สภาพอับจนของผู้สูงอายุ
สภาพอับจนของผู้สูงอายุ
ขณะที่คนยามซึ่งอยู่กะกลางคืนเดินตรวจไปรอบ ๆ เขาก็ต้องตกตะลึงเมื่อเห็นภาพอันน่าสยดสยอง. ตรงด้านนอกของอาคารชุดที่หรูหรานั่นเอง เขาได้เห็นร่างที่ไร้ชีวิตของคู่สมรสสูงอายุคู่หนึ่งซึ่งได้กระโดดจากหน้าต่างอพาร์ตเมนต์ชั้นที่แปดของเขา. ถึงแม้การฆ่าตัวตายของคนทั้งสองเป็นเรื่องน่าตกตะลึงทีเดียว แต่สาเหตุของการฆ่าตัวตายนี้เป็นเรื่องน่าตกใจยิ่งกว่านั้นอีก. จดหมายสั้น ๆ ที่พบในกระเป๋ากางเกงของผู้เป็นสามีบอกว่า “เราจบชีวิตของเราเพราะลูกชายกับลูกสะใภ้ปฏิบัติอย่างเลวร้ายและข่มเหงรังแกเราไม่หยุดหย่อน.”
รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้อาจไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา แต่ปัญหาที่อยู่เบื้องหลังเป็นเรื่องที่มีอยู่ทั่วไปอย่างน่าตกใจ. ที่จริง การปฏิบัติอย่างเลวร้ายต่อผู้สูงอายุก่อผลกระทบไปแทบจะทุกส่วนของโลก. ขอพิจารณาข้อมูลต่อไปนี้:
• ในการศึกษาวิจัยรายหนึ่ง มีรายงานว่า 4 เปอร์เซ็นต์ของผู้สูงอายุชาวแคนาดาถูกหลอกลวงด้วยเล่ห์เหลี่ยมหรือถูกฉวยประโยชน์—มักจะโดยสมาชิกในครอบครัว. อย่างไรก็ดี ผู้สูงอายุหลายคนรู้สึกอับอายหรือกลัวเสียจนไม่กล้าพูดคุยถึงสภาพอับจนของตน. ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ตัวเลขที่แท้จริงอาจมีถึงเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์.
• “ชุมชนชาวอินเดียซึ่งเปลือกนอกดูมีความผูกพันอย่างเหนียวแน่นในครอบครัว กำลังพังทลายลงเนื่องจากคนสูงอายุซึ่งลูกหลานไม่ต้องการกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” วารสารอินเดีย ทูเดย์ รายงาน.
• ดังที่ศูนย์สงเคราะห์ผู้สูงอายุที่ถูกทำร้ายแห่งชาติรายงาน ตามการกะประมาณอย่างดีที่สุดที่มีอยู่ “ชาวอเมริกันระหว่าง 1 ถึง 2 ล้านคนที่มีอายุ 65 ปี หรือมากกว่านั้น ได้รับบาดเจ็บ, ถูกฉวยประโยชน์, หรือได้รับการปฏิบัติอย่างเลวร้ายในวิธีอื่นจากคนที่เขาต้องพึ่งอาศัยเพื่อการดูแลหรือปกป้อง.” ทนายความคนหนึ่งที่เป็นตัวแทนประจำเขตปกครองในเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนียได้เรียกการทำร้ายคนสูงอายุว่าเป็น “ประเด็นสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งซึ่งการบังคับใช้กฎหมายในทุกวันนี้เผชิญอยู่.” เขากล่าวเสริมว่า “ผมเห็นว่าปัญหาจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอีกสองสามปีข้างหน้า.”
• ในเมืองแคนเทอร์เบอรี ประเทศนิวซีแลนด์ มีความเป็นห่วงกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าผู้สูงอายุตกเป็นเป้าของการทำร้ายโดยสมาชิกในครอบครัว—โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด, แอลกอฮอล์, หรือการพนัน. กรณีของการทำร้ายผู้สูงอายุในเมืองแคนเทอร์เบอรีตามที่มีรายงานได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากมายจาก 65 คนในปี 2002 มาเป็น 107 คนในปี 2003. ประธานบริหารขององค์การหนึ่งที่ตั้งขึ้นเพื่อป้องกันการปฏิบัติอย่างเลวร้ายต่อผู้สูงอายุกล่าวว่าตัวเลขนี้อาจเป็นเพียง “เศษเสี้ยวหนึ่งของจำนวนจริงที่มีมากมาย.”
• เดอะ เจแปน ไทมส์ รายงานว่า สมาคมสหพันธ์ทนายความแห่งญี่ปุ่นได้แนะนำว่า “ผู้สูงอายุที่ตกเป็นเหยื่อจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ดูแลมากยิ่งกว่าเด็กที่ตกเป็นเหยื่อซึ่งถูกทำร้ายหรือการใช้ความรุนแรงอื่น ๆ ในครอบครัว.” เพราะเหตุใด? ไทมส์ กล่าวว่า เหตุผลประการหนึ่งคือ “เมื่อเทียบกับการทำร้ายเด็กหรือคู่สมรสแล้ว การทำร้ายผู้สูงอายุนั้นกว่าจะเป็นที่รู้กันก็ใช้เวลานาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้สูงอายุรู้สึกมีความรับผิดชอบเมื่อลูกหลานก่อความรุนแรง และนอกจากนั้น ยังเป็นเพราะจนถึงตอนนี้รัฐบาลและผู้บริหารระดับท้องถิ่นยังไม่พบทางแก้ปัญหาที่ได้ผลด้วย.”
ไม่กี่ตัวอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกดังกล่าวนี้ทำให้เราต้องถามว่า ทำไมผู้สูงอายุจำนวนมากเหลือเกินถูกทอดทิ้งและได้รับการปฏิบัติอย่างเลวร้าย? มีความหวังใด ๆ ไหมว่าสิ่งต่าง ๆ จะดีขึ้น? มีการปลอบโยนอะไรสำหรับผู้สูงอายุ?