บทความศึกษา 42
สอนนักศึกษาให้ก้าวหน้าจนรับบัพติศมา (ตอน 2)
“เอาใจใส่ตัวคุณและการสอนของคุณให้ดี”—1 ทธ. 4:16
เพลง 77 แสงสว่างในโลกมืด
ใจความสำคัญ *
1. เรารู้ได้อย่างไรว่างานสอนคนให้เป็นสาวกเป็นงานช่วยชีวิต?
งานสอนคนให้เป็นสาวกเป็นงานช่วยชีวิต เรารู้ได้อย่างไร? พระเยซูสั่งเรื่องนี้ในมัทธิว 28:19, 20 ท่านบอกว่า “ไปสอนคน . . . ให้เป็นสาวก ให้พวกเขารับบัพติศมา” การรับบัพติศมาสำคัญมากเพราะถ้าใครอยากได้รับการช่วยให้รอด เขาก็ต้องรับบัพติศมา คนที่อยากจะรับบัพติศมาต้องเชื่อว่า ทางเดียวที่เขาจะได้รับความรอดคือการที่พระเยซูตายเป็นค่าไถ่และฟื้นขึ้นจากตาย นี่เป็นเหตุผลที่เปโตรบอกเพื่อนคริสเตียนของเขาว่า “การรับบัพติศมาช่วยพวกคุณให้รอดเพราะพวกคุณเชื่อในการฟื้นขึ้นจากตายของพระเยซูคริสต์” (1 ปต. 3:21) ดังนั้นคนที่รับบัพติศมาและเข้ามาเป็นสาวกก็มีความหวังที่จะได้รับความรอด
2. ข้อคัมภีร์ที่ 2 ทิโมธี 4:1, 2 บอกว่าเราควรเป็นผู้สอนแบบไหน?
2 เพื่อเราจะช่วยคนให้เป็นสาวก เราต้องเป็นผู้สอนที่ดีและพัฒนา “ศิลปะการสอน” (อ่าน 2 ทิโมธี 4:1, 2) เพราะอะไร? พระเยซูสั่งเราว่าให้ “ไปสอนคน . . . ให้เป็นสาวก” และอัครสาวกเปาโลก็บอกว่าให้ “มุ่งมั่น” ทำงานนี้ “เพราะถ้าทำอย่างนั้นคุณจะช่วยทั้งตัวเองและคนที่ฟังคุณให้รอด” นี่แหละเป็นเหตุผลที่เปาโลเลยบอกให้ “เอาใจใส่ . . . การสอนของคุณให้ดี” (1 ทธ. 4:16) เพราะการช่วยคนให้เป็นสาวกเกี่ยวข้องกับการสอน เราเลยอยากพัฒนาการสอนของเราให้ดีที่สุด
3. ในบทความนี้เราจะคุยอะไรกันเกี่ยวกับการนำการศึกษา?
3 ตอนนี้พวกเรากำลังสอนคัมภีร์ไบเบิลให้กับผู้คนทั่วโลกเป็นล้าน ๆ แต่อย่างที่พูดไปในบทความที่แล้ว เราอยากรู้ว่าเราจะช่วยพวกเขาอย่างไรให้ก้าวหน้าจนรับบัพติศมา ในบทความนี้จะพูดถึงอีก 5 อย่างที่ผู้นำการศึกษาทุกคนต้องทำเพื่อจะช่วยนักศึกษาให้ก้าวหน้าจนรับบัพติศมา
สอนจากคัมภีร์ไบเบิล
4. ทำไมคนที่เป็นผู้สอนต้องควบคุมตัวเอง? (ดูเชิงอรรถด้วย)
4 เรารักสิ่งที่เราสอนในคัมภีร์ไบเบิลก็เลยไม่แปลกที่เราอยากจะพูดเรื่องนั้นออกมาเยอะ ๆ แต่ไม่ว่าเราจะเป็นผู้นำการศึกษา ผู้นำหอสังเกตการณ์ หรือผู้นำการศึกษาพระคัมภีร์ประจำประชาคม เราก็ไม่ควรพูดเยอะเกินไป ไม่ว่าเราจะสอนเมื่อไรเราอยากจะใช้คัมภีร์ไบเบิลอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเราต้องควบคุมตัวเองและพยายามไม่อธิบายทุกอย่างที่เรารู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นในคัมภีร์ไบเบิล * (ยน. 16:12) ลองคิดถึงตอนที่คุณเพิ่งรับบัพติศมาใหม่ ๆ ตอนนั้นคุณอาจรู้แค่คำสอนพื้นฐานในคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น และกว่าที่คุณจะมีความรู้เหมือนกับตอนนี้ก็ต้องใช้เวลาหลายปี ดังนั้นอย่าสอนทุกอย่างที่คุณรู้ให้นักศึกษารวดเดียว—ฮบ. 6:1
5. (ก) จาก 1 เธสะโลนิกา 2:13 เราอยากให้นักศึกษาเข้าใจเรื่องอะไร? (ข) เราจะช่วยนักศึกษาอย่างไรให้พูดเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเรียน?
5 เราอยากให้นักศึกษาเข้าใจว่าสิ่งที่เขาได้เรียนมาจากคัมภีร์ไบเบิลที่เป็นคำสอนของพระเจ้า (อ่าน 1 เธสะโลนิกา 2:13) เราจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร? โดยสนับสนุนให้นักศึกษาพูดเกี่ยวกับสิ่งที่เขาได้เรียน แทนที่เราจะอธิบายข้อคัมภีร์ให้เขาฟังฝ่ายเดียวเราน่าจะให้เขาได้อธิบายสิ่งที่เขาได้เรียนให้เราฟังบ้าง ให้เราช่วยเขาให้เห็นว่าคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวข้องกับเขาและเขาจะเอาไปใช้ได้อย่างไร ให้ใช้คำถามเพื่อช่วยให้เขาพูดออกมาว่าเขาคิดและรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับข้อคัมภีร์ที่ได้อ่าน (ลก. 10:25-28) เช่นคุณอาจจะถามเขาว่า “ข้อคัมภีร์นี้ช่วยให้คุณเห็นคุณลักษณะของพระยะโฮวายังไง?” “สิ่งที่กำลังเรียนอยู่นี้เป็นประโยชน์กับคุณยังไง?” “คุณรู้สึกยังไงกับเรื่องที่เพิ่งเรียน?” (สภษ. 20:5) สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่ว่านักศึกษามีความรู้มากแค่ไหน แต่ว่าเขารักและเอาสิ่งที่เรียนไปใช้มากแค่ไหนต่างหาก
6. ทำไมถึงดีที่เราจะพาพี่น้องที่มีประสบการณ์ในการศึกษาไปศึกษาด้วยกัน?
6 คุณเคยพาพี่น้องที่มีประสบการณ์ในการนำการศึกษาไปศึกษาด้วยกันไหม? ให้ลองถามเขาดูสิว่าคุณนำการศึกษาเป็นอย่างไรบ้างและวิธีที่คุณใช้คัมภีร์ไบเบิลเป็นอย่างไร คุณต้องถ่อมถ้าคุณอยากนำการศึกษาได้ดีขึ้น (เทียบกับกิจการ 18:24-26) ลองถามเขาว่าเขาคิดว่านักศึกษาของคุณเข้าใจสิ่งที่เรียนจริง ๆ ไหม ถ้าคุณไม่อยู่คุณอาจจะขอให้เขาช่วยนำการศึกษาแทนคุณก็ได้ ถ้าทำอย่างนั้น นักศึกษาของคุณก็จะสามารถศึกษาได้ อย่างต่อเนื่องและเห็นว่าการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นสิ่งสำคัญ อย่าหวงนักศึกษาและคิดว่าเขาเป็นนักศึกษาของคุณคนเดียวเท่านั้น และคิดว่าคนอื่นไม่มีทางที่จะช่วยคุณศึกษาได้ แน่นอนเราอยากให้นักศึกษาได้สิ่งที่ดีที่สุดเพื่อเขาจะศึกษาและก้าวหน้าได้อย่างต่อเนื่อง
สอนด้วยความกระตือรือร้นและความมั่นใจ
7. อะไรจะช่วยนักศึกษาให้รักและตื่นเต้นกับสิ่งที่เขาเรียน?
7 นักศึกษาต้องเห็นความรัก ความกระตือรือร้น และเห็นว่าคุณมั่นใจในความจริงที่คัมภีร์ไบเบิลสอน (1 ธส. 1:5) พอเขาเห็นอย่างนั้น เขาก็จะรู้สึกรักและตื่นเต้นกับสิ่งที่เขาเรียน คุณอาจจะลองเล่าให้เขาฟังว่าสิ่งที่ได้เรียนจากคัมภีร์ไบเบิลเป็นประโยชน์กับคุณอย่างไรบ้าง แล้วเขาจะได้เห็นว่าสิ่งที่เขาเรียนในคัมภีร์ไบเบิลก็จะเป็นประโยชน์กับเขาได้ด้วยเหมือนกัน
8. คุณจะช่วยนักศึกษาอย่างไรได้อีก? และทำไมคุณควรทำอย่างนั้น?
8 ตอนที่ศึกษาด้วยกัน ลองเล่าประสบการณ์ของพี่น้องบางคนที่มีปัญหาคล้าย ๆ กันกับนักศึกษา และเล่าให้เขาฟังว่าพี่น้องเราเอาชนะปัญหานั้นได้อย่างไร หรือคุณอาจจะพาพี่น้องบางคนในประชาคมไปศึกษาด้วยกันเพื่อที่นักศึกษาจะได้ประโยชน์จากประสบการณ์ของพวกเขา หรือคุณอาจจะหาบทความหรือวีดีโอจาก “คัมภีร์ไบเบิลเปลี่ยนชีวิตคน” ในเว็บไซต์ jw.org * เพื่อเขาจะเห็นว่าคัมภีร์ไบเบิลสามารถช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้
9. คุณจะสนับสนุนนักศึกษาอย่างไรให้เขาเล่าสิ่งที่ได้เรียนให้คนในครอบครัวและเพื่อน ๆ ฟัง?
9 ถ้านักศึกษามีแฟนหรือแต่งงานแล้ว แฟนหรือคู่ของเขาศึกษาด้วยไหม? ถ้ายัง คุณอาจจะลองชวนมานั่งศึกษาด้วยกันก็ได้ ลองสนับสนุนนักศึกษาของคุณให้เล่าสิ่งที่เขาได้เรียนให้ญาติ ๆ คนในครอบครัว หรือเพื่อนของเขาฟังดูสิ (ยน. 1:40-45) คุณจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร? ลองถามนักศึกษาของคุณดูว่า “คุณจะอธิบายเรื่องนี้ให้กับญาติหรือคนในครอบครัวฟังยังไง?” หรือ “คุณจะใช้ข้อคัมภีร์ข้อไหนเพื่ออธิบายเรื่องนี้ให้เพื่อนของคุณฟัง?” ถ้าคุณทำอย่างนี้ คุณก็กำลังฝึกนักศึกษาให้พร้อมที่จะเป็นผู้สอน และเมื่อเขามีคุณสมบัติ เขาก็จะสามารถเป็นผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติศมาได้ นอกจากนั้น ลองถามนักศึกษาดูว่าเขารู้จักใครอีกไหมที่ อยากเรียนคัมภีร์ไบเบิล ถ้ามี เขาอาจช่วยคุณให้ติดต่อกับคนนั้น เพื่อคุณจะให้ดูวีดีโอเราเรียนคัมภีร์ไบเบิลกันอย่างไร? *
ช่วยนักศึกษาให้มีเพื่อนในประชาคม
10. ผู้นำการศึกษาจะเลียนแบบตัวอย่างของเปาโลอย่างที่บอกไว้ใน 1 เธสะโลนิกา 2:7, 8 อย่างไร?
10 ผู้นำการศึกษา คุณต้องทำให้นักศึกษาเห็นว่าคุณเป็นห่วงและสนใจเขาจริง ๆ ให้คุณมองเขาว่าอีกไม่นานเขาอาจจะเป็นพี่น้องของคุณ (อ่าน 1 เธสะโลนิกา 2:7, 8) ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เขาจะเลิกคบกับเพื่อนเก่าและเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อรับใช้พระยะโฮวา ดังนั้นคุณต้องช่วยเขาหาเพื่อนแท้ในประชาคม และคุณเองก็ต้องเป็นเพื่อนกับเขาด้วยโดยใช้เวลากับเขาไม่ใช่แค่ตอนที่ศึกษาด้วยกันเท่านั้นแต่ในเวลาอื่น ๆ ด้วย เช่นคุณอาจจะโทรหาเขา ส่งข้อความหาเขา หรือว่าไปหาเขา ถ้าคุณทำแบบนี้ คุณก็แสดงให้นักศึกษาเห็นว่าคุณเป็นห่วงและสนใจเขาจริง ๆ
11. เราอยากให้นักศึกษาของเรารู้จักใครและเห็นอะไรบ้างในประชาคม? และทำไม?
11 มีสุภาษิตหนึ่งของแอฟริกาบอกว่า “กว่าเด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาได้ คนทั้งหมู่บ้านต้องช่วยกัน” เราก็พูดได้เหมือนกันว่า “เพื่อคนคนหนึ่งจะมาเป็นสาวกได้ พี่น้องทั้งประชาคมก็ต้องช่วยกัน” ผู้นำการศึกษาที่ดีจะช่วยให้นักศึกษารู้จักกับพี่น้องคนอื่น ๆ ในประชาคมที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเขา เมื่อนักศึกษาได้รู้จักพี่น้องเหล่านี้ เขาก็จะได้ใช้เวลากับพี่น้องที่สามารถช่วยเขาให้สนิทกับพระยะโฮวามากขึ้นและช่วยให้กำลังใจเขาตอนที่เจอกับปัญหา เราอยากให้นักศึกษารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของประชาคม เราอยากจะช่วยให้เขาเห็นความรักของพี่น้องและทำให้เขาอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวคริสเตียน ถ้านักศึกษาเห็นแบบนี้มันก็จะง่ายขึ้นที่เขาจะเลิกคบกับคนที่ไม่ได้ช่วยให้เขารักพระยะโฮวา (สภษ. 13:20) ถึงเขาจะไม่ได้คบกับเพื่อนเก่าแล้ว แต่เขารู้ว่าเขายังมีเพื่อนแท้ในองค์การของพระยะโฮวา—มก. 10:29, 30; 1 ปต. 4:4
เน้นเรื่องการอุทิศตัวและรับบัพติศมา
12. ทำไมเราควรพูดเรื่องการอุทิศตัวและรับบัพติศมากับนักศึกษา?
12 ให้พูดกับนักศึกษาเกี่ยวกับการอุทิศตัวและรับบัพติศมาบ่อย ๆ และเล่าให้เขาฟังว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ขอจำไว้ว่าเป้าหมายในการศึกษาคัมภีร์
ไบเบิลกับนักศึกษาก็เพื่อช่วยเขาให้รับใช้พระยะโฮวาและรับบัพติศมา ดังนั้นไม่กี่เดือนหลังจากที่ศึกษาด้วยกันเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อนักศึกษาเริ่มมาประชุมแล้ว เขาต้องเข้าใจว่าเป้าหมายในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลก็คือเพื่อเป็นพยานพระยะโฮวา13. นักศึกษาต้องทำขั้นตอนอะไรบ้างเพื่อจะก้าวหน้าจนรับบัพติศมา?
13 นักศึกษาที่มีหัวใจที่ดีจะก้าวหน้าเป็นขั้น ๆ จนรับบัพติศมาได้ อย่างแรกเขาต้องรู้จักพระยะโฮวา แล้วก็รักและมีความเชื่อในพระองค์ (ยน. 3:16; 17:3) หลังจากนั้นเขาก็จะเริ่มมีความสัมพันธ์กับพระยะโฮวาและสนิทกับพี่น้องในประชาคม (ฮบ. 10:24, 25; ยก. 4:8) จากนั้นเขาจะกลับใจและเลิกทำสิ่งที่ไม่ดี (กจ. 3:19) เขาจะประกาศให้คนอื่นฟังเกี่ยวกับความเชื่อของเขา (2 คร. 4:13) และในที่สุดเขาก็จะอุทิศตัวให้กับพระยะโฮวาและรับบัพติศมา (1 ปต. 3:21; 4:2) วันที่นักศึกษารับบัพติศมาเป็นวันที่เราทุกคนมีความสุขมาก เมื่อเราเห็นนักศึกษากำลังทำแต่ละขั้นตอน ขอให้เราชมเชยและให้กำลังใจเขาเพื่อเขาจะก้าวหน้าต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงขั้นรับบัพติศมา
เช็กความก้าวหน้าของนักศึกษาเป็นระยะ ๆ
14. ผู้นำการศึกษาจะเช็กความก้าวหน้าของนักศึกษาอย่างไร?
14 เราต้องอดทนตอนที่ช่วยนักศึกษาให้ก้าวหน้าจนอุทิศตัวและรับบัพติศมา เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งเราต้องรู้ด้วยว่านักศึกษาอยากจะรับใช้พระยะโฮวาหรือเปล่า มีอะไรบ้างไหมที่ทำให้คุณเห็นว่านักศึกษาพยายามเชื่อฟังคำสั่งของพระเยซู? หรือเขาศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเพียงแค่เพราะเขาชอบความรู้ในคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น?
15. ผู้นำการศึกษาจะรู้ได้อย่างไรว่านักศึกษาก้าวหน้าไหม?
15 ขอให้คุณเช็กความก้าวหน้าของนักศึกษาเป็นประจำ ตัวอย่างเช่น เขาพูดบ้างไหมว่าเขารู้สึกอย่างไรกับพระยะโฮวา? เขาอธิษฐานถึงพระยะโฮวาบ้างไหม? (สด. 116:1, 2) เขาชอบอ่านคัมภีร์ไบเบิลไหม? (สด. 119:97) เขาไปประชุมเป็นประจำไหม? (สด. 22:22) เขาเปลี่ยนแปลงตัวเองตามสิ่งที่เขาได้เรียนบ้างไหม? (สด. 119:112) เขาเคยเล่าสิ่งที่เขาได้เรียนให้คนในครอบครัวหรือเพื่อน ๆ ฟังไหม? (สด. 9:1) และที่สำคัญที่สุดเขาอยากเป็นพยานพระยะโฮวา ไหม? (สด. 40:8) ถ้านักศึกษาไม่ได้ทำสิ่งที่ว่ามานี้ ให้ลองดูว่าทำไมเขาถึงไม่ได้ทำและค่อย ๆ คุยกับเขาอย่างตรงไปตรงมา *
16. อะไรจะช่วยให้คุณรู้ว่าควรเลิกศึกษากับบางคน?
16 ขอให้คุณเช็กเป็นระยะ ๆ ว่าควรจะศึกษากับบางคนต่อไปไหม ให้คุณถามตัวเองว่า ‘เขาไม่เตรียมตัวก่อนศึกษาใช่ไหม?’ ‘เขาไม่อยากมาประชุมใช่ไหม?’ ‘เขายังไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นใช่ไหม?’ ‘เขายังเป็นสมาชิกของศาสนาเท็จอยู่เหมือนเดิมใช่ไหม?’ ถ้าคำตอบคือใช่ การศึกษากับคนแบบนี้ต่อไปก็เหมือนสอนคนที่ไม่อยากเปียกให้ว่ายน้ำเป็น ถ้าเขาไม่เห็นค่าสิ่งที่เรียนและไม่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเองจริง ๆ แล้วเราจะศึกษากับเขาต่อไปเพื่ออะไร!
17. เพื่อจะทำตาม 1 ทิโมธี 4:16 ผู้นำการศึกษาทุกคนต้องทำอะไรบ้าง?
17 เราต้องคิดว่าการช่วยคนให้เป็นสาวกเป็นหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญมาก และเราอยากช่วยนักศึกษาให้ก้าวหน้าจนรับบัพติศมา นี่เลยเป็นเหตุผลที่เราสอนจากคัมภีร์ไบเบิลและสอนเขาด้วยความกระตือรือร้นและด้วยความมั่นใจ เราอยากจะช่วยให้นักศึกษามีเพื่อนในประชาคม เราเน้นเรื่องการอุทิศตัวและการรับบัพติศมากับเขา เราอยากจะเช็กความก้าวหน้าของนักศึกษาเป็นระยะ ๆ (ดูกรอบ “ ผู้นำการศึกษาต้องทำอะไรเพื่อช่วยนักศึกษาให้ก้าวหน้าจนรับบัพติศมา”) เรามีความสุขมากที่ได้มีส่วนร่วมในการทำงานช่วยชีวิต ขอให้เราตั้งใจทำสุดความสามารถที่จะสอนนักศึกษาให้ก้าวหน้าจนรับบัพติศมา
เพลง 79 สอนพวกเขาให้มีความเชื่อมั่นคง
^ วรรค 5 การสอนนักศึกษาเป็นสิทธิพิเศษที่เราได้รับจากพระยะโฮวา เราสามารถช่วยนักศึกษาให้คิด รู้สึก และทำในแบบที่พระยะโฮวาพอใจ บทความนี้จะช่วยให้เราเข้าใจว่าเราจะทำอะไรได้อีกเพื่อจะสอนได้ดีขึ้น
^ วรรค 4 ดูบทความ “เลี่ยงกับดักเหล่านี้เมื่อนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล” ในคู่มือประชุมชีวิตและงานรับใช้ กันยายน 2016
^ วรรค 8 ไปที่เกี่ยวกับเรา > ประสบการณ์
^ วรรค 9 ในแอป JW Library® ไปที่มีเดีย > การประชุมและงานประกาศ > เครื่องมือสำหรับงานประกาศ
^ วรรค 15 ดูบทความ “ความรักต่อพระยะโฮวาจะกระตุ้นให้คุณรับบัพติศมา” และ “คุณพร้อมหรือยังที่จะรับบัพติศมา?” ในหอสังเกตการณ์ มีนาคม 2020
^ วรรค 77 คำอธิบายภาพ หลังการศึกษา พี่น้องหญิงที่มีประสบการณ์ช่วยพี่น้องที่นำการศึกษาให้รู้ว่าจะสอนอย่างไรโดยที่ไม่ต้องพูดเยอะ
^ วรรค 79 คำอธิบายภาพ นักศึกษาได้เรียนว่าจะเป็นภรรยาที่ดีขึ้นอย่างไร แล้วหลังจากนั้นเธอก็เล่าสิ่งที่เรียนให้สามีฟัง
^ วรรค 81 คำอธิบายภาพ นักศึกษากับสามีของเธอไปที่บ้านของพี่น้องที่เธอเจอที่หอประชุม