บทความศึกษา 29
คุณพร้อมแล้วไหมที่จะเจอความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่?
“คุณเองก็ต้องเตรียมพร้อมอย่างนั้น”—มธ. 24:44
เพลง 150 ขอให้มาหาพระเจ้าเพื่อจะรอด
ใจความสำคัญ a
1. ทำไมถึงฉลาดที่จะเตรียมตัวให้พร้อมก่อนจะเกิดภัยพิบัติ?
การเตรียมตัวให้พร้อมช่วยให้รอดชีวิต เช่น เมื่อเกิดภัยพิบัติ คนที่เตรียมตัวพร้อมมีแนวโน้มจะรอดชีวิตมากกว่าและสามารถช่วยคนอื่นได้มากกว่า องค์กรด้านมนุษยธรรมแห่งหนึ่งในยุโรปบอกว่า “การเตรียมตัวอย่างดีเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต”
2. ทำไมเราต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่? (มัทธิว 24:44)
2 “ความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่” จะเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน แต่มันจะต่างจากภัยพิบัติอื่น ๆ เพราะเรารู้ว่ามันจะมาแน่ ๆ (มธ. 24:21) เมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อนพระเยซูเตือนทุกคนที่ติดตามท่านว่าต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่ (อ่านมัทธิว 24:44) ถ้าเราเตรียมตัวให้พร้อม มันก็ง่ายขึ้นที่เราจะอดทนได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้นและจะช่วยคนอื่นให้อดทนได้เหมือนกัน—ลก. 21:36
3. ความอดทน ความเห็นอกเห็นใจ และความรักช่วยเตรียมเราให้พร้อมยังไงสำหรับความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่?
3 ให้เรามาดูคุณลักษณะ 3 อย่างที่จะช่วยเตรียมเราให้พร้อมสำหรับความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่ ถ้าตอนนั้นองค์การบอกให้เราประกาศข่าวการพิพากษาและเราเจอการต่อต้านล่ะ เราจะทำยังไง? เราต้องมีความอดทนเพื่อจะเชื่อฟังพระยะโฮวาต่อไปและไว้วางใจว่าพระองค์จะปกป้องเรา (วว. 16:21) ถ้าพี่น้องสูญเสียทรัพย์สินทั้งหมด เราจะทำยังไง? เราต้องมีความเห็นอกเห็นใจเพื่อที่เราจะอยากให้ความช่วยเหลือพวกเขา (ฮบก. 3:17, 18) และถ้าเราถูกกลุ่มชาติต่าง ๆ โจมตี แล้วเราต้องอยู่ร่วมกับพี่น้องหลายคนล่ะ? เราก็ต้องรักพี่น้องให้มาก ๆ เพื่อจะผ่านช่วงที่ยากลำบากนั้นไปได้—อสค. 38:10-12
4. คัมภีร์ไบเบิลบอกเรายังไงให้พยายามมีความอดทน ความเห็นอกเห็นใจ และความรักมากขึ้นเรื่อย ๆ?
4 คัมภีร์ไบเบิลบอกให้เราพยายามมีความอดทน ความเห็นอกเห็นใจ และความรักมากขึ้นเรื่อย ๆ ลูกา 21:19 บอกว่า “ให้อดทนจนถึงที่สุด แล้วคุณจะได้ชีวิต” ที่โคโลสี 3:12 บอกว่า “ให้ปลูกฝังความเห็นอกเห็นใจ” และที่ 1 เธสะโลนิกา 4:9, 10 บอกว่า “พระเจ้าสอนพวกคุณให้รักกัน . . . พี่น้องครับ เราขอสนับสนุนพวกคุณให้ทำอย่างนั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ” ข้อคัมภีร์ทั้งหมดนี้เขียนถึงสาวกที่มีความอดทน เห็นอกเห็นใจ และแสดงความรักอยู่แล้ว แต่พวกเขาก็ยังต้องแสดงคุณลักษณะเหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เราเองก็ต้องทำแบบนั้นเหมือนกัน ให้เรามาดูกันว่าคริสเตียนยุคแรกแสดงคุณลักษณะเหล่านี้ยังไง และเราจะเลียนแบบพวกเขาได้ยังไง การทำแบบนี้จะช่วยให้เราพร้อมสำหรับความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่
ฝึกที่จะอดทนมากขึ้น
5. คริสเตียนในยุคแรกอดทนความยากลำบากได้ยังไง?
5 คริสเตียนในยุคแรกต้องมีความอดทน (ฮบ. 10:36) นอกจากจะต้องอดทนกับปัญหาทั่ว ๆ ไปที่คนส่วนใหญ่เจอ พวกเขายังต้องเจอความยากลำบากมากกว่านั้นด้วย หลายคนถูกข่มเหงไม่ใช่แค่จากพวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวและจากเจ้าหน้าที่โรมัน แต่จากครอบครัวของตัวเองด้วยซ้ำ (มธ. 10:21) บางครั้งคริสเตียนเหล่านี้ต้องสู้กับอิทธิพลของพวกทรยศพระเจ้าและคำสอนเท็จของคนพวกนั้นที่สร้างความแตกแยก (กจ. 20:29, 30) แม้จะเจอปัญหาทั้งหมดนี้ คริสเตียนเหล่านี้ก็อดทนได้และยังซื่อสัตย์เสมอ (วว. 2:3) พวกเขาอดทนได้ยังไง? พวกเขาคิดถึงตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิล เช่น โยบ (ยก. 5:10, 11) และพวกเขาก็อธิษฐานขอกำลังจากพระยะโฮวา (กจ. 4:29-31) นอกจากนั้น คริสเตียนเหล่านี้คิดถึงผลดีถ้าพวกเขาแสดงความอดทน—กจ. 5:41
6. คุณได้เรียนอะไรจากสิ่งที่เมริต้าทำเพื่อจะอดทนการต่อต้าน?
6 เราก็อดทนได้เหมือนกันถ้าเราดูตัวอย่างความอดทนของคนในคัมภีร์ไบเบิลและในหนังสือต่าง ๆ ขององค์การ แล้วคิดใคร่ครวญ เมริต้าจากแอลเบเนียได้ทำแบบนั้น เธอเจอการต่อต้านที่รุนแรงจากครอบครัว พวกเขาถึงกับทำร้ายเธอ เธอพูดถึงสิ่งที่ช่วยให้อดทนว่า “ตอนที่อ่านเรื่องราวของโยบ ฉันประทับใจจริง ๆ โยบเจอความทุกข์หนักมากแถมยังไม่รู้เลยว่าใครทำให้เขาต้องเจอแบบนี้ แต่เขาก็ยังบอกว่า ‘ผมจะซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าจนวันตาย!’ (โยบ 27:5) ฉันเห็นเลยว่าโยบเจอหนักกว่าฉันเยอะ เพราะอย่างน้อยฉันก็รู้ว่าใครทำให้ฉันต้องเจอการต่อต้านแบบนี้”
7. ถึงแม้เราอาจยังไม่เจอปัญหาหนัก แต่เราควรทำอะไร?
7 นอกจากนั้น เราจะฝึกให้ตัวเองอดทนมากขึ้นได้โดยอธิษฐานบอกพระยะโฮวาบ่อย ๆ ว่าเรากังวลเรื่องอะไร (ฟป. 4:6; 1 ธส. 5:17) บางทีคุณอาจยังไม่เจอปัญหาหนักในตอนนี้ ถึงจะเป็นอย่างนั้นคุณก็ขอความช่วยเหลือจากพระองค์ได้เมื่อคุณรู้สึกสับสน ไม่สบายใจ หรือไม่รู้จะทำยังไง ถ้าคุณพยายามตั้งแต่ตอนนี้ที่จะขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาทุกครั้งที่เจอปัญหาเล็ก ๆ ในแต่ละวัน เมื่อถึงเวลาที่คุณเจอปัญหาที่หนักกว่าในอนาคต คุณก็จะไม่ลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากพระองค์และมั่นใจว่าพระองค์รู้ว่าจะต้องช่วยคุณเมื่อไหร่และช่วยคุณยังไง—สด. 27:1, 3
8. ตัวอย่างของมีร่าแสดงให้เห็นยังไงว่าการอดทนความยากลำบากตอนนี้จะช่วยให้เราอดทนความยากลำบากที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้? (ยากอบ 1:2-4) (ดูภาพด้วย)
8 ถ้าเราอดทนความยากลำบากที่เจอในตอนนี้ได้ ก็ยิ่งเป็นไปได้ที่เราจะอดทนตอนที่เจอความทุกข์ยากลำบาก ครั้งใหญ่ในอนาคต (รม. 5:3) ทำไมถึงบอกแบบนั้น? พี่น้องหลายคนรู้สึกว่าทุกครั้งที่พวกเขาอดทนได้ มันก็ช่วยพวกเขาให้อดทนได้อีกเมื่อเจอปัญหาครั้งต่อไป เมื่อพวกเขาอดทนได้เพราะพระยะโฮวาช่วย พวกเขาก็ยิ่งเชื่อว่าถ้าเจอปัญหาอีก พระยะโฮวาจะอยากช่วยพวกเขาแน่ และความเชื่อแบบนั้นจะช่วยให้พวกเขาอดทนความยากลำบากที่ต้องเจอในวันข้างหน้า (อ่านยากอบ 1:2-4) มีร่าซึ่งเป็นไพโอเนียร์ในแอลเบเนียรู้สึกว่าการที่เธอสามารถอดทนกับปัญหาที่เคยเกิดขึ้นช่วยให้เธออดทนกับปัญหาที่เจอตอนนี้ได้ เธอยอมรับว่าบางครั้งก็อดคิดไม่ได้ว่าคงมีแค่เธอเท่านั้นที่เจอปัญหาในชีวิตเยอะเหลือเกิน แต่เธอก็คิดว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมาพระยะโฮวาช่วยเธอยังไงบ้าง เธอเลยบอกตัวเองว่า “อย่ายอมแพ้ อดทนและซื่อสัตย์ไว้ ฉันอดทนมาได้ตั้งหลายปีอย่าให้มันสูญเปล่า พระยะโฮวาอุตส่าห์ช่วยฉันให้สู้ได้มาตลอด” คุณเองก็เหมือนกัน ให้คิดว่าที่ผ่านมาพระยะโฮวาช่วยคุณยังไงให้อดทนได้ ให้มั่นใจว่าพระองค์เห็นทุกครั้งที่คุณต้องอดทน และพระองค์จะให้รางวัลคุณแน่นอน (มธ. 5:10-12) และเมื่อความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่เริ่มต้น คุณก็จะรู้ว่าจะอดทนได้ยังไง และจะตั้งใจแน่วแน่ต่อไปที่จะอดทน
แสดงความเห็นอกเห็นใจ
9. พี่น้องในเมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรียแสดงความเห็นอกเห็นใจยังไง?
9 ให้เรามาดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับคริสเตียนในยูเดียตอนที่เกิดการขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ หลังจากพี่น้องในเมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรียได้ยินเรื่องการขาดแคลนอาหาร พวกเขาก็รู้สึกเห็นอกเห็นใจพี่น้องในยูเดียมาก แต่พวกเขาไม่ใช่แค่รู้สึกอย่างเดียวเท่านั้นพวกเขาลงมือช่วยพี่น้องเหล่านั้นด้วย พวกเขา “ตกลงกันว่าจะส่งความช่วยเหลือไปให้พี่น้องที่อยู่ในแคว้นยูเดียตามที่แต่ละคนจะให้ได้” (กจ. 11:27-30) แม้พี่น้องที่เจอการขาดแคลนอาหารจะอยู่ไกลมาก แต่พี่น้องในอันทิโอกก็ตั้งใจจะช่วย—1 ยน. 3:17, 18
10. มีวิธีไหนบ้างที่เราจะแสดงความเห็นอกเห็นใจตอนที่พี่น้องเจอภัยพิบัติ? (ดูภาพด้วย)
10 เราเองก็เห็นอกเห็นใจพี่น้องที่เจอภัยพิบัติได้ เราอาจลงมือช่วยพี่น้องทันทีได้โดยถามผู้ดูแลว่าเราจะอาสาไปช่วยได้ไหม โดยบริจาคเงินเพื่องานทั่วโลก หรือโดยอธิษฐานเผื่อพี่น้องเหล่านั้นที่เจอภัยพิบัติ b (สภษ. 17:17) เช่น ในปี 2020 มีการตั้งคณะกรรมการบรรเทาทุกข์มากกว่า 950 คณะทั่วโลกเพื่อดูแลพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เราทุกคนเห็นค่าและรู้สึกขอบคุณพี่น้องที่มีส่วนช่วยในงานบรรเทาทุกข์เหล่านี้จริง ๆ พวกเขาเห็นอกเห็นใจพี่น้องที่ได้รับผลกระทบ พวกเขาก็เลยขนส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ ให้ความช่วยเหลือด้านความเชื่อ และบางครั้งถึงกับไปซ่อมหรือสร้างบ้านและหอประชุมที่ได้รับความเสียหาย—เทียบกับ 2 โครินธ์ 8:1-4
11. การแสดงความเห็นอกเห็นใจทำให้พระยะโฮวาได้รับการยกย่องสรรเสริญยังไง?
11 เมื่อเราแสดงความเห็นอกเห็นใจพี่น้องที่เจอภัยพิบัติ คนอื่น ๆ ก็จะสังเกตเห็นความเสียสละของเรา ตัวอย่างเช่น ในปี 2019 พายุเฮอร์ริเคนดอเรียนทำลายหอประชุมของเราในบาฮามาส ตอนที่สร้างหอประชุมนั้นขึ้นมาใหม่พี่น้องไปถามผู้รับเหมาคนหนึ่งที่ไม่ใช่พยานฯ ว่าจะคิดราคาเท่าไหร่สำหรับงานบางอย่างที่เราจะจ้างให้เขาทำ ผู้ชายคนนั้นบอกว่า “คุณเอาอุปกรณ์กับวัสดุและคนงานของผมไปใช้ฟรี ๆ ได้เลย . . . ผมอยากทำเพื่อองค์การของพวกคุณ ผมประทับใจมาก เลยที่เห็นพวกคุณช่วยเพื่อนของตัวเองขนาดนี้” คนส่วนใหญ่ในโลกไม่รู้จักพระยะโฮวา แต่พวกเขาก็สังเกตว่าพยานฯ ช่วยเหลือกัน เราดีใจจริง ๆ ที่รู้ว่าเมื่อเราแสดงความเห็นอกเห็นใจ มันก็ทำให้คนอื่นอยากรู้จักพระยะโฮวาพระเจ้าที่มี “เมตตาล้นเหลือ”—อฟ. 2:4
12. การฝึกที่จะแสดงความเห็นเห็นอกเห็นใจตอนนี้ช่วยเตรียมเราให้พร้อมยังไงสำหรับความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่? (วิวรณ์ 13:16, 17)
12 ทำไมเราต้องแสดงความเห็นอกเห็นใจในช่วงความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลต่าง ๆ ในโลกนี้จะต้องเจอปัญหาหนักทั้งในตอนนี้และในช่วงความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่ พี่น้องของเราอาจต้องการความช่วยเหลือเพื่อจะมีสิ่งจำเป็นต่าง ๆ (อ่านวิวรณ์ 13:16, 17) เมื่อตอนที่พระเยซูกษัตริย์ของเรามาเพื่อพิพากษา เราอยากให้ท่านเห็นว่าเรากำลังเห็นอกเห็นใจกัน และอยากให้ท่านเชิญเราให้ “มารับประโยชน์จากรัฐบาลของพระเจ้า”—มธ. 25:34-40
ฝึกที่จะแสดงความรักมากขึ้น
13. อย่างที่บอกไว้ในโรม 15:7 คริสเตียนยุคแรกทำยังไงเพื่อจะรักกันมากขึ้น?
13 ใคร ๆ ในสมัยนั้นก็รู้ว่าคริสเตียนยุคแรกรักกันมาก แต่การที่พวกเขาแสดงความรักต่อกันไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น ลองคิดถึงประชาคมในกรุงโรมที่มีความแตกต่างหลากหลาย คริสเตียนที่นั่นไม่ได้มีแค่คนยิวที่ถูกสอนตั้งแต่เด็กให้ทำตามกฎหมายของโมเสส แต่ยังมีคนจากหลายชาติที่มีภูมิหลังและโตมาในวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน นอกจากนั้น คริสเตียนบางคนอาจเป็นทาส ส่วนคนอื่นก็ไม่ได้เป็นทาส และก็อาจมีบางคนที่เป็นเจ้าของทาสด้วยซ้ำ ถึงพวกเขาจะแตกต่างกันมาก แต่พวกเขารักกันมากขึ้นได้ยังไง? เปาโลบอกให้พวกเขา “ต้อนรับกัน” (อ่านโรม 15:7) คำว่า “ต้อนรับ” หมายถึงการมีน้ำใจต้อนรับบางคนให้มาที่บ้านหรือให้มาเป็นเพื่อนกับเรา อย่างเช่น เปาโลบอกฟีเลโมนให้ “ต้อนรับ” โอเนสิมัสอย่างดี แม้โอเนสิมัสจะเป็นทาสที่หนีฟีเลโมนไป (ฟม. 17) ส่วนปริสสิลลากับอะควิลลาต้อนรับอปอลโลและ “ชวนเขามาที่บ้าน” ทั้ง ๆ ที่อปอลโลมีความรู้เรื่องคริสเตียนน้อยกว่าพวกเขา (กจ. 18:26) ถึงแม้คริสเตียนในสมัยนั้นจะแตกต่างกันมากแต่พวกเขาก็ไม่แตกแยก พวกเขาต้อนรับกันและรักกันมากจริง ๆ
14. แอนนากับสามีแสดงความรักต่อคนอื่นยังไง?
14 เราก็แสดงความรักต่อพี่น้องได้เหมือนกันโดยเป็นเพื่อนกับพวกเขาและใช้เวลากับพวกเขา และถ้าเราทำอย่างนั้น ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาก็จะแสดงความรักต่อเรากลับมาด้วย (2 คร. 6:11-13) ให้เรามาดูประสบการณ์ของแอนนาและสามี หลังจากที่พวกเขาย้ายไปเป็นมิชชันนารีที่แอฟริกาตะวันตกได้ไม่นานก็มีโควิด-19 ระบาด พวกเขาเลยไปเจอกับพี่น้องไม่ได้และรู้สึกว่ายากมากที่จะทำความรู้จักกับพี่น้องในประชาคม แล้วแอนนากับสามีแสดงความรักกับพี่น้องได้ยังไง? พวกเขาวีดีโอคอลคุยกับพี่น้องและบอกว่าอยากรู้จักกันมากขึ้น พี่น้องหลายครอบครัวประทับใจมากและพยายามโทรหารวมทั้งส่งข้อความหาพวกเขาบ่อยมาก ทำไมแอนนากับสามีถึงพยายามจะรู้จักกับพี่น้องมากขึ้น? เธอบอกว่า “ฉันกับครอบครัวเคยได้รับความรักจากพี่น้องคนอื่น ๆ มามากมายทั้งตอนที่เราสุขและทุกข์ ซึ่งฉันไม่มีวันลืมเลย ฉันก็เลยอยากแสดงความรักแบบนี้กับพี่น้องคนอื่นด้วยเหมือนกัน”
15. คุณได้เรียนอะไรเกี่ยวกับการรักพี่น้องทุกคนจากตัวอย่างของวาเนสซ่า? (ดูภาพด้วย)
15 พี่น้องในประชาคมมีภูมิหลัง บุคลิก และนิสัยไม่เหมือนกัน เราจะรักพี่น้องทุกคนมากขึ้นถ้าเราพยายามมองที่ข้อดีของพวกเขา วาเนสซ่าที่รับใช้ใน นิวซีแลนด์เคยรู้สึกว่าเข้ากับบางคนในประชาคมไม่ได้เพราะพวกเขามีบุคลิกบางอย่างที่เธอไม่ชอบ แต่แทนที่เธอจะพยายามอยู่ห่าง ๆ วาเนสซ่าพยายามใช้เวลากับพวกเขามากขึ้น แล้วพอเธอทำอย่างนี้ เธอก็เห็นว่าอะไรทำให้พระยะโฮวารักพี่น้องเหล่านี้ วาเนสซ่าบอกว่า “พอสามีของฉันเป็นผู้ดูแลหมวด เราก็ยิ่งเจอพี่น้องมากขึ้นและแต่ละคนก็มีบุคลิกไม่เหมือนกัน แต่ตอนนี้ฉันรู้สึกง่ายขึ้นที่จะเข้ากับพวกเขา และฉันก็รู้สึกเริ่มชอบความแตกต่างหลากหลายแล้วล่ะ ฉันคิดว่าพระยะโฮวาต้องชอบแบบเดียวกันด้วยแน่ ๆ พระองค์ถึงพาพวกเราที่แตกต่างกันมากอย่างนี้ให้มาหาพระองค์” ถ้าเราฝึกที่จะมองคนอื่นเหมือนที่พระยะโฮวามอง เราก็กำลังแสดงว่าเรารักพวกเขาจริง ๆ—2 คร. 8:24
16. ทำไมความรักถึงสำคัญมากในช่วงความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่? (ดูภาพด้วย)
16 ความรักสำคัญมากในช่วงความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่ ให้เราสังเกตว่าพระยะโฮวาจะปกป้องเรายังไงตอนที่เวลานั้นเริ่มต้นโดยดูว่าพระองค์สั่งให้คนของพระองค์ทำอะไรตอนที่บาบิโลนโบราณถูกโจมตี พระยะโฮวาบอกว่า “ไปเถอะ ประชาชนของเรา เข้าไปอยู่ในห้องข้างใน และปิดประตูดี ๆ ซ่อนตัวอยู่ที่นั่นสักพักหนึ่ง จนกว่าความโกรธของเราจะผ่านพ้นไป” (อสย. 26:20) ดูเหมือนว่าพวกเราก็ต้องทำตามคำสั่งนี้ด้วยเหมือนกันในช่วงความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่ “ห้องข้างใน” อาจหมายถึงประชาคมของเรา นี่หมายความว่าพระยะโฮวาสัญญาว่าจะปกป้องเราในช่วงนั้นถ้าเราเป็นหนึ่งเดียวกันกับพี่น้อง ดังนั้น เราต้องไม่ใช่แค่พยายามทนกับพี่น้องให้ได้ แต่เราต้องรักพวกเขาตั้งแต่ตอนนี้ เราจะรอดหรือไม่รอดก็ขึ้นอยู่กับการทำแบบนี้
เตรียมพร้อมตั้งแต่ตอนนี้
17. ถ้าเราเตรียมพร้อมสำหรับความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่ตั้งแต่ตอนนี้ มันจะช่วยเรายังไงในตอนนั้น?
17 “วันใหญ่ของ [พระ] ยะโฮวา” จะเป็นเวลาที่ยากลำบากมากสำหรับทุกคน (ศฟย. 1:14, 15) แม้แต่คนของพระยะโฮวาก็จะต้องเจอความลำบากด้วยเหมือนกัน แต่ถ้าเราเตรียมพร้อมตั้งแต่ตอนนี้ เราก็จะมีใจสงบและช่วยคนอื่นในตอนนั้นได้ เราจะอดทนได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และถ้าพี่น้องเจอความลำบาก เราก็จะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือพวกเขา และถ้าเราฝึกที่จะรักพี่น้องตั้งแต่ตอนนี้ เราก็จะรักและสนิทกับพวกเขาในตอนนั้นด้วย แล้วพระยะโฮวาก็จะให้ชีวิตตลอดไปกับเราเป็นรางวัล และเราจะได้อยู่ในโลกที่ไม่มีภัยพิบัติหรือความทุกข์ยากลำบากอะไรอีกเลย—อสย. 65:17
เพลง 144 สนใจที่รางวัล
a อีกไม่นานความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่กำลังจะเริ่มต้น การมีคุณลักษณะที่ดีต่าง ๆ เช่น ความอดทน ความเห็นอกเห็นใจ และความรักจะช่วยเตรียมเราให้พร้อมสำหรับช่วงเวลาที่ยากที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ให้เรามาดูกันว่าคริสเตียนยุคแรกแสดงคุณลักษณะเหล่านี้ยังไง และเราจะทำแบบเดียวกันได้ยังไง จากนั้น เราจะมาดูกันว่าคุณลักษณะทั้ง 3 อย่างนี้จะช่วยเตรียมเราให้พร้อมยังไงสำหรับความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่
b คนที่อยากจะช่วยในโครงการบรรเทาทุกข์ต้องกรอกใบสมัครเป็นอาสาสมัครช่วยแผนกออกแบบ/ก่อสร้างท้องถิ่น (DC-50) หรือใบสมัครเป็นอาสาสมัคร (A-19) แล้วรอที่จะถูกเรียกให้มาช่วยในโครงการนั้น