บทความศึกษา 40
เพลง 30 พระยะโฮวาเป็นพ่อ เป็นพระเจ้า และเป็นเพื่อนของฉัน
พระยะโฮวา “รักษาคนที่ใจแตกสลาย”
“พระองค์รักษาคนที่ใจแตกสลายและพันแผลให้พวกเขา”—สด. 147:3
จุดสำคัญ
พระยะโฮวาห่วงใยคนที่มีบาดแผลทางจิตใจ บทความนี้จะช่วยให้เราเห็นว่าพระองค์จะช่วยเรารับมือกับความเศร้าเสียใจได้ยังไงและพระองค์จะช่วยเราให้กำลังใจคนอื่นยังไง
1. พระยะโฮวารู้สึกยังไงกับผู้รับใช้ของพระองค์?
พระยะโฮวาคอยสังเกตผู้รับใช้ของพระองค์ทุกคนที่อยู่บนโลก พระองค์เห็นทั้งตอนที่เรามีความสุขและตอนที่เราเจอความทุกข์ (สด. 37:18) เมื่อพระองค์เห็นว่าเรากำลังพยายามสุดความสามารถเพื่อจะรับใช้พระองค์แม้ต้องเจอกับเรื่องที่ทำให้เศร้าเสียใจ พระองค์ก็ภูมิใจในตัวเรามาก และยิ่งกว่านั้นพระองค์ก็พร้อมที่จะช่วยเราและให้กำลังใจเราเสมอ
2. พระยะโฮวาดูแลคนที่หัวใจแตกสลายยังไง? และเราต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับการดูแลจากพระองค์?
2 ที่สดุดี 147:3 พระยะโฮวา ‘พันแผลให้’ คนที่ใจแตกสลาย ข้อคัมภีร์นี้ทำให้เราเห็นวิธีที่พระยะโฮวาดูแลคนที่มีบาดแผลทางจิตใจ แต่เราต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับการดูแลจากพระยะโฮวา? ลองคิดถึงตัวอย่างนี้ หมอเก่ง ๆ สามารถช่วยคนที่บาดเจ็บให้หายได้ แต่เพื่อคนไข้จะหายได้จริง ๆ เขาก็ต้องทำตามคำแนะนำของหมอด้วย ในบทความนี้เราจะมาดูว่าพระยะโฮวาได้ให้คำแนะนำอะไรในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อช่วยคนที่กำลังเศร้าเสียใจ แล้วเราจะดูว่าเราจะทำตามคำแนะนำของพระองค์ได้ยังไง
พระยะโฮวารับรองว่าเรามีค่า
3. ทำไมบางคนรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า?
3 เราอยู่ในโลกที่มีแต่คนที่ไม่แสดงความรัก หลายคนก็เลยรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า พี่น้องหญิงคนหนึ่งที่ชื่อเฮเลน aบอกว่า “ฉันโตมาในครอบครัวที่ไม่รักกันเลย พ่อชอบใช้ความรุนแรงและด่าว่าเราทุกคนในครอบครัวว่า เป็นคนไม่เอาไหนและไร้ประโยชน์” บางทีคุณอาจเคยเจอเหมือนกับเฮเลน คุณถูกปฏิบัติอย่างเลวร้าย ถูกด่าบ่อย ๆ หรือถูกทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ถ้าเป็นอย่างนั้นคุณคงรู้สึกยากที่จะเชื่อว่ามีคนที่รักคุณจริง ๆ
4. จากสดุดี 34:18 พระยะโฮวารับรองอะไรกับเรา?
4 ถึงคนอื่นจะปฏิบัติกับคุณอย่างเลวร้าย แต่คุณมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวารักและมองว่าคุณมีค่ามาก พระองค์ “อยู่ใกล้คนที่หัวใจแตกสลาย” (อ่านสดุดี 34:18) ถ้าคุณกำลัง “เศร้าเสียใจ” ขอให้จำไว้ว่าพระยะโฮวามองเห็นสิ่งดี ๆ ในตัวคุณและพระองค์ชักนำคุณเป็นส่วนตัวให้เข้ามาหาพระองค์ (ยน. 6:44) พระองค์พร้อมจะช่วยคุณเสมอเพราะคุณมีค่ามากสำหรับพระองค์
5. เราได้เรียนอะไรจากวิธีที่พระเยซูปฏิบัติกับคนที่โดนคนอื่นดูถูก?
5 ตัวอย่างของพระเยซูทำให้เราเข้าใจว่าพระยะโฮวารู้สึกยังไง ตอนที่พระเยซูมีชีวิตบนโลก ท่านสังเกตคนที่โดนคนอื่นดูถูกและท่านปฏิบัติกับพวกเขาด้วยความเห็นอกเห็นใจ (มธ. 9:9-12) มีผู้หญิงคนหนึ่งป่วยหนักเป็นโรคร้ายแรงที่รักษาไม่หาย เธอมาจับชายเสื้อของพระเยซูเพราะหวังว่าจะหายจากโรค ตอนนั้นพระเยซูก็พูดปลอบเธอและชมเชยที่เธอมีความเชื่อ (มก. 5:25-34) พระเยซูเลียนแบบพ่อของท่านได้อย่างสมบูรณ์แบบ (ยน. 14:9) ดังนั้น คุณก็เลยมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวามองว่าคุณมีค่า และมองเห็นสิ่งดี ๆ ในตัวคุณซึ่งรวมถึงความเชื่อและความรักที่คุณมีต่อพระองค์
6. ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า คุณควรทำยังไง?
6 คุณควรทำยังไงถ้ารู้สึกอยู่เรื่อย ๆ ว่าตัวเองไม่มีค่า? ให้อ่านข้อคัมภีร์ที่ช่วยให้คุณมั่นใจว่าคุณมีค่าในสายตาพระยะโฮวาและคิดใคร่ครวญข้อคัมภีร์เหล่านั้น b (สด. ) ถ้าคุณทำตามเป้าหมายที่ตัวเองวางไว้ไม่ได้ หรือท้อใจเพราะรู้สึกว่าทำไม่ได้มากเหมือนกับคนอื่น ก็อย่าตำหนิตัวเอง เพราะพระยะโฮวาไม่เคยคาดหมายจากคุณมากกว่าที่คุณทำได้ ( 94:19สด. 103:13, 14) ถ้ามีคนเคยทำสิ่งที่เลวร้ายกับคุณ อย่าเอาแต่โทษตัวเองและคิดว่าที่คุณเจอแบบนั้นเป็นเพราะความผิดของคุณ ที่จริงไม่ควรมีใครถูกปฏิบัติแบบนั้น จำไว้ว่าพระยะโฮวาจะพิพากษาคนที่ทำผิด ไม่ใช่พิพากษาคนที่ตกเป็นเหยื่อ (1 ปต. 3:12) ซานดร้าที่ถูกทำร้ายตอนที่ยังเป็นเด็กบอกว่า “ฉันอธิษฐานอ้อนวอนพระยะโฮวาตลอด ขอพระองค์ช่วยฉันให้มองเห็นสิ่งดี ๆ ในตัวเองเหมือนที่พระองค์มองเห็น”
7. เรื่องที่เราเคยเจอในอดีตอาจเป็นประโยชน์ในงานรับใช้ยังไง?
7 อย่าคิดว่าตัวคุณเองไม่มีค่า พระยะโฮวาสามารถใช้คุณให้ช่วยคนอื่นได้ พระองค์ให้เกียรติคุณโดยให้คุณได้เป็นเพื่อนร่วมงานของพระองค์ในงานประกาศ (1 คร. 3:9) การที่คุณเจอปัญหาและความทุกข์ในชีวิตอาจทำให้คุณเห็นอกเห็นใจ เข้าใจคนอื่น และช่วยคนอื่นได้มากขึ้น เฮเลนที่พูดถึงก่อนหน้านี้ได้รับความช่วยเหลือจนทำให้ตอนนี้เธอสามารถช่วยคนอื่นได้แล้ว เธอบอกว่า “พระยะโฮวาสามารถทำให้คนที่ไม่มีตัวตนและคนที่ใคร ๆ ก็มองข้ามอย่างฉันได้รับความรักและสามารถช่วยคนอื่นได้” เฮเลนมีความสุขมากที่ได้เป็นไพโอเนียร์ประจำ
พระยะโฮวาอยากให้เรายอมรับการให้อภัยจากพระองค์
8. เราพบคำรับรองอะไรที่อิสยาห์ 1:18?
8 ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาบางคนเสียใจไม่หายกับความผิดที่เคยทำในอดีตไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังรับบัพติศมา แต่เราควรจำไว้ว่าพระยะโฮวาให้ค่าไถ่กับเราเพราะพระองค์รักเรามาก และพระองค์ก็อยากให้เรารับของขวัญนี้จากพระองค์ พระยะโฮวารับรองกับเราว่า หลังจากที่เรา “คุยกัน” c และกลับมาคืนดีกับพระองค์แล้ว พระองค์จะไม่คิดถึงความผิดที่เราเคยทำอีก (อ่านอิสยาห์ 1:18) เรารู้สึกขอบคุณมากจริง ๆ ที่พระยะโฮวารักและให้อภัยเรา และไม่จดจำความผิดที่เราเคยทำ นอกจากนั้น พระองค์ก็ยังไม่ลืมสิ่งดี ๆ ที่เราทำเพื่อพระองค์ด้วย—สด. 103:9, 12; ฮบ. 6:10
9. แทนที่เราจะเอาแต่คิดถึงบาปที่เคยทำในอดีต เราควรทำอะไร?
9 ถ้าคุณทุกข์ใจเพราะความผิดที่เคยทำในอดีต ก็ขอให้พยายามเต็มที่ที่จะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่คุณกำลังทำตอนนี้และสิ่งที่คุณทำได้ในอนาคตแทนที่จะยึดติดอยู่กับอดีต ให้เรามาดูตัวอย่างของอัครสาวกเปาโลด้วยกัน เปาโลเสียใจมากที่เขาเคยข่มเหงคริสเตียนอย่างหนัก แต่เขารู้ว่าพระยะโฮวาให้อภัยเขาแล้ว (1 ทธ. 1:12-15) เปาโลยังคงเอาแต่คิดถึงบาปที่เขาเคยทำอยู่ไหม? ไม่เลย เขาไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้นเหมือนกับที่เขาไม่ได้เอาแต่คิดถึงสิ่งที่เคยทำสำเร็จมาแล้วตอนที่เป็นฟาริสี (ฟป. 3:4-8, 13-15) แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เปาโลรับใช้พระยะโฮวาอย่างกระตือรือร้นและมองไปข้างหน้า คุณก็ทำเหมือนเปาโลได้ แม้คุณจะเปลี่ยนอดีตไม่ได้ แต่ตอนนี้คุณสามารถยกย่องสรรเสริญพระยะโฮวาและทำให้พระองค์มีความสุขได้ และคุณยังสามารถคิดถึงสิ่งดี ๆ ในอนาคตที่พระยะโฮวาสัญญาว่าจะให้กับคุณ
10. ถ้าคุณเคยทำให้คนอื่นเจ็บปวด คุณจะทำอะไรได้บ้าง?
10 คุณอาจรู้สึกทุกข์ใจเพราะสิ่งที่คุณเคยทำในอดีต ทำให้คนอื่นเจ็บปวด แล้วอะไรจะช่วยคุณได้? ให้พยายามทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อเยียวยาความสัมพันธ์ ซึ่งรวมถึงการขอโทษคนนั้นจากใจจริง (2 คร. 7:11) ให้คุณอธิษฐานขอพระยะโฮวาช่วยคนที่เสียใจเพราะสิ่งที่คุณทำ พระองค์จะช่วยทั้งตัวคุณและเขาให้กลับมามีสันติสุขอีกครั้งและรับใช้พระองค์ต่อ ๆ ไปได้
11. เราได้เรียนอะไรจากตัวอย่างของผู้พยากรณ์โยนาห์? (ดูภาพหน้าปก)
11 ขอให้คุณเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเองและเต็มใจให้พระยะโฮวาใช้คุณไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้เรามาดูตัวอย่างของผู้พยากรณ์โยนาห์ด้วยกัน พระยะโฮวามอบหมายให้โยนาห์ไปประกาศที่เมืองนีนะเวห์ แต่เขากลับหนีไปในทิศทางตรงกันข้าม พระองค์ก็เลยสั่งสอนโยนาห์และเขาก็ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง (ยนา. 1:1-4, 15-17; 2:7-10) พระยะโฮวาไม่ได้หมดหวังในตัวโยนาห์ พระองค์ให้โอกาสเขาอีกครั้งที่จะกลับไปที่เมืองนีนะเวห์ และคราวนี้โยนาห์ก็เชื่อฟังพระยะโฮวาทันที โยนาห์ไม่ได้เอาแต่เสียใจกับความผิดพลาดของตัวเองจนไม่ยอมรับงานมอบหมายจากพระยะโฮวา—ยนา. 3:1-3
พระยะโฮวาให้พลังบริสุทธิ์เพื่อปลอบโยนเรา
12. พระยะโฮวาช่วยให้เรามีสันติสุขยังไงตอนที่เราทุกข์ใจหรือเจอกับการสูญเสีย? (ฟีลิปปี 4:6, 7)
12 พระยะโฮวาให้พลังบริสุทธิ์เพื่อปลอบโยนเราตอนที่เราทุกข์ใจหรือเจอกับการสูญเสีย ให้เรามาดูตัวอย่างของรอนกับแครอลด้วยกัน ลูกชายของพวกเขาฆ่าตัวตาย รอนกับแครอลบอกว่า “เราสองคนเคยเจอความยากลำบากมาก่อน แต่ครั้งนี้มันเป็นอะไรที่รับได้ยากที่สุดในชีวิต เราอธิษฐานทุกครั้งในคืนที่เรานอนไม่หลับ เราเลยมีสันติสุขเหมือนอย่างที่บอกไว้ในฟีลิปปี 4:6, 7” (อ่าน) ถ้าคุณกำลังรับมือกับเหตุการณ์ที่ทำให้หัวใจสลาย ให้อธิษฐานระบายความรู้สึกกับพระยะโฮวา และคุณสามารถทำแบบนั้นบ่อยหรือนานแค่ไหนก็ได้ตามที่คุณต้องการ (สด. 86:3; 88:1) ให้คุณขอพระยะโฮวาให้พลังบริสุทธิ์กับคุณเรื่อย ๆ และพระองค์จะให้ตามที่คุณขอแน่นอน—ลก. 11:9-13
13. พลังบริสุทธิ์ช่วยเรายังไงให้รับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ต่อ ๆ ไป? (เอเฟซัส 3:16)
13 คุณเคยเจอกับปัญหาที่หนักมากจนทำให้หมดเรี่ยวแรงไหม? พลังบริสุทธิ์สามารถให้กำลังกับคุณเพื่อจะรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ต่อ ๆ ไปได้ (อ่านเอเฟซัส 3:16) ให้เรามาดูประสบการณ์ของพี่น้องหญิงคนหนึ่งที่ชื่อฟลอร่า เธอกับสามีรับใช้เป็นมิชชันนารีด้วยกัน แต่สามีนอกใจ แล้วในที่สุดพวกเขาก็หย่ากัน เธอบอกว่า “ฉันเสียใจมากเพราะถูกทรยศ และฉันคิดอะไรไม่ออกเลย ฉันอธิษฐานขอพลังบริสุทธิ์จากพระยะโฮวาเพื่อช่วยให้อดทนได้ พระองค์ช่วยปลอบโยนฉัน และช่วยฉันให้รับมือกับปัญหาที่ตอนแรกดูเหมือนจะรับมือไม่ไหว” ฟลอร่ารู้สึกว่าพระยะโฮวาช่วยเธอให้มั่นใจว่าพระองค์จะช่วยเธอให้รับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้ เธอบอกต่อว่า “ข้อพระคัมภีร์ที่สดุดี 119:32 ตรงกับชีวิตของฉันเลย ข้อนั้นบอกว่า ‘ผมจะเชื่อฟังคำสั่งของพระองค์อย่างกระตือรือร้น เพราะพระองค์ช่วยให้ผมเปิดใจรับคำสั่งเหล่านั้น’”
14. เราจะให้พลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าทำงานในตัวเราได้ยังไง?
14 หลังจากที่คุณอธิษฐานขอพลังบริสุทธิ์แล้ว คุณควรทำอะไร? ขอให้ทำสิ่งต่าง ๆ ที่จะช่วยให้พลังบริสุทธิ์ทำงานในตัวคุณ เช่น เข้าร่วมประชุม ประกาศ และอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวันเพื่อช่วยให้คุณมีความคิดแบบเดียวกับพระยะโฮวา (ฟป. 4:8, 9) เมื่อคุณอ่านคัมภีร์ไบเบิล ขอให้สังเกตว่าคนในสมัยคัมภีร์ไบเบิล เจอปัญหาอะไรบ้างและพระยะโฮวาช่วยเขาให้รับมือกับปัญหาเหล่านั้นได้ยังไง ซานดร้าที่พูดถึงก่อนหน้านี้ต้องรับมือกับปัญหาที่หนักหลายอย่าง เธอบอกว่า “ตัวอย่างของโยเซฟให้กำลังใจฉันมาก โยเซฟไม่ยอมให้ปัญหาหรือความไม่ยุติธรรมที่เขาเจอมาทำลายความสัมพันธ์ที่เขามีกับพระยะโฮวา”—ปฐก. 39:21-23
พระยะโฮวาใช้พี่น้องเพื่อปลอบโยนเรา
15. เราจะได้กำลังใจจากใคร? และพวกเขาจะช่วยเรายังไง? (ดูภาพด้วย)
15 ตอนที่เรากำลังรับมือกับปัญหาหนัก ๆ พี่น้องสามารถ ‘ให้กำลังใจเราได้มาก’ (คส. 4:11) พระยะโฮวาใช้พี่น้องเพื่อแสดงให้เห็นความรักที่พระองค์มีต่อเรา พวกเขาปลอบโยนเราโดยฟังเราอย่างเห็นอกเห็นใจ ให้เวลากับเรา และอาจให้กำลังใจด้วยข้อคัมภีร์หรืออธิษฐานกับเรา d (รม. 15:4) พี่น้องอาจช่วยให้เราไม่ลืมว่าพระยะโฮวาคิดยังไงกับเรื่องต่าง ๆ ซึ่งนั่นจะช่วยให้เรามีความคิดที่สมดุล พี่น้องยังช่วยเราในวิธีอื่นด้วย เช่น ทำอาหารให้เราตอนที่เรารู้สึกเศร้าเสียใจ
16. เราต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่น?
16 เพื่อจะได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่น บางครั้ง เราอาจต้องบอกให้คนอื่นรู้ พี่น้องรักและอยากช่วยเราอยู่แล้ว (สภษ. 17:17) แต่พวกเขาก็อาจไม่รู้ว่าเรารู้สึกยังไงหรือต้องการอะไร (สภษ. 14:10) ถ้าคุณกำลังเศร้าหรือรู้สึกเจ็บปวด ก็ขอให้บอกความรู้สึกนั้นกับพี่น้องที่มีความเป็นผู้ใหญ่ บอกให้เขารู้ว่าเขาจะช่วยคุณได้ยังไงบ้าง คุณอาจคุยกับผู้ดูแล 1 หรือ 2 คนที่คุณรู้สึกสบายใจที่จะคุยกับเขา หรือพี่น้องหญิงบางคนอาจเลือกที่จะคุยกับพี่น้องหญิงที่มีความเป็นผู้ใหญ่
17. มีอะไรที่อาจทำให้เราไม่ได้รับกำลังใจจากพี่น้อง? และเราควรทำยังไง?
17 อย่าปลีกตัวอยู่คนเดียวนานเกินไป ตอนที่คุณทุกข์ใจคุณอาจไม่อยากอยู่กับคนอื่นเพราะคิดว่าพี่น้องอาจไม่เข้าใจความรู้สึกของคุณหรือพวกเขาอาจพูดอะไรที่ทำให้คุณไม่สบายใจ (ยก. 3:2) ถึงอย่างนั้น อย่าปลีกตัวจากพี่น้อง พระยะโฮวาสามารถใช้พวกเขาให้ช่วยคุณได้ ผู้ดูแลคนหนึ่งที่ชื่อกาวินที่เป็นโรคซึมเศร้าบอกว่า “สิ่งที่ผมไม่อยากทำที่สุดก็คือการคุยกับคนอื่น” ถึงอย่างนั้น กาวินก็พยายามอยู่กับพี่น้อง และนี่ก็ทำให้เขารู้สึกดีขึ้นมาก พี่น้องหญิงที่ชื่อเอมี่บอกว่า “ประสบการณ์ที่เลวร้ายในอดีตทำให้ฉันเป็นคนที่ไว้ใจคนอื่นได้ยาก แต่ตอนนี้ฉันกำลังเรียนรู้วิธีที่จะรักและไว้ใจพี่น้องเหมือนกับที่พระยะโฮวาทำ เพราะฉันรู้ว่านี่จะทำให้พระยะโฮวามีความสุขและตัวฉันเองก็จะมีความสุขด้วย”
คำสัญญาของพระยะโฮวาเกี่ยวกับอนาคตทำให้เราได้กำลังใจ
18. เรารอคอยอะไรในอนาคต? และเราทำอะไรได้ตั้งแต่ตอนนี้?
18 เราสามารถมองไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจได้ว่า อีกไม่นานพระยะโฮวาจะเยียวยารักษาเราทั้งด้านร่างกายและจิตใจ (วว. 21:3, 4) เมื่อถึงตอนนั้นเราจะ “ไม่นึกถึง” สิ่งต่าง ๆ ที่เคยทำให้เราเจ็บปวดใจอีกเลย (อสย. 65:17) อย่างที่เราได้เรียนไปแล้ว แม้แต่ตอนนี้ที่เรากำลังเจ็บปวดใจ พระยะโฮวาก็ “พันแผล” ให้เรา ดังนั้น ขอให้เรายอมรับสิ่งต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาจัดเตรียมไว้เพื่อช่วยเรา และมั่นใจเต็มที่ว่า “พระองค์ห่วงใยคุณ”—1 ปต. 5:7
เพลง 7 พระยะโฮวาทำให้เราเข้มแข็ง
a ชื่อสมมุติ
b ดูกรอบ “ พระยะโฮวามองว่าคุณ มีค่า”
c เพื่อจะ “คุยกัน” กับพระยะโฮวา เราต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเรากลับใจจริง ๆ โดยขอให้พระองค์ให้อภัยบาปเราและเราต้องไม่กลับไปทำผิดอีก ถ้าหากเราทำผิดร้ายแรง เราต้องขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลในประชาคมด้วย—ยก. 5:14, 15