ฟิลลิส เหลียง | เรื่องราวชีวิตจริง
พระยะโฮวาอวยพรความเต็มใจของฉัน
“ไปค่ะ” นี่เป็นคำพูดของเรเบคาห์ที่บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลตอนที่ถูกขอให้ทำบางอย่างตามความต้องการของพระยะโฮวา และการทำอย่างนั้นก็ทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง (ปฐมกาล 24:50, 58) ถึงฉันจะไม่ได้คิดว่าตัวเองพิเศษ แต่ฉันก็อยากเป็นเหมือนเรเบคาห์ที่เต็มใจรับใช้พระยะโฮวา และแม้จะเจอปัญหาหลายอย่าง ฉันก็ได้เห็นว่าพระยะโฮวาอวยพรความเต็มใจของฉัน บางครั้งก็ในวิธีที่ฉันคิดไม่ถึงด้วยซ้ำ
คุณลุงคนหนึ่งเอาของมีค่ามาให้เรา
ไม่กี่ปีหลังจากครอบครัวของเราย้ายไปอยู่ที่เมืองโรเดอโปร์ต ประเทศแอฟริกาใต้ พ่อของฉันก็ตาย ในปี ค.ศ. 1947 ตอนที่ฉันอายุ 16 ปี ฉันทำงานเต็มเวลาที่องค์การโทรศัพท์เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว วันหนึ่งตอนที่ฉันอยู่บ้าน มีคุณลุงคนหนึ่งมาที่หน้าประตูแล้วชวนเราบอกรับเป็นสมาชิกวารสารหอสังเกตการณ์ เราก็สมัครไปตามมารยาท
แต่ไม่นาน เราก็เริ่มสนใจอยากได้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล แม่ของฉันซึ่งเป็นสมาชิกโบสถ์ดัตช์รีฟอร์มตั้งแต่เด็กเห็นว่าสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอนต่างจากที่โบสถ์สอน เราเลยตกลงเรียนคัมภีร์ไบเบิลและไม่นานก็เริ่มเข้าร่วมการประชุม ในปี 1949 ฉันเป็นคนแรกในครอบครัวที่รับบัพติศมา หลังจากนั้น ฉันยังทำงานอาชีพต่อไปอีก 2-3 ปี แต่ฉันก็อยากรับใช้พระยะโฮวาให้มากกว่านี้
เต็มใจไปรับใช้ในที่ที่มีความจำเป็น
FomaA/stock.adobe.com
โคเอคซิสเตอร์
ปี 1954 ฉันเริ่มรับใช้เป็นไพโอเนียร์ประจำ เมื่อฉันเขียนไปถามสาขาแอฟริกาใต้ว่ามีที่ไหนที่มีความจำเป็นบ้าง สาขาก็แนะนำให้ฉันไปเมืองพริทอเรียและส่งพี่น้องหญิงที่เป็นไพโอเนียร์คนหนึ่งไปรับใช้กับฉัน บ้านที่เราเช่าอยู่ด้วยกันค่อนข้างดีและอยู่สบาย ฉันยังจำได้ว่าใกล้ ๆ บ้านมีร้านขายโคเอคซิสเตอร์ ซึ่งเป็นโดนัทรูปเปียเคลือบน้ำตาลที่อร่อยมาก
หลังจากคู่ไพโอเนียร์ของฉันแต่งงาน พี่น้องจอร์จ ฟิลลิปส์ ซึ่งเป็นผู้รับใช้สาขาในตอนนั้นก็ถามฉันว่าอยากเป็นไพโอเนียร์พิเศษไหม ฉันดีใจมากและตอบตกลงทันที
ฉันเริ่มเป็นไพโอเนียร์พิเศษในปี 1955 งานมอบหมายแรกของฉันคือเมืองแฮร์ริสสมิธ ฉันกับเพื่อนไพโอเนียร์คนใหม่มีปัญหาเรื่องบ้าน ที่นั่นหาบ้านดี ๆ ยากมาก และมีครั้งหนึ่งพอพวกโบสถ์รู้ว่าเราเป็นใคร พวกเขาก็บังคับให้เจ้าของบ้านไล่เราออก
ต่อมา ฉันได้รับมอบหมายให้ไปรับใช้ที่พาร์กเฮิร์สต์ ในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก ที่นั่นฉันรับใช้กับพี่น้องหญิงที่เป็นมิชชันนารีอีก 2 คน หลังจากนั้นคนหนึ่งก็แต่งงาน อีกคนหนึ่งถูกมอบหมายให้ไปรับใช้ที่อื่น ตอนนั้นพี่น้องหญิงที่น่ารักชื่อไอลีน พอร์เตอร์ ชวนฉันไปอยู่กับครอบครัวของเธอ ที่จริงบ้านของเธอเป็นหลังเล็ก ๆ และไม่มีห้องให้ฉันอยู่ ฉันนอนที่มุมหนึ่งโดยมีผ้าม่านกั้นไว้ ไอลีนเป็นคนใจดีและชอบให้กำลังใจ ฉันรู้สึกสบายใจมากที่อยู่กับเธอ ฉันประทับใจในตัวไอลีน เพราะทั้ง ๆ ที่เธอต้องทำงานหลายอย่างเพื่อดูแลครอบครัว แต่เธอก็ยังขยันรับใช้
หลังจากนั้นไม่นานฉันได้รับมอบหมายให้ไปรับใช้ที่เมืองอาลีวาลนอร์ท ซึ่งอยู่ในจังหวัดอีสต์เทิร์นเคป ฉันทำงานกับเพื่อนไพโอเนียร์คนใหม่ชื่อเมอร์ลีน (เมิร์ล) ลอเรนส์ ตอนนั้นเรา 2 คนอายุ 20 กว่า ๆ เราได้กำลังใจมากจากพี่น้องหญิงสูงอายุชื่อโดโรธี เราชอบเรียกเธอว่าป้าโดท ป้าเล่าว่าสมัยสาว ๆ เคยโดนหมารุมกัดตอนไปประกาศ แต่ป้าก็ยังใจสู้และยังขยันประกาศต่อไป
ในปี 1956 เมิร์ลได้รับเชิญให้เข้าโรงเรียนกิเลียดชั้นเรียนที่ 28 ฉันอยากไปด้วย แต่ถึงจะไม่ได้ไป ป้าโดทก็ดูแลฉันอย่างดี และเรากลายเป็นเพื่อนสนิทกันถึงแม้อายุจะห่างกันมาก
แล้ววันที่ฉันรอคอยก็มาถึง ฉันดีใจมากเมื่อได้รับเชิญให้ไปโรงเรียนกิเลียดเหมือนกับเมิร์ล ในช่วง 8 เดือนก่อนไปกิเลียด ฉันทำงานรับใช้ที่เมืองไนเจลกับเคที คุก ซึ่งจบจากโรงเรียนกิเลียด เคทีเล่าให้ฟังหลายอย่างเกี่ยวกับโรงเรียนกิเลียด ฉันตื่นเต้นมาก แล้วในเดือนมกราคม 1958 ฉันก็ไปนิวยอร์ก
เต็มใจรับการฝึกอบรม
ช่วงที่อยู่กิเลียด ฉันมีรูมเมท 2 คน คือ เทีย อาลูนี พี่น้องหญิงชาวซามัว กับไอวี คาวี ชาวเมารี นี่เป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับฉัน เพราะที่แอฟริกาใต้ รัฐบาลไม่อนุญาตให้คนผิวขาวอยู่ร่วมกับคนสีผิวอื่น ผ่านไปไม่นาน ฉันก็ชอบเพื่อนทั้งสองคนมาก และดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรียนที่มีคนจากหลายเชื้อชาติ
ครูคนหนึ่งในโรงเรียนกิเลียดคือพี่น้องแมกซ์เวล เฟรนด์ เวลาสอนเขาจะค่อนข้างเข้มงวด เขามีไฟ 3 ดวงที่เขียนว่า “น้ำเสียง” “จังหวะ” และ “พลัง” ถ้านักเรียนที่ออกมาบรรยายหรือทำส่วนสาธิตทำไม่ดีในจุดไหน พี่น้องเฟรนด์ก็จะเปิดไฟดวงนั้น ฉันเป็นคนขี้อาย เวลาออกไปทำส่วนเลยมักจะได้ไฟหลายดวง บางทีมันก็ทำให้ฉันร้องไห้ แต่ถึงอย่างนั้นฉันก็ชอบพี่น้องเฟรนด์ บางครั้งตอนที่ฉันกำลังทำความสะอาดในช่วงพักเบรกตามที่ได้รับมอบหมาย เขาก็เอากาแฟมาให้
หลายเดือนผ่านไป ฉันยังไม่ได้รับงานมอบหมาย ฉันอยากรู้ว่าจะถูกส่งไปที่ไหน เมิร์ลเพื่อนของฉันที่เคยเป็นไพโอเนียร์ด้วยกันถูกส่งไปเปรูหลังจากจบกิเลียด เมิร์ลบอกว่าเพื่อนมิชชันนารีของเธอกำลังจะแต่งงาน แล้วก็แนะนำให้ฉันไปคุยกับพี่น้องนาธาน นอร์ ซึ่งเป็นนายกสมาคมในตอนนั้น และขอให้ส่งฉันไปรับใช้กับเมิร์ลแทนพี่น้องหญิงคนนั้น ทุก ๆ 2-3 อาทิตย์ พี่น้องนอร์จะมาที่โรงเรียนกิเลียด ฉันเลยมีโอกาสได้คุยกับเขา และพอฉันเรียนจบ ฉันก็ถูกส่งไปที่เปรู!
รับใช้ในเขตเทือกเขา
กับเมิร์ล (ขวา) ในเปรู ปี 1959
ฉันดีใจมากที่ได้รับใช้กับเมิร์ลอีกครั้งในเมืองลิมา ประเทศเปรู ตั้งแต่ฉันย้ายไปใหม่ ๆ ตอนที่ยังพูดภาษาสเปนไม่ค่อยได้ ฉันก็มีนักศึกษาดี ๆ หลายราย ต่อมา ฉันกับเมิร์ลได้รับมอบหมายให้ไปรับใช้ที่เมืองอายากูโชซึ่งอยู่ในเขตเทือกเขา ต้องยอมรับว่ามันเป็นงานมอบหมายที่ยาก เพราะถึงฉันจะรู้ภาษาสเปนบ้างแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ที่นั่นพูดแต่ภาษาเกชัว และเราต้องใช้เวลาพักใหญ่เลยกว่าจะชินกับการอยู่บนที่สูงซึ่งมีออกซิเจนในอากาศน้อย
ประกาศในเปรู ปี 1964
ฉันรู้สึกว่างานรับใช้ในอายากูโชไม่ค่อยเกิดผล และสงสัยว่าจะมีสักกี่คนในเขตนี้เข้ามาในความจริง แต่ตอนนี้ในเมืองอายากูโชมีผู้ประกาศมากกว่า 700 คนแล้ว และยังมีสำนักงานแปลท้องถิ่นภาษาเกชัว (อายากูโช) ด้วย
ต่อมา เมิร์ลแต่งงานกับผู้ดูแลหมวดชื่อราโมน คาสติโญ หลังจากนั้นในปี 1964 ราโมนไปเรียนหลักสูตรหนึ่งที่กิเลียดนาน 10 เดือน ในชั้นเรียนของเขามีพี่น้องฟู่หลง เหลียง ซึ่งจบกิเลียดรุ่นเดียวกับฉันด้วย ตอนนั้นฟู่หลงรับใช้ที่ฮ่องกงแต่เขาได้รับเชิญให้กลับไปกิเลียดเพื่ออบรมเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานดูแลสาขา a ฟู่หลงถามราโมนว่าฉันอยู่ที่เปรูเป็นยังไงบ้าง แล้วต่อมาฟู่หลงกับฉันก็เริ่มเขียนจดหมายติดต่อกัน
ฉันกับฟู่หลงคุยกันชัดเจนตั้งแต่แรกว่าการที่เราเขียนจดหมายติดต่อกันก็หมายความว่าเรากำลังคบหาดูใจกันอยู่ ปกติแล้วที่ฮ่องกง พี่น้องแฮโรลด์ คิง ซึ่งเป็นเพื่อนมิชชันนารีจะไปส่งจดหมายที่ไปรษณีย์เป็นประจำ เขาเลยอาสาเอาจดหมายไปส่งให้ฟู่หลงด้วย แฮโรลด์ชอบวาดรูปเล็ก ๆ และเขียนโน้ตสั้น ๆ ไว้บนซองจดหมายของฟู่หลงที่ส่งถึงฉัน มีครั้งหนึ่งเขาเขียนว่า “ผมจะบอกให้เขาเขียนถึงคุณบ่อยขึ้นนะ”
กับฟู่หลง
หลังจากเขียนจดหมายติดต่อกันประมาณ 1 ปีครึ่ง ฉันกับฟู่หลงก็ตัดสินใจแต่งงานกัน ฉันต้องจากเปรูไปหลังจากรับใช้ที่นั่นประมาณ 7 ปี
ชีวิตใหม่ในฮ่องกง
ฉันกับฟู่หลงแต่งงานกันวันที่ 17 พฤศจิกายน 1965 ฉันชอบฮ่องกงมาก เราอยู่ในสำนักงานสาขากับคู่สมรสอีก 2 คู่ ช่วงกลางวันฟู่หลงจะทำงานแปลอยู่ที่สำนักงานสาขา ส่วนฉันก็ออกไปประกาศ ภาษาจีนกวางตุ้งยากมาก แต่พวกพี่น้องหญิงที่เป็นมิชชันนารีกับสามีของฉันก็ช่วยสอนฉันอย่างอดทน และการสอนคัมภีร์ไบเบิลให้เด็ก ๆ ตอนที่เพิ่งเริ่มเรียนภาษากวางตุ้งก็ช่วยฉันไม่ให้เครียดเกินไป
สมาชิกครอบครัวเบเธลฮ่องกง 6 คน ช่วงกลางทศวรรษ 1960 ฟู่หลงกับฉันอยู่ตรงกลาง
หลังจากนั้นไม่กี่ปี ฟู่หลงกับฉันก็ย้ายไปอยู่บ้านมิชชันนารีในอีกเขตหนึ่งของฮ่องกงที่เรียกว่า กุ๊นถอง เพราะฟู่หลงต้องสอนภาษากวางตุ้งให้มิชชันนารีที่ย้ายมาใหม่ b ฉันมีความสุขกับงานรับใช้ในกุ๊นถองมาก บางทีก็เพลินจนไม่อยากกลับบ้าน
ในปี 1968 ฉันตื่นเต้นมากที่ได้รับหนังสือใหม่สำหรับใช้ในการศึกษาที่ชื่อ ความจริงซึ่งนำไปสู่ชีวิตถาวร หนังสือเล่มนี้ง่ายกว่า “จงให้พระเจ้าเป็นองค์สัตย์จริง” ซึ่งเป็นเล่มที่เราเคยใช้ศึกษา และเหมาะกับคนที่ไม่คุ้นเคยกับคัมภีร์ไบเบิลหรือศาสนาคริสต์ด้วย
ฉันเคยคิดว่าการที่นักศึกษาตอบคำถามในหนังสือได้หมายความว่าเขาเชื่อสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอน แต่ฉันก็เข้าใจผิด มีนักศึกษาของฉันคนหนึ่งที่ศึกษาหนังสือความจริงจนจบ แต่ก็ยังไม่เชื่อในพระเจ้า ฉันเลยพยายามคุยกับนักศึกษามากขึ้นเพื่อจะรู้ว่าพวกเขารู้สึกยังไงจริง ๆ กับสิ่งที่เรียน
หลังจากอยู่ที่กุ๊นถองไม่กี่ปี เราก็ย้ายกลับไปที่สำนักงานสาขา และฟู่หลงเริ่มรับใช้เป็นสมาชิกคณะกรรมการสาขาฮ่องกง หลายปีที่รับใช้ที่นั่น ฉันทำงานเป็นแม่บ้านและเป็นรีเซปชั่น บางครั้งฟู่หลงต้องเดินทางไปทำงานขององค์การที่เป็นความลับซึ่งฉันไปด้วยไม่ได้ แต่ฉันก็รู้สึกเป็นสิทธิพิเศษที่ได้สนับสนุนสามีให้ทำหน้าที่รับผิดชอบของเขา
ฟู่หลงออกหนังสือคำพยากรณ์ของอิสยาห์ เล่ม 2 ในภาษาจีนดั้งเดิมและภาษาจีนตัวย่อ
การเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด
ในปี 2008 ชีวิตของฉันเปลี่ยนไปอย่างกะทันหันในชั่วข้ามคืน ไม่นานก่อนวันอนุสรณ์ ฟู่หลงเสียชีวิตอย่างไม่คาดคิดระหว่างเดินทางไปทำงานมอบหมาย ฉันตกใจมากจนทำอะไรไม่ถูก แต่พี่น้องก็รีบมาหาและให้กำลังใจฉัน ระหว่างที่ฟังคำบรรยายอนุสรณ์ ฉันพยายามช่วยผู้สนใจเปิดหาข้อคัมภีร์เพื่อจะไม่จมอยู่กับความทุกข์ของตัวเอง ข้อคัมภีร์โปรดของฟู่หลงก็ให้กำลังใจฉันมากที่บอกว่า “เรายะโฮวาพระเจ้าของเจ้ากำลังจับมือขวาของเจ้าไว้ . . . ‘เราจะช่วยเจ้า’”—อิสยาห์ 41:13
หลังจากฟู่หลงเสียชีวิต 7 ปี พี่น้องที่ฮ่องกงแนะนำให้ฉันย้ายไปสาขาที่ใหญ่กว่าเพื่อสุขภาพของฉันจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้น ในปี 2015 ฉันเลยย้ายมาที่สำนักงานสาขาแอฟริกาใต้ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองที่ฉันได้เรียนความจริงครั้งแรกในปี 1947
ตลอดหลายปีที่รับใช้พระยะโฮวาฉันมีความสุขมาก และรู้สึกว่าพระยะโฮวาอวยพรความเต็มใจของฉัน ฉันยังติดต่อกับคนที่เคยศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับฉันและดีใจที่ได้ยินว่าพวกเขายังรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ ฉันได้เห็นว่าพระยะโฮวาสามารถอวยพรงานประกาศของเราแม้เราจะรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันน้อยมาก เช่น ที่เปรู ในปี 1958 มีผู้ประกาศประมาณ 760 คน แต่ในปี 2021 มีผู้ประกาศประมาณ 133,000 คน ส่วนที่ฮ่องกง ในปี 1965 มีผู้ประกาศประมาณ 230 คน แต่ในปี 2021 มีมากถึง 5,565 คน
ตอนนี้ฉันแก่แล้ว เลยทำอะไรอย่างที่เคยทำไม่ได้ แต่ฉันก็ยังเต็มใจรับใช้เหมือนเดิม และรอคอยที่จะแสดงน้ำใจแบบนี้ในโลกใหม่ของพระยะโฮวาด้วย ตอนนั้นจะมีงานที่ต้องทำอีกมากมาย และฉันอยากเป็นคนที่พร้อมจะพูดว่า “ไปค่ะ”
a อ่านประสบการณ์ของฟู่หลง เหลียงเพื่อจะรู้ว่าเขาเข้ามาในความจริงได้ยังไง ในหนังสือประจำปีของพยานพระยะโฮวา 1974 (ภาษาอังกฤษ) หน้า 51
b อ่านประสบการณ์งานรับใช้ของฟู่หลงในกุ๊นถอง ในหนังสือประจำปีของพยานพระยะโฮวา 1974 (ภาษาอังกฤษ) หน้า 63