กิจการของอัครสาวก 28:1-31
ข้อมูลสำหรับศึกษา
มอลตา: ข้อความภาษากรีกใช้คำว่า เมะลิเท ซึ่งเป็นเวลาหลายร้อยปีที่เชื่อกันว่าคำนี้หมายถึงเกาะมอลตาในปัจจุบัน เรือที่เปาโลโดยสารถูกลมพายุพัดไปทางใต้ จากเมืองคนีดัสที่อยู่ปลายสุดทางตะวันตกเฉียงใต้ของเอเชียไมเนอร์ลงไปถึงใต้เกาะครีต (กจ 27:7, 12, 13, 21) บันทึกใน กจ 27:27 บอกว่าเรือ “ถูกคลื่นซัดไปซัดมาอยู่ในทะเลเอเดรียติก” ซึ่งในสมัยของเปาโลคำว่าทะเลเอเดรียติกกินพื้นที่กว้างใหญ่กว่าทะเลเอเดรียติกในสมัยปัจจุบัน ซึ่งรวมทะเลไอโอเนียนและทะเลที่อยู่ทางตะวันออกของเกาะซิซิลี และฝั่งตะวันตกของเกาะครีต นี่แสดงว่าทะเลเอเดรียติกที่พูดถึงในข้อนี้จึงน่าจะเป็นทะเลที่อยู่ใกล้กับเกาะมอลตาในปัจจุบัน (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 27:27) เนื่องจากเรือที่เปาโลโดยสารมาเจอกับพายุยูราคีโลน (กจ 27:14) จึงน่าจะเป็นไปได้ที่เรือถูกพัดมาทางทิศตะวันตกและล่มที่เกาะมอลตาซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเกาะซิซิลี เป็นเวลานานหลายปีที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า เมะลิเท ที่คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงเป็นเกาะอื่น ทฤษฎีหนึ่งบอกว่าเกาะนี้น่าจะเป็นเกาะหนึ่งที่อยู่ใกล้กับเกาะคอร์ฟูซึ่งอยู่นอกชายฝั่งทางตะวันตกของประเทศกรีซ อีกทฤษฎีหนึ่งก็เชื่อว่าเมื่อดูจากคำกรีก เมะลิเท เกาะนั้นน่าจะเป็นเกาะเมลีเต อิลีริคา ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันว่ามัลเยตที่อยู่นอกชายฝั่งของโครเอเชียในทะเลเอเดรียติก แต่เมื่อดูจากเส้นทางที่คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้ก็ดูเหมือนว่าเรือไม่น่าจะเปลี่ยนทิศทางขึ้นเหนือไปไกลจนถึงเกาะคอร์ฟูหรือมัลเยต—ดูภาคผนวก ข13
คนพื้นเมือง: หรือ “คนที่พูดภาษาต่างประเทศ” มาจากคำกรีก บาร์บารอส คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลเก่าแก่บางฉบับแปลคำนี้ว่า “คนป่า” คำว่า “บาร์บา” ทำให้คำกรีกนี้ถ่ายทอดแนวคิดเกี่ยวกับการพูดแบบติดอ่าง ตะกุกตะกัก ไม่ชัดเจน หรือคำพูดที่ฟังแล้วไม่เข้าใจ ดังนั้น ในตอนแรกคนกรีกใช้คำนี้เพื่อหมายถึงคนต่างชาติที่ไม่ได้พูดภาษาเดียวกับพวกเขา ในตอนนั้นคำนี้ไม่ได้ใช้เพื่อหมายถึงคนป่าเถื่อน คนไม่มีอารยธรรม หรือไม่มีมารยาท และก็ไม่ได้เป็นคำที่ใช้ในเชิงดูถูกด้วย คำว่า บาร์บารอส แค่ช่วยแยกคนต่างชาติออกจากคนกรีก นักเขียนชาวยิวบางคนรวมทั้งโยเซฟุสก็เรียกตัวเองว่าบาร์บารอสด้วย (Jewish Antiquities, XIV, 187 [x, 1]; Against Apion, I, 58 [11]) แม้แต่ชาวโรมันก็เรียกตัวเองแบบนี้ก่อนที่พวกเขาจะรับเอาวัฒนธรรมกรีก ดังนั้น คำที่ใช้ในข้อนี้จึงหมายถึงคนพื้นเมืองบนเกาะมอลตาที่คงมีภาษาของตัวเองคือภาษาพิวนิกซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับภาษากรีก
ดีกับ: คำกรีก ฟิลันธะโรเพีย แปลตรงตัวว่า “ความรักต่อเพื่อนมนุษย์” ความกรุณาแบบนี้เกี่ยวข้องกับการแสดงความสนใจคนอื่นอย่างแท้จริง และแสดงน้ำใจต้อนรับโดยการดูแลเอาใจใส่ความจำเป็นของผู้อื่น อย่างที่เห็นในข้อนี้ แม้แต่คนที่ไม่รู้จักพระยะโฮวาก็อาจแสดงคุณลักษณะที่ดีแบบนี้ได้ อีกตัวอย่างที่คล้ายกันอยู่ใน กจ 27:3 ที่นั่นใช้คำกรีกที่เกี่ยวข้องกันกับคำนี้คือ ฟลันธะโรโพส เพื่อพูดถึงนายร้อยยูเลียสที่กรุณาเปาโลมาก และที่ ทต 3:4 ก็มีการใช้คำกรีก ฟิลันธะโรเพีย เพื่อพูดถึงความรู้สึกของพระยะโฮวา ซึ่งในข้อนั้นบอกว่าพระองค์แสดง “ความรัก . . . ต่อมนุษย์”
งูพิษ: ในปัจจุบันนี้ไม่มีงูพิษบนเกาะมอลตา แต่อย่างที่เห็นในบันทึกเหตุการณ์นี้ ผู้คนบนเกาะมอลตาในศตวรรษแรกรู้จักงูพวกนี้ เนื่องจากเวลาผ่านมาหลายร้อยปีแล้ว สภาพแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลง และมีคนอาศัยอยู่บนเกาะนั้นมากขึ้นจึงอาจทำให้ไม่มีงูเหล่านั้นบนเกาะมอลตาอีก
ความยุติธรรม: คำกรีกที่แปลว่า “ความยุติธรรม” ในข้อนี้มาจากคำว่า ดิเค ซึ่งอาจหมายถึงเทพธิดาที่แก้แค้นตามความยุติธรรมหรืออาจหมายถึงความยุติธรรมที่เป็นนามธรรม ในเทพนิยายกรีก ดิเคหรือไดคีเป็นชื่อของเทพธิดาแห่งความยุติธรรม เชื่อกันว่าเทพธิดาองค์นี้จะคอยควบคุมดูแลมนุษย์และถ้าเห็นความไม่ยุติธรรมก็จะรายงานซุสเพื่อคนที่ทำผิดจะถูกลงโทษ คนบนเกาะมอลตาอาจคิดว่าถึงแม้เปาโลจะรอดจากเรือแตก แต่เขาก็ถูกเทพธิดาแห่งความยุติธรรมลงโทษโดยใช้งู
ลูกแฝดของซุส: ตามตำนานของกรีกและโรมัน “ลูกแฝดของซุส” (คำกรีก ดิออสคูรอย) ก็คือแคสเตอร์กับพอลลักซ์ ซึ่งเป็นลูกแฝดของเทพซุส (จูปิเตอร์) กับราชินีลีดาแห่งสปาร์ตา ผู้คนเชื่อว่าพวกเขาเป็นเทพที่ปกป้องในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงปกป้องคนเดินทางในทะเลด้วย และสามารถปกป้องลูกเรือที่กำลังตกอยู่ในอันตรายได้ การที่ลูกาให้รายละเอียดเกี่ยวกับสัญลักษณ์ที่หัวเรือเป็นหลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้รู้ว่าเขาอยู่ในเหตุการณ์ด้วย
ไซราคิวส์: เมืองที่มีอ่าวจอดเรือที่ดี เมืองนี้ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะซิซิลี ซึ่งในทุกวันนี้มีชื่อว่าซิราคูซา นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกทิวซิดิดีสบอกว่า ชาวเมืองโครินท์ตั้งเมืองนี้ขึ้นในปี 734 ก่อน ค.ศ. เมืองไซราคิวส์เป็นสถานที่เกิดของผู้มีชื่อเสียงบางคนในสมัยโบราณ ตัวอย่างเช่น นักคณิตศาสตร์ชื่ออาร์คิมีดิสก็เกิดที่นั่น ในปี 212 ก่อน ค.ศ. พวกโรมันได้มายึดเมืองไซราคิวส์—ดูภาคผนวก ข13
โปทิโอลี: ปัจจุบันคือเมืองปอซซูโอลี เมืองนี้เป็นเมืองท่าสำคัญที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของโรม และอยู่ห่างจากเมืองเนเปิลส์ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 10 กม. ปัจจุบันยังคงมีซากเขื่อนกั้นน้ำทะเลอยู่ที่นั่น โยเซฟุสเรียกเมืองนี้ด้วยชื่อเก่าว่าดีซีเคีย และบอกว่าเคยมีชุมชนชาวยิวอยู่ที่นั่น (Jewish Antiquities, XVII, 328, xii, 1) ตอนที่เปาโลต้องเดินทางไปให้การต่อหน้าซีซาร์ที่กรุงโรม เขาก็มาถึงเมืองโปทิโอลีประมาณปี ค.ศ. 59 ก่อนหน้านี้เรือแวะที่เมืองเรยีอูม (ปัจจุบันเรียกว่า เรกจิโอ ดิ กาลาเบรีย) ซึ่งเป็นเมืองท่าที่ตั้งอยู่ทางใต้สุดของอิตาลี ตรงข้ามกับเกาะซิซิลี เมืองเรยีอูมอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองโปทิโอลีห่างออกไปประมาณ 320 กม. พี่น้องคริสเตียนในเมืองโปทิโอลีอ้อนวอนเปาโลกับเพื่อร่วมเดินทางของเขาให้พักอยู่ที่นั่นต่ออีก 1 อาทิตย์ นี่แสดงให้เห็นว่าถึงแม้เปาโลจะเป็นนักโทษ แต่เขาก็ยังมีอิสระอยู่บ้าง—ดูภาคผนวก ข13
แล้วพวกเราก็ออกเดินทางไปกรุงโรม: การเดินทางจากเมืองโปทิโอลีไปกรุงโรมอาจต้องใช้เวลานานถึง 1 อาทิตย์ เพราะสองเมืองนี้อยู่ห่างกัน 245 กม. เปาโลกับเพื่อนของเขาน่าจะเดินทางจากเมืองโปทิโอลีไปเมืองคาปัวก่อน แล้วจากนั้นก็ค่อยเดินทางอีก 212 กม. ไปถึงกรุงโรมโดยใช้ทางหลวงแอปเปียน (ภาษาละติน Via Appia) ทางหลวงแอปเปียนตั้งชื่อตามอัปปีอัส คลาวดิอัส แคคัส รัฐบุรุษชาวโรมันที่เริ่มสร้างถนนสายนี้ตั้งแต่ปี 312 ก่อน ค.ศ. ทางหลวงนี้เชื่อมระหว่างโรมกับเมืองท่าบรุนดิเซียม (ปัจจุบันเรียกว่าบรินดิซี) ซึ่งเป็นประตูสู่ทิศตะวันออก ถนนนี้ส่วนใหญ่ปูด้วยหินภูเขาไฟก้อนใหญ่ แต่ละช่วงของถนนสายนี้มีความกว้างแตกต่างกัน บางช่วงกว้างไม่ถึง 3 เมตร และบางช่วงก็กว้างมากกว่า 6 เมตร แต่มาตรฐานทั่วไปของถนนสายนี้ก็คือ ยานหนะในสมัยนั้นต้องสวนทางกันได้โดยไม่ต้องหลบ มีบางช่วงของถนนเส้นนี้ที่สามารถเห็นทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้ ถนนนี้ยังตัดผ่านที่ลุ่มชื้นแฉะที่เรียกว่าปอนตีเน ซึ่งนักเขียนชาวโรมันคนหนึ่งบ่นว่ามียุงเยอะและมีกลิ่นเหม็น และตรงที่ลุ่มชื้นแฉะก็มีการขุดคลองเลียบถนนสายนี้ด้วย ตอนที่น้ำท่วมถนนนักเดินทางก็จะใช้เรือล่องไปตามคลองแทน ไม่ไหลจากที่ลุ่มชื้นแฉะนี้ไปทางเหนือก็มีตลาดอัปปีอัส ซึ่งตลาดนี้อยู่ห่างจากกรุงโรมประมาณ 65 กม. และมีบ้านสามโรงแรมที่เป็นจุดแวะพักซึ่งห่างจากโรมประมาณ 50 กม.
ตลาดอัปปีอัส: ภาษาละติน Appii Forum ตลาดนี้อยู่ห่างจากกรุงโรมไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 65 กม. และเป็นจุดแวะพักบนทางหลวงแอปเปียนที่มีชื่อเสียง ซึ่งทางหลวงนี้วิ่งจากกรุงโรมไปถึงเมืองบรุนดิเซียม (ปัจจุบันเรียกว่าบรินดิซี) โดยผ่านทางเมืองคาปัว ทั้งถนนและตลาดนี้ตั้งชื่อตามอัปปีอัส คลาวดิอัส แคคัส ที่สร้างถนนนี้ในศตวรรษที่ 4 ก่อน ค.ศ. หลังจากเดินทางเกือบทั้งวันออกจากกรุงโรม พวกนักเดินทางก็จะมาแวะพักที่ตลาดนี้เป็นที่แรก ที่นี่จึงกลายมาเป็นศูนย์กลางการค้าที่มีคนขวักไขว่และเป็นตลาด นอกจากตลาดแล้วที่นั่นก็ยังมีคลองที่ขนานกับถนนซึ่งตัดผ่านที่ลุ่มชื้นแฉะที่เรียกว่าปอนตีเน ว่ากันว่าพวกนักเดินทางจะนั่งเรือไปตามคลองนี้ในตอนกลางคืนโดยมีล่อลากจูง ฮอเรซกวีชาวโรมันได้กล่าวถึงความไม่สะดวกสบายของการเดินทางแบบนั้นว่ามีแต่กบกับตัวริ้นที่น่ารำคาญและบอกว่าตลาดอัปปีอัส “เต็มไปด้วยคนพายเรือกับเจ้าของโรมแรมขี้เหนียว” (Satires, I, V, 1-6) ถึงแม้จะไม่สะดวกสบายแบบนี้ แต่พี่น้องจากกรุงโรมก็ยินดีมารอเปาโลกับเพื่อนร่วมเดินทางของเขาที่นั่นเพื่อจะเดินทางไปส่งพวกเขาจนถึงกรุงโรมอย่างปลอดภัย ในปัจจุบันตลาดนี้มีชื่อว่าโฟโร อัปปิโอ และที่ตั้งของตลาดนี้มีจุดสังเกตคือหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ชื่อว่าบอร์โก เฟติ ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงแอปเปียน—ดูภาคผนวก ข13
บ้านสามโรงแรม: คำละตินคือ Tres Tabernas มีการพูดถึงบ้านสามโรงแรมในงานเขียนอื่น ๆ ในสมัยโบราณด้วย บ้านสามโรงแรมตั้งอยู่บนทางหลวงแอปเปียน และอยู่ห่างจากกรุงโรมไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 50 กม. และอยู่ห่างจากตลาดอัปปีอัสประมาณ 15 กม. ปัจจุบันยังมีซากปรักหักพังจากยุคโรมันหลงเหลืออยู่ตรงบริเวณนั้น—ดูภาคผนวก ข13
ซีซาร์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 26:32
นิกายนี้: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 24:5
อธิบายเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าให้พวกเขาฟังอย่างละเอียด: มีการพบคำกรีกที่แปลว่า “พยาน” (มาร์ทูส) “เป็นพยานยืนยัน” (มาร์ทูเระโอ) และ “ประกาศ . . . ให้ทั่วถึง” (เดียมาร์ทูรอไม) และคำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นพยานในหนังสือกิจการมากเป็นอันดับสองรองจากหนังสือยอห์น (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:7; กจ 1:8) การเป็นพยานและการประกาศอย่างทั่วถึงเกี่ยวกับความประสงค์ของพระเจ้า ซึ่งรวมถึงเรื่องรัฐบาลของพระองค์และบทบาทของพระเยซูเป็นเรื่องหลักที่อยู่ในหนังสือกิจการตลอดทั้งเล่ม—กจ 2:32, 40; 3:15; 4:33; 5:32; 8:25; 10:39; 13:31; 18:5; 20:21, 24; 22:20; 23:11; 26:16
ข่าวเรื่องความรอดจากพระเจ้า: หรือ “วิธีช่วยให้รอดของพระเจ้า” คำกรีก โซเทริออน อาจไม่ได้หมายถึงแค่ความรอด แต่หมายถึงวิธีช่วยให้รอดด้วย (ลก 2:30; 3:6) นอกจากนั้น ยังอาจหมายถึงข่าวสารเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าจะช่วยมนุษย์ให้รอด
สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกในยุคหลังบางฉบับและฉบับแปลบางฉบับมีข้อความว่า “เมื่อเปาโลได้กล่าวคำเหล่านี้เสร็จแล้ว พวกยิวก็ได้จากไป และได้เถียงกันเป็นการใหญ่” แต่ข้อความนี้ไม่มีในสำเนาพระคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดและน่าเชื่อถือที่สุด และดูเหมือนไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของข้อความต้นฉบับของหนังสือกิจการ—ดูภาคผนวก ก3
เปาโลจึงอยู่ในบ้านเช่าของเขาตลอด 2 ปี: ในช่วง 2 ปีนี้เปาโลเขียนจดหมายถึงพี่น้องที่เมืองเอเฟซัส (อฟ 4:1; 6:20) พี่น้องที่เมืองฟีลิปปี (ฟป 1:7, 12-14) ที่เมืองโคโลสี (คส 4:18) เขียนถึงฟีเลโมน (ฟม 9) และน่าจะเขียนถึงพี่น้องที่เป็นชาวฮีบรูด้วย เปาโลน่าจะถูกปล่อยตัวประมาณปี ค.ศ. 61 ซึ่งน่าจะเป็นตอนที่เขาถูกพิจารณาคดีต่อหน้าจักรพรรดิเนโรหรือตัวแทนของจักรพรรดิ และถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด หลังจากถูกปล่อยตัวเปาโลก็ยังทำงานรับใช้อย่างขยันขันแข็ง และน่าจะเป็นช่วงนั้นที่เขาเดินทางไปประกาศที่สเปนตามที่วางแผนไว้ (รม 15:28) เคลเมนต์แห่งโรมได้เขียนไว้ประมาณปี ค.ศ. 95 ว่าเปาโลเดินทางถึง “สุดเขตแดนตะวันตก” ซึ่งก็คือสุดเขตแดนของจักรวรรดิโรม จากจดหมาย 3 ฉบับของเปาโลที่เขียนหลังจากถูกปล่อยตัว (1 และ 2 ทิโมธี และทิตัส) ทำให้รู้ว่าเขาอาจไปที่เกาะครีต เอเฟซัส มาซิโดเนีย มิเลทัส นิโคโปลิส และโตรอัส (1ทธ 1:3; 2ทธ 4:13; ทต 1:5; 3:12) นักวิชาการด้านคัมภีร์ไบเบิลบางคนคิดว่าเปาโลถูกจับตัวอีกครั้งที่เมืองนิโคโปลิสประเทศกรีซและถูกส่งตัวไปคุมขังที่กรุงโรมอีกครั้งประมาณปี ค.ศ. 65 แต่ครั้งนี้ดูเหมือนเนโรไม่ได้แสดงความเมตตาเหมือนครั้งก่อน ก่อนหน้านั้น 1 ปีมีไฟไหม้ครั้งใหญ่ในกรุงโรม ทาซิทุสนักประวัติศาสตร์ชาวโรมันบอกว่าเนโรกล่าวหาว่าพวกคริสเตียนเป็นคนทำ และเนโรก็เริ่มข่มเหงคริสเตียนอย่างเหี้ยมโหด ตอนที่เปาเขียนจดหมายฉบับที่ 2 ถึงทิโมธีซึ่งเป็นฉบับสุดท้าย เขาก็รู้ว่าอีกไม่นานเขาจะถูกประหาร เขาเลยขอให้ทิโมธีและมาระโกรีบมาหา ในช่วงนั้นลูกาและโอเนสิโฟรัสแสดงความกล้าหาญ พวกเขาเสี่ยงชีวิตไปเยี่ยมเปาโลและให้กำลังใจเขา (2ทธ 1:16, 17; 4:6-9, 11) เปาโลน่าจะถูกประหารประมาณปี ค.ศ. 65 ไม่ว่าตอนที่มีชีวิตอยู่หรือตอนที่ตายไปแล้ว เปาโลก็เป็นพยานเกี่ยวกับ “สิ่งที่พระเยซูสอนและทำทั้งหมดตั้งแต่ต้น”—กจ 1:1
ประกาศ: คำกรีกนี้มีความหมายหลักว่า “ป่าวประกาศในฐานะผู้ส่งข่าวอย่างเปิดเผย” คำนี้เน้นลักษณะ ของการประกาศว่ามักเป็นการพูดอย่างเปิดเผยให้สาธารณชนรู้ ไม่ใช่การเทศน์ให้คนแค่กลุ่มหนึ่งฟัง หัวข้อหลักของการประกาศนี้คือรัฐบาลของพระเจ้า ในหนังสือกิจการมีคำว่า “รัฐบาลของพระเจ้า” อยู่ 6 ครั้ง ครั้งแรกอยู่ที่ กจ 1:3 ซึ่งที่นั่นบอกว่าพระเยซูพูดเกี่ยวกับรัฐบาลนี้ในช่วง 40 วันหลังจากที่ท่านฟื้นขึ้นจากตายและก่อนที่จะกลับไปสวรรค์ รัฐบาลของพระเจ้าก็ยังเป็นหัวเรื่องหลักที่พวกอัครสาวกประกาศด้วย—กจ 8:12; 14:22; 19:8; 28:23
อย่างกล้าหาญและมั่นใจ: หรือ “อย่างไม่กลัว” มาจากคำกรีก พาร์เรเซีย ซึ่งอาจแปลได้ด้วยว่า “พูดอย่างกล้าหาญ” (กจ 4:13) คำนี้และคำกริยาที่เกี่ยวข้องกันคือ พาร์เรซิอาศอไม มีหลายครั้งในหนังสือกิจการ และมักแปลว่า “ประกาศอย่างกล้าหาญ (ด้วยความกล้าหาญ), พูดอย่างกล้าหาญ” หนังสือกิจการที่ลูกาเขียนตลอดทั้งเล่มทำให้เห็นว่าลักษณะเด่นของงานประกาศของคริสเตียนยุคแรกคือความกล้าหาญ—กจ 4:29, 31; 9:27, 28; 13:46; 14:3; 18:26; 19:8; 26:26
โดยไม่มีใครขัดขวาง: หรือ “อย่างอิสระ” หนังสือกิจการจบลงด้วยคำพูดที่ให้กำลังใจนี้ ถึงแม้จะถูกคุมขังอยู่ในบ้านแต่เปาโลก็ประกาศและสอนอย่างเปิดเผย ไม่มีอะไรมาขัดขวางการประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าในกรุงโรมได้ นี่เป็นตอนจบที่น่าประทับใจของหนังสือกิจการ ซึ่งทำให้เห็นว่าพลังบริสุทธิ์ได้ช่วยคริสเตียนในศตวรรษแรกอย่างไรให้เริ่มต้นงานประกาศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เพื่อให้ข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าแพร่ออกไป “จนถึงสุดขอบโลก”—กจ 1:8
วีดีโอและรูปภาพ
เครือข่ายถนนของโรมันช่วยคริสเตียนในยุคแรกให้ประกาศข่าวดีไปทั่วจักรวรรดิ อัครสาวกเปาโลคงต้องเดินทางไกลโดยใช้ถนนเหล่านี้แน่ ๆ (คส 1:23) ภาพนี้แสดงให้เห็นวิธีที่ชาวโรมันสร้างถนนที่ปูด้วยหิน ก่อนอื่นจะมีการกำหนดแนวถนน จากนั้นก็จะขุดร่องถนนและถมร่องเป็นชั้น ๆ ด้วยหิน ปูน และทราย จากนั้น คนงานจะปูผิวถนนด้วยแผ่นหินขนาดใหญ่ แล้วจะใส่ขอบหินด้านข้างเพื่อไม่ให้ผิวถนนเคลื่อนที่หรือหลุด ทั้งวัสดุที่ใช้และความโค้งของผิวถนนช่วยระบายน้ำออกจากถนน มีการเจาะช่องระบายน้ำเป็นระยะ ๆ เพื่อให้น้ำไหลลงร่องระบายน้ำที่อยู่ด้านข้าง ชาวโรมันสร้างถนนได้ดีมากจนบางสายยังอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่ถนนส่วนใหญ่ในจักรวรรดิโรมันไม่ได้สร้างอย่างดีขนาดนี้ ถนนส่วนใหญ่ทำมาจากหินก้อนเล็ก ๆ ที่อัดแน่น
กรุงโรมซึ่งเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันตั้งอยู่ริมแม่น้ำไทเบอร์ กรุงนี้สร้างขึ้นในพื้นที่ที่มีเนินเขา 7 ลูก เมื่อจักรวรรดินี้รุ่งเรืองขึ้นเมืองหลวงก็ใหญ่ขึ้น พอถึงช่วงกลางศตวรรษแรก กรุงโรมน่าจะมีคนอาศัยอยู่ประมาณ 1 ล้านคนและมีชุมชนชาวยิวขนาดใหญ่ด้วย คริสเตียนกลุ่มแรกในกรุงโรมน่าจะเป็นชาวยิวและคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวซึ่งเคยไปที่กรุงเยรูซาเล็มในช่วงเทศกาลเพ็นเทคอสต์ ปี ค.ศ. 33 และได้ยินข่าวดีจากอัครสาวกเปโตรและสาวกคนอื่น ๆ สาวกใหม่เหล่านี้คงต้องนำข่าวดีกลับไปกรุงโรมด้วย (กจ 2:10) ในจดหมายที่เปาโลเขียนถึงคริสเตียนในกรุงโรมประมาณปี ค.ศ. 56 เขาบอกว่าความเชื่อของสาวกที่นั่น “เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก” (รม 1:7, 8) วีดีโอนี้แสดงภาพจำลองอาคารสำคัญต่าง ๆ ในกรุงโรมสมัยเปาโล
1. ทางหลวงแอปเปียน
2. เซอร์คัส แม็กซิมัส
3. เขาพาเลติเน และวังของซีซาร์
4. วิหารของซีซาร์
5. โรงละคร
6. วิหารของเทพเจ้า
7. แม่น้ำไทเบอร์
ภาพนี้แสดงให้เห็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแอปเปียน หรือเวีย อัปเปียที่ยังหลงเหลืออยู่ในประเทศอิตาลี ถึงแม้ในคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้พูดถึงชื่อถนนนี้ตรง ๆ แต่ถนนสายนี้น่าจะเป็นทางหลวงที่เปาโลใช้เพื่อเดินทางไปกรุงโรม ถนนช่วงแรกสร้างในปี 312 ก่อน ค.ศ. และการก่อสร้างก็ดำเนินต่อไป จนพอถึงปี 244 ก่อน ค.ศ. ทางหลวงแอปเปียนก็กลายเป็นเส้นทางระหว่างกรุงโรมกับบรุนดิเซียม (ดูแผนที่) ตอนพี่น้องจากกรุงโรมเดินทางไปทางใต้เพื่อไปหาเปาโล พวกเขาไปรอเจอเปาโลที่บ้านสามโรงแรมและตลาดอัปปีอัสที่อยู่บนทางหลวงแอปเปียน (กจ 28:15) ตลาดอัปปีอัสอยู่ห่างจากกรุงโรมประมาณ 65 กม. และบ้านสามโรงแรมอยู่ห่างจากกรุงโรมประมาณ 50 กม.
1. กรุงโรม
2. บ้านสามโรงแรม
3. ตลาดอัปปีอัส
4. ทางหลวงแอปเปียน
5. บรุนดิเซียม (ปัจจุบันเรียกว่าบรินดิซี)
ในช่วงที่ถูกกักขังครั้งแรกในกรุงโรม อัครสาวกเปาโลได้รับอนุญาตให้อยู่ในบ้านเช่าโดยมีทหารยามคนหนึ่งคอยเฝ้า (กจ 28:16, 30) ทหารโรมันมักเอาโซ่ล่ามนักโทษไว้ ปกติแล้วจะมีการล่ามโซ่ที่ข้อมือขวาของนักโทษเข้ากับข้อมือซ้ายของทหารยาม นี่ช่วยให้ทหารยามสามารถใช้มือขวาได้อย่างอิสระ เปาโลพูดถึงการถูกล่ามโซ่หรือถูกกักขังหลายครั้งในจดหมายที่ได้รับการดลใจที่เขาเขียนในช่วงที่ถูกกักขังในบ้านที่กรุงโรม—อฟ 3:1; 4:1; 6:20; ฟป 1:7, 13, 14, 17; คส 4:3, 18; ฟม 1, 9, 10, 13
เหรียญทองคำนี้ทำขึ้นประมาณปี ค.ศ. 56-57 และมีภาพของเนโรที่เป็นจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมันตั้งแต่ปี ค.ศ. 54-68 เนโรเป็นซีซาร์ที่เปาโลร้องเรียนหลังจากที่เขาถูกจับอย่างไม่ยุติธรรมในกรุงเยรูซาเล็มและถูกคุมขังในเมืองซีซารียาตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 56-58 ดูเหมือนหลังจากที่เปาโลติดคุกในกรุงโรมครั้งแรกประมาณปี ค.ศ. 59 เขาก็ถูกตัดสินว่าไม่มีความผิดและถูกปล่อยตัวประมาณปี ค.ศ. 61 แต่ในปี ค.ศ. 64 มีไฟไหม้ใหญ่ในกรุงโรมซึ่งกินพื้นที่ 1 ใน 4 ของกรุงนั้นและบางคนก็บอกว่าเนโรเป็นคนทำ แต่เนโรโยนความผิดไปให้คริสเตียน ทำให้พวกเขาถูกรัฐบาลโรมข่มเหงอย่างโหดร้าย และน่าจะเป็นช่วงเดียวกันนั้น (ค.ศ. 65) ที่เปาโลถูกขังคุกในกรุงโรมเป็นครั้งที่ 2 และถูกประหาร