมื่อเวลาผ่านไป เขาค่อย ๆ รู้วิธีควบคุมอารมณ์และรับมือกับปัญหา พอมีบางอย่างที่เขาควบคุมไม่ได้เขาก็พึ่งพระยะโฮวา
20. (ก) คุณจะฝากความกังวลไว้กับพระเจ้าได้อย่างไร? (ข) เราจะเรียนอะไรในบทความถัดไป?
20 ในบทความนี้ เราได้เรียนว่าเป็นเรื่องสำคัญขนาดไหนที่จะฝากความกังวลไว้กับพระยะโฮวาโดยการอธิษฐาน การอ่านคัมภีร์ไบเบิลและคิดใคร่ครวญ นอกจากนั้น เรายังได้รู้ว่าเราต้องให้พลังบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาช่วยเรา คุยกับคนที่เราไว้ใจ และเข้าร่วมประชุมคริสเตียน ในบทความถัดไป เราจะเรียนรู้วิธีที่พระยะโฮวาช่วยเราให้มีความหวังที่จะได้รับรางวัล—ฮบ. 11:6