ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

รถสามล้อไหมครับ?

รถสามล้อไหมครับ?

รถ​สาม​ล้อ​ไหม​ครับ?

เมื่อ​มา​ถึง​ธากา​เมือง​หลวง​ของ​บังกลาเทศ ผู้​มา​เยือน​จะ​สังเกต​เห็น​บาง​สิ่ง​ที่​แตกต่าง​ได้​ทันที. มัน​คือ​รถ​สาม​ล้อ​ถีบ​จำนวน​มาก​ท่ามกลาง​คลื่น​ของ​ผู้​คน! รถ​สาม​ล้อ​มาก​มาย​เหล่า​นี้​มี​อยู่​ทั่ว​ไป​บน​ท้องถนน​และ​ตาม​ตรอก​ซอก​ซอย​บรรทุก​ผู้​คน​และ​สินค้า​ต่าง ๆ.

ใน​ธากา รถ​สาม​ล้อ​ยัง​คง​เป็น​วิธี​ขน​ส่ง​ที่​ได้​รับ​ความ​นิยม. ขณะ​ที่​จำนวน​รถ​สาม​ล้อ​ที่​จด​ทะเบียน​มี​ประมาณ 80,000 คัน แต่​คน​ส่วน​ใหญ่​เชื่อ​ว่า​ยัง​มี​รถ​สาม​ล้อ​จำนวน​มาก​กว่า​นั้น​อยู่​บน​ท้องถนน​ทุก ๆ วัน. ที่​จริง ธากา​ถูก​เรียก​ว่า​เมือง​ที่​มี​รถ​สาม​ล้อ​มาก​ที่​สุด​ใน​โลก!

รถ​สาม​ล้อ​รุ่น​แรก ๆ

ขณะ​ที่​เก้าอี้​เคลื่อน​ที่​รุ่น​แรก ๆ มี​การ​ใช้​กัน​ใน​สมัย​พระเจ้า​หลุยส์​ที่ 14 แห่ง​ฝรั่งเศส (ปี 1638-1715) การ​ประดิษฐ์​รถ​ที่​ใช้​คน​ลาก​แบบ​ดั้งเดิม​นั้น​บาง​คน​เชื่อ​กัน​ว่า​โจนาธาน เกเบิล มิชชันนารี​ชาว​อเมริกัน​ใน​ญี่ปุ่น​เป็น​ผู้​ประดิษฐ์​ขึ้น​เมื่อ​ทศวรรษ​ที่ 1870. เล่า​กัน​ว่า เขา​ออก​แบบ​พาหนะ​รูป​แบบ​ใหม่​นี้​สำหรับ​ภรรยา​ผู้​มี​สุขภาพ​อ่อนแอ และ​เป็น​แบบ​แรก​ที่​ได้​รับ​การ​เรียก​ใน​ภาษา​ญี่ปุ่น​ว่า​จินริกอิชา ซึ่ง​หมาย​ความ​ว่า​เป็น​พาหนะ​ที่​ฉุด​ลาก​โดย​แรง​มนุษย์. คำ​นี้​ใน​ที่​สุด​ก็​คือ “ริก​ชอว์” (rickshaw) ใน​ภาษา​อังกฤษ. เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป รูป​แบบ​ต่าง ๆ ของ​รถ​ลาก​ก็​มี​แพร่​หลาย​ตลอด​ทวีป​เอเชีย​ใน​ฐานะ​รูป​แบบ​การ​ขน​ส่ง​ที่​ไม่​แพง. เมื่อ​ชาร์ล เทซ รัสเซลล์ (คน​ขวา) ซึ่ง​นำ​หน้า​อย่าง​แข็งขัน​ใน​งาน​ประกาศ​ของ​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล (ต่อ​มา​เรียก​กัน​ว่า​พยาน​พระ​ยะโฮวา) ได้​เยี่ยม​ญี่ปุ่น​ใน​ปี 1912 นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ที่​มา​ด้วย​กัน​กับ​ท่าน​ได้​ใช้​รถ​ลาก​ใน​การ​เดิน​ทาง​ภาย​ใน​ประเทศ.

ใน​ธากา รถ​สาม​ล้อ​ปรากฏ​โฉม​ใน​ช่วง​ท้าย​ทศวรรษ​ที่ 1930. ไม่​เหมือน​รถ​ลาก​ที่​คน​ลาก​จะ​จับ​คัน​ไม้​ที่​ติด​กับ​ตัว​รถ​แล้ว​ลาก​ไป รถ​เหล่า​นี้​ดู​คล้าย​กับ​รถ​สาม​ล้อ​ขนาด​ใหญ่. คน​ถีบ​รถ​สาม​ล้อ​หรือ​วัลลาห์​จะ​ถีบ​บันได​จักรยาน​ที่​อยู่​ข้าง​หน้า​ตัว​รถ. เขา​จึง​สามารถ​ขน​ส่ง​ผู้​โดยสาร​หรือ​ของ​ที่​บรรทุก​ได้​เร็ว​ขึ้น และ​ควบคุม​รถ​ได้​ง่าย​ขึ้น​เมื่อ​ผ่าน​การ​จราจร​ที่​ยุ่งเหยิง​และ​ถนน​ที่​แออัด.

ศิลปะ​บน​ตัว​รถ

รถ​สาม​ล้อ​ใน​ธากา​ตกแต่ง​ทุก ๆ ตาราง​นิ้ว​ของ​ตัว​รถ​ด้วย​ลวด​ลาย. ธรรมเนียม​ใน​การ​ตกแต่ง​รถ​สาม​ล้อ​เริ่ม​ต้น​จาก​ที่​ไหน? เมื่อ​รถ​สาม​ล้อ​ปรากฏ​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ธากา​ก็​ต้อง​แย่ง​ลูก​ค้า​กับ​รถ​ม้า​ที่​เรียก​ว่า​ทอม​ทอม ซึ่ง​ใช้​ขน​คน​และ​สิ่ง​ของ. บาง​ที​เพื่อ​ดึงดูด​ลูก​ค้า​ให้​สนใจ​ใน​ยาน​พาหนะ​รูป​แบบ​ใหม่ เจ้าของ​รถ​สาม​ล้อ​ก็​เริ่ม​ตกแต่ง​รถ​ของ​ตน​เอง. ภาพ​ระบาย​สี​และ​งาน​โฆษณา​ต่าง ๆ ใน​ที่​สุด​ก็​ได้​กลาย​มา​เป็น​งาน​ศิลปะ​ที่​โดด​เด่น.

เมื่อ​ใคร ๆ ได้​เห็น​รถ​สาม​ล้อ​พร้อม​ด้วย​งาน​ศิลปะ​เหล่า​นี้​เป็น​ครั้ง​แรก​ก็​ยอม​รับ​กัน​ว่า​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ. นี่​คือ​ศิลปะ​บน​วง​ล้อ. ที่​จริง ซี​เอ็ด มันซูรุล อิสลาม นัก​วิจารณ์​งาน​ศิลปะ​ชาว​บังกลาเทศ​ได้​พูด​ถึง​รถ​สาม​ล้อ​ใน​ธากา​ว่า​เป็น “หอ​ศิลป์​เคลื่อน​ที่.” ทุก​พื้น​ที่​บน​ตัว​รถ​ได้​รับ​การ​ตกแต่ง​ด้วย​สี​สัน, รูป​ภาพ, และ​ลวด​ลาย​ต่าง ๆ. พู่​ที่​บิด​เป็น​เกลียว, แผ่น​โลหะ, และ​ลูกปัด​ที่​แวว​วาว​แขวน​อยู่​ข้าง ๆ หรือ​ที่​หลังคา​รถ​ซึ่ง​พับ​ได้.

ช่าง​เขียน​แต่​ละ​คน​มี​แนว​คิด​และ​รูป​แบบ​ที่​ตัว​เอง​ชื่น​ชอบ. งาน​ศิลปะ​บาง​ชิ้น​ดู​คล้าย​กับ​งาน​โฆษณา มี​ภาพ​ฉาก​จาก​ภาพยนตร์​อินเดีย​และ​บังกลาเทศ​ทั้ง​อดีต​และ​ปัจจุบัน. ภาพ​ศิลปะ​สะท้อน​ความ​หลัง​เกี่ยว​กับ​ชีวิต​ใน​หมู่​บ้าน​และ​ทิวทัศน์​ใน​ชนบท​และ​บาง​ครั้ง​ก็​เป็น​ประเด็น​ทาง​สังคม​และ​การ​เมือง. ภาพ​ของ​สิง​สา​รา​สัตว์, นก, การ​ล่า​สัตว์, และ​ฉาก​ชนบท​ที่​เขียว​ชอุ่ม​เป็น​ภาพ​ที่​นิยม​กัน​ด้วย.

ใน​ทศวรรษ​ที่ 1950 มี​ช่าง​เขียน​รถ​สาม​ล้อ​ไม่​กี่​คน​เท่า​นั้น. ทุก​วัน​นี้​มี​ช่าง​เขียน​ประมาณ 200 ถึง 300 คน​ที่​ผลิต​ผล​งาน​ที่​โดด​เด่น​เหล่า​นี้. รถ​สาม​ล้อ​ได้​รับ​การ​ประกอบ​ที​ละ​ชิ้น​ใน​ร้าน​ที่​เชี่ยวชาญ​โดย​เฉพาะ โดย​ที่​ชิ้น​ส่วน​มัก​มา​จาก​วัสดุ​ที่​ใช้​แล้ว. ยก​ตัว​อย่าง ช่าง​เขียน​ใช้​สี​น้ำมัน​ระบาย​ฉาก​ที่​มี​สี​สัน​สดใส​จาก​ชิ้น​ส่วน​ของ​กระป๋อง​น้ำมัน​ทำ​อาหาร​หรือ​จาก​ของ​ที่​ทิ้ง​แล้ว​อื่น ๆ. ศิลปะ​บน​รถ​สาม​ล้อ​เป็น​ศิลปะ​พื้น​บ้าน​ของ​บังกลาเทศ. เป็น​งาน​ที่​มี​เอกลักษณ์​และ​เสน่ห์​ใน​ตัว​มัน​เอง.

คน​ถีบ​สาม​ล้อ

คุณ​คง​จะ​เข้าใจ​ได้​ดี​ว่า​คน​ถีบ​สาม​ล้อ​มี​ชีวิต​แบบ​ปาก​กัด​ตีน​ถีบ. ลอง​นึก​ภาพ​ว่า​คุณ​ใช้​เวลา​ทั้ง​วัน​ถีบ​รถ​ที่​หนัก​เพราะ​บรรทุก​ผู้​คน​หรือ​สินค้า. ลูก​ค้า​อาจ​มี​ทั้ง​แม่บ้าน, เด็ก​นัก​เรียน, นัก​ธุรกิจ, หรือ​คน​จ่าย​ตลาด​พร้อม​ด้วย​ข้าวของ. บ่อย​ครั้ง ผู้​คน​สอง​สาม​คน​หรือ​มาก​กว่า​เบียด​กัน​ขึ้น​รถ​สาม​ล้อ​คัน​เดียว. รถ​สาม​ล้อ​อาจ​ยัง​ใช้​สำหรับ​ขน​กระสอบ​ข้าว, มันฝรั่ง, หัว​หอม, หรือ​เครื่องเทศ​สำหรับ​พ่อค้า​ไป​ขาย​ที่​ตลาด. บาง​ครั้ง​ผู้​โดยสาร​ต้อง​ปีน​ขึ้น​ไป​นั่ง​อยู่​บน​กอง​สิ่ง​ของ​เหล่า​นั้น. สำหรับ​คน​ที่​เห็น อาจ​ดู​เหมือน​ว่า​เป็น​ไป​ไม่​ได้​ที่​คน​ถีบ​รถ​จะ​ขับ​เคลื่อน​น้ำหนัก​บรรทุก​ขนาด​นั้น​ได้. กระนั้น ท่ามกลาง​ความ​ร้อน​ของ​แสง​อาทิตย์​หรือ​สาย​ฝน​ใน​ฤดู​มรสุม คน​ถีบ​รถ​สาม​ล้อ​ผู้​ต่ำต้อย​ก็​ตั้งใจ​ทำ​งาน​โดย​ไม่​บ่น.

คน​ถีบ​รถ​สาม​ล้อ​ส่วน​ใหญ่​ที่​เข้า​มา​ใน​เมือง​หลวง​มา​จาก​แถบ​ชนบท​ที่​ยาก​จน​ซึ่ง​พวก​เขา​ไม่​สามารถ​เลี้ยง​ดู​ครอบครัว​ใน​ฐานะ​ชาว​นา​ได้. เพราะ​ไม่​สามารถ​หา​งาน​ที่​มี​ราย​ได้​ดี​กว่า หลาย​คน​จึง​ต้อง​จาก​ครอบครัว​มา​เป็น​คน​ถีบ​สาม​ล้อ. โดย​ใช้​พละกำลัง​ของ​ตน​เอง พวก​เขา​อาจ​หา​เงิน​ได้​วัน​ละ​ราว ๆ ร้อย​บาท​เท่า​นั้น.

รูป​แบบ​การ​ขน​ส่ง​ที่​โดด​เด่น​ไม่​เหมือน​ใคร

รถ​สาม​ล้อ​ยัง​คง​เป็น​ที่​นิยม​เพราะ​พื้น​ที่​ใน​ธากา​เป็น​ที่​ราบ และ​เพราะ​สามารถ​เข้า​ถึง​บริเวณ​ที่​การ​ขน​ส่ง​สาธารณะ​แบบ​อื่น ๆ เข้า​ถึง​ยาก. หลาย​คน​ถือ​ว่า​รูป​แบบ​การ​เดิน​ทาง​แบบ​ไร้​มลพิษ​นี้​นอก​จาก​จะ​ดี​ต่อ​สภาพ​แวด​ล้อม​แล้ว​ยัง​น่า​เพลิดเพลิน​อีก​ด้วย.

ใน​เมือง​ใหญ่ ๆ ส่วน​ใหญ่​ของ​เอเชีย รถ​สาม​ล้อ​ไม่​เป็น​ที่​นิยม​เหมือน​เมื่อ​ก่อน. ความ​ต้องการ​ระบบ​ขน​ส่ง​มวลชน​และ​รูป​แบบ​ชีวิต​สมัย​ใหม่​ทำ​ให้​รถ​สาม​ล้อ​เกือบ​เลิก​ใช้​ไป​แล้ว. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ขณะ​ที่​ผู้​คน​จำนวน​มาก​อาจ​มอง​รถ​สาม​ล้อ​ว่า​ล้า​สมัย แต่​มี​ความ​พยายาม​ที่​จะ​อนุรักษ์​รถ​สาม​ล้อ​โดย​การ​ปรับ​ปรุง​ด้าน​การ​ออก​แบบ.

เมื่อ​เดิน​ทาง​ใน​ธากา คุณ​อาจ​เลือก​รูป​แบบ​การ​ขน​ส่ง​สาธารณะ​ได้​หลาย​อย่าง เช่น รถ​ประจำ​ทาง, แท็กซี่, รถ​จักรยานยนต์, รถ​สาม​ล้อ​เครื่อง, หรือ​รถ​สาม​ล้อ​ถีบ​ที่​มี​สี​สัน. แต่​คุณ​จะ​ไม่​ลืม​เลย​ถ้า​คุณ​ได้​มี​โอกาส​นั่ง​อย่าง​ผ่อน​คลาย​บน​รถ​สาม​ล้อ​ถีบ​ท่ามกลาง​ถนน​ที่​แออัด​ไป​ด้วย​ผู้​คน​แห่ง​ธากา!

[ภาพ​หน้า 23]