การเพ่งดูโลก
การเพ่งดูโลก
สงวนกล้วยไม้พันธุ์หายากไม่ให้สูญพันธุ์
เป็นเวลา 50 ปีที่กล้วยไม้พันธุ์รองเท้านารี (Cypripedium calceolus) เพียงต้นเดียวซึ่งขึ้นเองตามธรรมชาติในบริเตนถูกเก็บรักษาโดยมียามเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อป้องกันไม่ให้สูญพันธุ์. คนในสมัยวิกตอเรียและคนรุ่นต่อ ๆ มาถือว่ากล้วยไม้สีแดงเข้มและสีเหลืองที่สวยงามพันธุ์นี้มีค่ามากจนเมื่อถึงช่วงทศวรรษปี 1950 กล้วยไม้นี้ก็ “ถูกเด็ดจนเกือบสูญพันธุ์” และเหลืออยู่เพียงต้นเดียว. นักพฤกษศาสตร์พยายามเพาะต้นกล้าจากกล้วยไม้ต้นนี้ซึ่งอยู่ที่มณฑลนอร์ทยอร์กเชียร์ แต่เนื่องจากมันไม่ค่อยออกดอก จึงทำให้ไม่สามารถผสมเกสรตามแบบธรรมชาติได้. อย่างไรก็ตาม ในตอนต้นทศวรรษปี 1990 นักวิทยาศาสตร์ที่สวนพฤกษชาติคิว กรุงลอนดอน ค้นพบวิธีที่เรียกว่า การขยายพันธุ์แบบจุลภาค ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถเพาะต้นใหม่จากเมล็ดที่ได้มาจากการถ่ายเรณูให้ดอกกล้วยไม้ด้วยมือ. จากนั้นต้นกล้าเหล่านี้จะถูกย้ายไปปลูกในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติซึ่งเป็นหินปูน ผลที่ได้คือ ตอนนี้มีกล้วยไม้รองเท้านารีประมาณ 200 ถึง 300 ต้นขึ้นอยู่ในภาคเหนือของอังกฤษ. หนังสือพิมพ์ดิ อินดิเพนเดนต์ แห่งกรุงลอนดอนรายงานว่า มีสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้ แต่ที่เหลือนอกนั้นยังคงเป็นความลับเพื่อรับประกันว่าพวกมันจะได้รับการปกป้อง ขณะที่ “นักวิทยาศาสตร์ทำงานต่อไปเพื่อทำให้มันแข็งแกร่งพอจะสู้กับศัตรูพืชและเชื้อราได้.”
อาการแพ้มนุษย์
หนังสือพิมพ์เยอรมันชื่อไลพ์ซีเกอร์ ฟอล์คไซทุง กล่าวว่า “สัตว์หลายชนิดมีอาการแพ้มนุษย์.” ตามรายงานนี้ สมาคมโรคภูมิแพ้และโรคหืดแห่งเยอรมนี (เดอาอาเบ) ประกาศเมื่อไม่นานมานี้ว่า “การอยู่กับมนุษย์ทำให้สัตว์ 1 ในทุก ๆ 20 ตัวเกิดอาการแพ้แบบธรรมดา เช่น ผื่นขึ้นตามผิวหนังหรือการจามติด ๆ กัน.” กล่าวกันว่า ในกรณีส่วนใหญ่ สาเหตุคือเศษผิวหนังมนุษย์ที่หลุดออกมาและมูลของไรฝุ่นที่กินเศษผิวหนังเหล่านั้น. ถ้าสัตว์เลี้ยงเกาหรือเลียตัวเองหรือกัดขนตัวเองบ่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่มันไม่มีหมัด เจ้าของก็เห็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าสัตว์ตัวนั้นมีอาการแพ้มนุษย์ และถ้ามันอาการดีขึ้นหลังจากเปลี่ยนที่อยู่หรือเมื่อเจ้าของไม่อยู่ นั่นก็เป็นหลักฐานชี้ชัดมากขึ้น. กล่าวกันว่า อาหารและเกสรดอกไม้ก็ทำให้สัตว์เกิดอาการแพ้ได้ด้วย. เพื่อเป็นตัวอย่าง สมาคมเดอาอาเบ ได้กล่าวถึงม้าจำนวนมากขึ้นเป็นไข้ละอองฟางเมื่อไม่กี่ปีมานี้.
อะไรทำให้เป็น “ลูกผู้ชาย”?
หนังสือพิมพ์ดิ อินดิเพนเดนต์ แห่งกรุงลอนดอนรายงานว่า “เด็กผู้ชาย . . . ยังคงเชื่อว่าการเล่นกีฬาเก่ง, ใส่เสื้อผ้ายี่ห้อดัง ๆ และการพยายามไม่สนิทกับใครมากเกินไปเป็นเครื่องแสดงถึงการเป็น ‘ลูกผู้ชาย’ ขณะที่การทำงานหนัก ‘ไม่ใช่ลักษณะของเพศชาย.’ เด็กผู้ชายจะนับถือเพื่อนร่วมชั้นที่ข่มคนอื่นได้และชอบใช้คำหยาบ. วัยรุ่นที่ไม่ได้ทำตัวอย่างนี้ก็เสี่ยงต่อการถูกรังแกหรือถูกตราหน้าว่าเป็นกะเทย.” หนังสือพิมพ์นี้รายงานว่า การสำรวจเด็กผู้ชายอายุ 11 ถึง 14 ปีในโรงเรียน 12 แห่งที่กรุงลอนดอน ซึ่งทำโดยวิทยาลัยเบิร์กเบกแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอนเผยว่า พวกเด็กผู้ชาย “ยอมรับว่าการที่พวกเขา ‘ทำท่านักเลงโต’ มักทำให้พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยวและไม่กล้าแสดงความรู้สึกของตนเองออกมา.” ศาสตราจารย์สตีเฟน ฟรอช ซึ่งเป็นหัวหน้างานวิจัยครั้งนี้กล่าวว่า “เด็กผู้ชายต้องได้รับการรับรองอย่างหนักแน่นว่าการเป็นผู้ชายไม่จำเป็นต้องหมายถึงการเป็นคนแข็งกระด้างและปิดซ่อนความรู้สึกของตัวเองไว้.”
กาชาดถูกวิจารณ์
ไม่นานหลังจากการโจมตีเมื่อวันที่ 11 กันยายน สภากาชาดอเมริกันก็เริ่มปฏิบัติงานโดยเชิญชวนให้บริจาคเงินและเลือด. มีการบริจาคเงินประมาณ 850 ล้านดอลลาร์และบริจาคเลือด 400,000 หน่วย. แม้ว่าการรับบริจาคจะรวดเร็ว แต่การแจกจ่ายออกไปนั้นเชื่องช้า. หนังสือพิมพ์เดอะ วอชิงตัน ไทมส์ รายงานว่า “สภากาชาดอเมริกันช้าในการแจกจ่ายเงินบรรเทาทุกข์ให้แก่ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตี. กองทุนบรรเทาทุกข์ถูกนำไปใช้ในโครงการต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการโจมตีเมื่อวันที่ 11 กันยายน” และเงินก้อนใหญ่ถูกจดบัญชีว่าเป็นเงินสำหรับ “ความจำเป็นระยะยาว เช่น โครงการแช่แข็งเลือด, การให้คำปรึกษา, และสำหรับการโจมตีในอนาคต.” บทความนั้นกล่าวว่า เนื่องจากความจำเป็นที่ต้องใช้เลือดที่รับบริจาคมานั้นมีไม่มากนักและกำหนดวันหมดอายุของเลือดซึ่งนาน 42 วันนั้นก็ผ่านไปแล้ว เลือดเหล่านั้น “ก็ไม่มีประโยชน์และต้องเผาทิ้ง.” หนังสือพิมพ์ฉบับนี้รายงานว่า คณะกรรมการบริหารสภากาชาดซึ่งถูกรุมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ได้ไล่ประธานบอร์ดออก และประกาศเมื่อปลายเดือนมกราคม 2002 ว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของเงินกองทุนซึ่งได้รวบรวมไว้จะไปถึงมือผู้ประสบภัยครั้งนี้ก่อนวันที่ 11 กันยายน 2002.
ภัยธรรมชาติอันร้ายกาจ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า “ภัยธรรมชาติได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตตลอดทั่วโลกอย่างน้อย 25,000 คนในปี 2001 ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมาถึงสองเท่า.” ตามคำกล่าวของมิวนิก เร บริษัทรับประกันภัยต่อที่ใหญ่ที่สุดในโลก ความเสียหายทางเศรษฐกิจมีมูลค่าทั้งสิ้น 36,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่าความเสียหายที่เกิดจากการโจมตีสหรัฐเมื่อวันที่ 11 กันยายนมากทีเดียว. สองในสามของภัยพิบัติใหญ่ ๆ 700 ครั้งซึ่งเกิดขึ้นนั้นเกี่ยวข้องกับพายุและน้ำท่วม. มีการกล่าวโทษว่า สภาพอากาศที่เลวร้ายเกิดขึ้นเนื่องจากภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง. บริษัทนี้กล่าวว่า “ไฟป่าในออสเตรเลีย, น้ำท่วมในบราซิลและตุรกี, หิมะตกหนักในภาคกลางและใต้ของยุโรปและพายุไต้ฝุ่นในสิงคโปร์ ซึ่งเคยคิดว่าเป็นไปไม่ได้ในทางอุตุนิยมวิทยานั้น ล้วนบ่งชี้ถึงความเกี่ยวพันกันระหว่างการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและความหายนะอันเนื่องมาจากลมฟ้าอากาศซึ่งมีเพิ่มมากขึ้น.” บริษัทนี้ยังให้ข้อสังเกตด้วยว่า ปี 2001 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับสองตั้งแต่ที่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลเมื่อ 160 ปีที่แล้ว. แผ่นดินไหวทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือกว่า 14,000 คนในเดือนมกราคมเพียงเดือนเดียว ซึ่งเป็นผลจากแผ่นดินไหวในอินเดีย. รวมทั้งหมดแล้วมีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ 80 ครั้งตลอดปี.
เข็มขัดนิรภัยเบาะหลังช่วยชีวิต
หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน แห่งกรุงลอนดอนรายงานว่า “ผู้โดยสารที่นั่งเบาะหลังซึ่งไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยทำให้ผู้โดยสารที่นั่งเบาะหน้าซึ่งคาดเข็มขัดนิรภัยมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้นถึงห้าเท่าเมื่อรถชนกัน.” ในการศึกษาบันทึกเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางรถยนต์มากกว่า 100,000 รายในช่วงเวลากว่าห้าปีที่ญี่ปุ่น นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวพบว่า การเสียชีวิตเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้โดยสารที่คาดเข็มขัดนิรภัยซึ่งนั่งเบาะหน้าอาจหลีกเลี่ยงได้ถ้าผู้โดยสารที่นั่งเบาะหลังคาดเข็มขัดนิรภัย. เมื่อรถชน ผู้โดยสารที่นั่งในรถจะพุ่งไปข้างหน้าอย่างแรงซึ่งทำให้ผู้ที่นั่งเบาะหน้ามีโอกาสสูงขึ้นที่จะบาดเจ็บสาหัสหรือถึงกับถูกกระแทกจนเสียชีวิต. แม้ว่าการใส่เข็มขัดนิรภัยที่เบาะหลังเป็นกฎข้อบังคับในบริเตนมาตั้งแต่ปี 1991 แต่การสำรวจแสดงว่าราว ๆ 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใหญ่ในประเทศนั้นยังไม่ได้คาดเข็มขัด.
ภัยจากมลพิษทางอากาศในเอเชีย
วารสารด้านสิ่งแวดล้อมชื่อดาวน์ ทู เอิร์ท กล่าวว่า “ในอินเดีย ผู้คนมากกว่า 40,000 คนเสียชีวิตทุกปีเนื่องจากมลพิษทางอากาศ.” การวิจัยที่ทำโดยธนาคารโลกและสถาบันสิ่งแวดล้อมแห่งสตอกโฮล์มแสดงว่า มลพิษทางอากาศในเอเชียสูงกว่าในยุโรปและในอเมริการวมกันมาก และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนในกรุงโซล, ปักกิ่ง, กรุงเทพฯ, จาการ์ตา, และมะนิลา. ตัวอย่างเช่น ในกรุงมะนิลา มีมากกว่า 4,000 คนเสียชีวิตทุกปีเนื่องจากโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังชนิดร้ายแรง. อัตราการเสียชีวิตในกรุงปักกิ่งและกรุงจาการ์ตาสูงกว่านี้ด้วยซ้ำ. วารสารนี้กล่าวว่า เชื่อกันว่าปัญหาเกิดจาก “การใช้เชื้อเพลิงคุณภาพต่ำ, วิธีการผลิตพลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ, การใช้ยานพาหนะที่มีสภาพทรุดโทรมและการจราจรติดขัด.”
ฉวยโอกาสจากการเปลี่ยนไปใช้เงินยูโร
หนังสือพิมพ์โคร์รีเอเร เดลลา เซรา กล่าวว่า เมื่อมีการเปลี่ยนไปใช้เงินยูโร คริสตจักรคาทอลิกแห่งอิตาลีได้ฉวย “โอกาสจากการเลิกใช้เงินลีร์เพื่อแก้ปัญหาเงินบริจาคตกต่ำ” โดย “ปรับราคาขึ้น.” สำนักบาทหลวงแห่งกรุงโรมได้ส่งจดหมายเวียนไปยังเขตปกครองทุกเขตให้ “ปรับ ‘รายการราคา.’ ค่าประกอบพิธีมิสซา ซึ่งเมื่อก่อนคิดเพียงแค่ 15,000 ลีร์ เพิ่มขึ้นเป็น 10 ยูโร (19,363 ลีร์). อัตราสูงสุดสำหรับค่าประกอบพิธีแต่งงาน ซึ่งเมื่อก่อนคิด 450,000 ลีร์ เพิ่มขึ้นเป็น 270 ยูโร (523,000 ลีร์).” อย่างไรก็ตาม จดหมายเวียนฉบับนั้นระบุว่า “ตัวเลขนี้สำหรับการแต่งงานของ ‘ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกของโบสถ์ท้องถิ่น’ ส่วนในกรณีของสมาชิกของโบสถ์ท้องถิ่นนั้น การบริจาคขึ้นอยู่กับดุลพินิจ เช่นเดียวกับการบัพติสมาและงานศพ.” หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นกล่าวว่า ถึงอย่างนั้น บาทหลวงในเขตปกครองในโรมยังคงเผชิญปัญหาที่มักจะพบว่ากล่องบริจาคว่างเปล่าอย่างน่ากลุ้มใจ ซึ่งอาจเป็นผลจาก “ความโลภอย่างหนึ่งของศาสนิกชน รวมทั้งจำนวนผู้เข้าโบสถ์ที่ลดลง.”