คำแนะนำสำหรับครอบครัว | การเลี้ยงลูก
คุยกับลูกเรื่องการเหยียดเชื้อชาติและสีผิว
ตั้งแต่ตอนที่ลูกยังเล็ก ลูกอาจเห็นว่ามีบางคนทำไม่ดีกับคนอื่นโดยให้เหตุผลว่าคนพวกนั้นมีเชื้อชาติหรือสีผิวที่ต่างจากเขา คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยลูกไม่ให้มีอคติในเรื่องเชื้อชาติและสีผิว? คุณจะช่วยลูกยังไงถ้าเขาตกเป็นเหยื่อของเรื่องนี้?
ในบทความนี้
คุยกับลูกเรื่องเชื้อชาติและสีผิว
คุณอาจพูดแบบนี้ คนทั่วโลกมีหน้าตา สีผิว และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ความหลากหลายแบบนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่มันก็อาจทำให้บางคนทำกับคนอื่นไม่ดี แค่เพราะคนนั้นมีหน้าตา สีผิว หรือทำอะไรไม่เหมือนกับเขา
อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลสอนว่าเราทุกคนสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน หรือพูดง่าย ๆ ว่าเราทุกคนเป็นญาติพี่น้องกัน
“[พระเจ้า] สร้างคนทุกชาติจากคนคนเดียว”—กิจการ 17:26
“เราเห็นว่าถ้าลูกได้คบกับเพื่อนที่เป็นคนต่างชาติหรือต่างสีผิว เขาก็จะเข้าใจได้เองว่าแต่ละคนมีค่าและสมควรได้รับความรักและความนับถือ”—คาเรน
สอนลูกไม่ให้มีอคติเรื่องเชื้อชาติ
ไม่ว่ายังไง วันหนึ่งลูกของคุณก็จะได้ยินข่าวเกี่ยวกับการทำไม่ดีหรือทำร้ายคนอื่นเพราะความเกลียดชังที่มีสาเหตุจากเชื้อชาติและสีผิว คุณอาจปรับวิธีอธิบายให้เหมาะกับวัยของลูก
วัยก่อนเข้าเรียน ดร. แอลลิสัน บริสโค-สมิท บอกในวารสาร Parents ซึ่งเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกว่า “เด็กเล็ก ๆ จะรับรู้ได้ทันทีว่าอะไรยุติธรรมและไม่ยุติธรรม ซึ่งการที่เด็กเป็นแบบนี้ทำให้คุณคุยกับเขาเรื่องความไม่ยุติธรรมได้ง่าย”
“พระเจ้าไม่ลำเอียง พระองค์ยอมรับทุกคนที่เกรงกลัวพระองค์และทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ว่าเขาจะเป็นคนชาติไหนก็ตาม”—กิจการ 10:34, 35
วัยประถม เด็กอายุระหว่าง 6-12 ปีมีความอยากรู้อยากเห็น บางครั้งก็ถามคำถามยาก ๆ คุณต้องตอบคำถามให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ คุยกับลูกว่าเขาเห็นอะไรที่โรงเรียนและในสื่อโซเชียลบ้าง แล้วใช้โอกาสนี้สอนลูกว่าการที่เราไม่ชอบคนที่มีเชื้อชาติต่างจากเราเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
“ให้พวกคุณเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เห็นอกเห็นใจกัน รักกันแบบพี่น้อง เอ็นดูสงสารกัน และรู้จักถ่อมตัว”—1 เปโตร 3:8
วัยรุ่น เด็กที่โตเป็นวัยรุ่นจะสามารถเข้าใจเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้นได้ ดังนั้น ช่วงวัยนี้เป็นเวลาที่ดีที่สุดที่คุณจะคุยกับลูกเกี่ยวกับข่าวเรื่องอคติด้านเชื้อชาติและสีผิว
“ผู้ใหญ่ . . . ได้ฝึกใช้ความคิดจนแยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิด”—ฮีบรู 5:14
“เราคุยกับลูก ๆ เกี่ยวกับการเหยียดผิวเพราะยังไงเขาก็ต้องเจอเรื่องนี้ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน ถ้าเราไม่พูดเรื่องนี้ที่บ้าน เขาก็อาจไปฟังจากคนอื่นและอาจได้ข้อมูลผิด ๆ มา”—ทันยา
เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก
เด็กเรียนรู้โดยดูจากตัวอย่าง ดังนั้น พ่อแม่ต้องคิดให้ดีเกี่ยวกับสิ่งที่พูดและทำ เช่น
คุณล้อเลียนหรือดูถูกคนที่มีเชื้อชาติสีผิวต่างจากคุณไหม? สถาบันจิตเวชศาสตร์ของเด็กและเยาวชนแห่งอเมริกา บอกว่า “ลูก ๆ สังเกตสิ่งที่คุณพูดและทำ และพวกเขาจะเลียนแบบคุณ”
คุณชอบคบหากับคนที่มาจากชาติอื่น ๆ ไหม? หมอเด็กคนหนึ่งชื่ออลันนา โซมา บอกว่า “ถ้าคุณอยากให้ลูก . . . เปิดใจคบกับคนที่มีภูมิหลังต่างจากเขา คุณก็ต้องทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่าง”
“ให้เกียรติคนทุกชนิด”—1 เปโตร 2:17
“หลายปีที่ผ่านมา ครอบครัวเราชอบชวนเพื่อนต่างชาติมาที่บ้านบ่อย ๆ เราได้เรียนรู้หลายอย่างเกี่ยวกับพวกเขาไม่ว่าจะเป็นอาหาร เพลง และบางทีเราก็ใส่ชุดประจำชาติของเขาด้วย เวลาคุยกับลูกเราจะไม่เน้นเรื่องเชื้อชาติที่แตกต่างกัน และเราก็จะไม่อวดว่าวัฒนธรรมของเราดีกว่าเขา”—แคทารีนา
ช่วยลูกเมื่อเขาถูกเหยียดเชื้อชาติ
ถึงแม้ผู้คนจะชอบพูดว่าเราทุกคนเท่าเทียมกัน แต่การเหยียดเชื้อชาติและสีผิวก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วโลก ลูกคุณก็อาจถูกคนอื่นทำไม่ดีได้ โดยเฉพาะถ้าเขามีเชื้อชาติและสีผิวต่างจากเพื่อน ๆ ถ้าเป็นอย่างนั้น คุณควร . . .
หาสาเหตุที่แท้จริง คนที่ทำให้ลูกคุณรู้สึกไม่ดีตั้งใจทำแบบนั้นจริง ๆ ไหม หรือเขาแค่พูดไปโดยไม่ทันคิด? (ยากอบ 3:2) จำเป็นต้องไปคุยกับคนนั้นไหม หรือเรื่องนี้มองข้ามได้?
คุณต้องสมดุล คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำที่ฉลาดว่า “อย่าโกรธง่าย” (ปัญญาจารย์ 7:9) ถึงแม้การเหยียดเชื้อชาติและสีผิวไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่ก็อย่ามองว่าทุกครั้งที่คนอื่นพูดหรือทำไม่ดีกับลูกเป็นการเหยียดเชื้อชาติและสีผิว
เหตุการณ์ที่ลูกเจอแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน ดังนั้นก่อนตัดสินใจทำอะไรลงไปให้ดูก่อนว่าความจริงเป็นยังไงและมีสาเหตุมาจากอะไร
“คนที่ตอบก่อนได้ยินข้อเท็จจริง ก็ทำเรื่องโง่และน่าอับอาย”—สุภาษิต 18:13
หลังจากคุณรู้สาเหตุแล้ว ให้ถามตัวเองว่า:
‘มันจะดีกับลูกไหม ถ้าลูกคิดว่าทุกคนมีอคติและทุกครั้งที่มีคนมาทำให้เขารู้สึกไม่ดีก็เป็นเพราะคนนั้นไม่ชอบเชื้อชาติหรือสีผิวของเขา?’
‘ลูกของฉันจะได้ประโยชน์ไหมถ้าเขาทำตามคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลที่บอกว่า “อย่าใส่ใจทุกคำที่คนอื่นพูด”?’—ปัญญาจารย์ 7:21
“ให้คนอื่นเห็นว่าพวกคุณเป็นคนมีเหตุผล”—ฟีลิปปี 4:5
แล้วถ้าเขาตั้งใจทำไม่ดีกับลูกคุณล่ะ? สอนลูกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหรือแย่ลงก็ขึ้นอยู่กับว่าเขารับมือยังไง บางครั้งคนที่เยาะเย้ย แกล้ง หรือดูถูกคนอื่นก็อยากยั่วให้มีการตอบโต้ ในกรณีแบบนี้การตอบโต้ที่ดีที่สุดก็คือไม่ตอบโต้
“เมื่อไม่มีฟืน ไฟก็ดับ”—สุภาษิต 26:20
ในบางกรณี ถ้าคุณเห็นว่าไม่เป็นอันตรายกับลูก คุณอาจแนะนำให้ลูกไปพูดกับคนที่ทำให้เขารู้สึกไม่ดี เช่น ลูกอาจพูด (อย่างใจเย็น) ว่า “ฉันไม่โอเคกับสิ่งที่เธอพูด (หรือทำ) นะ”
ถ้าคุณอยากจัดการกับเรื่องนี้ล่ะ? ถ้าคุณคิดว่าลูกถูกคุกคามและตกอยู่ในอันตราย หรือคุณคิดว่าเหตุการณ์แบบนี้ปล่อยไว้ไม่ได้ คุณอาจไปคุยกับครูที่โรงเรียนหรือแจ้งตำรวจก็ได้ถ้าจำเป็น