กิจการของอัครสาวก 27:1-44
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
พวกเรา: เหมือนที่บอกไว้ในข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 16:10 และ 20:5 มีหลายส่วนในหนังสือกิจการที่ลูกาซึ่งเป็นผู้บันทึกเรื่องราวใช้คำสรรพนาม “พวกเรา” (กจ 27:20) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีหลายช่วงที่ลูการ่วมเดินทางไปกับเปาโล ในหนังสือกิจการตั้งแต่ข้อนี้ไปจนถึง กจ 28:16 ลูกาก็ใช้คำว่าพวกเราซึ่งแสดงให้เห็นว่าลูกาเดินทางไปกรุงโรมกับเปาโล
นายร้อย: นายทหารในกองทัพโรมันที่มีทหารอยู่ใต้บังคับบัญชา 100 นาย
กรุณา . . . มาก: คำกรีก ฟลันธะโรโพส และคำที่เกี่ยวข้องกัน ฟิลันธะโรเพีย หมายถึงการแสดงความรัก ความเป็นห่วงเป็นใย และความสนใจในเพื่อนมนุษย์ หลังจากใช้เวลา 1 วันในทะเลและเดินทางไปทางทิศเหนือประมาณ 110 กม. เรือก็มาเทียบท่าที่เมืองไซดอนบนชายฝั่งของซีเรีย ดูเหมือนว่านายร้อยยูเลียสไม่ได้ปฏิบัติกับเปาโลเหมือนอาชญากรทั่วไป นี่อาจเป็นเพราะเปาโลเป็นพลเมืองโรมันที่ยังไม่ได้ถูกตัดสินว่ามีความผิด—กจ 22:27, 28; 26:31, 32
เรือ: คือเรือบรรทุกข้าว (กจ 27:37, 38) ในสมัยนั้นอียิปต์เป็นประเทศหลักที่ส่งข้าวให้โรม ปกติแล้วเรือบรรทุกข้าวของอียิปต์จะเทียบท่าที่เมืองมิราซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเอเชียไมเนอร์ นายร้อยยูเลียสพบเรือลำหนึ่งที่มาจากเมืองอเล็กซานเดรียและให้พวกทหารกับนักโทษลงเรือนั้น เรือลำนี้ต้องมีขนาดใหญ่กว่ามากเมื่อเทียบกับเรือที่พวกเขาโดยสารมาในช่วงแรกของการเดินทาง (กจ 27:1-3) เรือลำนี้บรรทุกข้าวสาลีซึ่งเป็นสินค้าที่มีค่ามากรวมทั้งคนอีก 276 คน ทั้งลูกเรือ พวกทหาร นักโทษ และอาจมีคนอื่น ๆ ที่กำลังเดินทางไปโรม เมืองมิราอยู่ทางทิศเหนือเมืองอเล็กซานเดรีย ดังนั้น เมื่อเรือเดินทางออกมาจากอียิปต์จึงอาจเป็นเรื่องปกติที่จะแวะที่เมืองมิราก่อนจะไปโรม หรืออาจเป็นเพราะมีกระแสลมต้านแรงมาก (กจ 27:4, 7) จึงทำให้เรือจากเมืองอเล็กซานเดรียต้องเปลี่ยนทิศทางและมาทอดสมออยู่ที่เมืองมิรา—ดูภาคผนวก ข13
ช่วงถือศีลอดอาหารในวันไถ่บาป: หรือ “ช่วงถือศีลอดอาหารในฤดูใบไม้ร่วง” แปลตรงตัวว่า “การถือศีลอดอาหาร” คำว่า “ถือศีลอดอาหาร” ในภาษากรีกหมายถึงการอดอาหารตามกฎหมายของโมเสส ซึ่งก็คือศีลอดอาหารที่เกี่ยวกับวันไถ่บาปประจำปีที่เรียกว่า ยมคิปปูร์ (มาจากคำฮีบรู ยมฮัคคิปปูริม แปลว่า “วันของการปิดคลุม”) (ลนต 16:29-31; 23:26-32; กดว 29:7; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “วันไถ่บาป”) สำนวน “การแสดงความเสียใจต่อบาปของตัวเอง” ในวันไถ่บาปโดยทั่วไปอาจหมายถึงการไม่ทำตามความต้องการของตัวเองในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งรวมถึงการอดอาหาร (ลนต 16:29, เชิงอรรถ) คำว่า “ถือศีลอดอาหาร” ใน กจ 27:9 ทำให้เห็นว่าการอดอาหารในวันไถ่บาปเป็นวิธีหลักที่ผู้คนแสดงว่าไม่ทำตามความต้องการของตัวเอง ช่วงถือศีลอดอาหารในวันไถ่บาปอยู่ในช่วงปลายเดือนกันยายนหรือต้นเดือนตุลาคม
ยูราคีโลน: มาจากคำกรีก อือราคูโลน ซึ่งตรงกับคำละติน euroaquilo คือลมตะวันออกเฉียงเหนือที่นักเดินเรือชาวมอลตาเรียกกันว่าลมเกรเกล ลมนี้มีกำลังแรงที่สุดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จึงเป็นเรื่องอันตรายมากที่จะแล่นเรือที่มีใบเรือขนาดใหญ่ในช่วงลมแรงแบบนั้นเพราะเรือจะคว่ำได้ง่าย
เรือเล็ก: มาจากคำกรีก สคาเฟ ซึ่งหมายถึงเรือลำเล็กที่ผูกติดให้ลอยลำอยู่ท้ายเรือใหญ่หรือถูกเก็บไว้ในเรือที่ใหญ่กว่า มีการใช้เรือลำเล็กแบบนี้เพื่อลำเลียงผู้โดยสารจากเรือลำใหญ่ให้เข้าไปที่ชายฝั่ง หรือใช้เพื่อขนถ่ายสินค้า หรือใช้เพื่อลากจูงเรือลำใหญ่ให้เปลี่ยนทิศทาง ในกรณีฉุกเฉินก็ใช้เรือเล็กเป็นเรือชูชีพได้ด้วย และเพื่อไม่ให้เรือเล็กจมหรือถูกคลื่นซัดจนพังเสียหายจึงมีการยกเรือนี้ขึ้นเหนือน้ำและผูกติดไว้กับเรือลำใหญ่
อ่าวเสอร์ทิส: มีชื่อกรีกว่า ซูร์ทิส มาจากคำที่มีความหมายว่า “ลาก” เสอร์ทิสเป็นชื่ออ่าว 2 อ่าวที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งที่เว้าเข้าไปทางเหนือของแอฟริกา (ปัจจุบันคือชายฝั่งของประเทศลิเบีย) อ่าวทางตะวันตก (อยู่ระหว่างตูนิสกับตริโปลี) มีชื่อว่าเสอร์ทิสเล็ก (ปัจจุบันคืออ่าวกาแบ็ส) และอ่าวทางตะวันออกมีชื่อว่าเสอร์ทิสใหญ่ (ปัจจุบันคืออ่าวซิดรา) นักเดินเรือในสมัยโบราณกลัว 2 อ่าวนี้มากเพราะทั้ง 2 อ่าวมีสันดอนทรายใต้น้ำที่อันตรายอยู่หลายแห่ง สตราโบนักภูมิศาสตร์ชาวกรีกในศตวรรษแรกพูดถึงเรือที่ชนเข้ากับสันดอนทรายเหล่านั้นว่า “แทบไม่มีเรือลำไหนรอดไปได้อย่างปลอดภัย” (Geography, 17, III, 20) โยเซฟุส (The Jewish War, 2.16.4 [2.381]) ก็บอกด้วยว่า แค่ชื่อเสอร์ทิสก็ทำให้คนที่ได้ยินหวาดกลัวแล้ว—ดูภาคผนวก ข13
พายุใหญ่: แปลตรงตัวว่า “พายุไม่เล็ก” คำกรีกนี้หมายถึงพายุรุนแรง ในสมัยเปาโลนักเดินเรือจะอาศัยดวงอาทิตย์หรือดวงดาวเป็นเครื่องนำทาง ดังนั้น ถ้าสภาพอากาศมีเมฆมากก็จะทำให้พวกเขาเดินทางได้ยาก
พระเจ้าที่ผมรับใช้: หรือ “พระเจ้าที่ผมนมัสการ”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 26:7
ทะเลเอเดรียติก: ในสมัยเปาโล คำนี้ใช้เพื่อหมายถึงพื้นที่ที่กว้างใหญ่กว่าทะเลเอเดรียติกในปัจจุบัน สตราโบนักภูมิศาสตร์ชาวกรีกบอกว่าชื่อนี้มาจากชื่อเมืองเอเทรียที่ตั้งอยู่ปากแม่น้ำโป ซึ่งตอนนี้เรียกว่าอ่าวเวนิส (Geography, 5, I, 8) เมืองเอเดรียของประเทศอิตาลีในปัจจุบันอยู่ค่อนข้างไกลจากชายฝั่ง แต่ในสมัยก่อนมีการใช้คำว่าเอเดรียเพื่อเรียกแหล่งน้ำในเขตเมืองเก่า และต่อมาก็รวมถึงพื้นที่ของทะเลเอเดรียติกในปัจจุบันทั้งหมด และก็ยังรวมถึงทะเลไอโอเนียนและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่อยู่ฝั่งตะวันออกของเกาะซิซิลี (และเกาะมอลตา) และฝั่งตะวันตกของเกาะครีต—ดูภาคผนวก ข13
ประมาณ 36 เมตร: แปลตรงตัวว่า “20 ฟาทอม” ฟาทอมเป็นหน่วยวัดความลึกของน้ำ ซึ่ง 1 ฟาทอมเท่ากับประมาณ 1.8 เมตร และโดยประมาณแล้วเท่ากับระยะจากปลายนิ้วข้างหนึ่งถึงอีกข้างหนึ่งของผู้ชายที่กางแขนออกจนสุด ดูเหมือนว่าคำว่า “ฟาทอม” มาจากคำกรีก ออร์กุยอา ที่มีความหมายว่า “กางออก, เอื้อม”—ดูภาคผนวก ข14
ประมาณ 27 เมตร: แปลตรงตัวว่า “15 ฟาทอม”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าประมาณ 36 เมตร ในข้อนี้และภาคผนวก ข14
276: ถึงแม้สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับจะพูดถึงจำนวนคนที่อยู่บนเรือต่างไปจากนี้ แต่สำเนาพระคัมภีร์ที่น่าเชื่อถือส่วนใหญ่บอกว่ามี 276 คน และผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่าตัวเลขนี้ถูกต้อง เรือในสมัยนั้นสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากขนาดนั้นจริง ๆ โยเซฟุสพูดถึงเรือลำหนึ่งที่ล่มตอนเดินทางไปกรุงโรม เรือลำนั้นบรรทุกผู้โดยสารประมาณ 600 คน
วีดีโอและรูปภาพ
เหตุการณ์เรียงตามลำดับเวลา
1. หลังจากถูกขังคุกที่ซีซารียา 2 ปี เปาโลที่ยังเป็นนักโทษลงเรือเพื่อเดินทางไปโรม (กจ 27:1, 2)
2. เปาโลกับเพื่อน ๆ ขึ้นฝั่งที่เมืองไซดอน เปาโลได้รับอนุญาตให้เจอกับพี่น้องในเมืองนั้น (กจ 27:3)
3. เปาโลออกจากเมืองนั้นโดยทางเรือ เรือของเขาแล่นไปใกล้ ๆ เกาะไซปรัสโดยใช้เกาะเป็นที่บังลม เรือแล่นผ่านน่านน้ำของแคว้นซิลีเซียกับแคว้นปัมฟีเลียและเข้าเทียบท่าที่เมืองมิราในแคว้นลีเซีย (กจ 27:4, 5)
4. ที่เมืองมิรา เปาโลลงเรือบรรทุกข้าวที่มาจากเมืองอเล็กซานเดรีย เรือมาถึงเมืองคนีดัสอย่างทุลักทุเล จากนั้นก็แล่นผ่านแหลมสัลโมเนโดยให้เกาะครีตเป็นที่บังลม (กจ 27:6, 7)
5. เรือของเปาโลกับเพื่อน ๆ แล่นเลียบชายฝั่งของเกาะครีตอย่างยากลำบากจนมาถึงท่างาม (กจ 27:8)
6. เรือจอดที่ท่างามช่วงหนึ่ง มีการตัดสินใจออกจากท่างามเพื่อไปเมืองฟีนิกซ์ซึ่งเป็นเมืองท่าอีกแห่งหนึ่งของเกาะครีต (กจ 27:9-13)
7. หลังจากเรือแล่นไปได้ไม่นานก็เจอพายุใหญ่ที่เรียกกันว่ายูราคีโลนซึ่งมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เรือโดนพายุพัดกระหน่ำจนต้องปล่อยให้เรือลอยไปตามลม (กจ 27:14, 15)
8. เรือแล่นไปใกล้เกาะคาวดาเพื่อให้เกาะนั้นบังลม พวกลูกเรือกลัวว่าเรือจะเกยตื้นที่อ่าวเสอร์ทิส (กจ 27:16, 17)
9. ทูตสวรรค์มาหาเปาโลและบอกว่าเขาจะต้องไปยืนต่อหน้าซีซาร์ เปาโลรับรองกับทุกคนที่มากับเขาในเรือว่าจะรอดชีวิต (กจ 27:22-25)
10. เรือแตกที่เกาะมอลตา (กจ 27:39-44; 28:1)
11. คนพื้นเมืองที่เกาะมอลตาทำดีกับคนที่เจอภัยเรือแตก เปาโลรักษาพ่อของปูบลิอัส (กจ 28:2, 7, 8)
12. หลังจากลงเรือที่มาจากเมืองอเล็กซานเดรียซึ่งมาจอดพักที่เกาะมอลตาในช่วงฤดูหนาว เปาโลก็โดยสารเรือลำนี้เพื่อไปที่เมืองไซราคิวส์ จากนั้นเรือก็ไปที่เมืองเรยีอูม (กจ 28:11-13ก)
13. เปาโลมาถึงเมืองโปทิโอลี พี่น้องที่นั่นต้อนรับเขาอย่างอบอุ่น (กจ 28:13ข, 14)
14. พี่น้องจากกรุงโรมมาเจอเปาโลที่ตลาดอัปปีอัสและที่บ้านสามโรงแรม (กจ 28:15)
15. เปาโลมาถึงกรุงโรมและได้รับอนุญาตให้พักอยู่ในบ้านส่วนตัวโดยมีทหารคนหนึ่งคอยเฝ้าไว้ (กจ 28:16)
16. เปาโลพูดกับชาวยิวในกรุงโรม เขาประกาศอย่างกล้าหาญเป็นเวลา 2 ปีกับทุกคนที่มาหาเขา (กจ 28:17, 18, 21-31)
ในศตวรรษแรกมีเรือสินค้าหลายชนิดแล่นอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน บางชนิดเป็นเรือที่แล่นตามชายฝั่ง เช่น เรือจากเมืองอัดรามิททิยุมที่เปาโลโดยสารตอนที่เป็นนักโทษจากเมืองซีซารียาไปเมืองมิรา (กจ 27:2-5) แต่เรือสินค้าที่เปาโลโดยสารจากเมืองมิราเป็นเรือขนาดใหญ่คล้ายกับในรูปนี้ เรือนี้เป็นเรือบรรทุกข้าวสาลีที่มีลูกเรือและผู้โดยสารรวมทั้งหมด 276 คน (กจ 27:37, 38) เรือนี้น่าจะมีใบเรือใหญ่และมีใบเรือเสาหน้าและอาจควบคุมโดยหางเสือขนาดใหญ่ 2 อันที่อยู่ท้ายเรือ เรือแบบนี้มักจะมีหัวเรือเป็นรูปเทพเจ้าหรือเทพธิดา
1. เรือสินค้า
2. เรือหาปลาในทะเลสาบกาลิลี
1. แพนหาง
2. ก้านสมอ
3. ปลายเงี่ยง
4. เงี่ยงสมอ
5. แถบยึด
ในบันทึกเหตุการณ์ที่เปาโลเดินทางไปกรุงโรม มีการพูดถึงสมอเรือหลายครั้ง (กจ 27:13, 29, 30, 40) ดูเหมือนว่าสมอเรือในยุคแรกทำมาจากหินหนัก ๆ หรือเป็นสมอแบบง่าย ๆ แต่พอถึงสมัยที่เปาโลเดินทาง รูปแบบของสมอเรือก็พัฒนาขึ้น ภาพวาดนี้แสดงให้เห็นสมอเรือแบบมีเงี่ยงซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยโรมัน สมอเรือแบบนี้มักทำมาจากไม้และโลหะ ปกติแล้วแพนหางของสมอทำจากตะกั่วและมีน้ำหนักมากเพื่อช่วยให้สมอจมลงน้ำ และเงี่ยงของสมอด้านหนึ่งก็จะปักลงกับพื้นทะเล เรือลำใหญ่มักมีสมอเรือมากกว่า 1 อัน (กจ 27:29, 30) มีการพบสมอเรืออันหนึ่งใกล้กับเมืองไซรีนบนชายฝั่งแอฟริกาซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 545 กก. การค้นพบนี้เพิ่มน้ำหนักให้กับคำพูดของเปาโลที่บอกว่า “ความหวังนี้เป็นเหมือนสมอเรือของชีวิตที่มั่นคงแน่นอน”—ฮบ 6:19
ลูกตุ้มหยั่งความลึก (หมายเลข 1) มีหลายรูปทรงและหลายขนาด และเป็นอุปกรณ์เกี่ยวกับการเดินเรือที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่ง จะมีการมัดลูกตุ้มนี้กับเชือกแล้วโยนลงข้างเรือ พอลูกตุ้มตกถึงพื้นทะเล นักเดินเรือจะสามารถวัดความลึกของทะเลส่วนนั้นได้โดยดูจากความยาวของเชือก (หมายเลข 2) ส่วนล่างของลูกตุ้มบางชนิดจะมีชั้นไขมันสัตว์ที่อ่อนนุ่ม ซึ่งเมื่อหย่อนลงไปถึงก้นทะเลก็จะมีเศษบางอย่างติดขึ้นมา เช่น ก้อนกรวดและทราย และเมื่อดึงขึ้นมา นักเดินเรือก็จะเอาเศษเหล่านั้นมาดูได้ว่ามันคืออะไร ถึงแม้ลูกตุ้มเหล่านี้อาจทำจากวัสดุหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่แล้วทำจากตะกั่ว จึงไม่แปลกที่คำกริยากรีกที่ใน กจ 27:28 แปลว่า “หยั่งความลึก, หยั่ง” จะมีความหมายตรงตัวว่า “ยกตะกั่วขึ้นมา”
1. ลูกตุ้มหยั่งความลึก
2. เชือก