หุ่นชักใยแสดงโอเปราได้จริง ๆ หรือ?
หุ่นชักใยแสดงโอเปราได้จริง ๆ หรือ?
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในออสเตรีย
“ดนตรีเพราะมาก แต่เทคนิคการชักหุ่นนี่สิน่าทึ่งจริง ๆ. หุ่นชักใยสามารถทำท่าทางต่าง ๆ ได้แม้กระทั่งการแสดงความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนซึ่ง [ฉัน] ไม่เคยเห็นในการแสดงหุ่นที่ไหนมาก่อนเลย!”
ผู้พูดกำลังกล่าวถึงการแสดงหุ่นสำหรับเด็กเล็ก ๆ ไหม? เปล่าเลย. เชื่อหรือไม่ว่า นี่เป็นคำพูดของผู้ใหญ่ที่ได้ไปชมโอเปราหุ่นชักใย. มีการแสดงโอเปราที่ยอดเยี่ยมแบบนี้ที่ไหนกัน? ก็ที่โรงละครโอเปราที่พิเศษสุดในซาลซ์บูร์ก, ออสเตรีย เมืองที่เป็นบ้านเกิดของโมสาร์ท คีตกวีชื่อดังนั่นไง.
คุณเคยได้ยินเกี่ยวกับหุ่นไม้ชักใย สูงประมาณครึ่งเมตรถึงหนึ่งเมตรที่แสดงโอเปราไหม? หุ่นชักใยที่โรงละครหุ่นซาลซ์บูร์กทำได้จริง ๆ. เมื่อหุ่นเหล่านี้ออกมาโลดเต้นบนเวที ผู้ชมก็หลงใหลในเสน่ห์ของมันอย่างช่วยไม่ได้ ราวกับว่าพวกเขาถูกดึงเข้าสู่อีกโลกหนึ่ง ซึ่งเป็นโลกแห่งจินตนาการและเสียงดนตรีที่ไพเราะจับใจ.
การหลอมรวมระหว่างความเป็นจริงกับจินตนาการ
เมื่อดนตรีโหมโรงเริ่มบรรเลง ม่านถูกดึงขึ้นไปและการแสดงองก์แรกเริ่มขึ้น บางครั้งผู้ชมรู้สึกประหลาดใจกับภาพที่เห็น. พวกเขาสงสัยว่า ที่เดินไปมาบนเวทีและทำท่าทางราวกับกำลังร้องเดี่ยวอยู่นั้นเป็นหุ่นไม้
จริง ๆ หรือ? แล้วเชือกเส้นเล็ก ๆ ที่อยู่บนหัวของหุ่นพวกนั้นล่ะ? ผู้ชมบางคนอาจรู้สึกผิดหวังและคิดว่า ‘ทุกอย่างชัดเจนเกินไป—เราเห็นหมดแล้วว่าอะไรเป็นอะไร!’ มิหนำซ้ำหลุมวงดุริยางค์กับนักดนตรีที่หน้าเวทีก็ไม่มี. โอเปราที่แสดงโดยอาศัยดนตรีที่เปิดจากเทปดูช่างไร้รสนิยม. ผู้ที่ไปชมโอเปราบ่อย ๆ อาจหงุดหงิดและคิดว่า ‘ช่างน่าเวทนาเสียจริง!’ แต่เดี๋ยวก่อน! ผู้ชมเริ่มเปลี่ยนความคิดของพวกเขาแล้ว ซึ่งเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนแทบไม่ทันรู้ตัว.หลังจากความรู้สึกคลางแคลงใจที่ผู้ชมมีในตอนแรกมลายหายไปแล้ว พวกเขาก็เริ่มหลงเสน่ห์หุ่นชักใย. ความเป็นจริงกับจินตนาการได้หลอมรวมเข้าด้วยกันอย่างน่าทึ่ง. เชือกเส้นเล็ก ๆ ที่ทำให้บรรดาหุ่นชักมีชีวิตขึ้นมาไม่เป็นที่สังเกตอีกต่อไป. ผู้ชมตื่นตะลึงกับการแสดงและกับความคิดแปลกประหลาดที่ว่ามีหุ่นชักใยอยู่บนเวทีในโรงละครโอเปราเล็ก ๆ. แต่ประเดี๋ยวเดียวความคิดนั้นก็หายไป และผู้ชมก็ลืมไปอย่างรวดเร็วว่ากำลังชมหุ่นชักที่ไร้ชีวิตอยู่. หุ่นเหล่านี้มีความสามารถน่าทึ่งจนแม้แต่ผู้ชมที่คลางแคลงใจก็ยังรู้สึกตื่นเต้นเหมือนได้เข้าไปอยู่ในโลกเล็ก ๆ ของหุ่นชักใยเลยทีเดียว.
เบื้องหน้าและเบื้องหลัง
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังฉากนั้นน่าทึ่งพอ ๆ กับสิ่งที่เห็นหน้าเวที. นักแสดงตัวจริงคือผู้ที่ชักหุ่นอยู่หลังฉาก หรือถ้าจะพูดให้ถูกก็คืออยู่เหนือฉาก เพราะพวกเขายืนชักหุ่นอยู่บนแผ่นไม้ที่พาดขวางอยู่เหนือฉาก. ขณะที่ผู้ชักหุ่นขยับมือไปมาราวกับกำลังใช้ภาษาท่าทาง บรรดาหุ่นชักก็จะร้องเพลง, ร้องไห้, ต่อสู้กัน, หรือถอนสายบัว เหมือนกับที่นักร้องโอเปราจริง ๆ ทำกัน.
หนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ เคยอธิบายว่าอะไรทำให้ศิลปะการแสดงแบบนี้น่าตื่นตาตื่นใจ ดังนี้: “เบื้องหลังฉากนั้นใครจะแสดงเป็นหุ่นตัวไหน อายุเท่าไร หรือเพศใดก็ได้ สิ่งเดียวที่พวกเขาต้องมีและต้องมีมากด้วย ก็คือทักษะ.” และทักษะที่ผู้ชักหุ่นในซาลซ์บูร์กใช้เพื่อทำให้หุ่นของพวกเขามีชีวิตขึ้นมานั้นน่าอัศจรรย์จริง ๆ.
หุ่นชักมาแทนที่รูปแกะสลักที่ไร้ชีวิต
โรงละครหุ่นชักซาลซ์บูร์กประสบความสำเร็จมานานกว่า 90 ปี นับตั้งแต่ปี 1913 เมื่อบริษัทเปิดแสดงโอเปราเรื่องหนึ่งจากผลงานของโมสาร์ทเป็นครั้งแรก. ผู้ก่อตั้งโรงละครแห่งนี้คือ อันโตน ไอเคอร์ ซึ่งเป็นช่างแกะสลัก. ไอเคอร์เคยฝึกงานอยู่ในมิวนิกและได้ทำหุ่นชักที่ทำท่าทางได้เหมือนคนจริง ๆ. ไม่ช้าเขาก็สังเกตว่าเขามีความสุขกับการทำหุ่นชักใยมากกว่าการแกะสลักรูปที่ไร้ชีวิตสำหรับวางบนแท่นบูชา.
ต่อมาไม่นานคนอื่น ๆ ในครอบครัวของไอเคอร์ก็ชื่นชอบความบันเทิงแบบนี้ด้วย. ครอบครัวของเขาช่วยตัดเย็บเสื้อผ้าสำหรับหุ่นและช่วยเล่นดนตรีรวมทั้งให้เสียงพากย์และเสียงร้องในการแสดงหุ่นด้วย. พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น ทำให้ต้องเพิ่มเรื่องที่เปิดแสดงภายในเวลาไม่นาน. และตั้งแต่ปี 1927 เป็นต้นมา พวกเขาได้รับเชิญให้ไปแสดงในต่างประเทศด้วย. ปัจจุบัน หุ่นชักใยเหล่านี้เดินทางไปแสดงในประเทศต่าง ๆ เป็นประจำ เช่น ที่ญี่ปุ่นและสหรัฐ. ประชาชนในทุกวัฒนธรรมต่างชื่นชอบการแสดงหุ่นชักใย.
คุณอยากชมความบันเทิงแบบนี้ไหม?
โอเปราหรืออุปรากร ได้รับการนิยามว่า เป็น “ละครร้องชั้นสูงในระดับคลาสสิกของชาวตะวันตก ถือเป็นสุดยอดของงานศิลปะ เพราะเป็นการรวมศิลปะแขนงต่าง ๆ ไว้ด้วยกันนอกจากเนื้อหาที่เข้มข้นทางดนตรีและความสามารถในการขับร้อง ได้แก่ การแสดง การแต่งเวที การออกแบบเสื้อผ้า และเทคนิคพิเศษอื่น ๆ.” (พจนานุกรมศัพท์ดุริยางคศิลป์) บทร้องโอเปราหรือเนื้อเรื่องนั้นอาศัยเทพนิยาย, ประวัติศาสตร์, เรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิล, และเรื่องแต่ง ซึ่งอาจเป็นโศกนาฏกรรม, เรื่องราวความรัก, หรือเรื่องชวนหัว. บทละครที่แสดงในโรงละครหุ่นชักแห่งนี้มักเป็นภาษาเยอรมันหรืออิตาลี. ดังนั้น นับว่าดีที่จะตรวจดูคำแปลของเรื่องย่อก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าคุณอยากดูเรื่องนั้นจริง ๆ.
ผู้ที่เป็นคริสเตียนจะตัดสินใจอย่างไรหากสงสัยว่าโอเปราเรื่องหนึ่งเรื่องใดเหมาะที่จะชมหรือไม่? เขาควรตัดสินโดยดูจากชื่อเสียงของนักร้องเท่านั้นไหม? หรือดูที่ความไพเราะของดนตรี? หรือดูที่เค้าโครงเรื่องซึ่งบอกให้รู้ว่าเนื้อเรื่องเป็นเช่นไร?
เช่นเดียวกับการเลือกความบันเทิงชนิดอื่น ๆ คริสเตียนจะตัดสินใจได้ดีที่สุดว่าจะรับฟังหรือรับชมโอเปราเรื่องใดหรือไม่โดยเทียบดูเรื่องย่อกับหลักเกณฑ์ที่เปาโลให้ไว้ ที่ว่า “สุดท้ายนี้ พี่น้องทั้งหลาย สิ่งใดที่จริง สิ่งใดที่ควรเอาใจใส่อย่างจริงจัง สิ่งใดที่ชอบธรรม สิ่งใดที่บริสุทธิ์ สิ่งใดที่น่ารัก สิ่งใดที่มีการกล่าวถึงในทางดี ถ้ามีคุณความดีประการใดและถ้ามีสิ่งใดที่น่าสรรเสริญ จงใคร่ครวญสิ่งเหล่านั้นต่อ ๆ ไป.”—ฟิลิปปอย 4:8.
[แผนที่หน้า 8]
รายละเอียดดูจากวารสาร)
ออสเตรีย
เวียนนา
ซาลซ์บูร์ก
[ภาพหน้า 8]
ตัวละครหุ่นชักครบชุดพร้อมจะแสดงโอเปราหลากหลายเรื่องราว
[ภาพหน้า 9]
โรงละครหุ่นชักซาลซ์บูร์ก
[ภาพหน้า 10]
อันโตน ไอเคอร์, ผู้ก่อตั้ง
[ที่มาของภาพ]
By courtesy of the Salzburg Marionette Theatre
[ที่มาของภาพหน้า 8]
All photos on pages 8 and 9: By courtesy of the Salzburg Marionette Theatre