ข้ามไปยังเนื้อหา

หนุ่ม​สาว​ถาม​ว่า

ฉัน​จะ​คุย​เก่ง​ขึ้น​ได้​ยังไง?

ฉัน​จะ​คุย​เก่ง​ขึ้น​ได้​ยังไง?

 ทำไม​ต้อง​ฝึก​คุย​กัน​ต่อ​หน้า?

 บาง​คน​รู้สึก​ว่า​ยาก​และ​เครียด​ตอน​ที่​คุย​กัน​ต่อ​หน้า พวก​เขา​เลย​ชอบ​ส่ง​ข้อ​ความ​มาก​กว่า

 “เวลา​คุย​กัน​ต่อ​หน้า ฉัน​จะ​รู้สึก​กดดัน​มาก​กว่า เพราะ​ฉัน​แก้ไข​หรือ​ลบ​สิ่ง​ที่​พูด​ออก​ไป​ไม่​ได้”—แอนนา

 “การ​ส่ง​ข้อ​ความ​เป็น​เหมือน​เรา​อัดเสียง​เตรียม​ไว้​ก่อน แต่​ตอน​ที่​คุย​กัน​ต่อ​หน้า​เป็น​เหมือน​การ​แสดง​สด ฉัน​เลย​บอก​ตัว​เอง​ว่า​ต้อง​ระวัง​เวลา​พูด”—จีน

 ไม่​ว่า​ยังไง​คุณ​ก็​ต้อง​คุย​กับ​คน​อื่น​ต่อ​หน้า​อยู่​ดี เช่น ถ้า​คุณ​อยาก​มี​เพื่อน​ใหม่ ตอน​ที่​หา​งาน​และ​ทำ​งาน หรือ​ตอน​ที่​คุณ​โต​พอ​ที่​จะ​มี​แฟน

 ที่​จริง การ​คุย​กัน​ต่อ​หน้า​ไม่​ได้​น่า​กลัว​อย่าง​ที่​คิด คุณ​ฝึก​ได้ ถึง​คุณ​จะ​เป็น​คน​ขี้อาย​ก็​ตาม

 “เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​ที่​บาง​ครั้ง​เรา​จะ​พูด​ผิด​และ​รู้สึก​อาย ไม่​ต้อง​เครียด มัน​ไม่​ใช่​เรื่อง​ใหญ่​อะไร”—นีล

 จะ​เริ่ม​คุย​กับ​คน​อื่น​ยังไง​ดี

  •   ใช้​คำ​ถาม ให้​คิด​ว่า​คน​นั้น​สนใจ​เรื่อง​อะไร​แล้ว​ใช้​เรื่อง​นั้น​คุย​กับ​เขา เช่น

     “ตอน​ปิด​เทอม​ไป​เที่ยว​ที่​ไหน​มา​เหรอ?”

     “เว็บไซต์​นี้​ดี​มาก​เลย เคย​เข้า​ไป​ดู​ไหม?”

     “เธอ​รู้​ไหม​ว่า . . . ?”

     ถ้า​อยาก​คุย​มาก​กว่า​เรื่อง​ทั่ว​ ๆ ​ไป ให้​คิด​ดู​ว่า​คุณ​กับ​เขา​มี​อะไร​ที่​เหมือน​กัน​บ้าง เช่น คุณ​อยู่​โรง​เรียน​เดียว​กัน​หรือ​ทำ​งาน​ที่​เดียว​กัน​ไหม? จาก​นั้น​คุณ​อาจ​ใช้​เรื่อง​นี้​ถาม​เขา​เพื่อ​ชวน​คุย

     “ให้​คิด​ถึง​คำ​ถาม​ที่​คุณ​คิด​ว่า​น่า​สนใจ และ​เป็น​คำ​ถาม​ที่​คุณ​อยาก​รู้​ว่า​คน​อื่น​คิด​ยังไง”—มาริทซ่า

     ข้อ​ควร​ระวัง อย่า​ถาม​เยอะ​เหมือน​กำลัง​สอบสวน​เขา และ​อย่า​ถาม​อะไร​ที่​เป็น​เรื่อง​ส่วน​ตัว​มาก​เกิน​ไป เช่น “เธอ​กลัว​อะไร​มาก​ที่​สุด?” หรือ “ทำไม​ถึง​ใส่​แต่​เสื้อ​สี​ฟ้า” คำ​ถาม​ที่​สอง​นี้​อาจ​ดู​เหมือน​เรา​กำลัง​ต่อ​ว่า​เขา

     คุณ​ยัง​ทำ​ให้​การ​พูด​คุย​ไม่​เป็น​เหมือน​การ​สอบสวน​ได้​ด้วย โดย​บอก​ว่า​คุณ​คิด​ยังไง​กับ​เรื่อง​ที่​คุณ​ถาม คุณ​จะ​พูด​ก่อน​หรือ​หลัง​จาก​ที่​เขา​ตอบ​ก็​ได้ ถ้า​ทำ​แบบ​นี้​คน​ที่​คุย​กับ​คุณ​ก็​จะ​ไม่​รู้สึก​ว่า​กำลัง​ถูก​สัมภาษณ์

    คำ​ถาม​ของ​คุณ​ทำ​ให้​คุณ​เป็น​เหมือน​เจ้าหน้าที่​สอบสวน​ไหม?

     คำ​แนะนำ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล “ความ​คิด​ใน​ใจ​คน​เป็น​เหมือน​น้ำ​ลึก แต่​คน​ที่​มี​ความ​เข้าใจ​จะ​ตัก​ขึ้น​มา​ได้”—สุภาษิต 20:5, ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่

  •   เป็น​ผู้​ฟัง​ที่​ดี เพื่อ​จะ​พูด​คุย​กับ​คน​อื่น​ได้​ดี การ​ตั้งใจ​ฟัง​สำคัญ​กว่า​ทักษะ​ใน​การ​พูด

     “ตอน​ที่​คุย​กัน ฉัน​จะ​ตั้งใจ​ฟัง​และ​สังเกต​ว่า​มี​เรื่อง​อะไร​ใหม่​ ๆที่​ฉัน​ได้​รู้​เกี่ยว​กับ​ตัว​เขา​ไหม แล้ว​ฉัน​ก็​จะ​จำ​เรื่อง​นั้น​ไว้​เพื่อ​เอา​มา​คุย​กับ​เขา​คราว​หน้า”—ทา​มา​ร่า

     ข้อ​ควร​ระวัง ไม่​ต้อง​กังวล​ว่า​จะ​พูด​อะไร​ต่อ​ดี ถ้า​คุณ​ตั้งใจ​ฟัง คุณ​ก็​จะ​รู้​ว่า​จะ​พูด​อะไร​กับ​เขา​ต่อ

     คำ​แนะ​นำ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล: “ไว​ใน​การ​ฟัง ช้า​ใน​การ​พูด”—ยากอบ 1:19

  •    สนใจ​คน​ที่​คุณ​คุย​ด้วย​จริง​ ๆ คุณ​จะ​สนุก​กับ​การ​พูด​คุย​มาก​ขึ้น ถ้า​คุณ​สนใจ​คน​ที่​คุณ​คุย​ด้วย

     “ถ้า​คน​ที่​คุณ​คุย​ด้วย​รู้สึก​ว่า​คุณ​สนใจ​สิ่ง​ที่​เขา​พูด​จริง​ ๆ การ​พูด​คุย​ก็​จะ​สนุก แม้​ว่า​อาจ​จะ​มี​ช่วง​ที่​เงียบ​บ้าง”—มารี

     ข้อ​ควร​ระวัง อย่า​ถาม​เรื่อง​ส่วน​ตัว​มาก​เกิน​ไป เช่น “เสื้อ​สวย​ดี ซื้อ​มา​เท่า​ไร​เหรอ?” คำ​ถาม​แบบ​นี้​อาจ​ทำ​ให้​เขา​อึดอัด

     คำ​แนะ​นำ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล: “อย่า​เห็น​แก่​ประโยชน์​ส่วน​ตัว​เท่า​นั้น ให้​เห็น​แก่​ประโยชน์​ของ​คน​อื่น​ด้วย”—ฟีลิปปี 2:4

 หลัง​จาก​คุย​กัน​จบ​แล้ว คุณ​จะ​พูด​ยังไง​ดี? วัยรุ่น​ชาย​คน​หนึ่ง​ที่​ชื่อ​จอร์แดน​บอก​ว่า “เรา​ควร​พูด​ใน​แง่​บวก เช่น ‘ผม​ดีใจ​ที่​ได้​คุย​กับ​คุณ’ หรือ ‘ไว้​เจอ​กัน​ใหม่​คราว​หน้า​นะ​ครับ’ คำ​พูด​แบบ​นี้​จะ​ช่วย​ให้​ง่าย​ขึ้น​ที่​จะ​เริ่ม​พูด​คุย​กัน​ครั้ง​หน้า”