บทความศึกษา 39
ให้ความอ่อนโยนกลายเป็นจุดแข็งของคุณ
“ทาสของผู้เป็นนายไม่ควรทะเลาะวิวาทกับใคร แต่ต้องสุภาพอ่อนโยนกับทุกคน”—2 ทธ. 2:24
เพลง 120 เลียนแบบความอ่อนโยนของพระคริสต์
ใจความสำคัญ a
1. เพื่อนที่โรงเรียนหรือที่ทำงานอาจถามเราเรื่องอะไร?
คุณรู้สึกยังไงตอนที่เพื่อนที่โรงเรียนหรือที่ทำงานมาถามเรื่องความเชื่อของคุณ? คุณรู้สึกกังวลไหม? พวกเราส่วนใหญ่รู้สึกอย่างนั้น แต่คำถามของพวกเขาอาจทำให้เห็นว่าพวกเขาคิดยังไงและเชื่ออะไร และนั่นจะเปิดโอกาสให้เราประกาศข่าวดีกับพวกเขา แต่บางครั้งพวกเขาอาจถามเราเพราะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราเชื่อหรือแค่อยากเถียงกับเรา ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะพวกเขาอาจเคยได้ยินข่าวปลอมเกี่ยวกับความเชื่อของเรา (กจ. 28:22) และเราอยู่ใน “สมัยสุดท้าย” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หลายคนจะเป็นคน “ไม่ยอมใคร” และถึงกับ “ดุร้าย” ด้วยซ้ำ—2 ทธ. 3:1, 3
2. ทำไมเราอยากเป็นคนอ่อนโยน?
2 คุณอาจสงสัยว่า ‘แล้วถ้ามีคนมาเถียงกับฉันเรื่องความเชื่อ ฉันจะพูดแบบใจเย็น ๆ ได้ยังไง?’ สิ่งที่ช่วยคุณได้ก็คือความอ่อนโยน คนที่อ่อนโยนจะไม่อารมณ์เสียง่ายตอนที่มีคนมายั่วโมโหหรือเครียดเกินไปตอนที่ไม่แน่ใจว่าจะตอบยังไง (สภษ. 16:32) คุณอาจรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะอ่อนโยนตลอดเวลา แต่คุณทำได้แน่ ให้เรามาดูกันว่าคุณจะเป็นคนอ่อนโยนมากขึ้นได้ยังไง? ถ้ามีคนอยากเถียงกับคุณเรื่องความเชื่อ คุณจะตอบแบบอ่อนโยนได้ยังไง? และถ้าคุณเป็นพ่อแม่ คุณจะช่วยลูกยังไงให้อธิบายความเชื่อด้วยความอ่อนโยน?
เราจะเป็นคนอ่อนโยนมากขึ้นได้ยังไง?
3. ทำไมถึงบอกได้ว่าคนที่อ่อนโยนไม่ใช่คนอ่อนแอ? (2 ทิโมธี 2:24, 25)
3 คนที่อ่อนโยนคือคนที่เข้มแข็งไม่ใช่คนอ่อนแอ เพราะเขาต้องพยายามอย่างมากที่จะใจเย็นตอนที่เจอเรื่องที่ทำให้เครียด ความอ่อนโยนเป็นส่วน หนึ่งของ “ผลที่เกิดจากพลังของพระเจ้า” (กท. 5:22, 23) คำกรีกที่แปลว่า “อ่อนโยน” อาจใช้เพื่ออธิบายลักษณะของม้าป่าที่ถูกทำให้เชื่อง แม้มันจะเชื่องแต่มันก็มีกำลังและแข็งแรงมาก เราที่เป็นมนุษย์จะมีทั้งความอ่อนโยนและเข้มแข็งในเวลาเดียวกันได้ไหม? เราทำได้แต่ไม่ใช่ด้วยกำลังของเราเอง สิ่งสำคัญที่ช่วยเราได้ก็คือการอธิษฐานขอพลังบริสุทธิ์จากพระยะโฮวาและเราต้องขอพระองค์ช่วยเราให้ปลูกฝังคุณลักษณะที่ยอดเยี่ยมนี้ เราได้เห็นตัวอย่างมากมายของคนที่ทำสำเร็จมาแล้ว พยานพระยะโฮวาหลายคนได้แสดงความอ่อนโยนแม้ผู้ต่อต้านจะยั่วโมโหพวกเขาและนั่นทำให้คนที่เห็นเหตุการณ์รู้สึกดีกับพยานพระยะโฮวา (อ่าน 2 ทิโมธี 2:24, 25) แล้วคุณจะทำให้ความอ่อนโยนกลายเป็นจุดแข็งของคุณได้ยังไง?
4. เราได้เรียนอะไรจากตัวอย่างของอิสอัคในเรื่องความอ่อนโยน?
4 คัมภีร์ไบเบิลมีหลายตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าความอ่อนโยนเป็นคุณลักษณะที่มีค่ามากจริง ๆ ให้เรามาดูตัวอย่างของอิสอัคด้วยกัน ตอนที่เขาอาศัยอยู่ในเมืองเกราร์ซึ่งเป็นเขตของพวกฟีลิสเตีย พวกเพื่อนบ้านขี้อิจฉามาถมบ่อน้ำทุกบ่อที่คนรับใช้ของอับราฮัมพ่อของเขาเคยขุดไว้ แต่แทนที่จะไปเอาเรื่องคนพวกนั้นเพื่อปกป้องสิทธิ์ของเขา อิสอัคกลับย้ายบ้านไปอยู่ไกลออกไปและขุดบ่อน้ำขึ้นใหม่ (ปฐก. 26:12-18) แต่พวกฟีลิสเตียก็มาอ้างอีกว่าบ่อน้ำเป็นของพวกเขา ถึงอิสอัคเจอแบบนั้นเขาก็ยังพยายามรับมือแบบใจเย็น ๆ (ปฐก. 26:19-25) อะไรช่วยเขาให้ยังคงอ่อนโยนได้แม้จะมีคนมาหาเรื่องเขาขนาดนั้น? อิสอัคคงได้เห็นตัวอย่างวิธีแก้ปัญหาแบบใจเย็น ๆ ของอับราฮัม และได้ดูตัวอย่างของซาราห์ซึ่งมี “ใจที่สงบและอ่อนโยน”—1 ปต. 3:4-6; ปฐก. 21:22-34
5. ตัวอย่างอะไรแสดงให้เห็นว่าพ่อแม่ที่เป็นคริสเตียนสอนลูกให้เป็นคนอ่อนโยนได้?
5 พวกคุณที่เป็นพ่อแม่ คุณก็สอนลูกให้เป็นคนอ่อนโยนได้ ให้เรามาดูตัวอย่างของแม็กเซนส์ที่อายุ 17 แม็กเซนส์ต้องเจอกับคนขี้โมโหทั้งในโรงเรียนและในเขตประกาศ พ่อแม่ของแม็กเซนส์พยายามสอนเขาให้เป็นคนอ่อนโยน พวกเขาบอกว่า “ตอนนี้ลูกเข้าใจแล้วว่ามันไม่ยากหรอกที่จะระเบิดอารมณ์ออกไป แต่เพื่อจะควบคุมตัวเองและระงับอารมณ์ได้ต้องใช้ความพยายามและต้องเข้มแข็งมากจริง ๆ” น่าดีใจที่แม็กเซนส์เรียนรู้ที่จะเป็นคนอ่อนโยนเสมอ
6. การอธิษฐานช่วยเราให้แสดงความอ่อนโยนมากขึ้นได้ยังไง?
6 เราจะทำยังไงถ้าเจอเรื่องที่น่าโมโหมาก? อย่างเช่น ถ้ามีคนมาว่าพระยะโฮวาหรือพูดไม่ดีเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล ถ้าเจอแบบนั้นให้เราขอพลังบริสุทธิ์จากพระยะโฮวาและขอสติปัญญาจากพระองค์ว่าควรแสดงความอ่อนโยนยังไงในสถานการณ์แบบนั้น แล้วถ้าเราตอบโต้คนนั้นในแบบที่ไม่ควรทำล่ะ? ก็ให้เราอธิษฐานอีกครั้งและให้คิดว่าคราวหน้าเราจะทำให้ดีกว่านี้ได้ยังไง เรามั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะให้พลังบริสุทธิ์กับเราเพื่อจะสามารถควบคุมอารมณ์และแสดงความอ่อนโยนได้
7. การพยายามจำข้อคัมภีร์บางข้อจะช่วยเรายังไงให้ควบคุมตัวเองได้? (สุภาษิต 15:1, 18)
7 ข้อคัมภีร์บางข้อช่วยเราให้สามารถควบคุมคำพูดของเราได้ตอนที่เราถูกยั่วโมโห และพลังบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาจะช่วยให้เรานึกถึงข้อคัมภีร์เหล่านั้น (ยน. 14:26) เช่น หลักการบางข้อที่เราอ่านในสุภาษิตจะช่วยให้เราแสดงความอ่อนโยน (อ่านสุภาษิต 15:1, 18) นอกจากนั้น ยังมีข้อคัมภีร์อื่น ๆ อีกในหนังสือสุภาษิตที่พูดถึงประโยชน์ของการควบคุมตัวเองใน สถานการณ์ที่ถูกกดดัน—สภษ. 10:19; 17:27; 21:23; 25:15
ความเข้าใจลึกซึ้งช่วยให้เราเป็นคนอ่อนโยนได้ยังไง?
8. ทำไมเราต้องรู้ว่าคนที่มาถามเกี่ยวกับความเชื่อของเรา เขาถามด้วยเหตุผลอะไร?
8 อีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เราเป็นคนอ่อนโยนคือการมีความเข้าใจลึกซึ้ง (สภษ. 19:11) คนที่มีความเข้าใจลึกซึ้งจะควบคุมตัวเองได้เมื่อมีคนมาพูดไม่ดีเกี่ยวกับความเชื่อของเขา คำถามหรือคำพูดของคนเหล่านั้นอาจเปรียบเหมือนภูเขาน้ำแข็ง ปกติแล้วเราเห็นแค่ยอดเล็ก ๆ ของภูเขาน้ำแข็งเหนือผิวน้ำเท่านั้น แต่ว่าส่วนใหญ่ของภูเขาน้ำแข็งที่เรามองไม่เห็นอยู่ใต้ผิวน้ำ ดังนั้น ก่อนเราจะตอบคนที่มาถามเกี่ยวกับความเชื่อของเรา เราต้องยอมรับว่าเราอาจไม่รู้ว่าเขาถามเราด้วยเหตุผลอะไร—สภษ. 16:23
9. กิเดโอนอ่อนโยนและแสดงว่ามีความเข้าใจที่ลึกซึ้งยังไงตอนที่เขาตอบคนในตระกูลเอฟราอิม?
9 ให้เรามาดูวิธีที่กิเดโอนตอบคนในตระกูลเอฟราอิม คนในตระกูลนี้ต่อว่ากิเดโอนแรงมากว่าทำไมถึงไม่ชวนพวกเขาไปสู้กับชาวมีเดียน แต่อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาโกรธขนาดนี้? อาจเป็นเพราะพวกเขาหยิ่งไหม? ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุผลอะไร กิเดโอนมีความเข้าใจลึกซึ้งและพยายามคิดถึงความรู้สึกของคนใน ตระกูลเอฟราอิม กิเดโอนเลยตอบพวกเขาอย่างอ่อนโยน ผลก็คือ “พวกเขาก็อารมณ์เย็นลง”—วนฉ. 8:1-3
10. เราควรตอบยังไงถ้ามีคนมาถามเรื่องความเชื่อของเรา? (1 เปโตร 3:15)
10 บางครั้งเพื่อนที่โรงเรียนหรือเพื่อนที่ทำงานอาจมาถามเราเกี่ยวกับมาตรฐานด้านศีลธรรมในคัมภีร์ไบเบิล เราต้องพยายามเต็มที่ที่จะอธิบายกับเขาว่าทำไมมาตรฐานในคัมภีร์ไบเบิลถึงดีที่สุด แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็ต้องเคารพความคิดเห็นของเขาด้วย (อ่าน 1 เปโตร 3:15) ดังนั้น แทนที่เราจะมองว่าเขาถามเพราะอยากหาเรื่องหรืออยากลองภูมิเรา ให้เราคิดว่าคำถามของเขาช่วยให้เรารู้จักเขามากขึ้น แต่ไม่ว่าเหตุผลของคนที่มาถามคืออะไร เราก็จะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะตอบอย่างอ่อนโยน คำตอบของเราอาจทำให้เขากลับไปคิดว่าสิ่งที่เขาเชื่อมีเหตุผลไหม และถึงเขาจะถามแบบประชดและไม่มีมารยาท แต่เราก็อยากจะตอบอย่างอ่อนโยนเสมอ—รม. 12:17
11-12. (ก) เราควรคิดถึงอะไรบ้างก่อนที่จะตอบคำถามคนอื่น? (ดูภาพด้วย) (ข) การทำแบบนี้จะเปิดโอกาสให้เราคุยกับคนอื่นมากขึ้นได้ยังไง?
11 เมื่อมีคนมาถามเรา สำคัญมากที่เราจะคิดว่าเขาถามด้วยเหตุผลอะไร สมมุติว่าเพื่อนร่วมงานมาถามว่าทำไมเราถึงไม่ฉลองวันเกิด ให้ลองคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่เขาอาจจะสงสัยว่าพยานทำอะไรสนุก ๆ ไม่ได้เลย หรือเขาอาจคิดว่าการที่เราไม่ฉลองวันเกิดจะไปทำลายบรรยากาศในที่ทำงาน ถ้าเป็นแบบนั้นเราก็อาจจะช่วยให้เขากังวลน้อยลงโดยขอบคุณที่เขาสนใจในเพื่อนร่วมงานคนอื่น และทำให้เขามั่นใจว่าเราเองก็อยากจะสร้างบรรยากาศที่ดีในที่ทำงานด้วย การทำแบบนี้อาจช่วยให้เรามีโอกาสดี ๆ ที่จะได้คุยกับเขาว่าคัมภีร์ไบเบิลพูดถึงวันเกิดยังไงบ้าง
12 เราอาจใช้วิธีคล้าย ๆ กันเมื่อมีคนมาถามเรื่องที่อาจเกิดความขัดแย้ง เช่น เพื่อนที่โรงเรียนอาจมาบอกว่าสิ่งที่พยานพระยะโฮวาคิดเกี่ยวกับการรักร่วมเพศนั้นไม่ถูก การที่เขาถามแบบนั้นอาจเป็นเพราะเขาเข้าใจผิดเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวาไหม? เขาอาจจะมีเพื่อนหรือญาติที่เป็นคนรักร่วมเพศหรือเปล่า? หรือเขาอาจจะคิดว่าเราเกลียดคนรักร่วมเพศไหม? ไม่ว่าจะเป็นเพราะอะไร เราต้องทำให้เขามั่นใจว่าเรารักทุกคน และเรารู้ว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกใช้ชีวิตของตัวเอง b (1 ปต. 2:17) ถ้าเราทำอย่างนั้นแล้ว เราก็อาจคุยกับเขาว่าการทำตามมาตรฐานในคัมภีร์ไบเบิลมีประโยชน์อะไรบ้าง
13. เมื่อคุณเจอคนที่คิดว่าคนที่เชื่อเรื่องพระเจ้าเป็นพวกงมงาย คุณจะช่วยเขายังไง?
13 ถ้าเราเจอกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับความเชื่อของเราเลย เราไม่ควรด่วนสรุปว่าเรารู้ทั้งหมดเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเชื่อ (ทต. 3:2) ตัวอย่างเช่น ถ้าเพื่อนที่โรงเรียนมาบอกว่าคนที่เชื่อเรื่องพระเจ้าเป็นพวกงมงาย คุณควรสรุปเองไหมว่าเขาเชื่อในวิวัฒนาการและมีความรู้เยอะมากเกี่ยวกับเรื่องนี้? จริง ๆ แล้วที่เขาบอกว่าพวกที่เชื่อเรื่องพระเจ้าเป็นพวกงมงาย เขาอาจแค่พูดตามคนอื่นก็ได้ แทนที่จะพยายามเถียงกับเขาเรื่องวิวัฒนาการ คุณควรให้ข้อมูลกับเขาเพื่อให้เขาคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น เช่น คุณอาจให้เขาดูข้อมูลในเว็บไซต์ jw.org เกี่ยวกับหลักฐานที่ว่าพระเจ้าสร้างสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ ไม่แน่ว่าพอเขาได้อ่านบทความหรือดูวีดีโอในเว็บไซต์ เขาอาจจะอยากคุยกับคุณมากขึ้นก็ได้ การที่คุณเคารพความคิดเห็นของคนอื่นอาจช่วยให้เขาอยากรู้จักคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้นได้
14. นีลใช้เว็บไซต์ของเรายังไงเพื่อช่วยเพื่อนไม่ให้เข้าใจพยานฯแบบผิด ๆ?
14 วัยรุ่นคนหนึ่งที่ชื่อนีลใช้เว็บไซต์ของเราเพื่อช่วยคนอื่นไม่ให้เข้าใจพยานแบบผิด ๆ เขาบอกว่า “มีเพื่อนคนหนึ่งบอกว่าที่ผมไม่เชื่อวิทยาศาสตร์ก็เพราะดันไปเชื่อคัมภีร์ไบเบิลที่เป็นแค่นิยายแทนที่จะเชื่อสิ่งที่เป็นความจริง” แถมเพื่อนคนนี้ยังไม่ยอมให้นีลอธิบายเกี่ยวกับความเชื่อของตัวเอง พอเป็นแบบนั้น นีลก็เลยให้เขาดูเว็บไซต์ jw.org ในส่วน “วิทยาศาสตร์กับคัมภีร์ไบเบิล” ต่อมานีลก็สังเกตว่าเพื่อนของเขาเข้าไปดูในเว็บไซต์จริง ๆ แล้วนีลก็มีโอกาสได้คุยกับเขาเรื่องต้นกำเนิดของชีวิต คุณเองก็อาจประสบความสำเร็จแบบนี้ได้เหมือนกัน
เตรียมด้วยกันเป็นครอบครัว
15. พ่อแม่จะสอนลูกยังไงให้รู้วิธีตอบอย่างอ่อนโยนตอนที่ถูกเพื่อนที่โรงเรียนถามหรือพูดไม่ดีเกี่ยวกับความเชื่อ?
15 พ่อแม่สามารถสอนลูกให้รู้วิธีตอบอย่างอ่อนโยนได้ตอนที่ถูกเพื่อนที่โรงเรียนถามหรือพูดไม่ดีเกี่ยวกับความเชื่อ (ยก. 3:13) พ่อแม่บางคนจะใช้ช่วงการนมัสการประจำครอบครัวซ้อมกับลูก ๆ ก่อนว่าจะพูดยังไง พวกเขาจะพูดถึงเรื่องที่อาจจะมีคนถามที่โรงเรียน แล้วก็จะคุยกับลูก ๆ ว่าจะตอบคำถามเหล่านั้นยังไงดี หลังจากนั้น พ่อแม่ก็จะสาธิตให้ลูกดูและสอนลูก ๆ ด้วยว่าจะพูดอย่างอ่อนโยนและน่าฟังได้ยังไงบ้าง—ดูกรอบ “ การซ้อมด้วยกันช่วยครอบครัวของคุณได้”
16-17. การซ้อมด้วยกันจะช่วยลูก ๆ ยังไง?
16 การซ้อมด้วยกันเป็นครอบครัวจะช่วยลูก ๆ ให้มั่นใจในสิ่งที่พวกเขาเชื่อและอธิบายให้คนอื่นฟังได้ อย่างหนึ่งที่ช่วยได้ก็คือบทความชุด “หนุ่มสาวถามว่า” และส่วนที่ชื่อว่า “ฝึกความคิดสำหรับวัยรุ่น” ในเว็บไซต์ jw.org สองส่วนนี้ออกแบบมาเพื่อช่วยให้วัยรุ่นมั่น ใจในความเชื่อมากขึ้นและตอบเป็นคำพูดของตัวเองได้ ถ้าทั้งครอบครัวใช้สองส่วนนี้ในการนมัสการประจำครอบครัวด้วยกัน ทุกคนก็จะรู้วิธีที่จะอธิบายความเชื่อในแบบที่อ่อนโยนและน่าฟัง
17 วัยรุ่นคนหนึ่งที่ชื่อแมทธิวบอกว่าการซ้อมด้วยกันเป็นครอบครัวช่วยเขาได้มากจริง ๆ ตอนที่นมัสการประจำครอบครัวเขากับพ่อแม่จะค้นคว้าเรื่องที่เพื่อนในห้องเรียนมักจะถาม เขาเล่าว่า “ผมกับพ่อแม่จะคิดถึงคำถามที่เพื่อน ๆ อาจจะถามขึ้นมา และเราก็จะค้นคว้าด้วยกันและลองซ้อมด้วยกันว่าจะตอบยังไงดี มันช่วยผมให้เห็นเหตุผลชัดเจนว่าทำไมผมถึงเชื่ออย่างนั้น พอเป็นแบบนี้ผมก็รู้สึกมั่นใจ และรู้สึกว่าง่ายขึ้นเยอะเลยที่จะตอบคนอื่นแบบอ่อนโยน”
18. จากโคโลสี 4:6 อะไรเป็นสิ่งที่สำคัญ?
18 ถึงเราจะอธิบายอย่างชัดเจนและมีเหตุผล แต่ก็อาจไม่ใช่ทุกคนที่อยากฟังเรา สิ่งที่จะช่วยได้ก็คือเราต้องพูดแบบน่าฟังและอ่อนโยน (อ่านโคโลสี 4:6) การพูดถึงความเชื่อของเรากับคนอื่นอาจเทียบได้กับการโยนลูกบอล เราอาจโยนแบบเบา ๆ หรือขว้างใส่แรง ๆ ก็ได้ ถ้าเราโยนแบบเบา ๆ คนที่รับก็จะรับได้ง่ายกว่าและอาจอยากเล่นกับเราต่อ เหมือนกันถ้าเราอธิบายความเชื่อแบบที่น่าฟังและอ่อนโยน คนที่เราคุยด้วยก็อาจอยากฟังเรามากกว่าและอยากคุยกับเราต่อ แต่ก็เป็นไปได้ที่เราจะเจอคนที่ดูถูกความเชื่อของเราหรือคุยกับเราแค่เพราะอยากเอาชนะ ถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็ไม่จำเป็นต้องคุยกับเขาต่อ (สภษ. 26:4) แต่นั่นก็คงเป็นแค่ไม่กี่คน คนส่วนใหญ่น่าจะอยากฟังถ้าเราพูดแบบอ่อนโยน
19. ทำไมเราควรแสดงความอ่อนโยนตอนที่อธิบายความเชื่อของเรา?
19 เราเห็นแล้วว่าถ้าเราพยายามเป็นคนอ่อนโยน เราจะได้ประโยชน์มากจริง ๆ ให้คุณขอความเข้มแข็งจากพระยะโฮวาเพื่อคุณจะอ่อนโยนได้ตอนที่มีคนมาว่าคุณหรือมีคนมาถามเรื่องที่อาจเกิดความขัดแย้ง ให้จำไว้ว่าถึงมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน แต่ถ้าคุณเป็นคนอ่อนโยน คุณก็จะช่วยไม่ให้เกิดการโต้เถียงหรือทะเลาะกัน นอกจากนั้น ถ้าคุณตอบแบบอ่อนโยนและด้วยความนับถือ คุณก็อาจช่วยให้คนที่ถามคุณมองพยานฯและความจริงในคัมภีร์ไบเบิลดีขึ้น ให้ “พร้อมเสมอที่จะอธิบาย” เรื่องความเชื่อของคุณ และ “ให้ทำอย่างสุภาพและด้วยความนับถือจากใจ” (1 ปต. 3:15) ขอให้คุณพยายามทำให้ความอ่อนโยนกลายเป็นจุดแข็งของคุณ
เพลง 88 โปรดสอนให้รู้จักแนวทางของพระองค์
a บทความนี้มีคำแนะนำดี ๆ ว่าเราจะอธิบายความเชื่อแบบอ่อนโยนได้ยังไงตอนที่มีคนถามหรือยั่วโมโหเรา
b ดูคำแนะนำที่ดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ในบทความ “คัมภีร์ไบเบิลบอกอย่างไรเกี่ยวกับการรักร่วมเพศ?” ในตื่นเถิด! ปี 2016 ฉบับที่ 4
c ลองดูข้อมูลดี ๆ ในบทความชุด “หนุ่มสาวถามว่า” และส่วนที่ชื่อว่า “คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวา” ในเว็บไซต์ jw.org