เขียนโดยยอห์น 20:1-31
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
วันแรกของสัปดาห์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 28:1
อุโมงค์ฝังศพ: หรือ “อุโมงค์รำลึก”—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “อุโมงค์รำลึก”
สาวกคนนั้นที่พระเยซูรัก: คือสาวกที่พระเยซูรักเป็นพิเศษ นี่เป็นครั้งที่ 3 ในทั้งหมด 5 ครั้งที่พระคัมภีร์พูดถึงสาวกคนนี้ ซึ่งครั้งอื่นพูดถึงเขาว่า “สาวกคนหนึ่งที่พระเยซูรัก” “สาวกที่ท่าน [พระเยซู] รัก” หรือ “สาวกคนที่พระเยซูรัก” (ยน 13:23; 19:26; 20:2; 21:7, 20) เชื่อกันว่าสาวกคนนี้คืออัครสาวกยอห์น (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 13:23; 18:15) ในข้ออื่น ๆ อีก 4 ข้อที่พูดถึงสาวกคนนี้มีการใช้คำกรีก อากาพาโอ แต่ในข้อนี้ใช้คำกรีก ฟิเละโอ ที่มีความหมายเหมือนกัน และมีการใช้คำกรีก ฟิเละโอ ในพระคัมภีร์อีกหลายข้อด้วย—มธ 10:37; ยน 11:3, 36; 16:27; 21:15-17; 1คร 16:22; ทต 3:15; วว 3:19; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 5:20; 16:27; 21:15
ข้อคัมภีร์: อาจหมายถึง สด 16:10 หรือ อสย 53:10 ในตอนนั้นแม้แต่คนที่เป็นสาวกของพระเยซูก็ยังไม่เข้าใจคำพยากรณ์บางข้อเกี่ยวกับเมสสิยาห์ โดยเฉพาะคำพยากรณ์ที่บอกว่าเมสสิยาห์จะถูกปฏิเสธ ต้องทนทุกข์ ตาย และถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตาย—อสย 53:3, 5, 12; มธ 16:21-23; 17:22, 23; ลก 24:21; ยน 12:34
ภาษาฮีบรู: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 5:2
รับโบนี!: เป็นคำภาษาฮีบรูที่แปลว่า “ครูของฉัน” บางคนคิดว่าตอนแรกคำว่า “รับโบนี” แสดงถึงความเคารพมากกว่าหรือถ่ายทอดความรู้สึกที่อบอุ่นกว่าคำว่า “รับบี” ที่อยู่ใน ยน 1:38 แต่ยอห์นแปลทั้ง 2 คำนี้ว่าอาจารย์ อาจเป็นได้ว่าสมัยที่ยอห์นเขียนพระคัมภีร์ คำที่ต่อท้ายคำนี้ (ซึ่งมีความหมายว่า “ของฉัน”) ไม่มีความหมายพิเศษเหมือนแต่ก่อน
อย่ารั้งผมไว้เลย: คำกริยากรีก ฮาพทอไม อาจแปลว่า “แตะต้อง” หรือ “รั้ง, หน่วงเหนี่ยว” พระคัมภีร์บางฉบับใช้คำว่า “อย่าแตะต้องผม” แต่ที่จริงพระเยซูไม่ได้ห้ามมารีย์มักดาลาจับตัวท่าน เพราะท่านไม่ได้ห้ามผู้หญิงคนอื่นที่ “จับเท้าท่าน” ตอนที่พวกเธอเห็นท่านหลังจากถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตาย (มธ 28:9) ดูเหมือนว่ามารีย์มักดาลากลัวว่าพระเยซูกำลังจะกลับขึ้นไปสวรรค์และเธออยากจะอยู่กับนายของเธอ เลยทำให้เธอรั้งพระเยซูไว้ไม่ให้ท่านไป แต่พระเยซูก็ทำให้เธอมั่นใจว่าท่านยังไม่ไปไหน โดยบอกว่าอย่ารั้งท่านไว้เลย แต่ให้ไปหาพวกสาวกและบอกข่าวเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายของท่าน
พระเจ้าของผมซึ่งเป็นพระเจ้าของพวกคุณ: บทสนทนาที่พระเยซูคุยกับมารีย์มักดาลาในวันที่ 16 เดือนนิสาน ปี ค.ศ. 33 แสดงให้เห็นว่าพระเยซูที่ฟื้นขึ้นจากตายแล้วมองพ่อของท่านว่าเป็นพระเจ้า เหมือนที่พระองค์เป็นพระเจ้าของมารีย์มักดาลา ก่อนหน้านั้น 2 วันตอนที่พระเยซูถูกตรึงบนเสาทรมาน ท่านร้องเสียงดังว่า “พระเจ้า พระเจ้าของผม” ซึ่งเป็นการทำให้คำพยากรณ์ที่ สด 22:1 เป็นจริงและเป็นการยอมรับว่าพ่อของท่านเป็นพระเจ้า (มธ 27:46; มก 15:34; ลก 23:46) ในหนังสือวิวรณ์ พระเยซูก็เรียกพ่อของท่านว่า “พระเจ้า” (วว 3:2, 12) ข้อคัมภีร์เหล่านี้ยืนยันว่าหลังจากพระเยซูคริสต์ฟื้นขึ้นจากตายและได้สง่าราศีในสวรรค์แล้ว ท่านก็ยังนมัสการพ่อของท่านและมองว่าพระองค์เป็นพระเจ้าเหมือนกับสาวกคนอื่น ๆ
พวกยิว: น่าจะหมายถึงพวกผู้นำศาสนาชาวยิว—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 7:1
ดิดุโมส: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 11:16
นายของผมและพระเจ้าของผม!: นักวิชาการบางคนมองว่าวลีนี้เป็นคำอุทานด้วยความตื่นเต้นดีใจที่ถึงแม้จะพูดกับพระเยซู แต่จริง ๆ แล้วเป็นการพูดกับพระเจ้าพ่อของท่าน ส่วนคนอื่นอ้างว่าวลีนี้ในภาษากรีกเป็นข้อความที่พูดกับพระเยซู แต่เพื่อจะเข้าใจจุดมุ่งหมายของการใช้วลี “นายของผมและพระเจ้าของผม” เราน่าจะดูจากท้องเรื่องทั้งหมดของพระคัมภีร์ที่ได้รับการดลใจ เนื่องจากมีการบันทึกว่าก่อนหน้านี้พระเยซูส่งข่าวไปถึงสาวกของท่านว่า “ผมกำลังจะขึ้นไปหาพ่อของผมซึ่งเป็นพ่อของพวกคุณ และไปหาพระเจ้าของผม ซึ่งเป็นพระเจ้าของพวกคุณ” จึงไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อว่า โธมัสคิดว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุด (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 20:17) นอกจากนั้น โธมัสเคยได้ยินพระเยซูอธิษฐานถึง “พ่อ” ของท่านโดยเรียกว่า “พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว” (ยน 17:1-3) ดังนั้น ที่โธมัสเรียกพระเยซูว่า “พระเจ้าของผม” อาจเพราะเหตุผลต่อไปนี้ (1) เขามองว่าพระเยซูเป็น “พระเจ้าองค์หนึ่ง” แต่ไม่ใช่พระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุด (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:1) หรือ (2) เขาอาจเรียกพระเยซูเหมือนที่ผู้รับใช้คนอื่น ๆ ของพระเจ้าเรียกทูตสวรรค์ซึ่งเป็นผู้ส่งข่าวของพระองค์ โธมัสน่าจะคุ้นเคยกับเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลที่หลายคนรวมทั้งผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลพูดกับทูตสวรรค์ที่เป็นผู้ส่งข่าวของพระเจ้าเหมือนกับว่าพูดอยู่กับพระยะโฮวาพระเจ้า (เทียบกับ ปฐก 16:7-11, 13; 18:1-5, 22-33; 32:24-30; วนฉ 6:11-15; 13:20-22) ดังนั้น โธมัสอาจเรียกพระเยซูว่า “พระเจ้าของผม” เพื่อยอมรับว่าพระเยซูเป็นตัวแทนและเป็นโฆษกของพระเจ้าเที่ยงแท้
บางคนบอกว่าในภาษากรีก หน้าคำที่แปลว่า “นาย” และ “พระเจ้า” มีคำนำหน้านามที่เฉพาะเจาะจงซึ่งทำให้เข้าใจว่าคำนี้หมายถึงพระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุด แต่ที่จริงในท้องเรื่องนี้อาจใช้คำนำหน้านามแบบนี้เพื่อให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์กรีกเท่านั้น ดังนั้น คำนำหน้านามที่เฉพาะเจาะจงอาจไม่ได้ช่วยให้รู้ชัดเจนว่าโธมัสคิดอย่างไรตอนที่พูดว่า “พระเจ้าของผม”