การเพ่งดูโลก
การเพ่งดูโลก
ผลงานเพิ่มขึ้นจริงหรือ?
หนังสือพิมพ์แวนคูเวอร์ ซัน รายงานว่า “ปัจจุบันชาวแคนาดาหนึ่งในสี่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เทียบกับหนึ่งใน 10 เมื่อสิบปีที่แล้ว.” การศึกษาวิจัยของรัฐบาลกลางเกี่ยวข้องกับคนทำงานชาวแคนาดา 31,500 คนพบว่า “ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า พวกเขาทำงานที่บ้านหรือในวันสุดสัปดาห์ โดยทำงานพิเศษให้นายจ้างอีกเดือนละ 27 ชั่วโมง.” เหตุผลหลักข้อหนึ่งคือเทคโนโลยี. หนังสือพิมพ์นั้นกล่าวว่า “การสำรวจพบว่า งานล่วงเวลาที่ไม่ได้รับเงินตอบแทนแทบทั้งหมดซึ่งทำที่บ้านนั้น . . . เป็นงานที่ ‘เกี่ยวข้องกับการใช้คอมพิวเตอร์.’” ดังนั้น แทนที่จะมีแนวโน้มไปสู่การทำงานสัปดาห์ละสี่วันและมีเวลามากขึ้นสำหรับกิจกรรมยามว่าง “เทคโนโลยีกลับเป็นตัวการสำคัญที่เพิ่มความเครียด, การป่วย, การหมดเรี่ยวแรง, การขาดงานและความสูญเสียอื่น ๆ ทั้งหมดที่ทำให้ผลงานลดน้อยลง.” หนังสือพิมพ์นี้เสริมว่า “ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าเทคโนโลยีทำให้งานน่าสนใจยิ่งขึ้นและทำให้ผลการทำงานเพิ่มขึ้น. ในเวลาเดียวกัน แทบไม่มีใครเลยที่บอกว่า เทคโนโลยีทำให้งานเบาลงหรือทำให้เครียดน้อยลง.”
การปนเปื้อนในเมืองใหญ่
หนังสือพิมพ์เอล อูนิเวอร์ซัล แห่งกรุงเม็กซิโกซิตีรายงานว่า “เม็กซิโกซิตี, คารากัส, โบโกตา, และฮาวานาอยู่ในท่ามกลางเมืองที่มีการปนเปื้อนมากที่สุดในโลก.” นั่นคือข้อสรุปที่ได้จากการศึกษาวิจัยโดยสมาคมที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์แห่งเมอร์เซอร์ ซึ่งพิมพ์ที่กรุงลอนดอน. การศึกษาวิจัยครั้งนี้ซึ่งมีการวิเคราะห์ผลกระทบของมลพิษในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกได้พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น คุณภาพอากาศ, การบำบัดของเสีย, ความปลอดภัย, ที่อยู่อาศัย, การศึกษา, การขนส่ง, และสาธารณูปโภค. บรรดาเมืองต่าง ๆ ในยุโรป ซูริกกับเวียนนาเป็นเมืองที่ทำให้ชาวเมืองมีคุณภาพชีวิตดีที่สุด. สำหรับเมืองที่สะอาดที่สุดในโลกนั้น คาลการีกับโฮโนลูลูอยู่ในอันดับสูงสุด. รายงานนี้กล่าวว่า ซานฮวนในเปอร์โตริโกถือเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในลาตินอเมริกา.
ความเสียหายของการแตกแยกในครอบครัว
หลังจากได้วิเคราะห์งานวิจัยกว่า 100 รายในช่วงยี่สิบกว่าปีมานี้ รีเบกกา โอนีลล์ ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยครอบครัวแห่งซิวิทาส รายงานว่า “สำหรับหลายคนที่เป็นแม่, พ่อ, และลูก ‘ครอบครัวที่ขาดพ่อ’ หมายถึงความยากจน, ความปวดร้าวใจ, สุขภาพอ่อนแอ, การสูญเสียโอกาส, และการขาดความมั่นคง.” หนังสือพิมพ์เดอะ ซันเดย์ เทเลกราฟ แห่งกรุงลอนดอนรายงานว่า ตามที่โอนีลล์กล่าว เด็ก ๆ ในครอบครัวที่แตกแยก “มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ที่จะประสบปัญหาสุขภาพ, มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสองเท่าที่จะหนีออกจากบ้านและเพิ่มขึ้นห้าเท่าที่จะถูกทำร้าย.” หนังสือพิมพ์นั้นเสริมว่า “นอกจากนี้ เด็ก ๆ ที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแท้ ๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสามเท่าที่จะประสบปัญหาในการเข้าสังคมและปัญหาที่โรงเรียน. เมื่อเป็นวัยรุ่น พวกเขามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าที่จะดื่มแอลกอฮอล์, สูบบุหรี่, เสพยา, . . . ก่ออาชญากรรม, มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันสมควรและเป็นพ่อแม่ขณะที่ยังเป็นวัยรุ่น.” ตามรายงานนี้ ถึงแม้คู่สมรสที่อยู่ด้วยกันจะยากจนและด้อยโอกาสพอ ๆ กับครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่ฝ่ายเดียว แต่ลูก ๆ ของพวกเขาก็มีแนวโน้มน้อยกว่าที่จะประสบกับปัญหาดังกล่าว.
เรือสำราญและมลพิษ
หนังสือพิมพ์เดอะ ซันเดย์ ไทมส์ แห่งกรุงลอนดอนรายงานว่า “เรือสำราญที่หรูหราซึ่งในแต่ละปีพาผู้โดยสารนับล้านคนท่องไปทั่วโลกตามสถานที่สวยงามต่าง ๆ ที่อยู่ไกลโพ้น กำลังทำให้ชีวิตสัตว์และพืชในทะเลตกอยู่ในอันตรายด้วยการทิ้งมลพิษเป็นทางยาว.” เรือสำราญขนาดใหญ่ซึ่งมีทั้งผู้โดยสารและลูกเรือเกือบ 4,000 คน ทิ้งน้ำเสียซึ่งมีน้ำมันผสมอยู่ที่สะสมในท้องเรือ, สิ่งปฏิกูล, และน้ำทิ้งจากห้องอาบน้ำและห้องซักรีดวันละหลายหมื่นลิตร รวมกับสารเคมีที่เป็นพิษ 70 ลิตรและขยะเจ็ดตัน. ในทะเล ปริมาณของเสียที่เกิดจากผู้โดยสารนั้นมีมากกว่าเมื่อพวกเขาพักผ่อนอยู่บนฝั่งมากนัก. ในปี 2000 เรือสำราญประมาณ 240 ลำพาผู้คนสิบล้านคนไปยังเขตที่เกิดความเสียหายทางระบบนิเวศวิทยาได้ง่าย เช่น อ่าวเกลเชียร์ในอะแลสกา, พืดหินปะการังและหมู่เกาะแถบแคริบเบียน, ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์, และแม้กระทั่งทวีปแอนตาร์กติกา. มีการกะประมาณว่า จะมีเรือเพิ่มขึ้นอีก 50 ลำเมื่อถึงปี 2005. โรเจอร์ รูฟ แห่งกลุ่มนักอนุรักษ์โอเชียนคอนเซอร์แวนซี กล่าวว่า “[การพักร้อน] ในเรือเหล่านี้กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เรือเหล่านี้เป็นเหมือนเมืองลอยน้ำที่ไม่มีกฎหมายควบคุมเรื่องการกำจัดสิ่งปฏิกูลและของเสีย.”
การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการตายแบบผิดธรรมดา
หนังสือพิมพ์ดิ อินดิเพนเดนต์ แห่งกรุงลอนดอนรายงานว่า “การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการตายแบบผิดธรรมดาที่มีทั่วโลก.” บทความนั้น ซึ่งอาศัยรายงานขององค์การอนามัยโลก เสริมว่า 1.6 ล้านคนได้เสียชีวิตแบบผิดธรรมดาในปี 2000. ในปีนั้นมีการฆ่าตัวตาย 815,000 ราย, ขณะที่มีการฆาตกรรม 520,000 ราย, และเนื่องจากสงครามและการต่อสู้ 310,000 ราย. หนังสือพิมพ์นั้นกล่าวว่า การตายส่วนใหญ่ในปี 2000 “เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยมีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ที่เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว.” เบลารุส, เอสโตเนีย, และลิทัวเนียมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าบริเตนถึงสี่เท่า. ในแอฟริกาและอเมริกาเหนือและใต้ อัตราการฆาตกรรมมีมากกว่าการฆ่าตัวตายถึงสองเท่า แต่ในออสเตรเลีย, ยุโรป, และตะวันออกไกลนั้นเป็นในทางกลับกัน.
“เกม, ขนม, และเลือด”
หนังสือพิมพ์ไอเอชที อาซาฮี ชิมบุน รายงานว่า หนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นมักชอบไปที่ “ห้องปรับอากาศใหญ่ ๆ ซึ่งมีวิดีโอ, เกมคอมพิวเตอร์, ขนมและแม้กระทั่งหมอนวดฝ่าเท้าไว้บริการฟรี. แต่มีข้อแม้อย่างเดียวคือ ต้องเสียเลือด” เนื่องจากสถานที่นั้นคือศูนย์รับบริจาคโลหิตของสภากาชาดญี่ปุ่น. หนังสือพิมพ์นั้นกล่าวว่า “ผู้คนบริจาคเลือดในบรรยากาศคล้ายกับงานสังสรรค์. หนุ่มสาวหลายคนยังคงอยู่ในศูนย์นั้นต่อหลังจากบริจาคเลือดแล้วและเพลิดเพลินกับโดนัท, น้ำผลไม้และเกมคอมพิวเตอร์ซึ่งมีบริการไว้ฟรี. สิ่งที่ดึงดูดผู้คนอีกอย่างหนึ่งคือการทำนายโชคชะตาฟรีซึ่งมีสัปดาห์ละหลายครั้ง.” นอกจากนั้นยังมีการสอนแต่งหน้า, ชิอัตสึ (การกดจุด), คอนเสิร์ต, การนวด, และการขายของใช้แล้ว. เพื่อจะหยุดยั้งการลดลงอย่างรวดเร็วของการบริจาคเลือด สภากาชาดกำลังปรับปรุงศูนย์บริจาคโลหิตทั่วประเทศ. หนังสือพิมพ์นี้กล่าวว่า เมื่อก่อนศูนย์นั้นเคยขึ้นชื่อว่าเป็นที่ที่ “น่าหดหู่และน่ากลัว” แต่ตอนนี้กลายเป็นที่ที่วัยรุ่นและคนในวัย 20 กว่าปี “ชอบไปหมกตัว” อยู่ที่นั่น.
ของที่ระลึกถึง โปปกำลังขายไม่ออก
วารสารนิวส์วีก ฉบับภาษาโปแลนด์รายงานว่า เป็นเวลาหลายปีที่ “การขายเครื่องบูชาทางศาสนา [ในโปแลนด์] รับประกันว่าจะมีรายได้แน่นอน.” อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการสังเกตเห็น “วิกฤตการณ์” ในการขายรูปเคารพศักดิ์สิทธิ์. แม้ว่ามีการประชาสัมพันธ์กันอย่างมากเกี่ยวกับการเยือนโปแลนด์ของโปปในปี 2002 แต่เครื่องบูชาทางศาสนาที่สืบทอดกันมาอย่างเช่น สร้อยคอและภาพวาด กลับเป็นที่ต้องการน้อยมาก. วารสารนี้กล่าวว่า “ตลาดเต็มไปด้วยรูปปูนปลาสเตอร์และรูปหล่อโลหะ, เสื่อ, ภาพวาด, และรูปเคารพเล็ก ๆ นับล้าน ๆ ชิ้น” ซึ่งเป็นรูปโปป แต่ “ลูกค้าเริ่มจู้จี้มากขึ้น.” อย่างไรก็ตาม มีสินค้าชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น. นั่นคือบัตรพลาสติกซึ่งด้านหนึ่งมี “รูปศักดิ์สิทธิ์” และอีกด้านหนึ่งมี “ลูกประคำทองหลอมลงไปในบัตรพลาสติก.” วพรอสต์ วารสารรายสัปดาห์ของโปแลนด์กล่าวว่า “บัตรลูกประคำ” นี้เป็นของที่ระลึก “ใหม่ล่าสุดและเป็นที่นิยมมากที่สุดของโปป.”
เด็กที่นอนไม่พอ
วารสารยู. เอส. นิวส์ แอนด์ เวิลด์ รีพอร์ต รายงานว่า การนอนไม่พอมีผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพของเด็ก. เด็กที่นอนไม่พอมีปัญหาในเรื่องการเรียนและในการสร้างมิตรภาพ. วารสารนั้นรายงานอีกว่า “เด็กที่นอนไม่พอมักมีสมาธิสั้น, หงุดหงิด, เจ้าอารมณ์, และไม่มีความอดทน.” แพทย์เป็นห่วงว่าพ่อแม่มักเป็นต้นเหตุของปัญหานี้. นักจิตบำบัดสำหรับเด็กชื่อ บาร์บารา บราวน์-แมกโดนัลด์ กล่าวว่า “ถ้าคุณให้ลูก ๆ อยู่ถึงห้าทุ่มเพื่อจะมีเวลาอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว คุณจำต้องพิจารณาชีวิตของคุณใหม่.” มีการสนับสนุนให้พ่อแม่กำหนดเวลาเข้านอนและตื่นนอนที่แน่นอน แม้แต่ในวันสุดสัปดาห์ เพื่อจะสร้างรูปแบบการนอนที่ดีต่อสุขภาพ. คำแนะนำอื่น ๆ รวมไปถึงการทำสิ่งต่าง ๆ เป็นประจำก่อนเข้านอน อย่างเช่น การอาบน้ำ, การโอบกอด, และการอ่านเรื่องราวให้เด็กเล็ก ๆ ฟัง และจำกัดการดูโทรทัศน์หรือเล่นคอมพิวเตอร์ในช่วงหนึ่งชั่วโมงก่อนเข้านอน.