กิจการของอัครสาวก 11:1-30
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
อันทิโอก: เมืองนี้ตั้งอยู่ในแคว้นซีเรียริมแม่น้ำโอรอนเตส เมืองอันทิโอกอยู่ห่างจากเมืองเซลูเคียที่เป็นเมืองท่าริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนประมาณ 32 กม. พอถึงศตวรรษแรกเมืองอันทิโอกในซีเรียมีขนาดใหญ่และมั่งคั่งเป็นอันดับ 3 ในจักรวรรดิโรมันเป็นรองก็แค่โรมและอเล็กซานเดรีย เมืองนี้มีชุมชนชาวยิวเก่าแก่ขนาดใหญ่ และในตอนนั้นชาวยิวและชาวต่างชาติที่อยู่ในเมืองนี้สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีปัญหารุนแรง จึงน่าจะเหมาะที่เมืองนี้เป็นจุดเริ่มต้นของอะไรใหม่ ๆ ซึ่งก็คือพวกสาวกเริ่มประกาศไม่ใช่เฉพาะกับคนยิว แต่กับคนต่างชาติที่ไม่ได้เข้าสุหนัตด้วย (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าผู้คนที่พูดภาษากรีกในข้อนี้) เมืองอันทิโอกในข้อนี้เป็นคนละเมืองกับเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดียที่อยู่ในเอเชียไมเนอร์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 6:5; 13:14 และภาคผนวก ข13
ผู้คนที่พูดภาษากรีก: แปลตรงตัวว่า “พวกเฮเลน” เพื่อจะรู้ความหมายของคำกรีกที่ใช้ในข้อนี้ (เฮ็ลเลนิสเทส) จะต้องดูจากท้องเรื่อง คำนี้ใน กจ 6:1 น่าจะหมายถึง “สาวกที่พูดภาษากรีก” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 6:1) นี่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางคนคิดว่าสาวกที่ไปประกาศในเมืองอันทิโอกของแคว้นซีเรียต้องคุยกับชาวยิวที่เข้าสุหนัตที่พูดภาษากรีกหรือคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวที่พูดภาษากรีก แต่ดูเหมือนว่าในข้อนี้มีการพูดถึงสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในเมืองอันทิโอก เหมือนที่บอกใน กจ 11:19 ตอนแรกสาวกที่ประกาศในเมืองอันทิโอกจะประกาศเฉพาะกับคนยิวเท่านั้น แต่ตอนนี้ดูเหมือนการประกาศจะไปถึงคนที่ไม่ใช่ชาวยิวที่อยู่ที่นั่นด้วย บาร์นาบัสก็น่าจะถูกส่งไปเมืองอันทิโอกเพื่อให้กำลังใจสาวกใหม่เหล่านี้ที่พูดภาษากรีก (กจ 11:22, 23) สำเนาเก่าแก่บางฉบับใช้คำว่า เฮ็ลเลน (แปลว่า “พวกกรีก”; ดู กจ 16:3) ในข้อนี้ แทนที่จะใช้คำว่า เฮ็ลเลนิสเทส ดังนั้น ฉบับแปลจำนวนมากจึงแปลคำนี้ว่า “พวกกรีก” หรือ “พวกคนต่างชาติ” คำนี้แสดงให้เห็นว่าสาวกไปประกาศกับคนที่ไม่ได้นับถือศาสนายิวในเมืองอันทิโอก แต่ก็เป็นไปได้ว่าคำนี้อาจจะหมายถึงทั้ง คนยิวและคนต่างชาติที่พูดภาษากรีกด้วย จึงทำให้ฉบับแปลโลกใหม่ แปลคำนี้ว่า “ผู้คนที่พูดภาษากรีก” คนเหล่านี้อาจมาจากหลายชาติ แต่พวกเขาใช้ภาษากรีกและอาจมีวัฒนธรรมเหมือนชาวกรีก
พระยะโฮวา: แปลตรงตัวว่า “มือของพระยะโฮวา” มักมีสำนวนนี้อยู่ในต้นฉบับพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู สำนวนนี้มาจากคำฮีบรูรวมกัน 2 คำ คือ “มือ” และเททรากรัมมาทอน (ตัวอย่างของสำนวนนี้อยู่ที่ อพย 9:3; กดว 11:23; วนฉ 2:15; นรธ 1:13; 1ซม 5:6, 9; 7:13; 12:15; 1พก 18:46; อสร 7:6; โยบ 12:9; อสย 19:16; 40:2; อสค 1:3) ในคัมภีร์ไบเบิล คำว่า “มือ” มักใช้ในความหมายเป็นนัยเพื่อหมายถึง “พลังอำนาจ” เหมือนกับมือที่ต้องอาศัยพลังจากแขน คำว่า “มือ” ในข้อนี้จึงอาจหมายถึงการ “ใช้พลังอำนาจ” ด้วย
ได้ชื่อว่า . . . ตามการชี้นำจากพระเจ้า: คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลส่วนใหญ่ใช้แค่คำว่า “ได้ชื่อว่า” แต่คำกรีกที่มักจะแปลว่า “ได้ชื่อว่า, เรียก” เป็นคนละคำกับที่ใช้ในข้อนี้ (มธ 1:16; 2:23; มก 11:17; ลก 1:32; กจ 1:12, 19) คำนี้มาจากคำกริยากรีก ฆเรมาทีโศ ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีคำนี้อยู่ 9 ครั้งและส่วนใหญ่แล้วมักใช้เมื่อพูดถึงสิ่งที่มาจากพระเจ้า (มธ 2:12, 22; ลก 2:26; กจ 10:22; 11:26; รม 7:3; ฮบ 8:5; 11:7; 12:25) ตัวอย่างเช่น ที่ กจ 10:22 มีการใช้คำนี้กับสำนวน “ผ่านทางทูตสวรรค์บริสุทธิ์” และที่ มธ 2:12, 22 ก็ใช้คำนี้เพื่อพูดถึงความฝันที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า คำนามที่เกี่ยวข้องกันคือ ฆเรมาทิสม็อส มีอยู่ที่ รม 11:4 ซึ่งพจนานุกรมและฉบับแปลส่วนใหญ่แปลว่า “พระเจ้าตอบ, คำตอบของพระเจ้า” เป็นไปได้ว่าพระยะโฮวาชี้นำให้เซาโลกับบาร์นาบัสใช้ชื่อคริสเตียน บางคนเชื่อว่าพวกคนต่างชาติในอันทิโอกอาจใช้ชื่อคริสเตียนเพื่อเรียกสาวกของพระเยซูแบบเยาะเย้ยดูถูก แต่การใช้คำกรีก ฆเรมาทีโศ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพระเจ้าเป็นผู้ตั้งชื่อคริสเตียน และไม่น่าจะเป็นไปได้ที่พวกยิวจะเรียกคนที่ติดตามพระเยซูว่า “คริสเตียน” (มาจากคำกรีก) หรือ “พวกเมสสิยาห์” (มาจากคำฮีบรู) เพราะพวกเขาไม่ยอมรับว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์หรือพระคริสต์ พวกเขาจึงไม่น่าจะเรียกสาวกของพระเยซูว่าคริสเตียน เพราะถ้าทำอย่างนั้นก็เหมือนเป็นการยอมรับพระเยซูว่าเป็นผู้ถูกเจิมหรือพระคริสต์
คริสเตียน: คำกรีก ฆริสทิอานอส มีความหมายว่า “ผู้ติดตามพระคริสต์” มีอยู่แค่ 3 ครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก (กจ 11:26; 26:28; 1ปต 4:16) คำนี้มาจากคำว่า ฆะริสท็อส ที่มีความหมายว่าพระคริสต์หรือผู้ถูกเจิม คริสเตียนติดตามตัวอย่างและทำตามคำสอนของ “พระคริสต์” หรือผู้ถูกเจิมของพระยะโฮวา (ลก 2:26; 4:18) สาวกได้ชื่อว่า “คริสเตียน . . . ตามการชี้นำจากพระเจ้า” และดูเหมือนพวกเขาได้ชื่อนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 44 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่บันทึกอยู่ในข้อนี้ ชื่อนี้น่าจะเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เพราะตอนที่เปาโลไปพบกับกษัตริย์เฮโรดอากริปปา ที่ 2 ประมาณปี ค.ศ. 58 อากริปปาก็รู้แล้วว่าคริสเตียนเป็นใคร (กจ 26:28) นักประวัติศาสตร์ทาซิทุสก็ทำให้เห็นว่าประมาณปี ค.ศ. 64 ผู้คนทั่วไปในโรมก็รู้จักคำว่า “คริสเตียน” แล้ว นอกจากนั้น ระหว่างปี ค.ศ. 62 ถึง 64 เปโตรก็เขียนจดหมายฉบับแรกถึงคริสเตียนที่กระจัดกระจายในจักรวรรดิโรมัน ในตอนนั้น ดูเหมือนว่าชื่อคริสเตียนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง และผู้คนรู้ว่าพวกเขาเป็นใคร (1ปต 1:1, 2; 4:16) การได้ชื่อนี้จากพระเจ้าทำให้ไม่มีใครเข้าใจผิดอีกแล้วว่าสาวกของพระเยซูคริสต์เป็นลัทธิหนึ่งของศาสนายิว
การขาดแคลนอาหารทั่วโลก: บันทึกเรื่องการขาดแคลนอาหารครั้งนี้ที่เกิดประมาณปี ค.ศ. 46 ตรงกับคำพูดของโยเซฟุสที่พูดถึง “การขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่” ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงการปกครองของจักรพรรดิคลาวดิอัสของโรม การขาดแคลนอาหารทำให้คนที่ยากจนเดือดร้อนมากเพราะพวกเขาไม่มีเงินหรืออาหารสำรองไว้ คริสเตียนในเมืองอันทิโอกจึงอยากส่งความช่วยเหลือไปให้พี่น้องที่ยากจนในแคว้นยูเดีย
ในช่วงที่คลาวดิอัสปกครอง: จักรพรรดิคลาวดิอัสของโรมเริ่มปกครองตั้งแต่ปี ค.ศ 41 ถึง 54 ช่วงแรกที่เขาปกครองเขาชอบชาวยิว แต่ในช่วงท้าย ๆ เขากลับไม่ชอบชาวยิว และสั่งชาวยิวทั้งหมดให้ออกไปจากกรุงโรม (กจ 18:2) มีรายงานว่าคลาวดิอัสถูกภรรยาคนที่ 4 วางยาโดยใช้เห็ดพิษ แล้วเนโรก็ขึ้นปกครองต่อจากเขา
ความช่วยเหลือ: หรือ “งานรับใช้บรรเทาทุกข์” นี่เป็นครั้งแรกที่บันทึกว่าคริสเตียนส่งความช่วยเหลือไปให้เพื่อนร่วมความเชื่อที่อยู่ในส่วนอื่นของโลก คำกรีก เดียคอเนีย ที่มักแปลว่า “งานรับใช้” ยังใช้ในความหมายแง่อื่นได้ด้วย เช่นที่ กจ 12:25 แปลว่า “ทำงานช่วยเหลือพี่น้อง” และ 2คร 8:4 แปลว่า “ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์” การใช้คำกรีก เดียคอเนีย ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกแสดงให้เห็นว่าคริสเตียนมีงานรับใช้ 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือ ‘งานรับใช้ [รูปหนึ่งของคำว่า เดียคอเนีย] เพื่อช่วยคนอื่นให้คืนดีกับพระเจ้า’ ซึ่งก็คืองานประกาศและงานสอน (2คร 5:18-20; 1ทธ 2:3-6) ส่วนอีกด้านหนึ่งเกี่ยวข้องกับการช่วยเพื่อนร่วมความเชื่อเหมือนที่บอกในข้อนี้ เปาโลบอกว่า “งานรับใช้มีหลายแบบ [รูปพหูพจน์ของ เดียคอเนีย] แต่ทำเพื่อผู้เป็นนายผู้เดียว” (1คร 12:4-6, 11) เขาแสดงให้เห็นว่าการรับใช้ของคริสเตียนทั้ง 2 แบบนี้รวมกันเป็น “การรับใช้ที่ศักดิ์สิทธิ์”—รม 12:1, 6-8
ผู้ดูแล: แปลตรงตัวว่า “พวกผู้ชายสูงอายุ” คำกรีก เพร็สบูเทะรอส ที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลมักจะหมายถึงคนที่มีตำแหน่งและหน้าที่รับผิดชอบในชุมชนหรือในชาติ ถึงแม้คำนี้บางครั้งหมายถึงคนที่อายุมากกว่าหรือคนสูงอายุ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:21) ในชาติอิสราเอลสมัยโบราณ พวกผู้ดูแลจะทำหน้าที่เป็นผู้นำและผู้บริหารงานทั้งในระดับชุมชน (ฉธบ 25:7-9; ยชว 20:4; นรธ 4:1-12) และในระดับชาติ (วนฉ 21:16; 1ซม 4:3; 8:4; 1พก 20:7) นี่เป็นครั้งแรกที่ใช้คำนี้กับประชาคมคริสเตียน พวกผู้ดูแลในชาติอิราเอลของพระเจ้าจะทำหน้าที่เหมือนผู้ดูแลในชาติอิสราเอลสมัยโบราณ พวกเขาจะคอยชี้นำประชาคม ในท้องเรื่องนี้พวกผู้ดูแลเป็นคนได้รับของบริจาค และพวกเขาดูแลการแจกจ่ายของบริจาคเหล่านั้นให้กับประชาคมต่าง ๆ ในแคว้นยูเดีย
วีดีโอและรูปภาพ
วีดีโอนี้แสดงให้เห็นท่าเรือของเมืองยัฟฟาที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และอยู่ตรงกลางระหว่างภูเขาคาร์เมลกับเมืองกาซา เมืองยัฟฟาปัจจุบันมีชื่อว่าเมืองยาโฟที่รวมเข้าเป็นเมืองเดียวกับกรุงเทลอาวีฟในปี ค.ศ.1950 และในทุกวันนี้เมืองเทลอาวีฟ-ยาโฟก็ตั้งอยู่ในที่ที่เคยเป็นเมืองเก่า เมืองยัฟฟาตั้งอยู่บนเนินเขาหินที่สูงประมาณ 35 เมตร อ่าวของเมืองนี้เป็นลานหินที่ลาดต่ำและมีระยะประมาณ 100 เมตรจากฝั่ง ตอนที่มีการสร้างวิหารของโซโลมอน ชาวไทระตัดไม้จากป่าเลบานอนและมัดติดกันเป็นแพแล้วล่องลงมาที่เมืองยัฟฟา (2พศ 2:16) ต่อมาในสมัยผู้พยากรณ์โยนาห์ เขาก็เคยหนีงานมอบหมายไปที่เมืองยัฟฟาเพื่อจะขึ้นเรือไปเมืองทาร์ชิช (ยนา 1:3) ในศตวรรษแรก มีประชาคมคริสเตียนในเมืองยัฟฟา และโดร์คัส (ทาบิธา) ที่เปโตรปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายก็อยู่ในประชาคมนั้นด้วย (กจ 9:36-42) เปโตรก็เคยพักอยู่ที่บ้านของซีโมนช่างฟอกหนังในเมืองยัฟฟาตอนที่เขาเห็นนิมิตที่ให้ไปประกาศกับโคร์เนลิอัสที่เป็นคนต่างชาติ—กจ 9:43; 10:6, 9-17
เมืองอันทิโอกเป็นเมืองหลวงของแคว้นซีเรียในจักรวรรดิโรมัน พอถึงในศตวรรษที่ 1 ว่ากันว่าเมืองนี้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของจักรวรรดิโรมัน เป็นรองก็แค่โรมและอเล็กซานเดรีย เมืองอันทิโอกตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโอรอนเตส (หมายเลข 1) ซึ่งในตอนแรกเมืองนี้ก็รวมเอาเกาะ ๆ หนึ่งไว้ด้วย (หมายเลข 2) ด้านล่างของเมืองนี้คือเมืองเซลูเคียซึ่งเป็นเมืองท่าที่อยู่ห่างออกไปหลายสิบกิโลเมตร เมืองอันทิโอกมีชื่อเสียงเรื่องสนามแข่งม้า (หมายเลข 3) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในสมัยนั้น นอกจากนั้น ยังมีถนนสายหนึ่งในเมืองอันทิโอกที่มีชื่อเสียง ถนนนั้นมีเสาเรียงราย (หมายเลข 4) ซึ่งเฮโรดมหาราชได้ปูพื้นถนนนั้นด้วยหินอ่อน ต่อมาซีซาร์ทิเบริอัสได้ทำหลังคาและตกแต่งถนนด้วยโมเสกกับรูปปั้น เมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมนี้มีชุมชนชาวยิวขนาดใหญ่ (หมายเลข 5).ซึ่งต่อมาก็มีหลายคนในชุมชนนั้นเข้ามาเป็นคริสเตียน เมืองอันทิโอกเป็นเมืองที่สาวกของพระเยซูได้ชื่อว่าคริสเตียนเป็นครั้งแรก (กจ 11:26) ต่อมาก็มีคนต่างชาติหลายคนเข้ามาเป็นคริสเตียนด้วย ประมาณปี ค.ศ. 49 มีประเด็นเกี่ยวกับการเข้าสุหนัตเกิดขึ้น เปาโลและบาร์นาบัสได้รับมอบหมายให้ไปถามคณะกรรมการปกครองที่กรุงเยรูซาเล็มเกี่ยวกับเรื่องนี้ (กจ 15:1, 2, 30) อัครสาวกเปาโลใช้เมืองอันทิโอกเป็นฐานตอนที่เขาเดินทางในฐานะมิชชันนารีทั้ง 3 ครั้ง (กจ 13:1-3; 15:35, 40, 41; 18:22) ในแผนที่นี้ยังมีภาพของกำแพงเมืองที่อาจตั้งอยู่มานานหลายศตวรรษ
นี่เป็นภาพเมืองอันทาเกียของประเทศตุรกีในปัจจุบัน เมืองนี้ตั้งอยู่ตรงที่ที่เคยเป็นเมืองอันทิโอกในสมัยโบราณ เมืองอันทิโอกเป็นเมืองหลวงของแคว้นซีเรียในจักรวรรดิโรมัน พอถึงในศตวรรษที่ 1 ว่ากันว่าเมืองนี้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของจักรวรรดิโรมัน เป็นรองก็แค่โรมและอเล็กซานเดรีย บางคนคิดว่าเมืองนี้มีประชากรประมาณ 250,000 คนหรือมากกว่านั้น หลังจากสเทเฟนถูกฝูงชนในกรุงเยรูซาเล็มฆ่าและสาวกของพระเยซูเริ่มถูกข่มเหง สาวกบางคนก็ย้ายมาที่เมืองอันทิโอก พวกเขาประกาศข่าวดีกับคนที่พูดภาษากรีกและมีหลายคนสนใจ (กจ 11:19-21) ต่อมาอัครสาวกเปาโลใช้เมืองนี้เป็นฐานตอนที่เขาเดินทางในฐานะมิชชันนารี และ “ที่เมืองอันทิโอกนี่เองที่สาวกได้ชื่อว่าคริสเตียนเป็นครั้งแรก” (กจ 11:26) เมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรียเป็นคนละเมืองกับ “อันทิโอกในแคว้นปิสิเดีย” (ซึ่งอยู่ตอนกลางของตุรกี) ที่พูดถึงใน กจ 13:14; 14:19, 21 และ 2ทธ 3:11
หนังสือกิจการพูดถึงจักรพรรดิคลาวดิอัสของโรม 2 ครั้ง (กจ 11:28; 18:2) เขาเป็นจักรพรรดิต่อจากคาลิกูลาที่เป็นหลานชาย (คาลิกูลาปกครองระหว่างปี ค.ศ. 37-41 และไม่มีการพูดถึงคาลิกูลาในคัมภีร์ไบเบิล) เขาจึงเป็นจักรพรรดิองค์ที่ 4 ของโรมที่ปกครองตั้งแต่ปี ค.ศ. 41-54 ต่อมาประมาณปี ค.ศ. 49 หรือ 50 เขาสั่งให้ชาวยิวทั้งหมดออกไปจากกรุงโรม จึงทำให้อะควิลลาและปริสสิลลาย้ายไปที่เมืองโครินธ์และทั้งสองก็เจอกับอัครสาวกเปาโลที่นั่น มีรายงานว่าคลาวดิอัสถูกภรรยาคนที่ 4 วางยาในปี ค.ศ. 54 แล้วจักรพรรดิเนโรก็ขึ้นปกครองต่อจากเขา