บทความศึกษา 8
สร้างสันติสุขโดยเอาชนะความอิจฉา
“ให้เราตั้งใจทำสิ่งที่สร้างสันติสุขและสิ่งที่ส่งเสริมกันให้เข้มแข็งขึ้น”—รม. 14:19
เพลง 113 สันติสุขของเรา
ใจความสำคัญ *
1. ความอิจฉามีผลอย่างไรต่อครอบครัวของโยเซฟ?
ยาโคบรักลูกชายทุกคน แต่เขารักโยเซฟลูกชายวัย 17 ของเขาเป็นพิเศษ พี่ ๆ ของโยเซฟรู้สึกอย่างไร? พวกเขาอิจฉาโยเซฟ และความอิจฉาทำให้พวกเขาเริ่มเกลียดโยเซฟ โยเซฟไม่ได้ทำอะไรเลยที่พวกพี่ควรจะรู้สึกกับเขาแบบนั้น ในที่สุด พวกเขาขายโยเซฟเป็นทาส และโกหกพ่อว่าสัตว์ป่าฆ่าเขา ความอิจฉาของพวกพี่ ๆ ทำให้ครอบครัวไม่สงบสุขอีกต่อไป และทำให้พ่อหัวใจแตกสลาย—ปฐก. 37:3, 4, 27-34
2. จากกาลาเทีย 5:19-21 ทำไมความอิจฉาถึงอันตรายมาก?
2 ความอิจฉา *อันตรายมาก ในคัมภีร์ไบเบิล ความอิจฉาเป็นหนึ่งใน “การกระทำที่เกิดจากความต้องการของร่างกายที่มีบาป” ซึ่งทำให้ไม่ได้รับรัฐบาลของพระเจ้า (อ่านกาลาเทีย 5:19-21) ความอิจฉามักจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดสิ่งที่ไม่ดีหลายอย่างตามมา เช่น การเป็นศัตรูกัน การทะเลาะกัน การหวาดระแวงกัน และการโมโหร้าย
3. เราจะคุยอะไรกันในบทความนี้?
3 ตัวอย่างของพี่ชายโยเซฟทำให้เห็นว่า ความอิจฉาทำลายความสัมพันธ์และความสงบสุขในครอบครัว ถึงเราจะไม่มีวันทำไม่ดีขนาดที่พวกพี่ชายของโยเซฟทำ แต่เราทุกคนไม่สมบูรณ์แบบและมีหัวใจที่ทรยศ หลายครั้งเราเลยรู้สึกอิจฉาคนอื่นบ้างเหมือนกัน (ยรม. 17:9) ให้เรามาดูตัวอย่างเตือนใจจากคัมภีร์ไบเบิลซึ่งช่วยให้เห็นว่า อะไรอาจเป็นสาเหตุที่ทำ ให้เราเกิดความอิจฉา หลังจากนั้น เราจะดูด้วยกันถึงวิธีเอาชนะความอิจฉาและวิธีที่เราจะมีส่วนช่วยให้เกิดสันติและความสงบสุข
อะไรทำให้อิจฉา?
4. ทำไมชาวฟีลิสเตียอิจฉาอิสอัค?
4 เห็นคนอื่นมีเงินหรือข้าวของเครื่องใช้ อิสอัครวยมาก ชาวฟีลิสเตียก็เลยอิจฉาเขา (ปฐก. 26:12-14) พวกเขาถึงกับเอาดินมาถมบ่อน้ำที่อิสอัคต้องใช้เลี้ยงฝูงสัตว์ (ปฐก. 26:15, 16, 27) คนในทุกวันนี้ก็เหมือนกัน พวกเขาอิจฉาคนที่มีเงินทองหรือข้าวของมากกว่าเขา พวกเขาไม่ใช่แค่อยากได้สิ่งที่คนอื่นมี แต่อยากให้คนนั้นสูญเสียสิ่งที่มีด้วย
5. ทำไมพวกผู้นำศาสนาอิจฉาพระเยซู?
5 เห็นคนอื่นเป็นที่ชื่นชอบ ผู้นำศาสนาชาวยิวอิจฉาพระเยซูเพราะผู้คนชอบท่านมาก (มธ. 7:28, 29) ทั้ง ๆ ที่พระเยซูเป็นตัวแทนของพระเจ้าและท่านสอนความจริง แต่พวกผู้นำศาสนากลับแพร่คำโกหกใส่ร้ายพระเยซูเพื่อทำให้ท่านเสียชื่อเสียง (มก. 15:10; ยน. 11:47, 48; 12:12, 13, 19) เราได้บทเรียนอะไรจากเรื่องนี้? เราต้องเอาชนะความอิจฉา ถ้ามีใครมีข้อดีบางอย่างที่ทำให้คนอื่นในประชาคมรักหรือชื่นชอบเขา เราก็จะไม่อิจฉาแต่จะพยายามเลียนแบบข้อดีของเขา—1 คร. 11:1; 3 ยน. 11
6. ดิโอเตรเฟสแสดงความอิจฉาอย่างไร?
6 เห็นคนอื่นได้รับสิทธิพิเศษ ในสมัยศตวรรษแรก ดิโอเตรเฟสอิจฉาคนที่นำหน้าในประชาคมคริสเตียน เขา “อยากเป็นใหญ่ในหมู่พี่น้อง” เขาเอาอัครสาวกยอห์นและพี่น้องที่นำหน้าในประชาคมไปพูดเสีย ๆ หาย ๆ (3 ยน. 9, 10) ถึงเราไม่มีทางจะทำถึงขนาดที่ดิโอเตรเฟสทำ แต่เราอาจเริ่มอิจฉาพี่น้องที่ได้รับสิทธิพิเศษหรือหน้าที่รับผิดชอบที่เราอยากได้ โดยเฉพาะถ้าเรารู้สึกว่าเราก็ทำหน้าที่นั้นได้ดีเหมือนกัน หรืออาจจะดีกว่าคนนั้นด้วยซ้ำ
7. ความอิจฉามีผลอย่างไรกับเรา?
7 ความอิจฉาเป็นเหมือนวัชพืชตัวร้าย พอเมล็ดมันเริ่มงอกรากในหัวใจเรา มันก็กำจัดได้ยาก นิสัยที่ไม่ดีอย่างอื่น เช่น นิสัยชอบแข่งขัน หยิ่ง และเห็นแก่ตัวจะยิ่งเร่งให้ความอิจฉาโตเร็วขึ้น ไม่ใช่แค่นั้น เหมือนกับวัชพืชทำให้ดอกไม้เบ่งบานสวยงามต่อไปไม่ได้ ความอิจฉาก็ทำให้เราไม่สามารถพัฒนาคุณลักษณะที่ดี เช่น ความรัก ความเมตตาสงสาร และความกรุณา ฉะนั้น เมื่อไรที่เราเห็นว่าความอิจฉาเริ่มงอกขึ้นในหัวใจ เราต้องรีบถอนรากมันออกไปทันที แล้วเราจะเอาชนะความอิจฉาได้อย่างไร?
ปลูกฝังความถ่อมและความพอเพียง
8. คุณลักษณะอะไรช่วยเราให้เอาชนะความอิจฉา?
8 เราจะเอาชนะความอิจฉาได้ถ้าเราให้ความถ่อมและความพอเพียงเติบโตในหัวใจเรา ถ้าหัวใจเราเต็มไปด้วยคุณลักษณะที่ดีสองอย่างนี้ มันก็จะไม่มีที่ว่างสำหรับความอิจฉา ความถ่อมจะช่วยเราไม่ให้คิดถึงตัวเองมากเกินไป คนถ่อมจะไม่คิดว่าตัวเองสมควรได้รับสิ่งต่าง ๆ มากกว่าคนอื่น (กท. 6:3, 4) คนที่พอเพียงจะพอใจในสิ่งที่เขามีอยู่และจะไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น (1 ทธ. 6:7, 8) เมื่อคนที่ถ่อมและรู้จักพอเพียงเห็นคนอื่นได้ดี เขาก็จะดีใจและมีความสุขไปกับคนนั้น
9. จากกาลาเทีย 5:16 และฟีลิปปี 2:3, 4 พลังบริสุทธิ์จะช่วยเราให้ทำอะไร?
9 เพื่อเราจะไม่อิจฉาแต่ถ่อมและรู้จักพอเพียง เราต้องได้รับความช่วยเหลือจากพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า กาลาเทีย 5:16; ฟีลิปปี 2:3, 4) พลังบริสุทธิ์จะช่วยเราให้ตรวจดูความคิดและความรู้สึกลึก ๆ ของเรา พระเจ้าจะช่วยเราให้เอาความรู้สึกและความคิดที่ไม่ดีออกไป และใส่ความรู้สึกและความคิดที่ดีเข้ามาแทน (สด. 26:2; 51:10) ตอนนี้ให้เรามาดูตัวอย่างของโมเสสและเปาโลที่เอาชนะความอิจฉาได้
(อ่าน10. เกิดเหตุการณ์อะไรที่อาจทำให้โมเสสรู้สึกอิจฉา? (ดูภาพหน้าปก)
10 โมเสสมีอำนาจมากในการดูแลประชาชนของพระเจ้า แต่เขาไม่ได้หวงสิทธิพิเศษนั้นเอาไว้คนเดียว เช่น มีครั้งหนึ่งที่พระยะโฮวาเอาพลังบริสุทธิ์บางส่วนที่อยู่กับโมเสสไปให้พวกผู้นำของอิสราเอลที่ยืนอยู่ใกล้เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ หลังจากนั้นไม่นาน โมเสสก็ได้ยินว่ามีผู้นำ 2 คนที่ไม่ได้ไปที่เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ได้รับพลังบริสุทธิ์ด้วยและทำท่าทางเหมือนผู้พยากรณ์ โยชูวาบอกโมเสสให้ห้ามพวกเขา แต่โมเสสทำอย่างไร? เขาไม่อิจฉา 2 คนนี้ที่พระยะโฮวาสนใจเป็นพิเศษ แต่เขาถ่อมและดีใจที่พวกเขาได้รับสิทธิพิเศษ (กดว. 11:24-29) เราเรียนอะไรได้จากโมเสส?
11. ผู้ดูแลจะเลียนแบบโมเสสได้อย่างไร?
11 ถ้าคุณเป็นผู้ดูแล คุณเคยถูกขอให้สอนคนอื่นให้ทำงานที่คุณรักมากไหม? เช่น คุณอาจชอบนำการศึกษาหอสังเกตการณ์มาก แต่ถ้าคุณต้องสอนพี่น้องอีกคนให้นำหอสังเกตการณ์เพื่อในที่สุดเขาจะนำแทนคุณได้ คุณจะรู้สึกอย่างไร? ถ้าคุณถ่อมเหมือนโมเสส คุณจะไม่รู้สึกว่าตัวเองสำคัญน้อยลง แต่จะดีใจที่ได้ช่วยพี่น้องของคุณ
12. พี่น้องหลายคนในทุกวันนี้แสดงความถ่อมและความพอเพียงอย่างไร?
12 ให้เรามาดูสถานการณ์ของพี่น้องชายหลายคนที่อายุมาก พวกเขาเป็นผู้ประสานงานคณะผู้ดูแลมาหลายสิบปี แต่พออายุ 80 พวกเขาก็เต็มใจหยุดทำหน้าที่นั้น ส่วนบางคนที่เป็นผู้ดูแลหมวด เมื่ออายุ 70 พวกเขาก็ถ่อมตัวยอมรับงานมอบหมายอย่างอื่น นอกจากนั้น ในช่วงไม่กี่ปีนี้ มีสมาชิกครอบครัวเบเธลทั่วโลกหลายคนที่ได้รับงานมอบหมายใหม่ในเขตประกาศ พี่น้องชายหญิงเหล่านี้ไม่รู้สึกโกรธหรือไม่พอใจคนที่ได้ทำงานมอบหมายแทนพวกเขา
13. อะไรอาจทำให้เปาโลอิจฉาอัครสาวก 12 คน?
13 อัครสาวกเปาโลเป็นอีกคนหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดีมากของคนที่ถ่อมและรู้จักพอเพียง เปาโลไม่ยอมให้ความอิจฉาเติบโตในหัวใจ ถึงเขาจะทำงานหนักมากในการรับใช้ แต่เขาพูดอย่างถ่อมตัวว่า “ผมต่ำต้อยที่สุดในพวกอัครสาวก และผมไม่เหมาะที่จะถูกเรียกว่าอัครสาวกด้วยซ้ำ” (1 คร. 15:9, 10) อัครสาวก 12 คนได้ติดตามพระเยซูในงานรับใช้ แต่กว่าเปาโลจะได้เป็นคริสเตียนก็หลังจากที่พระเยซูฟื้นขึ้นจากตายแล้ว ถึงต่อมาเขาจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “อัครสาวกที่ถูกส่งไปหาคนต่างชาติ” แต่เปาโลก็ไม่ได้รับสิทธิพิเศษที่จะเป็นหนึ่งในอัครสาวก 12 คน (รม. 11:13; กจ. 1:21-26) แทนที่เปาโลจะอิจฉา 12 คนนั้นที่ได้เป็นอัครสาวกที่ใกล้ชิดกับพระเยซู เขารู้จักพอใจในสิ่งที่เขาเป็น
14. ถ้าเราเป็นคนถ่อมและรู้จักพอเพียง เราจะทำอะไร?
14 ถ้าเราเป็นคนถ่อมและรู้จักพอเพียง เราจะเป็นเหมือนเปาโลและนับถือคนที่พระยะโฮวาให้อำนาจ (กจ. 21:20-26) พระยะโฮวาแต่งตั้งผู้ชายให้นำหน้าประชาคมคริสเตียน ถึงพวกเขาจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่พระองค์ก็ถือว่าพวกเขาเป็น “ของขวัญที่เป็นมนุษย์” (อฟ. 4:8, 11) ถ้าเรานับถือผู้ชายที่ได้รับการ แต่งตั้งเหล่านี้และถ่อมตัวทำตามการชี้นำของพวกเขา เราก็จะสนิทกับพระยะโฮวาเสมอและมีสันติสุขกับพี่น้อง
“ตั้งใจทำสิ่งที่สร้างสันติสุข”
15. เราต้องทำอะไร?
15 ถ้าเรายังยอมให้ความอิจฉาเติบโตท่ามกลางพวกเรา สันติสุขก็จะอยู่ไม่ได้ ฉะนั้น เราต้องถอนรากถอนโคนความอิจฉาออกจากใจเราให้หมด และไม่เพาะเมล็ดความอิจฉาในหัวใจคนอื่น นี่เป็นเรื่องสำคัญเพื่อเราจะเชื่อฟังคำสั่งของพระยะโฮวาที่ให้ “ทำสิ่งที่สร้างสันติสุขและสิ่งที่ส่งเสริมกันให้เข้มแข็งขึ้น” (รม. 14:19) เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยคนอื่นให้เอาชนะความอิจฉา? และเราเองจะมีส่วนช่วยให้เกิดสันติและความสงบสุขได้อย่างไร?
16. เราจะช่วยคนอื่นอย่างไรให้เอาชนะความอิจฉา?
16 ความคิดและการกระทำของเรามีผลอย่างมากต่อคนอื่น โลกนี้อยากให้เรา “โอ้อวด” สิ่งที่เรามี (1 ยน. 2:16) แต่ความคิดแบบนี้ทำให้เกิดความอิจฉา เพื่อเราจะไม่เพาะความอิจฉาให้เติบโตในหัวใจคนอื่น เราต้องพยายามไม่พูดถึงสิ่งที่เราอยากซื้อหรือสิ่งที่เรามีบ่อย ๆ อีกวิธีหนึ่งก็คือ เราต้องเจียมตัวเมื่อได้รับสิทธิพิเศษ ถ้าเราเอาแต่พูดถึงสิทธิพิเศษหรือหน้าที่มอบหมายของเราบ่อย ๆ เราก็กำลังเตรียมดินให้ความอิจฉาเติบโต แต่ถ้าเราสนใจคนอื่นจริง ๆ และชื่นชมสิ่งดีที่พวกเขาทำ เราก็ช่วยพวกเขาให้พอใจใน สิ่งที่เขาเป็น และเรากำลังสร้างสันติสุขและความเป็นหนึ่งเดียวในประชาคม
17. ในที่สุดครอบครัวของโยเซฟเป็นอย่างไร? และอะไรช่วยให้เป็นอย่างนั้น?
17 เราเอาชนะความอิจฉาได้ ให้เรามาดูตัวอย่างของพวกพี่ชายโยเซฟอีกที หลายปีหลังจากที่พวกพี่ ๆ ทำไม่ดีกับโยเซฟ พวกเขาก็เจอโยเซฟที่อียิปต์แต่จำโยเซฟไม่ได้ ก่อนโยเซฟจะเปิดเผยว่าตัวเองเป็นใคร เขาทดสอบพวกพี่ชายว่าจะเปลี่ยนไปบ้างไหม เขาสั่งให้จัดอาหารให้พี่น้องของเขา โดยให้เบนยามินน้องคนสุดท้องได้อาหารมากกว่าคนอื่น (ปฐก. 43:33, 34) แต่พวกพี่ชายไม่ได้อิจฉาเบนยามินเลย พวกเขาเป็นห่วงเบนยามินและยาโคบพ่อของพวกเขามาก (ปฐก. 44:30-34) เพราะพวกพี่ชายไม่มีความอิจฉาอีกต่อไป ในที่สุด พวกเขาเลยช่วยครอบครัวให้กลับมาสงบสุขได้อีกครั้ง (ปฐก. 45:4, 15) เหมือนกันกับเรา ถ้าเรากำจัดความอิจฉาออกจากใจอย่างถอนรากถอนโคน เราก็จะช่วยให้ครอบครัวและประชาคมมีสันติและสงบสุข
18. จากยากอบ 3:17, 18 จะเป็นอย่างไรถ้าเราพยายามสร้างบรรยากาศที่สงบสุขและมีสันติ?
18 พระยะโฮวาอยากให้เราเอาชนะความอิจฉาและสร้างสันติสุข เราต้องพยายามที่จะทำทั้งสองอย่าง อย่างที่เราเรียนมาแล้วเป็นไปได้ที่เราจะรู้สึกอิจฉา (ยก. 4:5) เราอยู่ในโลกที่กดดันให้เราเป็นคนขี้อิจฉา แต่ถ้าเราปลูกฝังความถ่อม ความพอเพียง และการรู้จักขอบคุณ หัวใจเราก็จะไม่มีที่ว่างให้กับความอิจฉา และเราจะมีส่วนในการสร้างบรรยากาศที่สงบสุขและมีสันติซึ่งเกิดผลเป็นความถูกต้องชอบธรรมและทำให้คุณลักษณะที่ดีต่าง ๆ สามารถเติบโตได้—อ่านยากอบ 3:17, 18
เพลง 130 ให้อภัย
^ วรรค 5 องค์การของพระยะโฮวาเป็นองค์การที่มีสันติสุข แต่ถ้าเรามีความอิจฉา เราก็กำลังทำลายความสงบสุขในองค์การ ในบทความนี้เราจะมาดูว่าอะไรทำให้เกิดความอิจฉา เราจะเอาชนะนิสัยนี้ได้อย่างไร และเราจะมีส่วนช่วยให้เกิดสันติและความสงบสุขได้อย่างไร
^ วรรค 2 อธิบายคำศัพท์ จากคัมภีร์ไบเบิล ความอิจฉาทำให้คนเราไม่ใช่แค่อยากได้สิ่งที่คนอื่นมี แต่อยากให้คนนั้นสูญเสียสิ่งที่มีด้วย
^ วรรค 61 คำอธิบายภาพ ในการประชุมของคณะผู้ดูแล ผู้ดูแลที่อายุมากซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาหอสังเกตการณ์ถูกขอให้ช่วยสอนผู้ดูแลที่อายุน้อยกว่า ถึงพี่น้องที่อายุมากจะชอบนำหอสังเกตการณ์มาก แต่เขาก็สนับสนุนการตัดสินใจของคณะผู้ดูแลโดยให้คำแนะนำที่มีประโยชน์และชมเชยพี่น้องที่อายุน้อยกว่าคนนั้นด้วยความจริงใจ