“จุดประสงค์ของเจ้าจะ สำเร็จผล”
“จุดประสงค์ของเจ้าจะ สำเร็จผล”
ในบทเพลงที่ดาวิด ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้แต่งไว้ ท่านอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระเจ้า, ขอพระองค์ทรงเนรมิตใจสะอาดให้แก่ข้าพเจ้า; และขอทรงชุบย้อมน้ำใจภายในของข้าพเจ้าให้เป็นของใหม่. ขอพระองค์ทรงคืนความยินดีในความรอดของพระองค์กลับมาให้ข้าพเจ้า; ขอโปรดให้ข้าพเจ้ายังคงมีความสมัครใจ.” (บทเพลงสรรเสริญ 51:10, 12) หลังจากที่ท่านทำบาปกับบัธเซบะ ดาวิดผู้กลับใจได้ร้องขอพระยะโฮวาพระเจ้าให้ทรงชำระหัวใจท่านให้สะอาดและให้ท่านมีน้ำใจหรือแนวโน้มทางใจที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง.
พระยะโฮวาทรงสร้างหัวใจใหม่ให้เรา และถึงกับใส่น้ำใจใหม่ที่มีความสมัครใจหรือเต็มใจไว้ในตัวเราจริง ๆ ไหม? หรือว่าหัวใจที่บริสุทธิ์สะอาดเป็นสิ่งที่เราต้องสร้างขึ้นมาและรักษาไว้ด้วยตัวเอง? “พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ตรวจดูหัวใจ” แต่พระองค์ทรงเข้ามาเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายในหัวใจเรามากแค่ไหน? (สุภาษิต 17:3, ล.ม.; ยิระมะยา 17:10) พระองค์ทรงมีอิทธิพลต่อชีวิต, แรงกระตุ้น, และการกระทำของเรามากถึงขนาดไหน?
เก้าข้อแรกของพระธรรมสุภาษิตบทที่ 16 ซึ่งมีการใช้พระนามของพระเจ้าแปดครั้ง แสดงให้เห็นว่าเราสามารถนำตัวเราเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมของพระเจ้าได้ เพื่อว่า ‘จุดประสงค์ของเราจะสำเร็จผล.’ (สุภาษิต 16:3) ข้อ 10 ถึง 15 เน้นเรื่องหน้าที่รับผิดชอบของกษัตริย์หรือผู้ปกครอง.
“โครงการทางใจ”—ของใคร?
สุภาษิต 16:1ก กล่าวว่า “โครงการทางใจเป็นของมนุษย์.” เห็นได้ชัดว่า “โครงการทางใจ” นั้นเป็นความรับผิดชอบของเรา. พระยะโฮวาไม่ได้ทรงเตรียมหัวใจเราด้วยวิธีอัศจรรย์ อีกทั้งไม่ได้ประทานน้ำใจแห่งความสมัครใจหรือเต็มใจแก่เรา. เราจำเป็นต้องพยายามด้วยตัวเองเพื่อจะได้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระองค์, ไตร่ตรองสิ่งที่เราเรียน, และปรับความคิดของเราให้ประสานกับความคิดของพระองค์.—สุภาษิต 2:10, 11.
อย่างไรก็ดี คำร้องขอของกษัตริย์ดาวิดที่จะมี “ใจสะอาด” และ “น้ำใจ . . . ใหม่” นั้นแสดงให้เห็นว่าท่านสำนึกถึงแนวโน้มที่ผิดบาปของตนเองและสำนึกว่าท่านจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อจะชำระหัวใจของท่านให้สะอาด. เนื่องจากเราเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ เราอาจถูกล่อใจให้เข้าไปพัวพันกับ “การของเนื้อหนัง.” (ฆะลาเตีย 5:19-21) เพื่อจะ “ประหารอวัยวะ [ของเรา] ซึ่งอยู่ฝ่ายโลกนี้ คือการล่วงประเวณี, การโสโครก, ราคะตัณหา, ความปรารถนาการชั่ว, และความโลภ” เราจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากพระยะโฮวา. (โกโลซาย 3:5) เป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ ที่เราจะอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระองค์เพื่อเราจะไม่ยอมแพ้ต่อการล่อใจต่าง ๆ และขจัดนิสัยที่เป็นบาปออกจากหัวใจของเรา!
เราจะช่วยคนอื่นจัดการกับ “โครงการ” ทางใจของพวกเขาได้ไหม? คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “คำพูดพล่อย ๆ ของคนบางจำพวกเหมือนการแทงของกระบี่; แต่ลิ้นของคนมีปัญญาย่อมรักษาแผลให้หาย.” (สุภาษิต 12:18) ลิ้นของเราจะเป็นลิ้นที่รักษาผู้อื่นเมื่อไร? ก็เฉพาะแต่เมื่อ “คำตอบทางลิ้นมาจากพระยะโฮวา” ซึ่งหมายความว่า เมื่อเราพูดถ้อยคำที่ถูกต้องจากความจริงในคัมภีร์ไบเบิล.—สุภาษิต 16:1ข.
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “จิตใจ (มนุษย์) เป็นโกงเกินบรรดาทุกสิ่ง, แลเป็นชั่วร้ายกาจนัก.” (ยิระมะยา 17:9) หัวใจโดยนัยของเรามีแนวโน้มที่จะหาข้อแก้ตัวให้ตนเองและหลอกตัวเอง. กษัตริย์ซะโลโมแห่งอิสราเอลโบราณได้เตือนถึงอันตรายดังกล่าวโดยกล่าวว่า “มนุษย์ย่อมเห็นว่าทางประพฤติทั้งหลายขาวสะอาดในสายตาของเขาเอง; แต่พระยะโฮวาทรงชั่งน้ำใจของคน.”—สุภาษิต 16:2.
การรักตัวเองอาจเป็นเหตุให้เราหาข้อแก้ตัวสำหรับความผิดที่เราทำไป, ปกปิดนิสัยส่วนตัวที่ไม่ดี, และปิดหูปิดตาต่อความชั่วของตนเอง. แต่ไม่มีใครจะหลอกพระยะโฮวาได้. พระองค์ทรงกำลังชั่งหรือประเมินน้ำใจแบบต่าง ๆ. น้ำใจของคนเราก็คือ แนวโน้มทางใจที่มีอิทธิพลและเกี่ยวข้องกับหัวใจของเขา. ส่วนใหญ่แล้วน้ำใจของคนเราจะเป็นไปอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการทำงานของหัวใจโดยนัย ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ เช่น ความคิด, อารมณ์, และแรงกระตุ้นของเรา. น้ำใจดังกล่าวคือสิ่งที่ “ผู้ตรวจดูหัวใจ” ทรงชั่งดู และการตัดสินของพระองค์ไม่มีการลำเอียงหรือการเห็นแก่หน้า. นับว่าสุขุมที่เราจะระวังรักษาน้ำใจของเรา.
“จงมอบธุระการงานของเจ้าไว้กับพระยะโฮวา”
การวางแผนงานเกี่ยวข้องกับกระบวนการคิด ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในหัวใจ. ตามปกติแล้ว การกระทำเกิดขึ้นหลังจากการวางแผน. แผนการของเราจะประสบความสำเร็จไหม? ซะโลโมกล่าวว่า “จงมอบธุระการงานของเจ้าไว้กับพระยะโฮวา, และจุดประสงค์ของเจ้าจะสำเร็จผล.” (สุภาษิต 16:3) การมอบธุระการงานของเราไว้กับพระยะโฮวาหมายถึงการวางใจพระองค์, ไว้ใจพระองค์, และยอมอยู่ใต้อำนาจของพระองค์ ประหนึ่งว่าเราได้ยกภาระที่เราแบกอยู่ทั้งหมดไปไว้กับพระองค์. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเป็นเพลงว่า “จงมอบทางประพฤติของตนไว้กับพระยะโฮวา; แถมจงวางใจในพระองค์ด้วย, และพระองค์จะทรงกระทำให้สำเร็จดังประสงค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 37:5.
อย่างไรก็ตาม เพื่อที่แผนการของเราจะสำเร็จผล แผนการเหล่านั้นจะต้องประสานกับพระคำของพระเจ้าและมาจากแรงกระตุ้นที่ดี. นอกจากนั้น เราควรอธิษฐานขอความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากพระยะโฮวาและทำตามคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลด้วยความตั้งใจจริง. นับว่าสำคัญเป็นพิเศษที่เราจะ ‘ทอดภาระของเราไว้กับพระยะโฮวา’ เมื่อเราเจอการทดลองและปัญหายุ่งยากต่าง ๆ เพราะ ‘พระองค์จะเป็นธุระให้เรา.’ ที่จริง “พระองค์จะไม่ยอมให้คนชอบธรรมแตกฉานซ่านเซ็นไป.”—บทเพลงสรรเสริญ 55:22.
“พระยะโฮวาทรงทำทุกสิ่งตามจุดประสงค์ของพระองค์”
การที่เราฝากธุระการงานของเราไว้กับพระยะโฮวาจะมีผลเช่นไรอีก? กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดกล่าวว่า “พระยะโฮวาทรงทำทุกสิ่งตามจุดประสงค์ของพระองค์.” (สุภาษิต 16:4ก, ล.ม.) พระผู้สร้างเอกภพทรงเป็นพระเจ้าที่มีจุดมุ่งหมาย. เมื่อเราฝากธุระการงานไว้กับพระองค์ ชีวิตของเราก็จะเต็มไปด้วยการงานที่มีจุดมุ่งหมายและมีความหมาย ไม่ใช่การงานที่ไร้ค่าหรือไร้ประโยชน์. และจุดมุ่งหมายของพระยะโฮวาสำหรับแผ่นดินโลกและมนุษย์บนโลกนั้นยั่งยืนตลอดกาล. (เอเฟโซ 3:11) พระองค์ทรงก่อรูปและสร้างแผ่นดินโลก “เพื่อให้เป็นที่อาศัย.” (ยะซายา 45:18) นอกจากนั้น จุดมุ่งหมายที่พระองค์ทรงตั้งไว้แต่แรกสำหรับมนุษย์บนแผ่นดินโลกจะกลายเป็นจริงอย่างแน่นอน. (เยเนซิศ 1:28) ชีวิตซึ่งอุทิศแด่พระเจ้าองค์เที่ยงแท้จะไม่สิ้นสุดและจะมีความหมายตลอดไป.
พระยะโฮวาทรงทำให้ “แม้คนชั่วก็มีไว้สำหรับวันแห่งความลำบาก.” (สุภาษิต 16:4ข, ล.ม.) พระองค์ไม่ได้ทรงสร้างคนชั่ว เพราะ “กิจการของพระองค์ดีรอบคอบ.” (พระบัญญัติ 32:4) อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงยอมให้พวกเขาเป็นอยู่และดำเนินชีวิตได้ต่อไปจนถึงเวลาที่พระองค์เห็นว่าสมควรที่จะสำเร็จโทษตามการพิพากษาของพระองค์แล้ว. ตัวอย่างเช่น พระยะโฮวาตรัสกับฟาโรห์แห่งอียิปต์ว่า “เหตุ ที่เราให้เจ้ามีชีวิตอยู่ก็เพื่อจะให้เจ้าเห็นฤทธานุภาพของเราและนามของเราจะได้มีผู้ประกาศไปทั่วโลก.” (เอ็กโซโด 9:16, ฉบับแปลใหม่) ภัยพิบัติสิบประการและการทำลายฟาโรห์กับกองทัพในทะเลแดงเป็นการสำแดงฤทธานุภาพซึ่งไม่มีผู้ใดเทียบได้ของพระเจ้า และเป็นเรื่องที่น่าจดจำเสียจริง ๆ.
นอกจากนี้ พระยะโฮวายังสามารถทำให้สภาพการณ์เป็นไปอย่างที่พวกคนชั่วจะทำตามความมุ่งหมายของพระองค์โดยไม่รู้ตัว. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวว่า “ความโกรธของมนุษย์จะสรรเสริญพระองค์ และความโกรธที่เหลืออยู่นั้นพระองค์ [พระยะโฮวา] จะทรงคาดพระองค์ไว้.” (บทเพลงสรรเสริญ 76:10, ฉบับแปลใหม่) พระยะโฮวาอาจทรงยอมให้ศัตรูของพระองค์ระบายความโกรธของพวกเขาต่อผู้รับใช้ของพระองค์ แต่ก็เพียงในระดับที่จำเป็นเพื่อตีสอนประชาชนของพระองค์ซึ่งเป็นการฝึกพวกเขาเท่านั้น. ที่เกินจากนั้น พระองค์ทรงรับเอาไว้เอง.
หากพระยะโฮวาทรงสนับสนุนผู้รับใช้ของพระองค์ที่มีใจถ่อม แล้วจะว่าอย่างไรกับคนที่เย่อหยิ่งจองหอง? กษัตริย์แห่งอิสราเอลตรัสว่า “ทุกคนที่มีใจหยิ่งจองหองเป็นที่สะอิดสะเอียนแด่พระยะโฮวา; จับมือสัญญาได้เทียวว่าเขาจะพ้นโทษก็หามิได้.” (สุภาษิต 16:5) คนที่ “มีใจหยิ่งจองหอง” อาจร่วมมือเพื่อช่วยเหลือกัน แต่พวกเขาจะไม่พ้นจากการลงโทษ. ฉะนั้น นับว่าสุขุมที่เราจะสร้างเสริมน้ำใจอ่อนน้อมถ่อมตนไม่ว่าเราจะมีความรู้มากแค่ไหน หรือมีความสามารถหรือมีสิทธิพิเศษในงานรับใช้มากเพียงใดก็ตาม.
“โดยความยำเกรงพระยะโฮวา”
เราเกิดมาพร้อมกับบาปติดตัว เราจึงมีแนวโน้มจะทำผิด. (โรม 3:23; 5:12) อะไรจะช่วยเราให้หลีกเลี่ยงการวางแผนแบบที่จะนำไปสู่การกระทำผิด? สุภาษิต 16:6 บอกว่า “ความผิดบาปจะปลดเปลื้องเสียได้ก็ด้วยความเมตตา [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.] และความจริง [“ความสัตย์จริง,” ล.ม.]; และโดยความยำเกรงพระยะโฮวามนุษย์จึงจะพ้นจากความชั่ว.” แม้ว่าพระยะโฮวาจะทรงโปรดยกบาปของเราเนื่องด้วยความกรุณารักใคร่และความสัตย์จริงของพระองค์ แต่ความยำเกรงพระยะโฮวาจะเป็นสิ่งที่ป้องกันเราไม่ให้ทำบาป. เป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ ที่นอกจากเราจะมีความรักต่อพระเจ้าและความหยั่งรู้ค่าต่อความกรุณารักใคร่ของพระองค์แล้ว เราจะสร้างเสริมความกลัวที่จะทำให้พระองค์ไม่พอพระทัยด้วย!
เราเกิดความยำเกรงพระเจ้าขึ้นในหัวใจของเราเมื่อเราพัฒนาความเคารพและความนับถือต่อฤทธานุภาพอันน่าเกรงขามของพระองค์. ขอให้คิดถึงอำนาจของพระองค์ซึ่งปรากฏให้เห็นในสิ่งที่ทรงสร้าง! เมื่อโยบปฐมบรรพบุรุษได้รับการเตือนให้คิดถึงฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าที่แสดงให้เห็นในผลงานการทรงสร้างของพระองค์ ท่านก็ได้ปรับความคิดเสียใหม่. (โยบ 42:1-6) เราก็ได้รับผลกระทบอย่างเดียวกันมิใช่หรือเมื่อเราอ่านและไตร่ตรองดูวิธีที่พระยะโฮวาปฏิบัติต่อประชาชนของพระองค์ดังที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล? ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเป็นเพลงว่า “จงมาดูสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงกระทำ พระราชกิจของพระองค์น่าครั่นคร้ามท่ามกลางมนุษย์.” (บทเพลงสรรเสริญ 66:5, ฉบับแปลใหม่) เราไม่ควรถือว่าความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวาเป็นเรื่องธรรมดา. เมื่อชาติอิสราเอล ‘กบฏและทำให้วิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าเสียพระทัย พระยะโฮวาจึงทรงหันเป็นศัตรูของเขาทั้งหลายและพระองค์ทรงต่อสู้กับเขาทั้งหลายเอง.’ (ยะซายา 63:10, ฉบับแปลใหม่) ในทางตรงกันข้าม “เมื่อทางของคนใดเป็นที่ชอบพระทัยพระยะโฮวา, แม้ศัตรูของคนนั้นพระองค์จะทรงกระทำให้อยู่ด้วยกันได้ด้วยความสงบสุข.” (สุภาษิต 16:7) ความยำเกรงพระยะโฮวาช่างเป็นการปกป้องจริง ๆ!
กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดกล่าวว่า “มีทรัพย์เพียงเล็กน้อยแต่มีความชอบธรรมก็ดีกว่ามีรายได้มากแต่ประกอบด้วยอยุติธรรม.” (สุภาษิต 16:8) สุภาษิต 15:16 กล่าวว่า “มีทรัพย์น้อยและยำเกรงพระยะโฮวายังดีกว่ามีทรัพย์สมบัติมากและมีความทุกข์.” ความเคารพยำเกรงพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญอย่างแน่นอนเพื่อจะอยู่ในแนวทางที่ชอบธรรมต่อไป.
“ใจของมนุษย์กะแผนงานทางของเขา”
มนุษย์ถูกสร้างมาพร้อมด้วยเจตจำนงเสรี สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด. (พระบัญญัติ 30:19, 20) หัวใจโดยนัยของเรามีความสามารถที่จะพิจารณาทางเลือกที่หลากหลายและมุ่งเป้าไปที่สิ่งหนึ่งหรือบางสิ่งโดยเฉพาะ. ซะโลโมกล่าวว่า “ใจของมนุษย์กะแผนงานทางของเขา” ซึ่งแสดงว่าเป็นความรับผิดชอบของเราที่จะทำการตัดสินใจเลือกในเรื่องต่าง ๆ. และเมื่อเลือกแล้ว “พระเจ้าทรงนำย่าง เท้าของเขา.” (สุภาษิต 16:9, ฉบับแปลใหม่) เนื่องจากพระยะโฮวาทรงสามารถชี้นำย่างเท้าของเรา จึงนับว่าสุขุมที่เราจะขอให้พระองค์ช่วยเพื่อ ‘จุดประสงค์ของเราจะสำเร็จผล.’
ดังที่เราได้เห็น หัวใจนั้นคดโกงและสามารถหาเหตุผลอย่างผิด ๆ ได้. ตัวอย่างเช่น คนหนึ่งอาจทำบาป และหัวใจของเขาอาจหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง. แทนที่จะเลิกทำบาป คนนั้นอาจหาเหตุผลว่าพระเจ้าทรงมีความรัก, ทรงกรุณา, เมตตา, และให้อภัย. คนเช่นนั้นพูดในใจของเขาว่า “พระเจ้าลืมแล้ว. พระองค์ทรงซ่อนพระพักตร์และจะไม่ทรงเห็นเลย.” (บทเพลงสรรเสริญ 10:11, ฉบับแปลใหม่) อย่างไรก็ตาม นับว่าไม่เหมาะสมและอันตรายที่จะทึกทักเอาเองในเรื่องความเมตตาของพระเจ้า.
“คันชั่งและตราชูอันเที่ยงตรงเป็นของพระยะโฮวา”
ซะโลโมเปลี่ยนจากเรื่องหัวใจและการกระทำของมนุษย์โลก ไปพูดเรื่องของกษัตริย์องค์หนึ่ง โดยกล่าวว่า “คำพิพากษาแห่งพระเจ้าอยู่ที่ริมฝีพระโอษฐ์ของกษัตริย์; พระโอษฐ์ของพระองค์จะไม่ตรัสพิพากษาผิดไป.” (สุภาษิต 16:10) ข้อนี้เป็นจริงอย่างแน่นอนกับกษัตริย์เยซูคริสต์ผู้ครองราชย์อยู่. การปกครองของพระองค์เหนือแผ่นดินโลกจะสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า.
กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดบอกให้ทราบแหล่งแห่งความยุติธรรมและความชอบธรรมโดยกล่าวว่า “คันชั่งและตราชูอันเที่ยงตรงเป็นของพระยะโฮวา; ตุ้มชั่งน้ำหนักทุกชนิดในถุงเป็นราชกิจของพระองค์.” (สุภาษิต 16:11) คันชั่งและตราชูที่เที่ยงตรงเป็นสิ่งที่พระยะโฮวาทรงจัดเตรียม. มาตรฐานดังกล่าวไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นตามใจชอบของกษัตริย์องค์ใด. เมื่อพระเยซูทรงอยู่บนแผ่นดินโลก พระองค์ตรัสว่า “เราจะทำสิ่งใดตามอำเภอใจไม่ได้ เราได้ยินอย่างไรเราก็พิพากษาอย่างนั้น และการพิพากษาของเราก็ยุติธรรม เพราะเรามิได้มุ่งที่จะทำตามใจของเราเอง แต่ตามพระประสงค์ของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา.” เราคาดหมายความยุติธรรมที่สมบูรณ์พร้อมได้จากพระบุตร ผู้ซึ่งพระบิดา “ได้ทรงมอบการพิพากษาทั้งสิ้นไว้.”—โยฮัน 5:22, 30, ฉบับแปลใหม่.
เราคาดหมายอะไรได้อีกจากกษัตริย์ที่เป็นตัวแทนของพระยะโฮวา? กษัตริย์แห่งอิสราเอลตรัสว่า “ที่จะประพฤติการชั่วร้ายนั้นเป็นที่สะอิดสะเอียนต่อกษัตริย์; เพราะว่าพระที่นั่งนั้นย่อมสถาปนาขึ้นด้วยความชอบธรรม.” (สุภาษิต 16:12) ราชอาณาจักรมาซีฮาปกครองโดยอาศัยหลักการอันชอบธรรมของพระเจ้า. ราชอาณาจักรนี้ไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ กับ “ที่นั่งของคนอสัตย์อธรรม.”—บทเพลงสรรเสริญ 94:20; โยฮัน 18:36; 1 โยฮัน 5:19.
ได้รับความโปรดปรานจากกษัตริย์
ผู้ที่อยู่ใต้การปกครองของกษัตริย์น่าจะตอบรับอย่างไร? ซะโลโมกล่าวว่า “กษัตริย์ทรงชื่นชมยินดีต่อริมฝีปากที่ชอบธรรม; และทรงรักเขาผู้นั้นที่พูดถูกต้อง. พระพิโรธของกษัตริย์เป็นเหมือนทูตแห่งความตาย; แต่คนมีปัญญาจะทำให้ทรงคลายพระพิโรธ.” (สุภาษิต 16:13, 14) ผู้นมัสการพระยะโฮวาในปัจจุบันเอาใจใส่ถ้อยคำนี้และง่วนอยู่กับงานประกาศข่าวราชอาณาจักรและการทำคนให้เป็นสาวก. (มัดธาย 24:14; 28:19, 20) พวกเขารู้ว่าการที่พวกเขาใช้ริมฝีปากในวิธีนี้ทำให้พระเยซูคริสต์ ผู้เป็นกษัตริย์มาซีฮามีพระทัยยินดี. เป็นการฉลาดอย่างแน่นอนที่จะทำสิ่งที่กษัตริย์ผู้ทรงอำนาจที่เป็นมนุษย์ชอบพระทัย และไม่ทำสิ่งที่กษัตริย์ไม่ชอบพระทัย. จะเป็นการฉลาดยิ่งกว่านั้นสักเท่าใดที่จะแสวงหาความโปรดปรานจากกษัตริย์มาซีฮา!
ซะโลโมกล่าวต่อไปว่า “ความแจ่มใสแห่งพระพักตร์ของกษัตริย์นั้นเป็นชีวิต; และความโปรดปรานของพระองค์เปรียบเหมือนเมฆปลายฤดูฝน.” (สุภาษิต 16:15) “ความแจ่มใสแห่งพระพักตร์ของกษัตริย์” หมายถึงความโปรดปรานของกษัตริย์ เช่นเดียวกับที่ ‘แสงสว่างแห่งพระพักตร์ของพระยะโฮวา’ บ่งชี้ถึงความโปรดปรานจากพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 44:3; 89:15) ดุจดังเมฆฝนเป็นสิ่งรับประกันว่าจะมีน้ำตกลงมาทำให้พืชผลสุก ความโปรดปรานของกษัตริย์ก็เป็นหลักฐานว่าจะมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้น. ชีวิตภายใต้การปกครองของกษัตริย์มาซีฮาจะเต็มไปด้วยพระพรและความเจริญมั่งคั่ง เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในขอบเขตที่เล็กกว่าในระหว่างการครองราชย์ของกษัตริย์ซะโลโม.—บทเพลงสรรเสริญ 72:1-17.
ขณะที่เราคอยให้ราชอาณาจักรของพระเจ้ามาควบคุมดูแลการงานทุกอย่างภายใต้ดวงอาทิตย์ ให้เราขอการช่วยเหลือจากพระองค์ให้ชำระหัวใจเราให้สะอาด. ให้เราวางใจพระยะโฮวาและสร้างเสริมความยำเกรงพระเจ้าด้วย. เมื่อเราทำเช่นนั้น เราจะมั่นใจได้อย่างเต็มที่ว่า ‘จุดประสงค์ของเราจะสำเร็จผล.’—สุภาษิต 16:3.
[ภาพหน้า 18]
หมายความอย่างไรที่ว่า พระยะโฮวาทรงทำให้ “แม้คนชั่วก็มีไว้สำหรับวันแห่งความลำบาก”?